หลังจากชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์บ้านแหง ต.แหง อ.งาว จ.ลำปาง ได้เข้าพบพลตรีอุกฤษณ์ อากาศวิภาต ผู้บังคับการมณฑลทหารบกที่ 32 ค่ายสุรศักดิ์มนตรี จังหวัดลำปาง โดยขอให้ คสช.ช่วยเหลือกรณีที่มีบริษัทเอกชนเตรียมทำเหมืองถ่านหินลิกไนต์ เพราะเกรงว่าจะส่งผลกระทบทั้งสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และวิถีชีวิต และต้องการให้ คสช.เพิกถอนรายงานการไต่สวนพื้นที่ตามคำขอประทานบัตรโครงการเหมืองแร่งหินลิกไนต์
ต่อมาเมื่อวันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมา น.ส. แววรินทร์ บัวเงิน แกนนำกลุ่มรักษ์บ้านแหง กล่าวว่า หลังยื่นเรื่องกับผู้บังคับการ มทบ.32 ได้มีกลุ่มทหารเข้ามาในพื้นที่บ้านแหง 2 ครั้ง ซึ่งในครั้งแรกทหารเข้ามา วันที่19 ก.ค 57และครั้งที่สองเมื่อ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา
“ครั้งแรกทหารเข้ามาพร้อมกล่าวหามีการแจ้งความว่า ชาวบ้านแหงมีการค้าไม้เถื่อน ชาวบ้านก็ได้เปิดทางให้หน่วยงานทหารเข้าตรวจสอบ แต่ก็ไม่มีการกระทำผิด ซึ่งชาวบ้านที่โดนกล่าวหาล้วนแต่เป็นแกนนำในการคัดค้านการทำเหมืองแร่หินลิกไนต์ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจมากของคนในท้องที่”
“ครั้งที่สองทหารได้เข้ามาในพื้นที่หมู่บ้าน มีชาวบ้านได้ออกมารวมตัวกันหน้าหมู่บ้าน แต่ทหารอ้างว่าสามารถใช้กฎอัยการศึกเข้ามาตรวจสอบพื้นที่ข้อพิพาทได้ ซึ่งชาวบ้านวิตกเกรงว่าจะมีเหตุการณ์เกิดขึ้นเหมือนครั้งที่ผ่านมา แต่ทหารได้ชี้แจงว่าจะมาดูพื้นที่การสร้างเหมืองแร่หินลิกไนต์ ชาวบ้านก็เลยยินยอมและพาไปดูสถานที่จะมีโครงการเหมืองแร่หินลิกไนต์ ซึ่งหลังจากทหารได้ตรวจสอบพื้นที่แล้ว ทหารอ้างว่าสามารถทำได้เพราะเป็นป่าไผ่ ถ้ามีการจัดทำโครงการขึ้นจะเป็นผลประโยชน์ของประเทศชาติ”
น.ส. แววรินท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กลุ่มชาวบ้านถามทหารกลับว่า ถ้าโครงการเหมืองแร่หินลิกไนต์สำเร็จขึ้นมา ความมั่นคงในชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่อีกหลายร้อยคนที่ได้รับผลกระทบจะดำเนินชีวิตเป็นอย่างไร ชาวบ้านอยากให้ทหารที่มีอำนาจจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งทหารก็รับข้อเสนอของกลุ่มชาวบ้านไว้พิจารณา
ทั้งนี้ ความขัดแย้งในพื้นที่เกิดขึ้นสืบเนื่องจากบริษัทเขียวเหลือง เข้าไปซื้อที่ดินของชาวบ้านกว่า 1,500 ไร่ โดยให้เหตุผลว่าจะนำพื้นที่ไปปลูกต้นยูคาลิปตัสเพื่อทำกระดาษแต่ภายหลังกลับขอเปิดเหมืองลิกไนต์แทน โดยบริษัทยื่นคำขอประทานบัตรต่อกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เมื่อวันที่ 20 ม.ค.2553 ต่อมาสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดลำปางได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ไปดำเนินการตรวจสอบพื้นที่เพื่อทำรายงานการไต่สวนพื้นที่ตามคำขอประทานบัตร ทำให้ชาวบ้านออกมาต่อต้านตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยกลุ่มอนุรักษ์ฯ ในพื้นที่ชี้ว่าการอนุญาตให้ใช้ป่าสงวนฯ ในครั้งนี้ยังผิดระเบียบกรมป่าไม้ว่าด้วยการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออาศัยอยู่ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2548 เนื่องจากการที่บริษัทจะยื่นคำขอและได้รับอนุญาตตามคำขอเพื่อใช้ประโยชน์ที่ดินในการทำเหมืองแร่ถ่านหินตามคำขอที่ 4-8/2553 ได้ กฎหมายกำหนดว่า “จะต้องเป็นพื้นที่ไม่มีความขัดแย้งกับราษฎร และต้องได้รับความตกลงยินยอมจากราษฎรในพื้นที่ในการเข้าทำประโยชน์เสียก่อน”
ต่อมาชาวบ้าน 445 คนได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง จำเลยประกอบด้วย กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 และผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 7 ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย จากกรณีการจัดทำรายงานการไต่สวนพื้นที่ ตามคำขอประทานบัตรเลขที่ 4/2553 ถึง 8/2553 ของบริษัท เขียวเหลือง จำกัด โดยหน่วยงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ซึ่งกลุ่มผู้ฟ้องเห็นว่าเป็นรายงานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนรายงานการไต่สวนพื้นที่ตามคำขอประทานบัตรของบริษัทฯ
ต่อมาวันที่ 9 ม.ค 2556 ศาลปกครองชั้นต้นสั่งไม่รับฟ้องคดีโดยให้เหตุผลว่า เหตุยังไม่เกิด มูลการละเมิดยังไม่มี แม้จะเป็นข้อมูลพื้นฐานที่จะนำไปสู่การอนุญาตประทานบัตร ต่อมาชาวบ้านจึงยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุด ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา
น.ส.แววรินทร์ ระบุว่า หลังจากศาลปกครองสูงสุดรับฟ้องคดี ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาคดี ชาวบ้านในพื้นที่มีความกังวลว่าการยื่นเรื่องใบอนุญาตจะใช้เวลานาน เพราะบริษัทเหมืองแร่มีความเชื่อมโยงกับนักการเมืองท้องถิ่น จึงเป็นเหตุให้มีการรวบรวมกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ไปยื่นเรื่องต่อผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 32 ค่ายสุรศักดิ์มนตรี แต่ทหารก็เข้ามาตรวจสอบพื้นที่สองรอบและยังแจ้งว่าพื้นที่ทำเหมืองได้สร้างความผิดหวังให้ชาวบ้าน