18 สิงหาคม 2557 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) ออกแถลงการณ์ ต่อการจับกุมและตั้งข้อหาตามมาตรา 112 ต่อ น.ส.ภรณ์ทิพย์ (สงวนนามสกุล) และ นายปติวัฒน์ (สงวนนามสกุล) ซึ่งทั้งสองถูกกล่าวหาว่า มีส่วนเกี่ยวข้อง และร่วมแสดง (ตามลำดับ) ละครเจ้าสาวหมาป่าในงานครบรอบ 40 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ เมื่อปีที่แล้ว
สนส. เห็นว่าว่า การจับกุมและตั้งข้อหาดังกล่าว อาจคุกคามและละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน และการดำเนินคดีอาจไม่เป็นไปตามหลักการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม และเรียกร้องให้จ้เาหน้าที่ตำรวจและศาลเคารพในหลักการได้รับการสันนิฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ และให้สิทธิผู้ต้องหาให้ได้รับการปล่วยตัวชั่วคราว
"การที่ศาลไม่ให้ประกันตัว โดยให้เหตุผลว่าเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี โดยบุคคลทั้งสองมิได้มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนีหรือทำลายพยานหลักฐานนั้น เป็นการลิดรอนสิทธิของบุคคลทั้งสองที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ต้องได้รับการเคารพและรับรองสิทธิในเสรีภาพและอิสรภาพตราบเท่าที่ยังไม่มีคำพิพากษาเป็นที่สุดว่าเป็นผู้กระทำความผิด"สนส. กล่าว
นอกจากนี้ สนส. ยังกล่าวอีกว่า ในการที่ศาลอาญา มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวโดยอ้างว่า “ละครมีเนื้อหาล้อเลียนในลักษณะจาบจ้วง” และ “เป็นการนำความเสื่อมเสียสู่สถาบันและกระทบกระเทือนจิตใจของประชาชน” เป็นการให้ความเห็นในเนื้อหาแห่งคดีและย่อมไม่สามารถนำมาใช้เป็นเหตุผลในการคุมขังผู้ต้องหาได้
-----------------------------------------------------
แถลงการณ์
ให้ยุติการละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
เคารพหลักการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมและปล่อยตัวชั่วคราวนักศึกษาและนักกิจกรรมทั้งสองโดเร็ว
จากกรณีเมื่อวันที่ 15 – 16 สิงหาคม 2557 เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม ได้จับกุมตัวนายปติวัฒน์ (ขอสงวนนามสกุล) นักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และนางสาวภรณ์ทิพย์ (ขอสงวนนามสกุล) นักกิจกรรมทางสังคม เพื่อดำเนินคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการแสดงละคร “เจ้าสาวหมาป่า” ในงานรำลึก 40 ปี 14 ตุลา ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อเดือนตุลาคม 2556 โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจคัดค้านการประกันตัว ต่อมาศาลอาญามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวและให้นำตัวทั้งสองไปฝากขังที่เรือนจำ โดยให้เหตุผลว่า “คดีมีพฤติการณ์ร้ายแรง เกรงจะหลบหนี” นั้น
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) เห็นว่าการดำเนินคดีดังกล่าวเป็นการกระทำที่อาจคุกคามและละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน และไม่เป็นไปตามหลักการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
1.ตามวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่เคารพสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ประชาชนทุกคนย่อมมีเสรีภาพในการแสดงออก ผ่านการพูด เขียน การแสดง หรือวิธีการอื่นใดเพื่อสื่อสารกับผู้อื่น รวมทั้งมีเสรีภาพในทางความคิด ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองข้อ 18 และ 19
การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมและดำเนินคดีต่อบุคคลทั้งสอง โดยเหตุจากการแสดงละครเรื่องดังกล่าว จึงอาจเป็นการละเมิดเสรีภาพของบุคคลทั้งสองที่ได้แสดงออกซึ่งความคิดเห็นต่อสาธารณะโดยสันติตามขอบเขตแห่งเสรีภาพของตนที่ย่อมสามารถกระทำได้ ไม่ว่าในรูปแบบใด ๆ หรือผ่านงานศิลปะ การละคร หรือการดนตรีก็ตาม
2.การที่ศาลไม่ให้ประกันตัว โดยให้เหตุผลว่าเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี โดยบุคคลทั้งสองมิได้มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนีหรือทำลายพยานหลักฐานนั้น เป็นการลิดรอนสิทธิของบุคคลทั้งสองที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ต้องได้รับการเคารพและรับรองสิทธิในเสรีภาพและอิสรภาพตราบเท่าที่ยังไม่มีคำพิพากษาเป็นที่สุดว่าเป็นผู้กระทำความผิด ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ เท่าเทียม และอย่างได้รับการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
การนำตัวบุคคลทั้งสองไปคุมขังไว้จึงเป็นการละเลยและบั่นทอนหลักประกันความยุติธรรมที่ศาลมีให้แก่ประชาชน ซึ่งได้รับการรับรองและคุ้มครองตามหลักสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาทั้งตามกฎหมายไทยและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
3.การที่ศาลอาญา มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวโดยอ้างว่า “ละครมีเนื้อหาล้อเลียนในลักษณะจาบจ้วง” และ “เป็นการนำความเสื่อมเสียสู่สถาบันและกระทบกระเทือนจิตใจของประชาชน”
เป็นการให้ความเห็นในเนื้อหาแห่งคดีและย่อมไม่สามารถนำมาใช้เป็นเหตุผลในการคุมขังผู้ต้องหาได้ อีกทั้ง ยังเป็นการสรุปความฝ่ายเดียวในลักษณะปรักปรำบุคคลทั้งสอง โดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้ต้องหาหรือทนายความได้โต้แย้ง คัดค้าน ซึ่งนอกจากจะเป็นการละเลยต่อหลักการที่ผู้ต้องหาจะได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์แล้ว ยังเป็นการละเมิดต่อหลักประกันความสามารถในการต่อสู้คดีอย่างเท่าเทียมที่ผู้ต้องหาต้องได้รับโอกาส เวลา และข้อมูลที่เพียงพอในการต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่
4.นับแต่การรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มีการใช้อำนาจและการดำเนินคดีต่อเหตุการณ์และกิจกรรมทางการเมือง ที่มีลักษณะเป็นการลิดรอนสิทธิ เสรีภาพ อิสรภาพของบุคคล เป็นการจำกัดพื้นที่ของการแสดงออกและการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างสันติ ไม่เป็นผลดีต่อการสร้างความปรองดองอย่างยั่งยืนที่สะท้อนต่อสภาพและรากเหง้าของความขัดแย้ง
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) จึงขอเรียกร้องต่อผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมและการบริหารราชการแผ่นดิน ดังนี้
1.ยุติการจับกุม คุมขัง การดำเนินคดี หรือการใช้อำนาจในรูปแบบใด ที่ส่งผลหรือมีวัตถุประสงค์คุกคาม ทำลาย หรือละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกโดยสันติภายใต้หลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน
2.ให้อัยการและศาลร่วมตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่มิให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดดำเนินกระบวนการยุติธรรมไปในลักษณะที่ไม่เป็นธรรม หรือเพื่อกลั่นแกล้งหรือให้ร้ายต่อกลุ่มบุคคลใด เพื่อดำรงไว้ซึ่งหลักนิติรัฐนิติธรรมที่บ้านเมืองต้องรักษาไว้ในภาวะที่มีความขัดแย้งทางความคิด
3.ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและศาลเคารพในหลักการได้รับการสันนิฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ของผู้ต้องหาและให้มีคำสั่งอนุญาตการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาทั้งสองโดยเร็ว
ด้วยความเคารพในสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai