เครือข่ายสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) สรุปสถานการณ์สิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในรอบปี 2555 รายละเอียดมีดังนี้
00000
ในปีที่ผ่านมา ภาพรวมสถานการณ์สิทธิเสรีภาพสื่อถดถอยลง เนื่องจากหน่วยงานภาครัฐและกองทัพใช้กฎหมายและเครื่องมืออื่นๆ เพื่อจำกัดและควบคุมมากสื่อขึ้น ขณะเดียวกัน หลายประเทศผู้สื่อข่าวและภาคประชาสังคมถูกคุกคามจากการใช้ความรุนแรง
อย่างไรก็ตาม มีพัฒนาการสำคัญเกี่ยวกับการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในกรอบอาเซียนหลังจากบรรดาผู้นำอาเซียนได้รับรองปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียนเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555 โดยปฏิญญาดังกล่าวได้รับการยกย่องว่าเป็นก้าวสำคัญที่จะนำสู่การปกป้องมนษยชนที่ดีขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ยังคงมีคำถามเกี่ยวกับมาตรฐานการคุ้มครองในเอกสารดังกล่าวว่าเป็นไปตามมาตรฐานสากลหรือไม่และสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงเพียงใด เช่น ประเด็นเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
ข้อความที่ระบุในปฏิญญาฉบับนี้กลับไม่รับรองการใช้เสรีภาพในการแสดงความเห็นโดยไร้พรมแดน (regardless of frontier) ขณะที่ มาตรา 19 ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนรับรองไว้ นั่นหมายความว่า รัฐบาลประเทศในอาเซียนยังสามารถควบคุมและปิดกั้นการเสนอข่าวสารข้ามประเทศได้ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของดัชนีชี้วัดแนวโน้มสถานการณ์สิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนในปีนี้ด้วย
จากการติดตามสถานการณ์ซีป้า พบว่า ปีที่ผ่านมามีสองประเด็นใหญ่ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวสำคัญได้แก่
1.มีแนวโน้มการใช้กฎหมายควบคุมจำกัดและลิดรอนเสรีภาพสื่อมวลชนมากขึ้น เช่น บรูไน ลาว เวียดนาม มาเลเซียและสิงคโปร์ ประเทศเหล่านี้มีการบังคับใช้กฎหมายหลายฉบับอย่างเข้มงวด บางครั้งผู้มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายก็เป็นคนละเมิดเสียเอง โดยให้ความสำคัญกับประโยชน์ของรัฐเหนือสิทธิของประชาชน แทนที่จะเปิดโอกาสให้แสดงความเห็นที่แตกต่างเพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนในพื้นที่สาธารณะอย่างเปิดเผย เพราะต้องการคงไว้ซึ่งอำนาจทางการเมือง
นอกจากนี้กองบรรณาธิการหลายแห่งยังเซ็นเซอร์ตัวเองในการทำงานเพื่อความอยู่รอด
ในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ซึ่งถือว่ามีเสรีภาพสื่อมากกว่าประเทศอื่นๆ ก็ได้ออกกฎหมายใหม่หลายฉบับซึ่งคุกคามและสกัดกั้นการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน เช่น กฎหมายหมิ่นประมาทและและกฎหมายควบคุมการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ส่วนติมอร์ตะวันออกกำลังจะออกกฎหมายให้อำนาจรัฐเข้าไปควบคุมสื่อมากกว่าจะปกป้องเสรีภาพสื่อ
2.การละเลยการลงโทษผู้ที่ใช้ความรุนแรงกับสื่อ ในระดับท้องถิ่น การใช้ความรุนแรงในลักษณะดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นจากผลของการใช้กฎหมายที่เข้มงวดเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากการที่หน่วยงานรัฐและเอกชน พยายามจำกัดการรายงานข่าวของสื่อที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต คอร์รัปชั่นรวมทั้งผลกระทบด้านลบต่อธุรกิจ หลายๆ กรณี ผู้กระทำผิด สามารถหลบเลี่ยงความผิดและพ้นผิดโดยใช้อิทธิพล
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเกี่ยวกับปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ การทำป่าไม้ผิดกฎหมาย การสร้างเขื่อน การทำเหมืองแร่ ดังกรณีที่เกิดในพม่า ลาว กัมพูชา ฟิลิปปินส์และเวียดนาม พบว่า ภาคประชาสังคมเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิ แต่เมื่อรัฐไม่เหลียวแล สื่อมวลชนก็เข้ามาเกี่ยวข้องโดยพยายามนำเสนอรายงานเปิดโปงความขัดแย้ง ปัญหาต่างๆ นี้ไม่ได้เป็นเพียงความขัดแย้งท้องถิ่น แต่กลายเป็นประเด็นข้ามชาติและเป็นปัญหาร่วมระหว่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบสำคัญต่อการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนโดยเฉพาะประเด็นสิทธิมนุษยชน เช่น ไทยและเวียดนาม เป็นผู้ลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ในลาว ซึ่งหลายโครงการเกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีพิพาทเรื่องที่ดิน
สำหรับสหภาพพม่ารอบปีที่ผ่านมาถือเป็นข่าวดี ซึ่งประชาคมโลกให้ความสนใจติดตาม เพราะมีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งด้านการเมืองและด้านสื่อ แต่ยังคงมีความไม่แน่นอนและไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่า มีการปฏิรูปสื่ออย่างแท้จริงเพราะโครงสร้างผู้มีอำนาจยังไม่เปลี่ยนแปลงหรือมีกลไกรองรับทางกฎหมายอย่างเพียงพอ
สิ่งที่เป็นประเด็นร่วมในอาเซียนคือ ภาคประชาสังคมเติบโตและเข้มแข็งขึ้นมา เพื่อปกป้องต่อสู้รักษาสิทธิของตัวเองในด้านต่างๆ
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นเรื่องที่ควรต้องเปิดโอกาสให้ถกเถียง แลกเปลี่ยนกันอย่างกว้างขวางอีกทั้งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องให้ความสำคัญและสนับสนุน เพื่อสร้างปัจจัยหนุนให้มาตรฐานสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนในภูมิภาคดีขึ้นเป็นหลักให้นักเคลื่อนไหวส่งเสริมสิทธิเสรีภาพได้ยึดถือผลักดันให้เกิดการปฏิรูปทางการเมืองและสื่อฯที่เป็นจริง
ที่มา:
สรุปสถานการณ์สิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในรอบปีพ.ศ. 2556