นับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ยึดอำนาจการปกครองเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ในนาม “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” หรือ คสช. โดยดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 6/2557 “เรื่อง แต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ” นั้น
ต่อมาภายหลังที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ประกาศใช้ในวันที่ 22 กรกฎาคม โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช. เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ หลังจากนั้นในวันที่ 31 กรกฎาคม คสช. แต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีการเปิดสมัยประชุม สนช. วันแรกในวันที่ 7 สิงหาคม มีสภาชิก สนช. ทั้งสิ้น 197 คน และในวันที่ 8 สิงหาคม มีการเลือกประธาน สนช. และรองประธาน สนช. โดยมี พรเพชร วิชิตชลชัย เป็นประธาน สนช. สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย เป็นรองประธาน สนช. คนที่ 1 และพีระศักดิ์ พอจิต เป็นรองประธาน สนช. คนที่ 2
ล่าสุดในการประชุม สนช. วันที่ 21 สิงหาคม ตวง อัณทะไชย สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นผู้เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี มีสมาชิก สนช. เห็นชอบ 191 เสียง โดยหลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 สิงหาคมแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้เลือกคณะรัฐมนตรีไม่เกิน 35 คน
ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวพ.ศ. 2557
ทั้งนี้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 19 ระบุหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีว่า "มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน ดําเนินการให้มีการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ และส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ"โดยเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็ยังสามารถอยู่ในตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติต่อไป นอกจากนี้ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวยังกำหนดอำนาจของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ต่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี เช่น
คสช. ให้คำแนะนำคณะรัฐมนตรี
ตามมาตรา 42 ให้ คสช. มีอํานาจหน้าที่ปฏิบัติการตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ในกรณีจําเป็นเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ และในกรณีที่ คสช. เห็นว่าคณะรัฐมนตรีควรดําเนินการตามอํานาจหน้าที่ที่กําหนดไว้ในมาตรา 19 ในเรื่องใด ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติแจ้งให้คณะรัฐมนตรีทราบ
ขอให้มีการประชุมร่วมระหว่างคสช. และคณะรัฐมนตรี
นอกจากนี้ ตามมาตรา 42 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือนายกรัฐมนตรีอาจขอให้มีการประชุมร่วมกันของคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคณะรัฐมนตรีเพื่อร่วมพิจารณาหรือแก้ไขปัญหาใด ๆอันเกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ รวมตลอดทั้งการปรึกษาหารือเป็นครั้งคราวในเรื่องอื่นใดก็ได้
อำนาจพิเศษของหัวหน้าคสช. ที่มีผลบังคับทั้งนิติบัญญัติบริหารตุลาคม
ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว กำหนดว่า ในกรณีที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นเป็นการจําเป็นเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ การส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ หรือเพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทําอันเป็นการบ่อนทําลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักรให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีอํานาจสั่งการระงับยับยั้ง หรือกระทําการใดๆ ได้ ไม่ว่าการกระทํานั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหารหรือในทางตุลาการ และให้ถือว่าคําสั่งหรือการกระทํา รวมทั้งการปฏิบัติตามคําสั่งดังกล่าว เป็นคําสั่งหรือการกระทํา หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้และเป็นที่สุด ทั้งนี้ เมื่อได้ดําเนินการดังกล่าวแล้ว ให้รายงานประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและนายกรัฐมนตรีทราบโดยเร็ว
อำนาจคสช. ร่วมกับคณะรัฐมนตรีเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว
ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 46 คณะรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติสามารถมีมติร่วมกันเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว โดยจัดทำเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
ประกาศและคำสั่งคสช. ยังมีผลบังคับใช้จนกว่าจะมีกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิก
นอกจากนี้ ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 47 นอกจากจะกำหนดให้ประกาศและคําสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือคําสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีผลบังคับในทางรัฐธรรมนูญ ในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร และชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญเป็นที่สุดแล้ว ยังระบุให้ คำสั่งและประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าจะมีกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี หรือคําสั่ง แล้วแต่กรณี แก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิก