มติประชุม คสช.เห็นชอบแผนการลงทุนระบบเคเบิ้ลใต้น้ำระหว่างประเทศ 3 เส้นทาง วงเงินลงทุน 5,979.94 ล้าน ให้ปลัดไอซีทีนำรายละเอียดการลงทุนเข้าสู่การพิจารณาของซุปเปอร์บอร์ด 14 ส.ค.นี้
14 ส.ค. 2557 มติชนออนไลน์รายงานว่า เมื่อวันที่ 13 ส.ค. เวลา 15.00 น. ที่สโมสรทหารบก เทเวศร์ ร.อ.ยงยุทธ มัยลาภ คณะทำงานโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติเพื่อบริหารราชการแผ่นดิน ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.เป็นประธานว่า ที่ประชุมฯ มีมติเห็นชอบในหลักการในรายละเอียดของแผนการลงทุนระบบเคเบิ้ลใต้น้ำระหว่างประเทศ 3 เส้นทางรวมวงเงินลงทุน 5,979.94 ล้านบาท ตามที่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เสนอ อย่างไรก็ตามที่ประชุมฯ มีมติให้ นางเมธินี เทพมณี ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) นำรายละเอียดเรื่องการลงทุนในโครงการดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ หรือ “ซุปเปอร์บอร์ด” ซึ่งจะมีการประชุมในวันที่ 14 สิงหาคมนี้เพื่อขอความเห็นชอบอีกครั้ง
ร.อ.ยงยุทธกล่าวว่าแผนการลงทุนระบบเคเบิ้ลใต้น้ำระหว่างประเทศตามที่บริษัท ทีโอที เสนอ กำหนดระยะเวลาในการลงทุน 3 ปี (2557 - 2559) โดยแบ่งเป็นการใช้เงินกู้ในการลงทุน 3,289.8 ล้านบาท หรือประมาณ 54% ของเงินลงทุนทั้งหมด และเงินรายได้ของบริษัท ทีโอที จำนวน 2,689.3 ล้านบาท หรือประมาณ 45% ของเงินลงทุนทั้งหมด โดยมีรายละเอียดการลงทุนใน 3 เส้นทาง ได้แก่
1.โครงการเคเบิ้ลใต้น้ำเส้นทางเอเชีย –ยุโรป 1 (AAE1) โดยเส้นทางการวางสายเคเบิ้ลผ่านจากประเทศฝรั่งเศส อิตาลี อียิปต์ ศรีลังกา อินเดีย และเชื่อมต่อกับเครือข่ายประเทศใน จ.สตูล และ จ.สงขลา วงเงินลงทุน 1,408 ล้านบาท
2.โครงการเคเบิ้ลใต้น้ำเส้นทางเซาส์อีสเอเชีย – มิดเดิล อีสต์ – เวสเทิร์น ยุโรป 5 (SEA-ME-WE 5) วงเงินรวมในการ โดยเส้นทางการวางสายเคเบิ้ลผ่านจากประเทศฝรั่งเศส บังกลาเทศ มาเลเซีย และประเทศไทย วงเงินลงทุน 1,376 ล้านบาท และ
3.โครงการเคเบิ้ลใต้น้ำเส้นทาง Southeast Asia – Japan Cable System (SJC) โดยเส้นทางการวางสายเคเบิ้ลผ่านจากประเทศไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น วงเงินลงทุน 2,278 ล้านบาท นอกจากนั้นยังงบประมาณที่กันไว้สำหรับงานปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโครงข่ายภายในประเทศ เช่น งานก่อสร้างสถานีเคเบิ้ลใต้น้ำ จ.สตูล งานปรับปรุงสถานีเคเบิ้ลใต้น้ำสงขลา งานขยายชุมสายอินเตอร์เน็ต และงบสำรอง รวม 417.94 ล้านบาท
ทั้งนี้ บริษัท ทีโอที ได้ชี้แจงถึงความต้องการระบบเคเบิ้ลใต้น้ำของประเทศไทยว่าในอนาคตจะมีความ สำคัญในการช่วยยกระดับการให้บริการทางอินเตอร์เน็ตระหว่างประเทศ และเตรียมความพร้อมสู่การก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยระบบเคเบิ้ลใต้น้ำระหว่างประเทศถือว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญซึ่ง จะต้องมีวงจรในการสื่อสารรองรับความต้องการข้อมูลข่าวสารอย่างเพียงพอ และปัจจุบันอัตราความเร็วในการรับและส่งผ่านข้อมูลข่าวสารของไทยอยู่ที่ 975 จิกะไบต์ต่อวินาที ขณะที่หากมีการลงทุนเพิ่มเติมในการวางระบบเคเบิ้ลใต้น้ำใน 3 เส้นทาง ความเร็วในการรับและส่งข้อมูลสามารถเพิ่มขึ้นเป็น 1,800 – 3,700 จิกะไบต์ต่อวินาที ขึ้นอยู่กับเส้นทางที่จะเลือกลงทุน
นอกจากนั้นการลงทุนระบบเคเบิลใต้น้ำเพิ่มเติมจะช่วยให้มีต้นทุนในการดำเนินธุรกิจและให้บริการระหว่างประเทศที่ต่ำลง และสามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการโทรคมนาคมกับประเทศในอาเซียน เช่น สิงคโปร์ และมาเลเซีย ซึ่งจะช่วยให้ทีโอทีสามารถสร้างรายได้ในระยะยาวให้กับองค์กรได้ต่อไป
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai