Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

'ประจิน'หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช. เคาะ 8 แผน งบ 677 ล้าน แก้ปัญหามาบตาพุด

$
0
0
พล.อ.อ.ประจิน อนุมัติ 8 แผนงาน แก้ปัญหามาบตาพุด ดูแลโรงงาน จัดการขยะ ปรับปรุงผังเมือง จัดระเบียบจราจร ปรับปรุงด้านสาธารณูปโภค รวมงบประมาณ 677 ล้านบาท
 
31 ก.ค. 2557 กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก เปิดเผยภายหลังการประชุมโครงการเร่งด่วนภายใต้แผนการแก้ไขปัญหามาบตาพุดอย่างครบวงจร โดยเห็นชอบใน 8 แผนงานการแก้ไขปัญหา ประกอบด้วย 1. มาตรการดูแลโรงงานอุตสาหกรรม นิคมอุตสาหกรรม และมาตรการลดการปล่อยมลพิษ
 
2.นิคมอุตสาหกรรม และโรงงานอุตสาหกรรม จะทำงานร่วมกันกับองค์การบริหารส่วนตำบล หรือ อบต. และองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ อบจ.ในการจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังและควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม หรืออีเอ็มซีสแควร์ ป้องกันการเกิดเผชิญเหตุฉุกเฉินให้สามารถกระจายข่าวได้อย่างรวดเร็ว ครอบคลุมพื้นที่มาบตาพุด
 
3. แก้ปัญหาขยะ โดยการคัดแยกขยะ และนำมารีไซเคิลเพื่อลดปริมาณขยะ 4. ปรับปรุงโรงพยาบาลมาบตาพุดให้สามารถรองรับผู้ป่วยได้เพิ่มขึ้น จัดหาเครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัย เพิ่มการรักษาโรคเฉพาะทางที่เกิดจากมลพิษอุตสาหกรรม รวมถึงเพิ่มหน่วยตรวจสุขภาพเคลื่อนที่ เพื่อตรวจร่างกายให้ชาวบ้านในพื้นที่มาบตาพุด
 
5. ปรับปรุงผังเมืองมาบตาพุด เนื่องจากผังเมืองเดิมไม่รองรับต่อการขยายตัวในภาคอุตสาหกรรม และสอดคล้องกับการจัดโซนนิ่งอุตสาหกรรม รวมทั้งการกำหนดพื้นที่สีเขียวให้เหมาะสมต่อการลดมลพิษ และพื้นที่ที่อยู่อาศัย โดยจะเร่งผลักดันให้การปรับปรุงผังเมืองแล้วเสร็จภายในปี 2557
 
6. แก้ปัญหาการจราจร โดยการจัดระเบียบจราจรระหว่างรถบรรทุกและรถส่วนตัว รวมถึงศึกษาการวางแผนเส้นทางรถไฟขนส่งคู่ขนานกันไป เนื่องจากการขนส่งสินค้าจากมาบตาพุดมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น จึงต้องทำให้เส้นทางขนส่งมีแข็งแรงปลอดภัย และติดตั้งสัญญาณไฟต่างๆ รวมทั้งเพิ่มการขนส่งระบบทางน้ำให้สะดวกในการขนถ่ายสินค้า
 
7. ปรับปรุงด้านสาธารณูปโภค โดยเฉพาะน้ำสะอาดและไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการ รวมถึงการสร้างโรงไฟฟ้าจากพลังงานขยะ โดยบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) จะร่วมกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นสร้างเตาเผาขยะที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 8 เมกะวัตต์ คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 4 ปี งบลงทุนประมาณ 1,200 ล้านบาท ซึ่ง ปตท.เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย หลังจากผ่านความเห็นชอบแล้ว จะมีการจัดทำข้อตกลงร่วมกันและจัดสรรพื้นที่ที่จะก่อสร้างต่อไป
 
และ 8. ส่งเสริมให้ชุมชนและสถานศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมกับโรงงานและนิคมอุตสาหกรรม ในการบูรณาการการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน
 
สำหรับงบประมาณที่ใช้ทั้ง 8 แผนงานอยู่ที่ประมาณ 677 ล้านบาท โดยจะใช้งบประมาณปี 2557 ถ้าไม่เพียงพอก็จะกระจายไปใช้งบในปี 2558
 
"ในปัจจุบันนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดมีพื้นที่ประมาณ 21,000 ไร่ ประกอบด้วยนิคมอุตสาหกรรม 5 แห่ง ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด 1 ท่าเรือ และ 151 โรงงาน ซึ่งยังมีพื้นที่อีกมากในการรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งหลังจากการวางผังเมืองเสร็จ ก็จะสามารถกำหนดพื้นที่ได้อย่างชัดเจน และลดผลกระทบต่อชุมชนน้อยที่สุด"พล.อ.อ.ประจิน กล่าว
 
 
‘ผบ.ทอ.’ ลงพื้นที่มาบตาพุดติดตามโครงการเร่งด่วน
 
ด้าน มติชนออนไลน์รายงานวันเดียวกัน (31 ก.ค.) ว่า พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ.และคณะ พร้อมด้วย ดร.วีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) นั่งเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ บินสำรวจพื้นที่ภาพรวมของจังหวัดระยอง ดูงานศูนย์เฝ้าระวัง EMCC พื้นที่โดยรอบนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมืองระยอง ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด พื้นที่ก่อสร้างป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง หาดพยูน อ.บ้านฉาง
 
จากนั้นเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ได้ลงจอดบริเวณสนามหน้าศูนย์ราชการ จ.ระยอง พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง พร้อมคณะได้เดินทางโดยรถยนต์เข้าร่วมประชุมและติดตามความคืบหน้าการขอรับการสนับสนุนงบประมาณโครงการเร่งด่วนภายใต้แผนการแก้ไขปัญหามาบตาพุดแบบครบวงจรจำนวน 8 โครงการวงเงิน 677.62 ล้านบาท จากการประชุมคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก เมื่อวันที่ 21 ก.ค. ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมกองทัพอากาศ พื้นที่โดยรอบนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและบริเวณท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด และพื้นที่บริเวณหาดพยูน หาดน้ำริน ศูนย์กำจัดขยะรวมแบบครบวงจร จังหวัดระยอง ที่ห้องสมเจตน์ สำนักงานการนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด
 
โดยมีนายธานี สามารถกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และประธานกรรมการ กนอ. ดร.วีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) พร้อมคณะผู้บริหารกนอ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมด้วย
 
พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง กล่าวว่าการเดินทางมาวันนี้เพื่อมาดูโครงการว่าอะไรบ้างที่ต้องมีการปรับปรุงพัฒนาเพื่อให้สภาพการทำงานเกิดความคล่องตัวซึ่งมีหลายโครงการที่ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง อบจ. อบต.และเทศบาลเมืองมาบตาพุดได้นำเสนอก็ขอให้แสดงความคิดเห็นและเสนอแนะเพื่อจะได้เป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย
 
ระยองเสนอ 8 โครงการกว่า 6 ร้อยล้าน
 
นายธานี สามารถกิจ ผวจ.ระยองได้เสนอโครงการเร่งด่วนภายใต้แผนการแก้ไขปัญหามาบตาพุดอย่างครบวงจร ปี 2555- 2559 (ฉบับปรับปรุง) ซึ่งเป็นโครงการที่เสนอในรัฐบาลที่ผ่านมาแต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติทำให้โครงการหยุดชะงัก จึงเสนอให้ คสช.พิจารณาอนุมัติดังนี้ โครงการเร่งด่วนคือ
 
1.โครงการก่อสร้างศูนย์กำจัดขยะมูลฝอย รวมแบบครบวงจรจังหวัดระยอง (ระยะที่ 2) วงเงิน 327.58 ล้านบาท ของ อบจ.ระยอง
 
2.โครงการศูนย์บัญชาการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉินและกระจายข่าววงเงิน 46.56 ล้านบาท ของเทศบาลเมืองมาบตาพุด
 
3. โครงการก่อสร้างป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง (แนวกำแพงดินคอนกรีตเสริมเหล็ก) บริเวณหาดพยูน ม.4 ต.พลา อ.บ้านฉาง จ.ระยอง วงเงิน 27.87 ล้านบาท ของเทศบาลตำบลบ้านฉาง
 
4.โครงการก่อสร้างป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง (แนวกำแพงดินคอนกรีตเสริมเหล็ก) บริเวณหาดพยูน ม.4 ต.พลา อ.บ้านฉาง จ.ระยอง มูลค่า 22.14 ล้านบาท ของเทศบาลตำบลบ้านฉาง
 
5.โครงการพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลมาบตาพุด จ.ระยอง เป็นโรงพยาบาลขนาดเล็ก 200 เตียง วงเงิน 23.70 ล้านบาท สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยอง
 
6.โครงการพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลระยอง เพิ่มรองรับผู้บาดเจ็บและผู้ป่วยจากอุบัติเหตุการระเบิด รั่วไหล และมลพิษจากการพัฒนาอุตสาหกรรม วงเงิน 73.79 ล้านบาท ของโรงพยาบาลระยอง
 
7.โครงการตรวจสุขภาพและเฝ้าระวังโรคของประชาชนในเขตควบคุมมลพิษของจังหวัดระยอง วงเงิน 30.37 ล้านบาท สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยอง
 
8. โครงการก่อสร้างปรับปรุงถนนอุปกรณ์สงเคราะห์ราษฎร์วงเงิน 125.61 ล้านบาท ของเทศบาลเมืองมาบตาพุด
 
รวมทั้งสิ้น 8 โครงการวงเงินรวม 677.62 ล้านบาท
 
ดร.วีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้นำเสนอการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกระยะสั้น การบริหารจัดการท่าเรือสาธารณะแห่งที่ 2 การสนับสนุนการขนส่งด้วยตู้คอนเทนเนอร์ผ่านท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และเรื่องผังเมือง ระยะกลางและยาว โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 เนื่องจากปัจจุบันพื้นที่ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดมีท่าเรือจำนวน 12 ท่า มีการใช้พื้นที่เต็มหมดแล้ว และกนอ.มีโครงการส่งเสริมการขนส่งแบบ Green Logistics ซึ่งจำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือเพิ่ม เพื่อรองรับกับโครงการดังกล่าว และให้สอดรับกับแผนพัฒนาการขนส่งของรัฐบาลในการก่อสร้างรถไฟรางคู่และรถไฟความเร็วสูง
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles