Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

สาวเกาหลีเหนือรับ 'ตาสว่าง'หลังลอบดู 'ไททานิก'

$
0
0

ปาร์กยอนมี ผู้หลบหนีจากประเทศเผด็จการเกาหลีเหนือเปิดเผยว่าท่ามกลางการพยายามปิดกั้นสื่อและแม้กระทั่งปิดกั้นความรักแบบหนุ่มสาว ภาพยนตร์เรื่อง 'ไททานิก'ซึ่งเธอลักลอบชมทำให้เธอได้เปิดหน้าต่างเห็น 'โลกภายนอก'และพบว่าประเทศของเธอมีอะไรผิดแปลกไป

28 ส.ค. 2557 สำนักข่าวเดอะการ์เดียนนำเสนอเรื่องราวของผู้ที่หลบหนีออกมาจากประเทศเกาหลีเหนือ ซึ่งบอกว่าภาพยนตร์ตะวันตกอย่างเรื่อง 'ไททานิก'ทำให้เธอได้เห็นโลกภายนอกประเทศซึ่งไม่ถูกจำกัดอยู่ภายใต้รัฐบาลเผด็จการเกาหลีเหนือ

ปาร์กยอนมีเป็นชาวเกาหลีเหนือซึ่งเติบโตมาในช่วงที่การค้าขายในตลาดมืดกำลังเบ่งบาน แม้ว่าทางการเกาหลีเหนือจะพยายามให้ประชาชนปฏิบัติตามหลักการแบบคอมมิวนิสต์ แต่ประชาชนชาวเกาหลีเหนือจำนวนมากมีความชื่นชมต่อระบอบทุนนิยมอย่างลับๆ เนื่องจากระบอบเศรษฐกิจของทางการเกาหลีเหนือทำให้มีผู้คนอดอยากล้มตายจำนวนมากในช่วงภาวะวิกฤติความขาดแคลนในปี 2537-2541 (Arduous March)

สำหรับปาร์กยอนมี ผู้หลบหนีออกจากประเทศพร้อมกับครอบครัวในปี 2550 ไม่เพียงแค่การค้าเสรีเท่านั้นที่เป็นการเปิดหูเปิดตาเธอให้เห็นโลก แต่ภาพยนตร์ฮอลลิวูดเรื่อง 'ไททานิก'ฉบับไพเรทก็ทำให้เธอได้เห็นโลกที่กว้างขึ้นมากกว่าในประเทศเกาหลีเหนือ

ปาร์กยอนมีเล่าถึงความโหดร้ายของรัฐบาลเผด็จการว่าเมื่อเธออายุได้ 9 ปี เธอถูกบังคับให้ไปดูการประหารชีวิตมารดาของเพื่อนร่วมชั้นซึ่งมีความผิดฐานให้เพื่อนยืมภาพยนตร์ที่มาจากเกาหลีใต้ ในการประหารมีการให้ชาวเมืองเข้าไปดูในสนามกีฬาขนาดใหญ่

"เธอถูกสังหารต่อหน้าพวกเรา"ปาร์กยอนมีกล่าว ตอนนี้เธออายุได้ 20 ปีแล้ว "ในตอนนั้นฉันยืนอยู่ข้างลูกสาวของเธอ โรงเรียนของพวกเราต้องไปเข้าร่วมหมดทุกคน"

ปัจจุบันปาร์กยอนมีทำงานในบริษัทฟรีดอม แฟคตอรี่ ที่กรุงโซล เกาหลีใต้ ซึ่งเป็นบริษัทด้านวิชาการที่พยายามให้ความรู้เกี่ยวกับความยากลำบากของประชาชนที่อยู่ในเกาหลีเหนือ

แม้ว่าการชมสื่อต่างประเทศในเกาหลีเหนือจะถือเป็นอาชญากรรมต่อรัฐที่มีบทลงโทษตั้งแต่บังคับใช้แรงงาน จับเข้าคุก หรือแม้กระทั่งประหารชีวิต แต่ในเกาหลีเหนือก็ยังนิยมการชมภาพยนตร์หรือรายการโทรทัศน์ของต่างชาติที่ถูกลักลอบนำข้ามแดนเข้าไปผ่านซีดี หรืออุปกรณ์เก็บข้อมูลแบบพกพา (USB sticks) ซึ่งมีขายในตลาดมืดซึ่งเติบโตเร็วมาก

เธอเปิดเผยว่าบทลงโทษผู้กระทำผิดขึ้นอยู่กับที่มาของสื่อต่างประเทศที่นำเข้าไป เช่น ถ้าเป็นสื่อภาพยนตร์ 'บอลลิวูด'จากอินเดีย หรือภาพยนตร์รัสเซียจะลงโทษด้วยการให้จำคุก 3 ปี แต่ถ้าเป็นสื่อที่มาจากเกาหลีใต้หรือสหรัฐฯ จะต้องโทษประหารชีวิต

แม้ว่าจะมีการพยายามสร้างความหวาดกลัวด้วยการให้ดูการประหารแต่ปาร์กยอนมีและเพื่อนๆ ของเธอก็ยังคงไม่เลิกชมสื่อจากต่างประเทศที่เธอบอกว่าได้ "เปิดหน้าต่างให้พวกเราได้เห็นโลกภายนอก"ซึ่งเธอบอกว่าภาพยนตร์ที่เธอชื่นชอบคือเรื่อง 'ไททานิก''เจมส์ บอนด์'และ 'พริตตี้ วูแมน'ซึ่งถูกลักลอบนำเข้าไปในประเทศในฉบับไพเรทจากจีน

ปาร์กบอกว่าดีวีดีหนึ่งแผ่นในเกาหลีเหนือมีราคาเท่ากับข้าวสาร 2 กิโลกรัม ทำให้ผู้คนต่างใช้วิธีการแลกเปลี่ยนให้ยืมสื่อบันเทิงกัน และสื่อบันเทิงเหล่านี้ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่นำพาเสรีภาพไปสู่ชาวเกาหลีเหนือ แม้ว่าเธอเสี่ยงที่จะถูกจับกุมจากการแลกเปลี่ยนสื่อต่างชาติเธอก็ไม่ยอมหยุดเพราะเธอบอกว่าเกาหลีเหนือไม่มีอะไรที่ 'สนุก'เลย ทุกอย่างดูเรียบๆ ไปหมด

"เมื่อฉันได้ชมสื่อบันเทิงเหล่านั้น ฉันก็เห็นสิ่งใหม่ๆ และรู้สึกว่ามีความหวัง ความกลัวไม่อาจหยุดฉันได้ แล้วก็ไม่อาจหยุดคนอื่นๆ ได้"เธอกล่าว

เมื่อไม่นานมานี้องค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนจากสหรัฐฯ ได้จัดงาน 'แฮ็กกาธอน' (Hackathon) สำหรับเกาหลีเหนือซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้สามารถนำข้อมูลเข้าสู่ประเทศเกาหลีเหนือได้มากยิ่งขึ้น การจัดงานนี้ถูกโจมตีโดยสื่อรัฐเกาหลีเหนือว่าเป็นความพยายามเอาชนะการควบคุมอย่างเข้มงวดด้านข้อมูล และเป็นความพยายามที่ "สูญเปล่า"ในการ "ล้างสมอง"ชาวเกาหลีเหนือ

มีงานวิจัยจากองค์กรอินเตอร์มีเดียระบุว่าความสามารถเข้าถึงสื่อจากต่างประเทศเป็นการลดทอนอำนาจการควบคุมจากรัฐได้ในหลายระดับ โดยงานวิจัยชิ้นนี้ได้รับการจ้างวานจากกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ ในงานวิจัยระบุอีกว่าความสามารถเข้าถึงข้อมูลยังทำให้ชาวเกาหลีเหนือมีความไว้ใจแลกเปลี่ยนข้อมูลกันมากขึ้นและมีการรายงานพฤติกรรมคนอื่นให้รัฐได้ทราบลดลง

เคซี ลาร์ติค เพื่อนร่วมงานจองปาร์กในบริษัทฟรีดอมแฟคตอรีกล่าวว่าข้อมูลสื่อจากต่างประเทศถือเป็นทางเลือกสำคัญนอกเหนือจากโฆษณาชวนเชื่อของรัฐ ลาร์ติคกล่าวอีกว่าชาวเกาหลีเหนือถูกล้างสมองตั้งแต่เกิดให้เชื่อว่าพวกเขาไม่ต้องอิจฉาชาติอื่น แต่สื่อจากต่างชาติจะทำให้ชาวเกาหลีเหนือได้ทราบว่าโลกภายนอกจริงๆ เป็นอย่างไร

ปาร์กยอนมีบอกว่าในช่วงที่เธอเป็นวัยรุ่นเรื่องราวความรักในภาพยนตร์ฮอลลิวูดมีอิทธิพลต่อตัวเธอมาก ขณะที่ในเกาหลีเหนือทุกสิ่งทุกอย่างดูเหมือนจะเกี่ยวกับตัวผู้นำไปหมดไม่ว่าจะเป็นหนังสือทุกเล่ม เพลงทุกเพลง หรือสื่อโทรทัศน์ทั้งหมด

"ฉันถึงรู้สึกแปลกใจมากเมื่อได้ชมไททานิกแล้วเห็นว่ามีชายคนหนึ่งยอมสละชีวิตเพื่อผู้หญิงคนหนึ่งแทนที่จะเป็นเพื่อประเทศชาติ ในตอนนั้นฉันไม่สามารถเข้าใจความคิดแบบนี้ได้"ปาร์กกล่าว

ปาร์กยอนมีกล่าวอีกว่าในเกาหลีเหนือความรักต่อสิ่งอื่นที่นอกเหนือจากผู้นำเกาหลีเหนือซึ่งในขณะนั้นคือคิมจองอิลจะถูกปราบปรามหมด ในเกาหลีเหนือ ความรักถือเป็นเรื่องน่าอายและไม่มีใครพูดถึงเรื่องนี้ในที่สาธารณะ รัฐบาลเกาหลีเหนือไม่สนใจในเรื่องความปรารถนาของมนุษย์ เรื่องราวแนวรักๆ ใคร่ๆ จึงถูกสั่งแบน

"ในตอนนั้นฉันถึงรู้ว่ามีอะไรผิดแปลกไป คนทุกคนไม่ว่าจะมีผิวสีไหน วัฒนธรรมไหน หรือใช้ภาษาอะไร ต่างก็สนใจในเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ซึ่งต่างจากพวกเรา ทำไมรัฐบาลถึงไม่ยอมให้พวกเราแสดงออกในเรื่องนี้"เธอกล่าว

ในกรณีของปาร์กยอนมี แม้ว่าการได้ชมสื่อต่างประเทศจะทำให้เธอตั้งคำถามจำนวนมาก แต่หลังจากที่พ่อของเธอถูกสั่งจำคุกด้วยข้อหาค้าเหล็กให้กับผู้รับซื้อในจีน จนกระทั่งเธอและครอบครัวสามารถหลบหนีข้ามชายแดนไปยังฝั่งจีนได้ แต่พวกเธอก็ยังไม่ปลอดภัยในจีน เพราะเสี่ยงต่อการถูกทางการจีนจับกุมและส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับ ทำให้ครอบครัวเธอต้องหลบอยู่แต่ในที่พักเป็นเวลา 18 เดือนก่อนที่จะเดินทางไปมองโกเลียจนได้รับความช่วยเหลือให้ถูกส่งตัวไปที่เกาหลีใต้สำเร็จ

ปาร์กยอนมีเชื่อว่าสักวันหนึ่งคนหนุ่มสาวในเกาหลีเหนือจะสามารถนำความเปลี่ยนแปลงสู่ประเทศของพวกเขาได้ โดยทำให้ประเทศไปสู่ความมั่งคั่ง มีเสรีภาพและความรัก

 


เรียบเรียงจาก

'Watching Titanic made me realise something was wrong in my country,' says North Korean defector, The Guardian, 26-08-2014
http://www.theguardian.com/world/2014/aug/26/north-korea-defector-titanic

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles