19 ส.ค.2557 สำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อการดำเนินคดีและตัดสินลงโทษบุคคลหลายคนในประเทศไทยด้วยกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า ตั้งแต่หลังรัฐประหาร 22 พ.ค. เป็นต้นมา เริ่มมีการสอบสวนคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพคดีใหม่อย่างน้อย 13 คดี รวมถึงมีการรื้อบางคดีขึ้นมาพิจารณาด้วย
แถลงการณ์กล่าวถึงกรณีนักศึกษา 2 คนที่ถูกจับกุมจากการแสดงละครเมื่อตุลาคม ปีที่แล้ว กรณีนาย พ. ถูกตัดสินจำคุก 15 ปีในความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากการโพสต์เฟซบุ๊ก และกรณีคนขับแท็กซี่ ซึ่งถูกตัดสินจำคุก 2 ปี 6 เดือน จากบทสนทนากับผู้โดยสาร พร้อมแสดงความเป็นห่วงว่าจะมีการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่ม รวมถึงจะมีการตัดสินลงโทษที่รุนแรงมากขึ้นในสัปดาห์ต่อๆ ไป
นอกจากนี้ แถลงการณ์ระบุด้วยว่า เมื่อปี 2556 ข้าหลวงใหญ่ฯ ได้เคยสนับสนุนการแก้ไขมาตรา 112 ของกฎหมายอาญา ขณะที่เมื่อปี 2554 แฟรง ลา รู ผู้ตรวจการพิเศษสหประชาชาติด้านส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิในการมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก เรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากมองว่า คลุมเครือเกินไปและกำหนดโทษสูงเกินไป ซึ่งขัดแย้งกับข้อกำหนดด้านเสรีภาพในการแสดงออกภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ไทยได้ให้สัตยาบันไว้
สำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ระบุต่อว่า เราขอย้ำข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลทหาร เพื่อทำให้แน่ใจว่าไทยได้ปฏิบัติตามพันธกรณีของกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)