เปิดตัวรายงาน "สองปีที่ไร้จันทร์"ฮิวแมนไรท์ วอทช์ เผยผู้อพยพเด็กที่ถูกกังขังใน ตม. ได้รับการปฏิบัติเลวร้าย เสี่ยงด้านสุขภาพ-พัฒนาการ-เกิดผลกระทบต่อจิตใจ เรียกร้อง รบ.ไทยเคารพสิทธิเด็ก เลิกใช้วิธีกักขังเด็กใน ตม. ทันที
2 ก.ย. 2557 - ช่วงเช้าวันนี้ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย หรือ FCCT กรุงเทพมหานคร มีการแถลงข่าวเปิดตัวรายงาน "Two years with no moon: Immigration Detention of Children in Thailand"หรือ "สองปีที่ไร้จันทร์ การกักตัวเด็กในสถานกักกันตัวของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในประเทศไทย"
ทั้งนี้การแถลงข่าวเปิดตัวรายงานในช่วงเช้าของฮิวแมนไรท์ วอทช์ ไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาห้ามการแถลงข่าว อย่างที่เกิดขึ้นกับการแถลงข่าวและเผยแพร่รายงานสิทธิมนุษยชนหัวข้อ "ความยุติธรรมที่ปิดปรับปรุง"ของศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน ร่วมกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
โดยรายงาน 67 หน้าฉบับนี้ เปิดเผยถึงสถานการณ์ที่เด็กนับพันคนถูกกักขังในสถานกักกันตัวคนต่างด้าวของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) โดยรายงานซึ่งมีการสัมภาษณ์เด็กย้ายถิ่น 41 ราย ผู้ใหญ่ 64 ราย ที่ถูกกักขังหรือได้รับผลกระทบจากการได้รับการปฏิบัติจากตำรวจและเจ้าหน้าที่ ตม. รวมทั้งสัมภาษณ์ผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศ องค์กรพัฒนาเอกชน ผู้นำชุมชนอพยพและนักกฎหมาย ระบุว่า การกักตัวเด็กในสถานกักกันตัวคนต่างด้าวในประเทศไทยเป็นการละเมิดสิทธิเด็ก เกิดความเสี่ยงต่อทั้งสุขภาพและสุขภาวะและเป็นอันตรายต่อการพัฒนาการของเด็กอย่างไร รัฐบาลไทยควรยุติการกักขังเด็กโดยใช้เหตุผลด้านการเข้าเมือง ฮิวแมนไรท์ วอทช์กล่าว
ทั้งนี้ อลิซ ฟาร์เมอร์ นักวิจัยด้านสิทธิเด็กของฮิวแมนไรท์ วอทช์ และเป็นผู้เขียนรายงานดังกล่าว ได้แถลงว่า เรียกร้องให้รัฐบาลไทย "เลิกมาตรการกักตัวเด็กในสถานกักตัวของ ตม. ควรมีทางเลือกในการดูแลเด็ก และเด็กควรมีทางเลือกมากกว่านี้ เช่น ได้รับการประกันตัว"
"เด็กย้ายถิ่นที่ถูกกักขังในประเทศไทยต้องได้รับความทุกข์ยากอย่างไม่ควรเกิดขึ้น อยู่ในที่กักขังที่แออัดและสกปรก ขาดอาหารตามหลักโภชนาการ การศึกษา และสถานที่เพื่อการออกกำลังกายที่เพียงพอ"
ฟาร์เมอร์อธิบายด้วยว่า การกักขังเด็กที่อพยพมากับผู้ใหญ่ไม่ควรเกิดขึ้น เพราะเด็กไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับเขา เขาไม่ได้เป็นผู้เลือกว่าจะต้องลี้ภัยหรือไม่ เด็กจำนวนมากได้รับผลกระทบทางจิตใจอย่างร้ายแรงระหว่างที่อยู่ในที่กักขัง
ทั้งนี้ในรายงานของฮิวแมนไรท์ วอทช์ ระบุว่าผู้ย้ายถิ่นมักถูกกักขังอย่างไม่มีกำหนด และขาดกลไกที่พึ่งพาได้เพื่ออุทธรณ์เมื่อถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพ การกักขังอย่างไม่มีกำหนดและปราศจากช่องทางในการร้องขอให้มีการพิจารณาตามกระบวนการยุติธรรมคือการกักขังตามอำเภอใจซึ่งขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ
จากข้อมูลขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ระบุว่า มีเด็กย้ายถิ่นราว 3.75 แสนคนในประเทศ จำนวนมากเป็นบุตรแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน เด็กที่เป็นผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงในกลุ่มผู้ลี้ภัยเด็กในประเทศไทยนั้นมีเด็กจากพม่ามากที่สุด โดยจำนวนมากลี้ภัยมาพร้อมกับครอบครัว เพื่อหลบหนีการโจมตีของกองทัพพม่าในพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ นอกจากนี้ยังอพยพเนื่องจากการกระทำรุนแรงต่อชาวมุสลิมโรฮิงยาในรัฐยะไข่ นอกจากนี้ยังมีผู้ลี้ภัยเด็กจากพื้นที่อื่นเช่น ปากีสถาน ศรีลังกา โซมาเลีย ซีเรีย และอื่นๆ
ในรายงานของฮิวแมนไรท์ วอทช์ เปิดเผยว่า ผู้ย้ายถิ่นจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า กัมพูชา และลาวมีแนวโน้มที่จะถูกควบคุมตัวไว้ในสถานกักกันตัวเพียงไม่กี่วันหรือไม่กี่สัปดาห์หลังถูกจับกุมและจะส่งไปที่ชายแดนเพื่อส่งกลับหรือปล่อยตัว อย่างไรก็ตาม ครอบครัวผู้ลี้ภัยจากประเทศที่ไม่มีพรมแดนติดกับไทย ต้องเผชิญทางเลือกระหว่างการถูกกักขังกับลูกอย่างไม่มีกำหนด เพื่อรอคอยเป็นเวลาหลายเดือนหรือหลายปีเพื่อโอกาสอันน้อยนิดในการไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สาม หรือจ่ายค่าเดินทางกลับประเทศตนพร้อมด้วยความหวาดกลัวต่อการถูกดำเนินคดี คนเหล่านั้นถูกกักขังอย่างไม่มีกำหนดในสถานที่กักขังของ ตม.
รายงานระบุด้วยว่า พ่อแม่ของผู้อพยพเด็กซึ่งอยู่รวมกันในสถานที่กักขังของ ตม. ต้องจ่ายค่าอาหารเสริมที่ลักลอบนำเข้ามาในราคาสูงเพื่อให้ลูกได้รับอาหารตามความจำเป็นด้านโภชนาการ ยิ่งกว่านั้นสภาพกักกันตัวคนต่างด้าวยังเป็นอันตรายต่อสุขภาพจิตของเด็กโดยเป็นการตอกย้ำความบอบช้ำทางจิตใจที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้และทำให้เกิดความหดหู่และความวิตกกังวลตลอดไป การที่เจ้าหน้าที่ ตม. ไม่สามารถจัดหาอาหารตามหลักโภชนาการและโอกาสในการออกกำลังกายและสถานที่เล่นของเด็กได้อย่างเพียงพอ ถือเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็กตามที่ระบุไว้ในอนุสัญญาสิทธิเด็กที่ประเทศไทยเคยให้สัตยาบัน
ฟาร์เมอร์กล่าวด้วยว่า ผู้ลี้ภัยในเมืองอาศัยอยู่ในกรุงเทพขณะนี้ได้เพิ่มจำนวนจากเดิม 4 พันคนเป็น 8 ถึง 9 พันคน โดยปัจจุบันมีผู้อพยพเพิ่มขึ้นได้แก่ ชาวซีเรีย ชาวปาเลสไตน์จากซีเรีย และชาวคริสต์จากปากีสถาน ฯลฯ
ผู้รายงานของฮิวแมนไรท์ วอทช์ เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่ศูนย์ควบคุมตัวของ ตม. ในหลายจังหวัดเช่น ระนอง เชียงใหม่ แม่สอด และกรุงเทพ พบว่าการควบคุมตัวยังห่างไกลจากมาตรฐานสากล ผู้ถูกควบคุมตัวอยู่ในที่แออัด ไม่มีแม้แต่พื้นที่จะนอนในศูนย์ควบคุมตัวของ ตม. ผู้ถูกควบคุมตัวถูกปฏิบัติอย่างเลวร้าย การขาดโอกาสในการศึกษา รวมทั้งขาดแคลนการได้รับการบริการทางสุขภาพ
"การที่เจ้าหน้าที่ ตม. ไม่จัดการให้เด็กย้ายถิ่นหรือเด็กผู้แสวงที่พักพิงได้รับการศึกษาอย่างพอเพียง ถือว่าเป็นการทำให้เด็กขาดโอกาสในการพัฒนาการทางสังคมและสติปัญญา อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กได้ระบุว่าเด็กทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการศึกษาโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานของสัญชาติหรือสถานภาพการเข้าเมือง"
"ความเห็นของดิฉันก็คือ เด็กไม่ควรอยู่ในที่ควบคุมตัว เหมือนกับกฎหมายระหว่างประเทศ รัฐบาลไทยควรมีทางเลือกอื่นแทนการกักขังในสถานที่ควบคุมตัว"ฟาร์เมอร์กล่าว
ทั้งนี้ในรายงานของฮิวแมนไรท์ วอทช์ เสนอให้ประเทศไทยใช้ทางเลือกอื่นแทนการกักขังโดยทันทีซึ่งมีการใช้ได้อย่างมีประสิทธิผลในประเทศอื่นๆ เช่น ศูนย์แรกรับแบบเปิดและโครงการปล่อยตัวโดยมีเงื่อนไขซึ่งโครงการเหล่านี้มีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการกังขัง เคารพต่อสิทธิเด็ก และคุ้มครองอนาคตของเด็ก
"ทั้งนี้ประเทศไทยต้องมีมาตรการที่ทำให้มั่นใจได้ว่า ครอบครัวของผู้อพยพจะได้อยู่ด้วยกัน และผู้อพยพเด็กได้อยู่ในสถานที่ซึ่งเหมาะสม ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะปฏิบัติได้ตามมาตรฐานและกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ"ฟาร์เมอร์กล่าวเพิ่มเติมระหว่างแถลงข่าว
ส่วนปฏิกิริยาจากทางการไทยนั้น ในรายงานฉบับดังกล่าวของฮิวแมนไรท์ วอทช์ ตีพิมพ์จดหมายจากกระทรวงการต่างประเทศความยาว 7 หน้า โดยปฏิเสธว่าการกักตัวผู้ย้ายถิ่นมิได้เป็นการกระทำตามอำเภอใจ พร้อมแถลงว่าการกักขังเด็กย้ายถิ่นจำนวนน้อยในประเทศไทย ไม่ได้เป็นผลมาจากนโยบายของรัฐบาล หากแต่เป็นความต้องการของผู้เป็นบิดามารดาและเด็ก หรือการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว และความยากลำบากในการดำเนินงาน
"นโยบายการกักตัวคนเข้าเมืองของประเทศไทย ทำให้คำกล่าวอ้างเรื่องการให้ความคุ้มครองเด็กของรัฐบาลหมดความน่าเชื่อถืออย่างแท้จริง เนื่องจากรัฐบาลทำให้เด็กตกอยู่ในภาวะเสี่ยงโดยไม่สมควร"ฟาร์เมอร์กล่าว "เรื่องที่น่าเศร้าคือเป็นที่รู้กันมานานนับปีว่าสถานที่กักขังเหล่านี้มีสภาพย่ำแย่และต่ำกว่ามาตรฐานสากลอย่างมาก แต่รัฐบาลไทยมีการดำเนินงานเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้"