ที่มา: ศปช.
เมื่อวันที่ 2 พ.ค.56 ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จังหวัดอุบลราชธานี อ่านคำพิพากษาคดีที่ผู้ชุมนุมเสื้อแดง 21 รายตกเป็นจำเลยวางเพลิงเผาศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 19 พ.ค.53 ซึ่งมีการสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช.ที่สี่แยกราชประสงค์ในกรุงเทพฯ
ทั้งนี้ ในคำพิพากษาของศาลชั้นต้นนั้น สั่งลงโทษจำเลยในฐานความผิดต่างกันไป มีบางส่วนที่สั่งยกฟ้อง บางส่วนถูกสั่งจำคุก 8 เดือน ถึง 2 ปี และมี 4 รายที่มีโทษสูงถึง 33 ปี 12 เดือน ทั้งหมดถูกคุมขังในเรือนจำตั้งแต่ชั้นจับกุมและส่วนใหญ่ได้รับการประกันตัวภายหลังจากที่ถูกจำคุกมาเป็นเวลา 1 ปี 3 เดือน
ส่วนคำพิพากษาในชั้นอุทธรณ์นั้น แบ่งเป็นกลุ่มหลัก ได้แก่
ศาลชั้นต้นยกฟ้อง อัยการไม่อุทธรณ์ คดีถึงที่สุด รอเยียวยา 6 ราย
ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 8 เดือน อัยการไม่อุทธรณ์ คดีถึงที่สุด จำคุกเกิน รอเยียวยา 2 ราย
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นยกฟ้อง 2 ราย
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น จำคุก 33 ปี 12 เดือน 4 ราย
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น จำคุก 1 ปี 1 ราย
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นตน จำคุก 2 ปี 4 ราย
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ จากจำคุก 8 เดือน เป็น 2 ปี 1 ราย
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ จากยกฟ้อง เป็นจำคุก 2 ปี 1 ราย
(อ่านรายละเอียดในล้อมกรอบด้านล่าง)
อย่างไรก็ตาม จำเลยที่ถูกพิพากษาจำคุกได้รับการประกันภายหลังฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เหลือผู้ที่ยังถูกคุมขังที่เรือนจำจนถึงปัจจุบันอีก 4 ราย ซึ่งเป็นจำเลยที่มีโทษหนัก 33 ปี 12 เดือน หนึ่งในจำนวนนั้นเป็นเพศหญิง
นายวัฒนา จันทศิลป์ ทนายจำเลยให้สัมภาษณ์ว่า จำเลยคดีนี้มีทั้งหมด 21 คน ส่วนที่มีหมายจับแต่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องมีประมาณ 67 หมาย ส่วนผู้ที่ถูกพิพากษายืนให้ลงโทษหนักจะมีการยื่นฎีกาต่อ และส่วนที่ถูกจำคุกเกินกว่าคำพิพากษาหากอัยการไม่อุทธรณ์ถือว่าคดีสิ้นสุด ก็เหลือเพียงการรอรับการเยียวยา
ก่อนหน้านั้นศูนย์ข้อมูลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม เดือน เม.ย.-พ.ค.53 หรือ ศปช. ได้ตีพิมพ์รายงานกว่า 1,000 หน้าซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตในคดีเผาศาลากลางอุบลราชธานีด้วย โดยระบุว่า 1.เหตุการณ์นี้ไม่มีการจับกุมผู้ต้องหาในที่เกิดเหตุ อาศัยการจับกุมตามหมายจับทั้งหมด แต่กระบวนการออกหมายไม่รัดกุมและไม่ยึดหลักการของกฎหมายที่ต้องมีหลักฐานตามสมควร มีการออกหมายจับทั้งคนที่อยู่ภายนอกและภายในศาลากลาง ภาพถ่ายส่วนใหญ่ถ่ายระยะไกล บางภาพมืด ไม่ชัดเจน บางภาพถ่ายขณะขว้างก้อนหินเข้าใส่ป้อมยาม บางภาพถ่ายคนที่ยืนอยู่ภายนอก ไม่มีพฤติกรรมอื่นใด นอกจากนี้คดีนี้ยังมีการออกหมายจับผู้ต้องหาบางคนโดยใช้ภาพที่ไม่ใช่เหตุการณ์ปี 2553 ด้วย และถูกออกหมายจับเพราะตำรวจเคยเห็นเขาร่วมชุมนุมในครั้งก่อนๆ โดยไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับการชุมนุมที่ศาลากลาง (จำเลยที่ 1) มีการใช้ภาพที่ไม่ชัดเจน ทำให้จับผิดตัว เช่น กรณีจำเลยที่ 14 ไม่ได้ไปชุมนุมบริเวณศาลากลางแต่อย่างใด นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังจับกุมโดยไม่แจ้งสิทธิและข่มขู่ให้ผู้ต้องหารับสารภาพ มีบางส่วนที่ถูกทำร้ายร่างกาย
2.การปล่อยชั่วคราว มีเพียงรายเดียวที่ได้รับการปล่อยชั่วคราวในชั้นพิจารณาก่อนศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษา เนื่องจากเป็นอัมพฤกษ์ครึ่งตัว พยายามขอประกันตัวหลายครั้งแต่ไม่ได้รับอนุญาต จนกระทั่งเป็นอัมพาตเดินไม่ได้ จึงได้รับการประกันตัว นอกนั้นส่วนใหญ่ได้รับประกันตัวเมื่อเวลาผ่านไปราว 1 ปี 3 เดือน
3.การสอบสวน ผู้ต้องหาไม่ได้รับการแจ้งสิทธิ แม้ทนายไม่ได้อยู่ร่วมขณะสอบสวนแต่ก็มีการลงลายมือชื่อของทนายในสำนวน บางคนถูกข่มขู่ บางคนถูกเกลี้ยกล่อม ให้รับสารภาพแล้วค่อยไปต่อสู้ในชั้นศาล จากการเบิกความของพยานทำให้พบว่ามีการสอบสวนโดยไม่ชอบและบิดเบือนพยานหลักฐาน เช่น พยานให้การปรักปรำจำเลยเพราะเจ้าหน้าที่สั่งให้พูด , จำเลยให้การอย่างหนึ่งแต่เจ้าหน้าที่บันทึกตรงกันข้ามแล้วให้จำเลยลงชื่อโดยไม่อ่านให้ฟัง
4.คำพิพากษา ศาลพิจารณาคดีบนพื้นฐานความเชื่อว่า การเผาศาลากลางเกิดจากกลุ่มเสื้อแดงอย่างไม่ต้องสงสัย มักให้น้ำหนักกับปากคำเจ้าหน้าที่รัฐด้วยเหตุผลว่า “ไม่ปรากฏว่าพยานโจทก์มีเหตุโกรธเคืองกับจำเลย” และให้น้ำหนักต่อคำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวนโดยให้เหตุผลว่า “ในชั้นศาลจำเลยมีเวลาคิดปรุงแต่งข้อเท็จจริงให้จำเลยพ้นผิด” หรือกรณีที่พยานโจทก์เบิกความเป็นคุณต่อจำเลย ศาลก็ไม่นำมาวินิจฉัย เช่น กรณีจำเลยที่ 15 เจ้าหน้าที่ กอ.รมน.ระบุว่าได้เข้าร่วมช่วยดับไฟ แต่ศาลก็ยังพิพากษาลงโทษมีความผิดฐานร่วมกันเผาทรัพย์ ที่สำคัญ ศาลใช้พยานหลักฐานที่เป็นภาพถ่ายประกอบคำรับสารภาพ หรือลายมือชื่อรับรองภาพถ่ายโดยเชื่อว่าเวลาดังกล่าวมีความชุลมุนต้องอาศัยภาพที่บันทึกจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นประกอบการพิจารณา นอกจากนี้เหตุการณ์เผาศาลากลางยังมีข้อเท็จจริงที่เป็นที่น่าเคลือบแคลงเช่น พยานผู้สื่อข่าวเบิกความว่าไฟเริ่มไหม้ที่ชั้นสองก่อน ขณะที่กำลังเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจ ถอนออกนอกพื้นที่แทนที่จะควบคุมเพลิง และก่อนเพลิงไหม้มีการยิงออกมาจากศาลากลาง ทำให้ผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บ 5 คน หลังเหตุการณ์มีทหารอากาศ 1 นาย ทหารบก 1 นายถูกออกหมายจับแต่ภายหลังต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ทั้งสองมีหนังสือถึงพนักงานสอบสวนให้เพิกถอนหมายจับ
ทนายจำเลย กล่าวสรุปคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภายหลังฟังคำตัดสิน เนื้อหาโดยสรุปดังนี้
นายพิเชษฐ ทาบุตรดาจำเลยที่ 1 ศาลอุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้นจำคุก 1 ปี แต่เนื่องจากถูกจำคุกมาก่อนพิพากษาแล้ว 15 เดือน ถือว่าเกินโทษ ต้องปล่อยโดยปริยาย หากอัยการไม่ฎีกา นางอรอนงค์ บรรพชาติจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 8 เดือน ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็น 2 ปี ถูกจำคุกมาก่อนแล้ว 15 เดือน ได้รับการประกันตัวในชั้นอุทธรณ์ นางสุมาลี ศรีจินดาจำเลยที่ 3 ศาลชั้นต้นยกฟ้องทุกข้อหา ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นจำคุก 2 ปี ได้รับการประกันตัวชั้นอุทธรณ์ นายประดิษฐ์ บุญสุขจำเลยที่ 4 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น จำคุก 2 ปี ได้รับการประกันตัวชั้นอุทธรณ์ นางสาวปัทมา มูลนิลจำเลยที่ 5 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น จำคุก 33 ปี 12 เดือน ไม่ได้รับการประกันตัวตั้งแต่ชั้นจับกุม ปัจจุบันถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำหลักสี่ นายสีทน ทองมาจำเลยที่ 6 ศาลชั้นต้นยกฟ้องทุกข้อกล่าวหา อัยการไม่อุทธรณ์ คดีถึงที่สุด รอการเยียวยา นายลิขิต สุทธิพันธ์จำเลยที่ 7 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น จำคุก 2 ปี ได้รับการประกันตัวชั้นอุทธรณ์ นางบุญเหรียญ ลิลา จำเลยที่ 8 ศาลชั้นต้นยกฟ้องทุกข้อกล่าวหา อัยการไม่อุทธรณ์ คดีถึงที่สุด รอเยียวยา นายธีรวัฒน์ สัจสุวรรณศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น จำคุก 33 ปี 12 เดือน ไม่ได้รับการประกันตัวตั้งแต่ชั้นจับกุม ปัจจุบันถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำหลักสี่ นายอุบล แสนทวีสุขจำเลยที่ 10 ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 8 เดือน แต่ถูกจำคุกอยู่นาน 15 เดือน อัยการไม่ติดใจอุทธรณ์ คดีถึงที่สุด รอเยียวยา นายชัชวาลย์ ศรีจันดา จำเลยที่ 11 ศาลอุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้นยกฟ้อง อัยการไม่ฎีกา รอเยียวยา หากอัยการไม่ฎีกา นายสนอง เกตุสุวรรณ์ จำเลยที่ 12 ศาลอุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้น จำคุก 33 ปี 12 เดือน ไม่ได้รับการประกันตัวตั้งแต่ชั้นจับกุม ปัจจุบันถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำหลักสี่ นายถาวร แสงทวีสุขจำเลยที่ 13 ศาลชั้นต้นยกฟ้อง อัยการไม่อุทธรณ์ คดีถึงที่สุด รอเยียวยา นายธนูศิลป์ ธนูทองจำเลยที่ 14 ศาลชั้นต้นยกฟ้อง อัยการไม่อุทธรณ์ คดีถึงที่สุด รอเยียวยา นายสุพจน์ ดวงงามจำเลยที่ 15 ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 8 เดือน อัยการไม่อุทธรณ์ แต่ถูกคุมขังมานาน 15 เดือน รอเยียวยา นายสมจิต สุทธิพันธ์จำเลยที่ 16 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นยกฟ้อง รอเยียวยา หากอัยการไม่ฎีกา นายสมศักดิ์ ประสานทรัพย์จำเลยที่ 17 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น จำคุก 33 ปี 12 เดือน ไม่ได้รับการประกันตัวตั้งแต่ชั้นจับกุม ปัจจุบันถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำหลักสี่ นายไชยา ดีแสง จำเลยที่ 18 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นจำคุก 2 ปี ถูกจำคุกมาแล้ว 1 ปี 9 เดือน ได้รับการประกันตัวในชั้นอุทธรณ์ นายพิสิษฐ์ บุตรอำคาจำเลยที่ 19 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น จำคุก 2 ปี ได้รับการประกันตัวชั้นฎีกา นายคำพลอย นะมี จำเลยที่ 20 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง อัยการไม่อุทธรณ์ คดีถึงที่สุด รอเยียวยา นายพงษ์ศักดิ์ ออนอินทร์ จำเลยที่ 21 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง อัยการไม่อุทธรณ์ รอเยียวยา |