ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกอัพเดทล่าสุดเมื่อวันที่ 18 ส.ค. เผยแพร่เมื่อวันที่ 20 ส.ค. โดยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ระหว่างวันที่ 17-18 ส.ค. จำนวน 1 คน
ทั้งนี้การแพร่ระบาดของโรคขณะนี้มี 4 ประเทศ คือ กินี เซียร์ราลีโอน ไลบีเรีย และเมืองลากอส ประเทศไนจีเรีย
แพทย์อาสาติดเชื้ออีโบลา ฟื้นตัวออกจากโรงพยาบาลแล้ว ประสิทธิภาพของเซรุ่ม ZMapp ยังไม่ได้รับการยืนยัน
สำหรับสถานการณ์เกี่ยวกับโรคอีโบลา เมื่อวานนี้ (21 ส.ค. )น.พ. เคนท์ แบรนท์เลย์ อาสาสมัครแพทย์ชาวอเมริกันที่ติดเชื้อไวรัสอีโบลาจากไลบีเรีย ออกจากโรงพยาบาลแล้ว โดยก่อนหน้านี้ แนนซี ไรท์โบล ซึ่งเป็นอาสาสมัครด้านการแพทย์อีกคนที่ติดเชื้ออีโบลาได้ผ่านการตรวจเลือด พร้อมเดินทางออกจากโรงพยาบาลไปก่อนแล้วตั้งแต่วันองคารที่ผ่านมา
รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เคนท์ วัย 33 ปี เป็นมนุษย์คนแรกที่รับการฉีดเซรุ่ม ZMapp ซึ่งเป็นเซรุ่มสำหรับสร้างภูมิต้านทานเชื้อไวรัสอีโบลาก่อนที่จะถูกนำตัวไปรักษาต่อที่สหรัฐอเมริกา โดยเอบีซีระบุว่าเขาอาการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่อได้รับการฉีดเซรุ่มดังกล่าว ขณะที่แนนซี ก็ได้รับการฉีดเซรุ่มดังกล่าวและอาการดีขึ้นเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม น.พ.บรูซ ริบเนอร์ ผู้อำนวยการแผนกผู้ป่วยติดเชื้อ ของโรงพยาบาลอีมอรี ให้สัมภาษณ์ถึงประสิทธิภาพของ ZMapp ว่า เขายังไม่สามารถยืนยันได้ว่าในทางทฤษฎีแล้วเซรุ่มดังกล่าวทำงานอย่างไร และมันให้ผลในทางส่งเสริมการรักษา หรือไม่มีผลอะไร หรืออาจจะส่งผลให้คนไข้ฟื้นตัวช้ากว่าที่ควรจะเป็นก็ได้
อาสาสมัครสาธารณสุขทั้งสองราย ติดเชื้ออีโบลาเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ขณะที่พวกเขาทำงานอาสาดูแลผู้ติดเชื้ออีโบลาในเมืองมอนโรเวีย ประเทศไลบีเรีย พวกเขาถูกนำตัวไปรักษาต่อที่สหรัฐอเมริกาในวันเสาร์ที่ 2 ส.ค. ที่ผ่านมา โดยมีประชาชนบางส่วนไม่เห็นด้วยที่จะนำตัวอาสาสมัครทางการแพทย์ทั้งสองคนเข้าประเทศ เนื่องจากกังวลเรื่องการระบาดของเชื้ออีโบลา
สาธารณสุขไทยแถลง จับตาดูอาการหญิงเดินทางกลับจากเคนยา พร้อมผู้ใกล้ชิด 13 ราย
สำหรับสถานการณ์ในไทย วานนี้ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวกรณีมาตรการเฝ้าระวังโรคอีโบลา ว่า ขณะนี้มีหญิง อายุ 48 ปี ซึ่งทำงานอยู่ที่ประเทศไลบีเลีย ได้เดินทางมาจากประเทศไลบีเรีย วันที่ 18 ส.ค. เปลี่ยนเครื่องที่ประเทศเคนยา และมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิ วันที่ 19 ส.ค. ในระหว่างการเดินทางมีอาการปวดหัว และมีผื่นขึ้น แต่ไม่มีไข้ เมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทย ได้ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเอกชน โดยแพทย์วินิจฉัยเบื้องต้นว่า เป็นลมพิษ จากนั้นได้เข้าพักที่โรงแรมแห่งหนึ่ง แต่ก็ยังมีความกังวล จึงได้โทรแจ้งสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 เจ้าหน้าที่จึงได้ไปรับตัวมายังสถาบันบำราศนราดูร เพื่อเฝ้าระวัง โดยแพทย์ได้ตรวจสอบเบื้องต้น ไม่พบไข้ ซึ่งเป็นอาการบ่งชี้ของโรคอีโบลา แต่ตามมาตรฐานการเฝ้าระวัง จึงได้จัดให้เป็นผู้ที่อยู่ในระหว่างสอบสวนโรค ไม่ใช่ผู้ต้องสงสัยว่าป่วย
ซึ่งนอกจากติดตามอาการของหญิงรายดังกล่าว กรมควบคุมโรค ยังได้ติดตามผู้ใกล้ชิดอีก 13 ราย ซึ่งมีทั้งผู้ที่ร่วมเดินทางมาด้วยกัน ญาติผู้ใกล้ชิด และพนักงานในโรงแรมที่หญิงรายดังกล่าวเข้าพัก
สาธารณสุขเมียนมาร์แถลงผลเลือดชายต้องสงสัยติดเชื้อ พบเป็นมาลาเรีย ไม่ใช่อีโบลา
สำหรับผู้ต้องสงสัยว่าจะติดเชื้ออีโบลาชาวเมียนมาร์วัย วันนี้ (22 ส.ค.) กระทรวงสาธารณสุขของสหภาพเมียนมาร์แถลง ผลการตรวจเลือดของชายชาวเมียนมาร์วัย 22 ที่เข้าข่ายเฝ้าระวังเชื้ออีโบลา เนื่องจากมีอาการไข้ และเดินทางกลับจากประเทศกีนี ทวีปแอฟริกาซึ่งเป็นพื้นที่ระบาด โดยแวะต่อเครื่องที่สนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา พบว่าไม่มีเชื้ออีโบลา แต่เป็นไข้มาลาเรีย