สถาบันพระปกเกล้าจัดสัมมนา "ปฏิรูปประเทศไทย : การต่อต้านการทุจริต"ชี้ควรกำหนดให้การแก้ปัญหาทุจริตเป็นวาระแห่งชาติ มีมาตรการลงโทษทางสังคมกับผู้ทุจริต ออกกฎหมายปกป้องผู้ให้เบาะแส ระบุคนไทยมองตำรวจ พรรคการเมืองทุจริตมากที่สุด
30 ส.ค. 2557 สำนักข่าวไทยรายงานว่าสถาบันพระปกเกล้าจัดสัมมนาภายใต้โครงการสัมมนาสู่ทศวรรษที่เก้า : ก้าวใหม่ของระบอบประชาธิปไตยไทย ในหัวข้อ "การปฏิรูปประเทศไทย : การต่อต้านการทุจริต"โดยนายวุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า เป็นประธานเปิดงาน พร้อมกล่าวปาฐกถาว่าปัญหาการทุจริตเป็นปัญหาที่หยั่งรากลึกยาวนานในสังคมไทย อยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง ในหลายปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ก็มาจากปัญหาการทุจริต ค่านิยมของสังคมไทย พบว่า 1 ปีที่ผ่านมา คนไทย 2 ใน 5 เคยให้สินบน สะท้อนให้เห็นว่าสังคมมองเรื่องการทุจริตเป็นเรื่องปกติ ส่งผลให้ความโปร่งใสของประเทศไทยถูกจัดอันดับลดลง
“การแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นในประเทศไทย ควรกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ เนื่องจากปัจจุบันสังคมไทยมองปัญหาการทุจริตเป็นเรื่องรอง โดยมุ่งให้ความสำคัญกับการสร้างคนเก่ง มากกว่าการสร้างค่านิยมเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต สังคมไทยจึงควรร่วมกันสร้างกลไกการต่อต้านการทุจริตด้วยการปลูกฝังค่านิยมที่ถูกต้อง ควรกำหนดมาตรการลงโทษทางสังคมกับผู้ทุจริต และมีมาตรการสนับสนุนผู้มีความซื่อสัตย์สุจริตเช่นเดียวกับบางประเทศที่มีมาตรการที่เข้มงวด ขณะที่ผู้นำประเทศต้องประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี และถือเป็นสัญญาณที่ดีที่ผู้นำของไทยประกาศจุดยืนชัดเจนที่จะปฏิเสธการทุจริต แต่เห็นว่านอกจากการประกาศจุดยืนแล้ว จะต้องลงมือทำให้เห็นเป็นรูปธรรมด้วย” นายวุฒิสาร กล่าว
ด้านนางถวิลวดี บุรีกุล ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา พร้อมด้วยกลุ่มนักวิชาการ สถาบันพระปกเกล้า เสนอผลวิจัยจากผลสำรวจความเห็นคนไทยต่อสถานการณ์ทุจริตในไทย โดย Global Corruption Barometer หรือ GCB ปี 2013 ที่ระบุว่าคนส่วนใหญ่ไม่ยอมรับการทุจริตคอร์รัปชั่น และมองว่าหน่วยงานที่พบการทุจริตมากที่สุดคือ ตำรวจ รองลงมาคือ พรรคการเมือง ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อของประเทศ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ จึงขอเสนอแนวทางแก้ปัญหาและป้องปรามการทุจริต ด้วยการออกกฎหมายปกป้องผู้ให้ข้อมูล แจ้งเบาะแสหรือคุ้มครองพยาน เพื่อส่งเสริมความกล้าหาญในการเปิดโปงการทุจริตคอร์รัปชั่น
“ส่วนมาตรการเชิงโครงสร้าง ต้องให้มีกระบวนการประเมิน คัดเลือก หรือเลื่อนตำแหน่งที่ยุติธรรม การสรรหาคนเข้าสู่อำนาจต้องมีมาตรฐานที่สูงขึ้น ส่วนมาตรการเชิงกฎหมาย ขอให้ สนช. พิจารณาออกกฎหมายว่าด้วยการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ปรับปรุงกฎหมายอื่นเพื่อลดช่องว่างที่เอื้อต่อการทุจริต และตรวจสอบมาตรการทางภาษีอากร และต้องส่งเสริมให้สื่อมีเสรีภาพ และกล้านำเสนอมากขึ้น ควบคู่มาตรการทางสังคมที่เข้มแข็งร่วมกดดัน เพื่อป้องปรามไม่ให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่น” นางถวิลวดี กล่าว
นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น อภิปรายในหัวข้อ "ปฏิรูปประเทศไทยด้วยการต่อต้านการทุจริต เรื่องการปราบปรามการทุจริต ว่า การแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น ต้องมีมาตรการที่เข้มแข็งทั้งทางกฎหมายและสังคม เพื่อให้การทุจริตทำได้ยากขึ้น ที่ผ่านมาสังคมไทยและรัฐบาลไม่ค่อยให้ความสำคัญเรื่องการปราบปรามการทุจริตเท่าที่ควร ผู้มีอำนาจไม่สนองตอบ
“แม้จะเพิ่มงบประมาณของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แต่การทุจริตยังไม่ลดลง ตราบใดที่ผู้มีอำนาจหรือคนที่เข้ามาบริหารงานในรัฐบาลทุจริตคอร์รัปชั่นเสียเอง ขอเรียกร้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่าต้องเป็นแบบอย่างที่ดีเรื่องการป้องกันทุจริตและเรียกร้องให้ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จในการแก้ปัญหา” นายวีระ กล่าว
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai