ชุมชนตำบลบางชัน อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี เป็นชุมชนเก่าแก่ มีหลักฐานการจัดตั้งชุมชนอ้างอิงจากใบวิสุงคามสีมาของโบสถ์วัดบางชันเมื่อปี พ.ศ. 2441 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ต่อมาในปี พ.ศ 2505 ได้มีการออกประกาศเป็นเขตป่าสงวน จึงเป็นที่มาของปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าสืบเนื่องมาจนทุกวันนี้ ปัจจุบันตำบลบางชัน มีจำนวน 6 หมู่บ้าน เนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 64.4 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 40,305 ไร่ พื้นที่เกษตร 19,050 ไร่ พื้นที่โดยส่วนใหญ่เป็นป่าชายเลน โดยพื้นที่ 95% อยู่ในเขตป่าสงวน ชาวบ้านประกอบอาชีพประมง เลี้ยงกุ้ง เลี้ยงหอย วางลอบปู อวนปู อวนลอยกุ้ง ชาวบ้านแทบทุกหลังคาเรือนมีการใช้หลักโพงพางหรือหลักเคยไว้เป็นเครื่องมือทำกิน
ความขัดแย้งระหว่างรัฐและชาวบ้างบางชัน
นายไพริน โอฬารไพบูลย์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 บ้านปากน้ำเวฬุ ต.บางชัน อ.ขลุง จ.จันทบุรี กล่าวว่า สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้น คือเรื่องพื้นที่ทำกิน เนื่องจากทางการสั่งรื้อถอนหลักโพงพางเมื่อ พ.ศ. 2521 มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาในพื้นที่เพื่อรื้อถอนหลักโพงพาง ชาวบ้านมีความกังวลในการทำมาหากิน จึงได้เกิดการรวมกลุ่มขึ้นมา เพื่อที่จะแก้ไขปัญหา ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่ก็ไม่ได้มีความรู้เท่าใดนัก ยิ่งในเรื่องความรู้เรื่องกฎหมาย ทำให้ชาวบ้านหลายคนต้องถูกจับดำเนินคดี ปัจจุบันก็มีการจับกุมชาวบ้านจากเจ้าหน้าที่รัฐ ปัญหาใหญ่ที่ควรได้รับการแก้ไข คือปัญหาการประกอบอาชีพเพราะเสี่ยงต่อการกระทำผิดกฎหมาย
นายชูชาติ จิตนาวา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่5 บ้าน นากุ้ง ต.บางชัน อ.ขลุง จ.จันทบุรี กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากปัญหาทำกิน ยังมีปัญหาน้ำกัดเซาะในปัจจุบัน ชาวบ้านไม่มีเอกสารสิทธิการถือครอง ปัจจุบันบ้านทุกหลังคาเรือนของตำบลบางชันมีเพียงบ้านเลขที่ชั่วคราว พอน้ำเซาะคนในชุมชนก็ต้องขยายเข้าไปอยู่ในเขตป่าสงวน ทำให้ต้องทำผิดกฎหมายบุกรุกพื้นที่ไปเรื่อยๆ คำถามคือจะทำอย่างไรให้คนอยู่กับป่าได้ เพราะชาวบ้านในชุมชนก็ไม่มีใครอยากอยู่อย่างผิดกฎหมาย และสถานที่สำคัญหลายแห่ง เช่น สถานีอนามัย โรงเรียน วัด ทั้งหมดก็อยู่ในเขตป่าสงวน จะให้ชาวบ้านทำอย่างไรให้อยู่กับป่าได้ นี่คือปัญหาใหญ่
คำชี้แจงจากเจ้าหน้าที่รัฐ
นายวินัย บุญล้อม หัวหน้าสถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่45 (ด่านเก่า-ตราด) กล่าวว่า ปัญหาในพื้นที่เรื่องของสิทธิในการถือครองที่ดินของชาวบ้านตำบลบางชัน เป็นปัญหาต่อเนื่อง เนื่องจากปี 2505 มีการประกาศให้พื้นที่ตำบลบางชัน เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ จึงห้ามมีการกระทำบุกรุกพื้นที่ มีเพียงประมาณ 5% ที่ไม่อยู่ในเขตป่าสงวน ทางหน่วยงานสถานีพัฒนาทรัพยากรฯที่ดูแลพื้นที่ มีภาพถ่ายทางอากาศเป็นหลักฐานในปี 2480 แสดงให้เห็นว่าไม่มีการจัดตั้งเป็นชุมชน แต่ปัจจุบันมีการเข้ามาอยู่อาศัยและตั้งเป็นชุมชน
ส่วนการออกโฉนดที่ดินนั้น นายวินัยบอกว่า ไม่สามารถออกให้ได้เพราะติดในข้อกฎหมายของกรมที่ดินซึ่งระบุไว้ชัดเจนว่า พื้นที่ใดจะออกเอกสารสิทธิ์โฉนดชุมชนต่างๆ จะต้องมีหลักฐานการได้มา เช่น ส.ค1 หรือมีร่องรอยการทำประโยชน์ก่อนที่จะมีประกาศเขตพื้นที่ป่าสงวน จึงจะสามารถออกหลักฐานการครอบครองที่ดินได้
หัวหน้าสถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลน กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเสนอร่าง พ.ร.บ การมีส่วนร่วมของชุมชน ตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาในรัฐสภา คาดการณ์ว่าจะผ่านในรัฐบาลชุดนี้แน่นอน ในเนื้อหานโยบายจะมีการจัดการพื้นที่ในชุมชน ให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการทำงาน โดยแบ่งพื้นที่ไว้ 4 ส่วน แบ่งเป็น 30-30-30-10 โซนที่1จะเป็นโซนอนุรักษ์ โซนที่ 2 จะเป็นการใช้ไม้หรือใช้ประโยชน์ในพื้นที่ โซนที่ 3 พื้นที่ทำกิน และโซนที่ 4 จะเป็นเรื่องที่อยู่อาศัย แต่การทำงานทั้งหมดต้องรอการอนุมัติจาก ครม. และในเรื่องการรับฟังความคิดเห็น ต้องทำตามมติคณะรัฐมนตรี มาตรา 34 ที่ระบุว่าห้ามทั้งรัฐบาลและเอกชนใช้ประโยชน์จากป่าสงวนโดยเด็ดขาด ในปัจจุบันการทำงานต้องทำตามคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 64 เรื่อง การปราบปรามและการหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ และฉบับที่ 66 เรื่อง เพิ่มเติมหน่วยงานสำหรับการปราบปราม หยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ โดยจะมีการตรวจตราพื้นที่การบุกรุกใหม่ กรณีชาวบ้านรายได้น้อย สามารถผ่อนผันได้ แต่ห้ามมีการขยายพื้นที่ใหม่
นายไพโรจน์ แสงจันทร์ หัวหน้าศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นด้านตะวันออก กล่าวว่า สำหรับปัญหาของชุมชนบางขัน เป็นปัญหาเรื่องการทำกิน ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ ก็ต้องใช้กฎหมาย เพราะเป็นข้อถือปฎิบัติ อาจจะมีใช้สำเร็จและไม่สำเร็จ ทางเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้อยากใช้กฎหมายกับชาวบ้าน เนื่องจากหลายครอบครัวก็หาเช้ากินค่ำ จึงมองปัญหาที่เกิดขึ้น ต้องแก้ไขจากการเข้ามาร่วมมือพูดคุยกัน จัดประชุมเชิญผู้นำชุมชนและเจ้าหน้าที่รัฐมาพูดคุย หาทางออกก่อนที่ปัญหาจะลุกลามไปมากกว่านี้
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai