Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

สมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญค้าน 'ประยุทธ์'นั่งนายก

$
0
0
สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยออกแถลงการณ์ คัดค้านการเสนอชื่อ "พล.อ.ประยุทธ์"เป็นนายกรัฐมนตรี ชี้เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญและประมวลจริยธรรม

 
17 ส.ค. 2557 สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยออกแถลงการณ์ คัดค้านการเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ชี้เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญและประมวลจริยธรรม โดยมีรายละเอียดทั้งหมดดังต่อไปนี้ 
 
 
แถลงการณ์สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย
เรื่อง คัดค้านการเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีเข้าข่ายขัด รธน.และประมวลจริยธรรม
 
ตามที่มีกระแสข่าวการสนับสนุนและเชลียร์มาอย่างต่อเนื่องว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีความเหมาะสมมากที่สุดที่ควรจะเป็นนายกรัฐมนตรี โดยการโหวตของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ที่ขัด รธน.57 มาตรา 6) ที่มีความพยายามที่จะเปิดประชุมกันในเร็ว ๆ นี้นั้น
 
สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ขอคัดค้านการเสนอชื่อและการโหวตรับรองดังกล่าว เนื่องจากหากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากจะเข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 หลายมาตรา ประกอบประมวลจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทันที เพราะถือได้ว่า “มีผลประโยชน์ทับซ้อนกัน” โดยชัดแจ้ง ดังนี้
 
1) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 มาตรา 6 ประกอบมาตรา 10 วรรคสอง กำหนดให้ หน.คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถวายคำแนะนำและรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ดังนั้น หาก สนช.เสนอชื่อ หน.คสช.เป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 19 ย่อมเข้าข่าย “เกี๊ยเซียะ” กัน อันขัดต่อระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ.2551 ข้อ 6(4) โดยตรง อีกทั้งการกระทำดังกล่าวไม่เป็นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งอาจขัดหรือแย้งต่อ รธน.ชั่วคราว 2557 มาตรา 5 โดยชัดแจ้ง
 
2) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 มาตรา 19 วรรคสาม กำหนดให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติทูลเกล้าฯให้นายกรัฐมนตรี “พ้นจากตำแหน่ง” นั้น หาก หน.คสช.และนายกรัฐมนตรีเป็นคน ๆ เดียวกัน เมื่อนายกรัฐมนตรีกระทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือมีเหตุอันสมควรที่จะต้องทูลเกล้าฯเสนอให้พ้นจากตำแหน่งนั้น บุคคลคนเดียวกันจะเสนอชื่อตนเองให้พ้นจากตำแหน่งได้อย่างไร  ที่สำคัญ จะมี “การตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งกันและกัน” ได้อย่างไร และรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าวจะมีการบังคับใช้ให้บังเกิดผลขึ้นได้อย่างไร
 
3) แม้ประเทศไทยจะมีนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีขึ้นมาบริหารประเทศแล้วก็ตาม แต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 มาตรา 44 ยังคงกำหนดอำนาจหน้าที่ของ หน.คณะรักษาความสงบแห่งชาติไว้ต่อเนื่องแทบทุกด้านอยู่แล้ว มีอำนาจในการสั่งการ ระงับ ยับยั้ง หรือการกระทำใด ๆ ได้ ไม่ว่ากระกระทำนั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวและเป็นที่สุด ซึ่งเมื่อได้ดำเนินการแล้ว รัฐธรรมนูญกำหนดให้ หน.คสช.รายงานให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและนายกรัฐมนตรีทราบโดยเร็ว แต่ถ้า หน.คสช.และนายกรัฐมนตรีเป็นคน ๆ เดียวกัน การใช้อำนาจดังกล่าวจะแยกออกจากกันได้อย่างไร หรือจะส่งรายงานจากมือซ้ายของคน ๆ เดียวกันให้มือขวาลงรับ กระนั้นหรือ ?
 
สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงใคร่แถลงวิงวอนมายังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ว่าอย่าได้กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนหรือดำเนินการใด ๆ อันเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 เลย แต่หากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ยังคงดื้อดึงและมีมติให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว สมาคมฯจะใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 มาตรา 45 เพื่อยื่นเรื่องและคำร้องดังกล่าวต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อกรณีดังกล่าวทันที
 
และถ้าจะกระทำได้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องลาออกจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เสียก่อนแล้วเท่านั้น
 
อนึ่ง สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยขอคัดค้านการที่องค์กรตามรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระหรือองค์กรอื่นของรัฐต่างๆ ที่พยายามที่จะเสนอรายชื่อบุคคลในหรือนอกองค์กรหรือหน่วยงานของตนเข้าไปเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้วยนั้น เห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวเข้าข่าย“มีผลประโยชน์ทับซ้อนกัน” อันขัดต่อประมวลจริยธรรมและขัดต่อรัฐธรรมนูญฯฉบับชั่วคราว 2557 ด้วย เนื่องจากในมาตรา 35 วรรคท้ายกำหนดให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาถึงความจำเป็นและความคุ้มค่าที่ต้องมีองค์กรตามรัฐธรรมนูญหรือองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากพิจารณาแล้วบางองค์กรอาจไม่มีความจำเป็นและไม่มีความคุ้มค่าที่จะมีอยู่ต่อไป ควรที่จะต้องยุบเลิกเสีย ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีหลายองค์กรเข้าข่ายควรยุบเลิกเสีย ดังนั้นการที่จะมีตัวแทนขององค์กรเหล่านั้นเข้าไปเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติและเข้าไปเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในที่สุดนั้น จึงเข้าข่ายการ “มีผลประโยชน์ทับซ้อนกัน” โดยชัดแจ้ง และไม่มีความเหมาะสมเป็นอย่างยิ่งที่องค์กรอิสระเหล่านี้จะเสนอชื่อบุคคลใดเข้าไปเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ แต่หากจะยังมีเรื่องนี้ต้องถึงศาลรัฐธรรมนูญอีกแน่นอน
 
ประกาศ ณ วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ.2557
นายศรีสุวรรณ จรรยา
เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles