จรัล ดิษฐาอภิชัยเผยแพร่จดหมายไม่เห็นด้วยกับการจับกุมนักแสดงละครเวที 2 ราย ด้วยมาตรา 112 เรียกร้องศาลทหารให้ประกันตัว ตำรวจหยุดไล่ล่าจับกุมผู้แสดงละครรายอื่น และ คสช. หยุดจับประชาชนเพิ่ม พร้อมเรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทำงาน
18 ส.ค. 2557 - เมื่อวันที่ 17 ส.ค. ที่ผ่านมา เว็บไซต์ไทยอีนิวส์ เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกของ จรัล ดิษฐาอภิชัย ผู้ประสานงานยุโรป องค์การเสรีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ซึ่งเขียนถึง คสช. กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมนักศึกษา 2 ราย และตั้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยมีรายละเอียดดังนี้
"นับตั้งแต่รัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทวีการปราบปรามและควบคุมประชาชนด้วยการออกคำสั่งให้นักการเมือง แกนนำขบวนการประชาชน นักวิชาการ นักเขียน สื่อมวลชนไปรายงานตัว 570 คน จับกุม 235 คน ดำเนินดีโดยศาลทหาร 60 คน ศาลอาญา 17 คน ผู้ถูกจับกุมที่ไม่เป็นข่าว รวมทั้งหมดเกือบพันคน แม้ส่วนใหญ่จะถูกปล่อยตัว โดยมีเงื่อนไข และคสช.ใช้วิธีการต่างๆควบคุมมิให้เคลื่อนไหวใดๆ ล่าสุด เข้าจับกุมนักศึกษา 2 คน ในข้อหาดูหมิ่น พระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการแสดงละคอน เรื่อง “เจ้าสาวหมาป่า” ในงานฉลอง 40 ปีกรณี 14 ตุลาคม 2516"
"ผมในฐานะประธานคณะกรรมการจัดงานดังกล่าว ขอชี้แจงว่า การแสดงละคอน เจ้าสาวหมาป่า เป็นส่วนหนึ่งของรายการศิลปวัฒนธรรมในงานฉลอง 40 ปี 14 ตุลาคม ซึ่งมีรายการอื่นๆ เช่น ดนตรี ลิเก และ งิ้ว กล่าวเฉพาะละคอน เจ้าสาวหมาป่า จัดแสดงโดย คณะประกายไฟ ประกอบด้วยนักเรียน นักศึกษา เยาวชนชุมชนแออัด เป็นคณะละคอนสมัยใหม่ เคยแสดงตามเวที ลานแสดงกลางแจ้ง และบนถนน ละคอนเจ้าสาวหมาป่า เป็นการแสดงศิลปะ แม้จะมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ ก็เหมือนๆ กับละคอน หนังตะลุง และภาพยนตร์จักรๆ วงศ์ๆ ซึ่งไม่น่าจะเข้าข่ายดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์"
"จึงขอประท้วงการจับกุมนักศึกษาทั้ง 2 คน เพราะเป็นการละเมิดสิทธิทางวัฒนธรรม และเสรีภาพแสดงความคิดเห็น และขอเรียกร้องศาลทหารพิจารณาให้ประกันตัว เจ้าหน้าที่ตำรวจหยุดไล่ล่าจับกุมนักเรียนนักศึกษาผู้แสดงละคอนคนอื่นๆ พวกเขาเป็นเยาวชนกำลังเรียนหนังสือ และที่สำคัญ คสช. จะต้องหยุดคุกคามปราบปรามประชาชนทั่วประเทศ"
"ขอเรียกร้องคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จะต้องตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่กระทำโดยคสช.อย่างจริงจัง ในระดับสากล ผมได้ส่งข่าวและ ร้องเรียนต่อสำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (OHCHR) สหภาพยุโรป (European Union) องค์การสอดส่องด้านสิทธิมนุษยชน (Human Rights Watch) ตั้งอยู่ที่สหรัฐอเมริกา และองค์การมาตรา 19 (Article19) ในอังกฤษ คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนด้านสิทธิมนุษยชน (AICHR) และคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนของรัฐสภาอาเซียน เชื่อมั่นว่า องค์การเหล่านี้จะจับตาและแสดงท่าทีต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน ดังกล่าว จรัล ดิษฐาอภิชัย ผู้ประสานงานยุโรป องค์การเสรีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย"