Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Jacke Lynch : ‘วารสารศาสตร์เพื่อสันติภาพ’ คือการปฏิรูปการนำเสนอข่าวของทั่วโลก

$
0
0
ถอดปาฐกถาพิเศษของ ดร.Jacke Lynch จากออสเตรเลีย ในงาน CCPP ที่ ม.อ.ปัตตานีอธิบายวารสารศาสตร์สันติภาพเพื่อแก้ไขความขัดแย้ง ชี้เป็นการปฏิรูปการนำเสนอข่าวของสื่อทั่วโลก เป็นงานยากของนักข่าว แต่มีเป้าหมายเพื่อการเปลี่ยนแปลง ย้ำการเสนอข่าวแบบแพ้-ชนะ คือตัวเร่งขยายความรุนแรง 

 
 
 
 
 
เวลา 09.15 น. วันที่ 22 สิงหาคม 2557 ในงานประชุมวิชาการนานาชาติ เรื่อง "การสื่อสาร ความขัดแย้ง และกระบวนการสันติภาพ : ภูมิทัศน์ความรู้จากเอเชียและจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย" (Communication, Conflicts and Peace Processes :Landscape of Knowledge from Asia and the Deep South of Thailand) หรือ CCPP ที่วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ. ปัตตานี)
 
รศ.ดร.Jake Lynch ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความขัดแย้งและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย แสดงปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “วารสารศาสตร์สันติภาพเพื่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง” โดยรศ.ดร.Jake Lynch ได้ทุ่มเทเวลากว่าสิบปีเพื่อการศึกษา พัฒนาองค์ความรู้สาขาวิชาวารสารศาสตร์เพื่อสันติภาพ (Peace Journalism) รวมทั้งมีประสบการณ์ด้านการรายงานข่าวเพื่อสันติภาพทางสื่อมวลชนอย่างต่อเนื่อง
 
วารสารศาสตร์เพื่อสันติภาพคืออะไร
 
รศ.ดร.Jacke Lynch กล่าวถึงศักยภาพของสื่อที่จะสร้างสมรรถภาพในการสร้างสันติภาพ โดยเฉพาะการวารสารเพื่อสันติภาพ โดยอธิบายว่าวารสารศาสตร์สันติภาพคืออะไร มีต้นกำเนิดมาจากไหน โดยกล่าวถึงข้อค้นพบจากงานวิจัยของเขา และการปรับวิธีนำเสนอข่าวที่จะสร้างประโยชน์ให้สาธารณชนได้อย่างไร และจะทำอย่างไรที่จะให้การนำเสนอข่าวเป็นตัวเอื้ออำนวยไม่ให้ความขัดแย้งทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น
 
รศ.ดร.Jacke Lynch กล่าวว่า วารสารศาสตร์สันติภาพเป็นนโยบายการสื่อสารระดับนานาชาติ ซึ่งแนวคิดนี้เริ่มต้นจากโยฮัน กัลตุง และเกาเตอร์ และลูก้า ที่พยายามเพิ่มเนื้อหาการนำเสนอข่าวเพื่อสันติภาพ โดยพยายามยกกรณีศึกษาการนำเสนอข่าวตามสถานการณ์จริง โดยพบว่า แม้นักข่าวมีหน้าที่รายงานข้อเท็จจริง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงมันมากกว่าสิ่งที่รายงาน ดังนั้นนักข่าวก็เสมือนผู้กำหนดข่าวสารว่าจะนำเสนออะไรบ้าง
 
รศ.ดร.Jacke Lynch นำเสนอโครงสร้างการนำเสนอข่าวของสื่อระดับนานาชาติและเสนอแนะการปรับวิธีการนำเสนอข่าวเพื่อให้เกิดสันติภาพว่า จากการศึกษาพบว่า สื่อระดับชาติมักรายงานข่าวความขัดแย้งทั่วโลก และมักนำเสนอข้อมูลที่มองว่าผู้รับสารชื่นชอบ
 
“ผู้สื่อข่าวมีกระบวนการเลือกนำเสนอข่าว บางองค์กรเลือกประเด็นข่าวที่ตัวเองชื่นชอบ และนักข่าวมักนำเสนอเฉพาะเหตุการณ์ แต่ผลกระทบหลังจากนั้นมักไม่ค่อยนำเสนอ ซึ่งเป็นข้อจำกัดของนักข่าวที่ต้องส่งข่าวสำนักข่าวตามเวลาที่กำหนดนั่นเอง”
 
งานยากของนักข่าว-เป้าหมายเพื่อการเปลี่ยนแปลง
 
รศ.ดร.Jacke Lynch ได้ยกตัวอย่างการสัมภาษณ์ทหารอเมริกันที่อิรักโดยนักข่าวที่ไปฝังตัวอยู่ที่นั่นว่า ผู้สื่อข่าวทั่วไปเน้นความถี่หรือจำนวนในเหตุการณ์เท่านั้น แต่หากจะนำเสนอข่าวเพื่อสันติภาพก็จำเป็นต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องนำเสนอข่าวนั้นทันที แต่ควรวิเคราะห์หรือค้นหาสาเหตุ หรือผลประโยชน์บางอย่างหากนำเสนอได้ จึงจะถือว่าเป็นการรายงานข่าวที่ยอดเยี่ยม แต่ไม่ค่อยเกิดขึ้นนัก
 
“แน่นอน ข่าวร้ายมักถูกนำเสนอมากกว่าข่าวดี นักข่าวมักหาข่าวในพื้นที่เกิดเหตุร้ายก็จริง สิ่งที่น่าสนใจคือในพื้นที่นั้นก็มีกลุ่มคนที่พยายามปรับตัวหรือแก้ปัญหาอยู่ด้วย แต่นักข่าวมักจะไม่เห็นหรือไม่สนใจ”
 
ดังนั้นโยฮัน กัลตุงจึงได้คิดค้นการนำเสนอข่าวเพื่อสันติภาพ โดยก่อตั้งศูนย์เพื่อศึกษาพร้อมสร้างหลักสูตรวารสารศาสตร์เพื่อสันติภาพ โดยมีเป้าหมายให้เกิดการนำเสนอข่าวระดับชาติเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ซึ่งยอมรับว่าการที่จะให้ผู้ข่าวยอมรับแนวคิดนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย
 
รศ.ดร.Jacke Lynch ระบุว่า ที่ผ่านมาได้เชิญบรรดานักข่าวมาพูดคุยและเปลี่ยนแนวคิดวารสารศาสตร์เพื่อสันติภาพ เช่น บรรณาธิการสำนักข่าวสกายนิวส์ ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่มองว่า การนำเสนอข่าวในรูปแบบใหม่นี้เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก ขณะนี้มีการจัดอบรมหลักสูตรวารสารศาสตร์เพื่อสันติภาพ แต่เน้นเฉพาะการแทรกแซงสถานการณ์ความขัดแย้งโดยกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเจ้าหน้าที่และประชาสังคม
 
เพราะวารสารศาสตร์ส่งอิทธิพลต่อสังคม
 
รศ.ดร.Jacke Lynch กล่าวว่า สาเหตุหลักที่ต้องมีการอบรมหลักสูตรวารสารศาสตร์เพื่อสันติภาพ เนื่องจากวารสารศาสตร์มีอิทธิพลต่อสังคมอย่างยิ่ง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับโครงสร้างการนำเสนอข่าวที่สร้างสรรค์ การนำเสนอข่าวที่สร้างสรรค์ คือ นำประเด็นต่างๆ หรือกระบวนการต่างๆ มานำเสนอไม่เฉพาะเหตุรุนแรงเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อสะท้อนพลังของประชาชนในการรับมือหรือตอบโต้กับปัญหาที่เกิดขึ้น หรือความพยายามสร้างสันติภาพอย่างไรบ้าง
 
ข้อจำกัดใหญ่ของสื่อมวลชนคือ มักต้องนำเสนอตามวาระขององค์กรข่าวของตัวเอง ของเจ้าของหนังสือพิมพ์หรือเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งที่จริงผู้สื่อข่าวต้องนำเสนอข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นมากที่สุด วารสารศาสตร์ในภาวะสงครามมุ่งเน้นการนำเสนอที่ต่างกับความขัดแย้งทั่วไป แต่นักข่าวส่วนใหญ่มักไม่อยากพูดเรื่องสันติภาพ ซึ่งเป็นไปได้ว่านักข่าวมักจะเกรงว่าผู้รับสารอาจไม่อยากรับฟัง หรือกลัวว่าจะถูกกล่าวหาว่าพูดเกินจริง การผลิตข่าวต่างๆ จำเป็นต้องพิจารณาว่า เมื่อนำเสนอแล้วจะส่งผลให้เกิดความกระจ่างต่อสถานการณ์ยิ่งขึ้น หรือทำให้สถานการณ์ถูกปิดบังลง หรือสร้างความมืดมนให้กับสังคม 
 
เสนอข่าวแบบแพ้-ชนะ คือตัวเร่งขยายความรุนแรง
 
ตัวอย่างเช่น นักข่าวตะวันตกส่วนใหญ่ต่างตัดสินว่า การฆ่าพันเอกโมอัมมาร์ กัดดาฟี ประธานาธิบดีแห่งลิเบียเป็นชัยชนะของนาโต้ จึงไม่จำเป็นต้องรายงานข่าวนี้อีกต่อไป ในขณะเดียวกันก็มีนักข่าวอื่นๆ ที่ยังติดตามปัญหาการกดขี่จากการใช้กำลังในการโค่นล้มอำนาจของกัดดาฟี ซึ่งอาจจะก่อปัญหาอื่นๆตามมาก็เป็นได้ ดังนั้นหากเรานำเสนอข่าวเพียงแค่กัดดาฟีเสียชีวิตแล้ว ก็ถือว่าเราไม่ได้เรียนรู้ที่นำไปสู่การแก้ไขความขัดแย้งหรือการเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งภายในประเทศลิเบียได้
 
หนังสือพิมพ์ News weekly เคยพาดหัวข่าวว่า “ใครจะเป็นผู้ชนะระหว่างบุชกับซัดดัม” ซึ่งการพาดหัวเช่นนี้เป็นการแบ่งเป็นฝ่ายผู้แพ้กับผู้ชนะ แต่“ในที่สุดเวลาจะเป็นตัวตัดสิน” แต่การนำเสนอลักษณะนี้ ก็อาจนำไปสู่การทำความเข้าใจเกี่ยวกับความขัดแย้งก็เป็นไปได้ ส่วน Daily mirror เป็นหนังสือพิมพ์ของประเทศอังกฤษที่สนับสนุนการต่อต้านสงคราม มามากกว่าเรื่องการแพ้ชนะ โดยให้ความสนใจประเด็นอื่นๆ ด้วย เพื่อเป็นบทเรียนในการคลี่คลายความขัดแย้งก่อนที่จะเกิดความรุนแรง
 
หากเราแบ่งว่ามีแต่แพ้กับชนะ ผู้แพ้ก็ต้องหาเหตุผลว่าทำไมต้องเพิ่มกำลังอาวุธ ต้องหายุทธศาสตร์อย่างไร ส่วนผู้สื่อข่าวก็พยายามนำเสนอข่าวท่าทีหรือเร่งรัดให้เกิดการแพ้หรือชนะ กระบวนการเหล่านี้ถือว่าผู้สื่อข่าวเป็นบุคคลสำคัญที่สร้างให้ความรุนแรงยิ่งทวีมากขึ้น
 
วารสารศาสตร์สันติภาพคือการปฏิรูปการนำเสนอข่าวทั่วโลก
 
นักข่าวหรือนักวิชาการบางคนมักมีแผนที่ความรุนแรงที่เกิดขึ้นบนโลก ซึ่งกรอบคิดหรือมุมมองสถานการณ์ความขัดแย้งต่างๆ เหล่านี้ ก็จะเป็นผลที่ทำให้เกิดความรุนแรงมากขึ้นได้เหมือนกัน เช่น กัดดาฟีอยู่พื้นที่ไหนและถ้ายังไม่เสียชีวิต ผู้สื่อข่าวก็มองเป็นความล้มเหลวของประธานาธิบดีฝรั่งเศส ซึ่งการรายงานทัศนคติแบบนี้เป็นการกดดันให้สร้างความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นได้ หรืออาจนำไปสู่สงครามในที่สุด
 
หากนักข่าวมีอคติต่อสิ่งๆ หนึ่งแล้ว ก็อาจทำให้นักข่าวไม่ได้ตั้งคำถามว่าทำไมถึงเกิดเหตุการณ์นั้นได้ แต่หากมีการตั้งคำถามหรือนำเสนอข้อมูลที่ดีก็อาจนำไปสู่การคิดวิเคราะห์ได้ เช่น เนชั่นนำข้อคิดเห็นหรือข้อวิเคราะห์มาลงหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ ก็อาจส่งอิทธิพลต่อผู้นำประเทศได้
 
ดังนั้นวารสารศาสตร์เพื่อสันติภาพจึงเป็นนโยบายหนึ่งที่พยายามปฏิรูปการนำเสนอข่าวของสื่อทั่วโลก ที่ผ่านมามีนักวิจัยจากเอเชีย 2 คน คือจากสิงค์โปรและฟิลิปปินส์ได้นำทฤษฎีวารสารศาสตร์สันติภาพนำไปสู่การปฏิบัติโดยไม่นึกถึงผลประโยชน์ และงานศึกษาเหล่านี้ก็ได้จัดตีพิมพ์ด้วย
 
โดยมีคำถามที่น่าสนใจว่า วารสารศาสตร์เพื่อสันติภาพมีจริงหรือเปล่า ซึ่งพบว่า การนำเสนอข่าวเหล่านี้เกิดขึ้นจริง เป็นหนังสือพิมพ์ Incuary ของประเทศฟิลิปปินส์
 
คำถามที่สองคือ หากมีการนำเสนอข่าวเพื่อสันติภาพมากขึ้นจะส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง ซึ่งพบว่า การนำเสนอข่าวเพื่อสันติภาพนั้นจะกระตุ้นให้ผู้อ่านไม่สนับสนุนความรุนแรงและหนุนเสริมสันติภาพมากขึ้น
 
คำถามที่สามคือ นักข่าวจะได้รับการสนับสนุนในการทำวารสารศาสตร์สันติภาพในแต่ละวันได้หรือไม่ 
 
วารสารศาสตร์สงคราม – วารสารศาสตร์สันติภาพ
 
รศ.ดร.Jacke Lynch ได้ยกตัวอย่างภาพของการอบรมหลักสูตรวารสารศาสตร์เพื่อสันติภาพในที่ต่างๆ อย่าง ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเลบานอน ซึ่งมีการจัดตั้งสมาคมวารสารศาสตร์เพื่อสื่อมวลชน
 
การยกพื้นที่การอบรมที่ต่างๆ ไม่ได้มุ่งเน้นจำนวนหรือปริมาณ แต่เรามุ่งที่จะศึกษาผลลัพธ์ของวารสารศาสตร์เพื่อสันติภาพมากกว่าว่าเกิดประโยชน์ต่อสังคมนั้นอย่างไรบ้าง เช่น การก่อตัวของความขัดแย้ง การเปิดโปงข้อเท็จจริง เป็นต้น
 
การพัฒนาวารสารศาสตร์เพื่อสันติภาพ ด้านวารสารศาสตร์ที่เป็นข่าวในทีวี มีการปรับปรุงรายละเอียดของข่าวให้มีมาตรฐานระดับโลก มีการเปรียบเทียบระหว่างวารสารศาสตร์ด้านสงครามและวารสารศาสตร์ด้านสันติภาพเพื่อให้เห็นความแตกต่าง
 
จากการศึกษาที่ประเทศออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ แอฟริกาใต้และแมกซิโก พบว่าในออสเตรเลียมีการตอบสนองทางการเมือง คนที่สื่อสารผ่านสื่ออาจมีความเสี่ยง เช่น การนำเสนอเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย อาจถูกทำร้ายได้ในภายหลัง ก่อให้เกิดความเสียหายด้านร่างกายและจิตใจหรือส่งผลต่อความยากลำบากในชีวิต นี่เป็นตัวอย่างของการตอบสนองที่นำไปสู่ความรุนแรง ในทางกลับกันเมื่อผู้อ่านหรือผู้ฟังได้ทราบสถานภาพของผู้ลี้ภัยที่มักถูกปฏิเสธในการขอสถานภาพลี้ภัยแล้ว ก็ส่งผลให้เกิดความเห็นอกเห็นใจนั่นเอง
 
สะท้อนภาพใหญ่ในสังคม นำเสนอคุณค่าของทุกคน
 
รศ.ดร.Jacke Lynch ได้ยกตัวอย่างการทำข่าวโดยสัมภาษณ์คุณอาลีที่เป็นผู้ลี้ภัยจากอัฟกานิสถาน โดยต้องเดินทางด้วยเรือเป็นเวลาหลายวันกว่าจะเข้ามาบนเกาะออสเตรเลียได้ เมื่อได้รับรู้เรื่องของผู้ลี้ภัยเหล่านี้ เกิดการสนับสนุนให้มอบสถานภาพให้กับผู้ลี้ภัย และได้รับสถานภาพผู้ลี้ภัยในที่สุด ซึ่งเป็นการพิสูจน์ว่ารัฐบาลออสเตรเลียตัดสินใจไม่ผิดพลาด เพราะอาลีได้ให้สัมภาษณ์ว่าประเทศออสเตรเลียทำให้พบกับอิสรภาพที่แท้จริง
 
“ปัญหาเริ่มต้นจากระบบที่มีปัญหาในการให้สถานภาพผู้ลี้ภัย หากผู้ขอสถานภาพไม่ได้สื่อสารให้ผู้คนได้รับฟังเสียงของพวกเขา เราก็จะไม่เข้าใจสถานภาพของคนเหล่านี้ได้ สื่อส่วนใหญ่นำเสนอแต่เสียงของผู้มีอำนาจมีสิทธิในการตัดสินใจแต่เพียงผู้เดียว เป็นเสียงของนักการเมืองอย่างเดียว นี่คือตัวอย่างของวารสารสันติภาพที่พยายามนำเสียงเงียบมานำเสนอให้สังคมใหญ่ได้รับทราบ”
 
รศ.ดร.Jacke Lynch อธิบายเพิ่มว่า วารสารศาสตร์สงครามนั้นมักจะสร้างความโกรธ และความรู้สึกหมดหวัง มีการต่อสู้ช่วงชิง ในขณะที่วารสารศาสตร์เพื่อสันติภาพจะนำเสนอระบบโครงสร้างที่ก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในสังคม พร้อมสะท้อนภาพใหญ่ในสังคม และนำเสนอคุณค่าของทุกคนในสังคม
 
ตัวอย่างจากคนชายขอบในเม็กซิโก ปัญหาเรื่องการค้ายาเสพติด การแก้ไขปัญหาเรื่องการค้ายาเสพติดในเชิงสร้างสรรค์มากขึ้น แทนการให้ตำรวจใช้อาวุธเพื่อแก้ไขปัญหาด้วยความรุนแรง
 
“เราต้องการเปลี่ยนแปลงจุดสนใจของผู้คน ซึ่งเป็นผลมาจากวารสารศาสตร์สันติภาพ เราควรขยายขอบเขตของเรื่องราว เพื่อให้เกิดการรับรู้และยอมรับกันและกันมากขึ้น”
 
บทบาทสื่อท้องถิ่น คือผู้ส่งต่อข้อมูลและนำคนชายขอบมาสื่อสาร
 
ในประเทศฟิลิปปินส์ประสบความสำเร็จอย่างมาก เช่น มินดานิวส์ เป็นการรับมือและตอบสนองด้วยการมีนักข่าวจำนวนมาก เพราะสำนักข่าวหลักส่วนใหญ่อยู่ในเมืองหลวงจึงมีข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อเท็จจริงในพื้นที่ จึงมีการจัดตั้งสื่อมวลชลท้องถิ่นเพื่อส่งต่อข้อมูลที่ถูกต้องให้สื่อมวลชนกระแสหลัก รวมทั้งการนำคนที่เป็นคนชายขอบเข้ามาพูดคุยและค้นหาสิ่งที่เขาอยากสื่อสาร เพื่อสะท้อนเสียงออกมาสู่สังคมใหญ่
 
คุณวานีซา แบสเซิล สุภาพสตรีที่เริ่มต้นทำงานด้านวารสารศาสตร์เพื่อสันติภาพในประเทศเลบานอน เธอเริ่มต้นเขียนบทความให้กับ UNDP และเขียนข่าวให้สำนักข่าวในเลบานอนตามแนวทางวารสารศาสตร์สันติภาพ วารสารศาสตร์สันติภาพเป็นส่วนหนึ่งของสื่อกระแสหลัก และสื่อท้องถิ่น Social Media เพื่อให้เกิดการสื่อสารและการเปลี่ยนแปลงบรรยากาศของสังคม
 
ความท้าทายและโอกาสการสื่อสารเพื่อสันติภาพ
 
ตัวอย่างจาก wiki leak ที่มีทั้งการแจ้งเหตุและเตือนภัยให้คนรับทราบ โดยไม่จำเป็นว่าตนเองเป็นใคร ในกรณีการโจมตีของอิสราเอลในชนวนกาซ่า เกิดการเรียกร้องให้หยุดยิงในชนวนกาซ่า wiki leak สามารถเผยแพร่ข้อมูลในแง่เพื่อให้เกิดการหยุดยิง เพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจต้องล่มสลาย เป็นหนึ่งในความสำเร็จของ wiki leak 
 
wiki leak แสดงให้เห็นว่าประชาธิปไตยทำให้สื่อมวลชนสามารถเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารได้ การสร้างพันธมิตรด้านสื่อมวลชนในการเผยแพร่ข้อมูล การสร้างความเป็นหุ้นส่วนเผยแพร่ข้อมูล เป็นทั้งความท้าทายและโอกาสแก่นักข่าวในการใช้การสื่อสารเพื่อสร้างสันติภาพ
 
หลายแห่งมีการพูดคุยสันติภาพอย่างเป็นทางการ กรพูดคุยระหว่างรัฐไทยกับขบวนการเคลื่อนไหวปาตานี อาจเป็นจุดกึ่งกลางที่จะนำเสนอข้อเท็จจริง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความต้องการแบ่งแยกดินแดน นั่นคือจุดกึ่งกลางของการพูดคุย นักสื่อสารเพื่อสันติภาพจึงควรแจ้งเตือนสาเหตุของความขัดแย้งให้ประชาชนได้รับทราบอย่างถ่องแท้และหลีกเลี่ยงการโฆษณาชวนเชื่อ
 
ข้อแนะนำการปฏิรูปวารสารศาสตร์ของไทย 
 
ข้อแนะนำการปฏิรูปวารสารศาสตร์ของประเทศไทย คือขอบเขตในการปฏิรูปความขัดแย้งนั้นต้องเกื้อหนุนมุมมองในเรื่องคุณค่าที่จะอยู่ในข่าว และต้องยอมรับว่า ทุกความต้องการของชุมชนอาจไม่ถูกตอบรับทั่งหมด เราจำเป็นต้องมีการการเคลื่อนไหวของนักข่าว มีการรวบรวมทรัพยากร ต้องมีมุมมองด้านสันติภาพและเนื้อหาของวาระของข่าวเป็นสิ่งสำคัญ ต้องสร้างความเป็นพันธมิตรกับภาคประชาสังคมและนักวิชาการ
 
การตั้ง conflict new press เพื่อนำเสนอใจกลางของความขัดแย้ง ต้องนำเสนอประเด็นอำนาจของการจัดการความขัดแย้งมากกว่าเสนอประเด็นแบ่งแยกดินแดน เสนอจุดยืนของการประนีประนอม ปรองดอง แม้ว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ยาก จึงจำเป็นต้องมีการกระจายความรู้เรื่องวารสารศาสตร์เพื่อสันติภาพ โดยการเผยแพร่ความรู้ด้านสันติภาพ ปฏิรูปวารสารศาสตร์ เรื่องการปฏิบัติ และเนื้อหา เพื่อเป็นไปในแนวทางสร้างสรรค์
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles