หมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้ พบกับ ‘อรรถ บุนนาค’และแขกรับเชิญ ‘ปราบดา หยุ่น’ ชวนกันสนทนา วิเคราะห์ แลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับวัฒนธรรมและพฤติกรรมการอ่านหนังสือของคนในสังคมไทย รวมถึงโอกาสและความเป็นไปได้ที่จะเกิดนักคิด หรือนักปรัชญาระดับโลกชาวไทยภายใต้บริบทสังคมวัฒนธรรมที่ดำรงอยู่
หนังสือที่จัดพิมพ์และวางจำหน่ายในท้องตลาดมักเน้นไปที่หนังสือสำหรับวัยรุ่นเป็นส่วนใหญ่ และมีหนังสือสำหรับผู้สูงวัยไม่มากนัก ทั้งที่ผู้สูงวัยเป็นกลุ่มคนที่อำนาจในการซื้อและเป็นคนกลุ่มใหญ่ สอดคล้องกับผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่พบว่าปี 2556 สังคมไทยมีการอ่านหนังสือเพิ่มมากขึ้นจากเดิมร้อยละ 53.5 เพิ่มเป็นร้อยละ 58.9 โดยวัยที่อ่านหนังสือมากเป็นอันดับแรก คือ 6-14 ปี รองลงมาคือ เยาวชนอายุ 15-24 ปี สำหรับผู้สูงวัยอายุ 60 ปีขึ้นไป มีสัดส่วนการอ่านหนังสืออยู่ในลำดับสุดท้าย ประเด็นที่น่าสนใจคือจำนวนการอ่านหนังสือที่เพิ่มขึ้นไปอยู่กับหนังสือประเภทใด เนื่องจากวรรณกรรมเยาวชนก็มียอดจำหน่ายไม่สูงและทำรายได้ให้กับสำนักพิมพ์ได้น้อยมาก
ขณะเดียวกัน หากมองไปที่ตลาดอีบุ๊คของไทย ก็ยังมีขนาดเล็กและขยายตัวได้น้อย ไม่เป็นที่นิยมมากนัก รวมถึงหนังสือที่ผลิตออกมาเป็นอีบุ๊คก็ยังมีจำนวนไม่มาก และยังมีแข่งขันกันเองภายในสูงมากอีกด้วย