Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

รู้จัก 3 กูรูด้าน ‘การสื่อสาร ความขัดแย้ง และสันติภาพ’ องค์ปาฐกการประชุมวิชาการนานาชาติ ณ ม.อ.ปัตตานี 21-22 ส.ค. นี้

$
0
0
 
ระหว่างวันที่ 21-22 สิงหาคมนี้ ถือเป็นหมุดหมายแรกที่คณะวิทยาการสื่อสาร จับมือกับคณะรัฐศาสตร์ วิทยาลัยอิสลามศึกษา สถาบันสันติศึกษา สถาบันวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ร่วมกันจัดการประชุมวิชาการนานาชาติ เรื่อง “การสื่อสาร ความขัดแย้ง และกระบวนการสันติภาพ: ภูมิทัศน์ความรู้จากเอเชียและจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย” (International Conference on Communication, Conflicts and Peace Processes: Landscape of Knowledge from Asia and the Deep South of Thailand) นอกจากการประชุมครั้งนี้จะเป็นพบกันของนักวิชาการ นักวิจัย นักศึกษา นักเคลื่อนไหวสังคมที่เกี่ยวโยงกับมิติการสื่อสาร ความขัดแย้ง และสันติภาพหลายร้อยคนแล้ว ยังเป็นที่รวมของนักวิชาการและนักวิชาชีพคนสำคัญระดับนานาชาติหลายคนที่ให้เกียรติมาแสดงปาฐกถาครั้งแรก ณ จังหวัดปัตตานี
 
 
Stein Tønnesson
 
“Stein Tønnesson” เป็นศาสตราจารย์คนแรกที่จะเดินมาเป็นองค์ปาฐกในการประชุมวิชาการนานาชาติครั้งนี้ เขาเป็นนักวิชาการด้านสันติภาพและความขัดแย้ง เป็นหัวหน้าโครงการวิจัยด้านเอเชียตะวันออกเพื่อสันติภาพ (Programme on the East Asian peace) ของมหาวิทยาลัย Uppsala ประเทศสวีเดน และสถาบันวิจัยสันติศึกษาแห่งกรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ 
 
ศาสตราจารย์ท่านนี้มีความสนใจเป็นพิเศษด้านสันติศึกษา ความขัดแย้ง และความมั่นคงในเอเชียตะวันออก เขาเคยศึกษาเกี่ยวกับสงครามในอินโดจีน การสร้างความเป็นชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเขาเริ่มสนใจองค์ความรู้ทางด้านนี้ตั้งแต่ปี 1979 ปัจจุบันความสนใจของเขายังขยายมาสู่ประเด็นความขัดแย้งระหว่างประเทศในบริเวณทะเลจีนใต้ นั่นคือประเด็นข้อพิพาททางทะเลจีนใต้ที่มักปรากฏเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง โดยมีจีนและทรัพยากรทางทะเลเป็นเงื่อนไขสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในเอเชียตะวันออก รวมถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความปลอดภัยทางทะเลด้วย 
 
เขาเคยเขียนหนังสือ เรื่อง “Vietnam 1946: How the War Began” (สงครามเวียดนามในปี 1946: สงครามเริ่มต้นได้อย่างไร) และยังมีบทความตีพิมพ์ในวารสารหลายเรื่องทั้ง “ความเปลี่ยนแปลงของบทบาทจีนในทะเลจีนใต้” “อะไรเป็นข้ออธิบายที่ดีที่สุดเกี่ยวกับสันติภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกตั้งแต่ 1979” “เส้นทางสู่ความเป็นชาติ กรณีศึกษาจีน เวียดนาม นอร์เวย์ ไซปรัส และฝรั่งเศส: ความเป็นชาติและชาตินิยม” “ประวัติศาสตร์นานาชาติเกี่ยวกับข้อพิพาทในทะเลจีนใต้” “ความมั่นคงทางพลังงาน และการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ: บทบาทสำคัญของจีนและอินเดีย” เป็นต้น
 
“Stein Tønnesson” เคยได้รับเชิญไปบรรยายยังมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงหลายแห่งในประเด็นที่เขาสนใจ เช่น มุมมองใหม่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์สังคมและเศรษฐกิจเกี่ยวกับสงครามในเอเชีย สันติภาพในเอเชียตะวันออกระยะ 3 ปี: แรงขับเคลื่อนทั้งภายในและภายนอก ทะเลจีนใต้และยุทธศาสตร์การรักษาความมั่นคงในเอเชียตะวันออก บทบาทของนอร์เวย์ในกระบวนการสันติภาพ ฯลฯ จากความสนใจด้านสันติภาพ ความขัดแย้ง และความมั่นในภูมิภาคเอเชียที่มีมาอย่างต่อเนื่องกว่า 30 ปี โดยเขาจะมาบรรยายในหัวข้อ “จากระเบิดถึงป้ายผ้า? การเปลี่ยนยุทธวิธีการต่อสู้ด้วยอาวุธสู่การไม่ใช้อาวุธ”
 
 
Jake Lynch
 
นักวิชาการอีกท่านหนึ่งที่มีผลงานโดดเด่นด้านการสื่อสารและความขัดแย้ง แนวคิดของเขามักจะได้รับการอ้างอิงอยู่เสมอเมื่อมีการกล่าวถึงองค์ความรู้ด้านการสื่อสารเพื่อสันติภาพ นั่นคือ “รองศาสตราจารย์ ดร.Jake Lynch” ผู้อำนวยการศูนย์สันติภาพและความขัดแย้งศึกษา (Centre for Peace and Conflict Studies) แห่งมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ที่จะมาแสดงปาฐกถาในหัวข้อ “วารสารศาสตร์สันติภาพเพื่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง”
 
ผลงานล่าสุดของนักวิชาการด้านการสื่อสารเพื่อสันติภาพท่านนี้ คือ หนังสือที่ชื่อว่า “มาตรฐานระดับโลกเกี่ยวกับการรายงานข่าวความขัดแย้ง” (A Global Standard for Reporting Conflict) ที่เผยแพร่เมื่อปีที่ผ่านมา หนังสือเล่มนี้มีเนื้อหาที่น่าสนใจหลายประการ ทั้งการให้คำนิยามของคำว่า “คุณสมบัติของวารสารศาสตร์ที่ดี” “บทบาทของวารสารศาสตร์ในพื้นที่สาธารณะ” รวมถึงการเชื่อมโยงให้เห็นความเกี่ยวโยงกันระหว่างมิติความขัดแย้งกับวารสารศาสตร์ พร้อมทั้งนำเสนอกรณีศึกษาของ 4 ประเทศที่แตกต่างกัน คือ ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ แอฟริกาใต้ และเม็กซิโก
 
ก่อนหน้านี้เขาเคยมีหนังสือเผยแพร่มาแล้ว คือ “การรายงานข่าวความขัดแย้ง: ทิศทางใหม่ของวารสารศาสตร์เพื่อสันติภาพ (มุมมองใหม่เกี่ยวกับสันติภาพและความขัดแย้ง)” (Reporting Conflict: New Directions in Peace Journalism (New Approaches to Peace and Conflict) หนังสือเล่มนี้เขามีผลงานร่วมกับศาสตราจารย์ด้านวารสารศาสตร์เพื่อสันติภาพชื่อดังอีกคนหนึ่ง คือ “Johan Galtung” นักวิชาการและนักเคลื่อนไหวทางสังคมเกี่ยวกับการสื่อสารเพื่อสันติภาพ
 
สำหรับ “Jake Lynch” นั้น เขาใช้เวลามากกว่า 15 ปีในการศึกษาวิจัย การพัฒนา การสอน และอบรมเกี่ยวกับวารสารศาสตร์เพื่อสันติภาพ นอกจากการเป็นนักวิชาการแล้ว เขาเคยมีประสบการณ์เป็นนักวิชาชีพสื่อสารมวลชนด้วยในฐานะผู้สื่อข่าวโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ เขาเป็นอดีตผู้ประกาศข่าวของบีบีซี เวิร์ลด ประเทศอังกฤษ เป็นผู้สื่อข่าว (Correspondent) ประจำซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลียให้แก่หนังสือพิมพ์ London Independent newspaper และสถานีโทรทัศน์ Sky News
 
ตั้งแต่ปี 1999 เป็นต้นมา เขาให้ความสนใจการจัดอบรมด้านวารสารศาสตร์เพื่อสันติภาพให้แก่นักวิชาชีพทั้งระดับบรรณาธิการและผู้สื่อข่าว รวมถึงผู้ปฏิบัติงานในสื่อให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิด “Peace Journalism” ในหลายประเทศทั้งฟิจิ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เนปาล เลบานอน จอร์แดน ปาเลสไตน์ ไซปรัส แอลมาเนีย จอร์เจีย นอร์เวย์ และสหราชอาณาจักร เขายังเป็นที่ปรึกษาและคณะกรรมการกิตติมศักดิ์ในหลายองค์กรเกี่ยวกับสื่อมวลชนทั้งออสเตรเลียและต่างประเทศ
 
 
Sanjana Yajitha Hattotuwa
 
แขกรับเชิญอีกคนหนึ่งที่ให้เกียรติมาบรรยายภายในการประชุมวิชาการนานาชาติ ระหว่างวันที่ 21-22 สิงหาคมนี้ คือ “Sanjana Yajitha Hattotuwa” หัวหน้าหน่วยสื่อ ศูนย์นโยบายทางเลือกศรีลังกา (Centre for Policy Alternatives) จะมาแสดงปาฐกถาในหัวข้อ “ระหว่าง Scylla และวังน้ำวน Charybdis: การใช้ศักยภาพของสื่อใหม่เพื่อเปลี่ยนผ่านความขัดแย้ง” 
 
สำหรับคำว่า “Between Scylla and Charybdis” เป็นสำนวนแปลว่า การเลือกระหว่างทางเลือกสองทางที่แต่ละทางล้วนมีจุดจบที่เป็นหายนะทั้งคู่ “ซิลลา” เป็นสัตว์ประหลาดในตำนานแกะทองคำในนิยายกรีกโบราณ โอดิสซีของโฮเมอร์ อาศัยอยู่ในช่องแคบเมสซินา ระหว่างเกาะซิซิลีกับแผ่นดินอิตาลี ในช่องแคบดังกล่าวมีวังน้ำวนขนาดใหญ่ที่ชื่อว่า “คาริบดีส” กระแสน้ำที่เชี่ยวกราก ทำให้เรือเดินทะเลจำนวนมากประสบหายนะเมื่อผ่านบริเวณนี้ทั้งอสูรกายอันโหดร้ายและกระแสน้ำวนที่เชี่ยวกรากรุนแรง นั่นจึงเป็นที่มาของหัวข้อการแสดงปาฐกถาครั้งนี้ และชวนให้สงสัยว่าทางเลือกที่ไม่พึงปรารถนานั้นคืออะไร และเกี่ยวข้องกับประเด็นการสื่อสารกับการเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งอย่างไร จากมุมมองและประสบการณ์ของเขาในศรีลังกา
 
เขาเป็นนักวิจัยอาวุโสและหัวหน้าฝ่ายสื่อของศูนย์ศึกษานโยบายทางเลือก ประเทศศรีลังกา นับตั้งแต่ปี 2006 ถึงปัจจุบัน เขาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษของมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสันติภาพในเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ อีกทั้งยังทำงานขับเคลื่อนการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการจัดการข้อมูลข่าวสารในภาวะวิกฤติและการรักษาสันติภาพให้กับองค์การสหประชาชาติอีกด้วย
 
เมื่อ 4 ปีที่ผ่านมาเขาได้รับรางวัลจาก TED Fellowship ซึ่งเป็นชาวศรีลังกาคนแรกที่ได้รับรางวัลดังกล่าว และรางวัลด้านผู้ประกอบการข่าวสารและความรู้จากมูลนิธิ Ashoka ทั้งสองรางวัลดังกล่าวยืนยันถึงความทุ่มเทของเขาในการเป็นผู้ริเริ่มใช้พลังของสื่อภาคพลเมืองและสื่อใหม่ในการติดตามสถานการณ์ความรุนแรง การสร้างประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ 
 
Sanjana เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในฐานะเป็นคนรุ่นใหม่ที่ทำงานด้านสื่อภาคพลเมืองและสื่อใหม่อย่างแข็งขัน เขายังเป็นผู้มีบทบาทในการออกแบบและใช้เทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ รวมทั้งการศึกษาระบบนิเวศของสื่อมวลชนเพื่อสร้างสันติภาพ การลดความขัดแย้งผ่านสื่อออนไลน์ และการแปรเปลี่ยนความขัดแย้งไปสู่สันติภาพ
 
หมายเหตุ
 
Professor Dr. Stein Tønnesson
หัวข้อแสดงปาฐกถา “From Bombs to Banners? Have Rebels Changed from Armed to Unarmed Tactics?” “จากระเบิดถึงป้ายผ้า ? การเปลี่ยนยุทธวิธีการต่อสู้ด้วยอาวุธสู่การไม่ใช้อาวุธ” วันที่  21 สิงหาคม 2557 เวลา 9.20 – 10.00 น.
 
MR.Sanjana Hattotuwa
หัวข้อแสดงปาฐกถา “Between Scylla and Charybdis : Harnessing the Potential of New Media for Conflict Transformation” “ระหว่าง Scylla และวังน้ำวนCharybdis : การใช้ศักยภาพของสื่อใหม่เพื่อเปลี่ยนผ่านความขัดแย้ง” วันที่  21 สิงหาคม 2557 เวลา 10.00 – 10.40  น.
 
Associate Professor Dr. Jake Lynch
หัวข้อแสดงปาฐกถา “Peace Journalism as a Contribution to Conflict Resolution” “วารสารศาสตร์สันติภาพเพื่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง” วันที่ 22 สิงหาคม 2557 เวลา 9.15 – 10.00   น. 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles