กกต.สรุปรับสมัครสรรหาเป็น สปช. วันนี้ 31 คน รวม 14-16 ส.ค. 222 คน ด้านโพลล์เห็นด้วย "เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์"ไม่ร่วม สปช
16 ส.ค. 2557 นายบุญเกียรติ รักชาติเจริญ รองเลขาธิการ กกต.แถลงสรุปผลการเปิดรับสมัครนิติบุคคลเสนอชื่อบุคคลเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เป็นวันที่สาม ว่า ตั้งแต่เวลา 08.30 - 16.30 น. มีผู้เข้ารับการสรรหาทั้ง 11 ด้าน โดยมาสมัครและส่งเอกสารด้วยตนเอง 15 คน ส่งทางไปรษณีย์ 4 คน รวม 19 คน
ทั้งนี้แบ่งเป็นด้านการบริหารราชการแผ่นดิน 1 คน ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม 2 คน ด้านการปกครองท้องถิ่น 2 คน ด้านการศึกษา 4 คน ด้านเศรษฐกิจ 1 คน ด้านพลังงาน 1 คน ด้านสังคม 6 คน และด้านอื่น 2 คน ที่เหลือยังไม่มีผู้เข้ารับการสมัครเพิ่มเติมในวันนี้คือ ด้านการเมือง ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม และด้านสื่อสารมวลชน
มียอดมีตกค้างอยู่ 2 คน เพราะฉะนั้นรวม 11 ด้าน ตั้งแต่วันที่ 14 - 16 ส.ค.มีผู้สมัคร 78 คน ในส่วนของจังหวัด 144 คน ยอดรวมทั้งหมด 222 คน โดยขณะนี้สามารถจำแนกตามเพศได้ ดังนี้คือ เพศชาย 203 คน เพศหญิง 19 คน จำแนกตามช่วงอายุ 35 - 45 ปี 20 คน อายุ 46 - 55 ปี 57 คน อายุ 56 - 65 ปี 93 คน และอายุเกิน 65 ปี 52 คน และจำแนกตามวุฒิการศึกษา ต่ำกว่าปริญญาตรี 31 คน ปริญญาตรี 70 คน ปริญญาโท 96 คน และปริญญาเอก 25 คน
โพลล์เห็นด้วย "พท.-ปชป."ไม่ร่วม สปช.
ด้านศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) สำรวจความคิดเห็นประชาชนทัวประเทศ จำนวน 1,222 คน ระหว่างวันที่ 14-15 ส.ค.ที่ผ่านมา เรื่องความเชื่อมั่นต่อการเปลี่ยนแปลงหลังมีสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 65.9 มีความสนใจมากถึงมากที่สุดที่จะติดตามข่าวความคืบหน้าการปฏิรูปประเทศโดย สปช.ที่กำลังจะเกิดขึ้น ขณะที่ร้อยละ 34.1 สนใจและติดตามน้อยถึงน้อยที่สุด เมื่อถามถึงความเชื่อมั่นต่อ สปช.ว่าจะสามารถปฏิรูปประเทศไทยให้เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้ชัดเจนมากน้อยเพียงใด พบว่าภาพรวมส่วนใหญ่ร้อยละ 62.6 เชื่อว่าหลังการปฏิรูป ปัญหาต่าง ๆ จะยังคงมีเหมือนเดิมหรือดีขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ขณะที่ร้อยละ 37.4 เชื่อว่าจะเปลี่ยนแปลงดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน
ทั้งนี้ในด้านที่ประชาชนเชื่อมั่นว่าจะเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจนมากที่สุดพบว่าเป็นด้านการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ร้อยละ 45.9 รองลงมาเป็นด้านการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น ร้อยละ 44.3 และด้านการศ฿กษา การเรียนรู้ และภูมิปัญญา ร้อยละ 35.5 ส่วนด้านที่ประชาชนเห็นว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงดีขึ้นอย่างชัดเจนน้อยที่สุด คือด้านการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ร้อยละ 29.7 และด้านการสร้างระบบเลือกตั้งที่ดี/ไม่มีนโยบายประชานิยมแบบสุดโต่ง/ไม่มีการซื้อสิทธิขายเสียง ร้อยละ 31.6
อย่างไรก็ตามพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 45.2 เห็นด้วยกับการที่พรรคการเมืองใหญ่ อย่างพรรรประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทย ไม่ส่งตัวแทนเข้าร่วม สปช. ขณะที่ร้อยละ 39.4 ระบุไม่เห็นด้วย นอกจากนี้ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 90.4 เห็นว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และ สปช.ควรยื่นและเปิดเผยทรัพย์สินต่อสาธารณะ มีเพียงร้อยละ 4.1 เท่านั้นที่ระบุไม่เห็นด้วย และสุดท้ายเมื่อถามถึงความเชื่อมั่นว่าคณะกรรมการสรรหาสภาปฏิรูปแห่งชาติ จะสามารถคัดเลือกผู้สมัครสมาชิก สปช.อย่างยุติธรรม และโปร่งใสหรือไม่ พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 63.6 บอกว่าเชื่อมั่นมากถึงมากที่สุด ขณะที่ร้อยละ 36.4 ระบุเชื่อมั่นน้อยถึงน้อยที่สุด
ที่มาเรียบเรียงจาก
สำนักข่าวไทย, แนวหน้า, เดลินิวส์
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai