“It is said that no one truly knows a nation until one has been inside its jails.
A nation should not be judged by how it treats its highest citizens, but its lowest ones.”
หากเป็นจริงอย่างที่เนลสัน แมนเดลา กล่าวไว้ ดูวัวให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่ อยากรู้จักชาติใดให้ดูที่คุกแล้วไซร้ สำหรับประเทศไทยจะให้ดีที่สุดเราอาจต้องดูที่ “คุกหญิง” เพราะเป็นพื้นที่ชายขอบเสียยิ่งกว่าคุกชายหลายประการ
แม้แต่รักษาการณ์ปลัดกระทรวงยุติธรรม ‘ชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ’ ยังยอมรับเองว่า มิติเรื่องผู้หญิงไม่เคยอยู่ในเนื้อหาการออกแบบนโยบายและการบริหารกระบวนการยุติธรรมทางอาญาอย่างแท้จริงเลย
ความพยายามในการศึกษาวิจัยเรื่องนี้มีมาโดยตลอด ล่าสุด คือ โครงการขับเคลื่อนนโยบายการปฏิรูประบเรือนจำผู้ต้องขังหญิงและกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้อง โดย เครือข่ายภาคีหลายองค์กร นำโดย รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล นายกสมาคมนักวิจัยประชากรและสังคม สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล
โครงการเชิงนโยบายนี้แบ่งการศึกษาเป็น 5 ด้านคือ 1) การลดจำนวนผู้ต้องขัง 2) สุขภาพอนามัยผู้ต้องขังหญิง 3) พัฒนากศักยภาพและกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ 4) ผู้ต้องขังต่างชาติ 5) การส่งต่อผู้ต้องขังคืนสู่ชุมชน โดยในวันที่ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมามีการพูดคุยกับส่วนต่างๆ และนำเสนอส่วนแรกของงานวิจัยผ่านหัวข้อ “ผู้ต้องขังหญิงล้นคุก”
วีดิทัศน์สั้นๆ 5 นาทีที่ใช้เปิดงาน ดึงดูดความสนใจและมีพลังสร้างความหดหู่ให้ผู้เข้าร่วมได้อย่างดี เนื่องจากเห็น “ภาพจริง” ของความแออัดของผู้ต้องขังหญิง โดยเฉพาะการนอนอย่างเบียดเสียดบนเรือนนอน
“พวกเธอคิดว่า 14 ชั่วโมงต่อวันที่อยู่บนเรือนนอนนั้นเองคือโทษของการจองจำอย่างแท้จริง” บทวีดิทัศน์กล่าวทิ้งท้ายไว้
ความแออัดเป็นปัญหาอันดับหนึ่งของเรือนจำไทยทั้งชายและหญิง และเป็นปัญหาที่พยายามแก้กันมายาวนานแต่ยังไม่เป็นผลและปัญหาก็ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ นี่จึงเป็นเรื่องอันดับต้นที่โครงการวิจัยเลือกที่จะพูดถึง โดยกฤตยา หัวหน้าโครงการคาดหวังว่าข้อเสนอเชิงนโยบายที่ได้จะนำไปสู่การจัดการเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทั้งผู้ต้องขังหญิง และแน่นอน ผู้ต้องขังชาย ด้วยเช่นกัน
ความหนาแน่นคุกไทย ก้าวไกลในเวทีโลก
O ไทยมีจำนวนผู้ต้องขังมากเป็นอันดับ 21 ของโลก คือ 398 ต่อแสนประชากร
O ไทยมีจำนวนผู้ต้องขังมากที่สุดในเอเชีย
O ไทยมีผู้ต้องขังทั้งสิ้น 302,502 คน (กรกฎาคม 2557)
O ไทยมีเรือนจำ 145 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งมีความจุผู้ต้องขังได้ 109,087 คน ดังนั้น เรือนจำปัจจุบันจึงจุผู้ต้องขังเกินมาตรฐาน 119,726 คน
O ไทยมีผู้ต้องขังหญิง 44,204 คน (มิถุนายน 2557)
O ไทยมีสัดส่วนผู้ต้องขังหญิงต่อแสนประชากร สูงที่สุดในโลก คือ 68.2
O ในจำนวนผู้ต้องขังหญิง 44,204 คน เป็นนักโทษเด็ดขาด 74% ที่เหลือคือผู้ถูกขังระหว่างพิจารณาคดีในสอบสวน หรือต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์-ฎีกา แต่ไม่ได้รับการประกันตัว
ตัวเลขเหล่านี้ถูกนำเสนอโดย กุลภา วจนสาระ จากสถาบันวิจัยประชาการและสังคม ม.มหิดล ผู้วิจัยเรื่องจำนวนนักโทษหญิงล้นคุก รวมถึงนำเสนอข้อมูลจากงานวิจัย/หนังสือเล่มก่อนๆ ที่บอกเล่าถึงตัวอย่างสภาพความเบียดเสียด
“ห้องหนึ่งจะนอนกันหลายแถว หันเท้าชนกันและนอนสลับฟันปลา คนหนึ่งเฉลี่ยแล้วมีพื้นที่ในการนอนประมาณ 1-1.5 ฟุต”
“ผู้ต้องขังต้องนอนตะแคงตัว ไม่สามารถนอนกหงายได้ และมีการนอนหันเท้าชนกันในลักษณะของการ “เสียบขา” ให้สามารถนอนได้จำนวนมากขึ้น หากใครนอนดิ้นก็จะถูกรังเกียจหรือถูกต่อว่าจากเพื่อนร่วมห้องนอนได้ หรือหากลุกขึ้นไปเข้าส้วมก็จะทำให้ที่นอนหายได้ เพราะจะถูกคนอื่นขยายพื้นที่การนอนออกมา”
นอกจากนี้กุลภายังกล่าวด้วย ผู้ต้องขังหญิงในคุกหญิงแม้จะแออัดอย่างมาก แต่ก็ยังดีกว่าผู้ต้องขังหญิงในคุกชาย (เรือนจำชายบางแห่งจะมีแดน 1 แดนสำหรับขังผู้หญิงโดยเฉพาะ) เนื่องจากคนเหล่านี้จะถูกขังและทำกิจกรรมทุกอย่างอยู่แต่ในแดนแคบๆ นั้นโดยไม่สามารถใช้พื้นที่บริการสาธารณะร่วมกับผู้ต้องขังชายได้
แนวทางในการแก้ปัญหา ?
งานวิจัยชิ้นนี้นำเสนอทางออกที่รวบรวมจากหลากหลายฝ่าย สรุปได้ดังนี้
- พักโทษ
แนวทางนี้เกิดขึ้นแล้วหลังมีการแก้กฎกระทรวงให้ ปล่อยตัวผู้ต้องขังได้ก่อนกำหนดเพื่อไปอยู่ภายใต้การดูแลของพนักงานคุมประพฤติแทน โดยผู้มีสิทธิได้รับการพิจารณาได้ แก่ 1) นักโทษชั้นเยี่ยมที่จำคุกมาแล้วครึ่งหนึ่งของโทษที่ได้รับ 2) นักโทษชั้นดีมากที่จำคุกมาแล้ว 2 ใน 3 ของโทษที่ได้รับ 3) ยนักโทษชั้นดีที่จำคุกมาแล้ว 3 ใน 4 ของโทษที่ได้รับ ซึ่งคาดว่าน่าจะมีนักโทษที่เข้ารับการพักโทษปีละประมาณ 50,000 คคคนต่อปี แต่ในทางปฏิบัติยังมีข้อจำกัดหลายประการ
- สร้างเรือนจำเพิ่ม
กรมราชทัณฑ์มีโครงการสร้างเรือนจำใหม่กว่า 42 แห่งทั่วประเทศ ใช้งบประมาณกว่า 30,000 ล้านบาท โดยจะย้ายเรือนจำเดิมที่อยู่กลางเมืองไปยังพื้นที่นอกเมืองที่ห่างไกลจากชุมชน แต่ก็ยังเผชิญปัญหาหลายด้านทั้งกหารไม่สะดวกในการเดินทางของญาติที่จะไปเยี่ยม หรือการเดินทางไปศาล รวมทั้งอคติจากชุมชนใกล้เคียง
- ทางเลือกในการลงโทษ
ทางเลือกแทนการคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดในคดีเล็กน้อย เช่น การใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ การคุมประพฤติ การคุมตัวในบ้าน การใช้เครื่องควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ แต่ทางเลือกเหล่านี้ก็ยังมีข้อจำกัดหลายประการ
- แยกประเภท แยกพื้นที่
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (2554) เสนอให้มีการแยกสถานที่กักขังสำหรับผู้ต้องขังต่างฐานความผิดกัน เช่น ผู้รอตรวจพิสูจน์ ผู้ถูกกักขังแทนค่าปรับ ผูต้องขังระหว่างพิจารณาคดี และนักโทษเด็ดขาด โดยใช้เรือนจำเป็นที่คุมขังอาชญากรที่ก่อความไม่ปลอดภัยร้ายแรงเท่านั้น และพิจารณาความเป็นไปได้หากภาคเอกชนเข้ามาควบคุมผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี
เสียงจาก ‘คนยุติธรรม’
ในเวทีครั้งนี้นอกจากมีกรรมการสิทธิมนุษยชนแล้ว ยังมีผู้ที่มีประสบการณ์ตรงในการออกแบบนโยบายหรือเคยบริหารงานราชทัณฑ์ รวมถึงนักวิจัย นักวิชาการที่ศึกษาและร่วมเขียนหนังสือเรื่องนี้มายาวนาน เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วย โดยการแลกเปลี่ยนโดยส่วนใหญ่มักเน้นที่การนำเสนอให้เปลี่ยนแปลงนโยบายการจัดการปัญหายาเสพติด เพราะราว 2 ใน 3 ของผู้ต้องขังทั้งชายหญิงมาจากคดีนี้ รวมถึงแนวทางอื่นๆ ในการจัดการกับปัญหาความแออัดโดยไม่ต้องสร้างเรือนจำเพิ่ม ที่สำคัญ บางคนก็เห็นว่า “ยุค คสช.” นี้เองที่น่าจะเร่งผลักดันการปฏิรูปต่างๆ ก็ขณะที่ผู้วิจัยบางส่วนก็แลกเปลี่ยนว่าไม่ได้เชื่อใน “ทางลัด” เช่นนั้น
“บ้านเรากฎหมายเป็นเรื่องที่ปรับปรุงยากที่สุด และช่วงที่ทำได้ง่ายที่สุดคือช่วงที่มีการปฏิวัติ เราต้องไม่สร้างคุกใหม่ แต่ต้องเปลี่ยนแปลงแนวคิดในการดำเนินคดี” ชาติชาย สุทธิกลมเลขาธิการคณะกรรมกาสิทธิฯ อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์กล่าว
ชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รักษาการปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ตลอดการบริหารกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทย ไม่ค่อยมีมิติของผู้หญิงมากนัก หากมีก็เป็นเพียงรูปแบบแต่ขาดเนื้อหา เพราะผู้ออกแบบส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย และความเข้าใจคอนเซ็ปท์ของหญิง-ชาย รวมถึงการเลือกปฏิบัติยังไม่แจ่มชัดในวงการนี้
ส่วนแนวคิดในการผ่อนปรนกฎระเบียบที่เคร่งครัดเกินไป หรือทำให้ผู้ต้องขังหญิงเข้าถึงสาธารณูปโภคต่างๆ มากชึ้นนั้น เป็น “การบริหารงานภายในเรือนจำ” ซึ่งไม่ต้องอาศัยกฎหมาย แต่ต้องแก้ไขวิธีคิดของผู้บริหารในการจัดลำดับความสำคัญ ส่วนข้ออ้างที่มักพูดกันมากเรื่อง ความจำกัดของงบประมาณ รักษาการปลัดยุติธรรมยืนยันว่า งบ 11,000 ล้านบาทนั้นเพียงพอต่อการบริหารจัดการหากมีวิธีคิดที่สอดคล้องกับมุมมองสิทธิมนุษยชนสากล ทั้งนี้ ปัจจุบันงบประมาณต่อหัวต่อปีของผู้ต้องขังชายอยู่ที่ 21,000 บาท ขณะที่ส่วนของผู้หญิงนั้นมากกว่าราว 300 บาท
ส่วนการลดจำนวนผู้ต้องขังนั้น ชาญเชาวน์ กล่าวว่า 1) อยู่ที่การกำหนดนโยบายและการวางฐานการลงโทษในคดียาเสพติดว่าจะยังคงกรอบการลงโทษหนักแบบเดิมหรือไม่ 2)การปฏิรูปการลงโทษระดับกลางด้วยการสร้างทางเลือกอื่นๆ เช่น เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความเข้าใจและทัศคติของผู้พิพากษาเป็นสำคัญในการสั่งลงโทษ 3) ยุติธรรมทางเลือก โดยหยิบยกรูปธรรมปัจจุบันที่ประสบผลสำเร็จสดๆ ร้อนๆ คือ คำสั่ง คสช. ที่ 41/2557 เรื่องยาเสพติด ที่ยอมฟังเสียงข้าราชการ ยอมลดการปราบปรามลง แล้วเน้นการป้องกันมากขึ้น โดยในงบปี 58 นั้นเพิ่มงบการป้องกันขึ้น 10% เน้นการติดตามเฝ้าระวัง 15% ทั้งยังระดมอำนาจจากทั้งกระทรวงหมาดไทยและกระทรวงศึกษาธิการเพื่อร่วมมือกัน
อย่างไรก็ตาม คงต้องบันทึกไว้ด้วยว่า คณะวิจัยดังกล่าวเสริมว่า หลังการรัฐประหารและการเน้นการปราบปรามการทุจริต และยาเสพติดในเรือนจำเป็นศูนย์ ทำให้เรือนจำหญิงหลายแห่งตีความคำสั่งและสร้างกฎที่เข้มงวดขึ้นอย่างไม่สมเหตุสมผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตผู้ต้องขังเช่นกัน เช่น การให้ผู้ต้องขังนำน้ำขึ้นเรือนนอนได้ 1 ขวดนอกเหนือจากนั้นถูกห้าม ทั้งที่เมื่อก่อนผู้ต้องขังสามารถนำหนังสือไปอ่าน นำการบ้านไปทำได้
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า เรือนจำหญิงบางแห่งถึงกับสั่งห้ามนำผ้าอนามัย ทิชชู ขึ้นเรือนนอนโดยอ้างปัญหาเรื่องยาเสพติด ทำให้ผู้ต้องขังที่มีประจำเดือนเดือดร้อนและมีการประท้วงกฎดังกล่าวด้วย
“แต่ทั้งหมดที่พยายามทำกันก็ยังไม่มีการพูดถึงผู้หญิงอยู่ดี” ชาญเชาวน์กล่าวสรุปพร้อมทั้งเสริมว่า ควรต้องมีการศึกษาอย่างจริงจังว่าอะไรเป็นสาเหตุให้ผู้หญิงไทยกระทำผิดมากขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าให้ผู้หญิงไทย
“การพักโทษก็ทำได้ในระดับหนึ่งในลักษณะทั่วไป ราชทัณฑ์ก็ทยอยระบายออกด้วยวิธีนี้ แต่ก็พบว่าพวกเขากลับมาใหม่อีก มากที่สุดคือผู้หญิง และเกี่ยวพันกับยาเสพติด สาเหตุเป็นเพราะอะไรก็ยังเป็นเครื่องหมายคำถามอยู่” ชาญเชาวน์กล่าว
วันชัย รุจนวงศ์ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีแรงงาน อดีตอธิบดีกรมคมประพฤติและอดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า ปัญหาความแออัดของผู้ต้องขังนั้นสืบเนื่องมาจากปัญหาการวางนโยบายที่ผิดพลาดในการจัดการกับยาเสพติด เนื่องจากปัจจุบันผู้ต้องขังคดียาเสพติดอยู่ที่ประมาณ 70% จากในอดีตราวปี 2550 ตัวเลขยังอยู่ที่ 54% ของผู้ต้องขังทั้งหมด สืบเนื่องมาจากการกระตุ้นให้สังคมตระหนักถึงภัยอันร้ายแรงของยาเสพติด และสร้างภาพอย่างเกินจริงทำให้คดียาเสพติดกลายเป็นคดีร้ายแรงที่โทษสูงมากและศาลไม่ให้ประกันตัว การได้รับการลดโทษตามวาระโอกาสต่างๆ ก็ได้น้อยกว่านักโทษคดีอื่นๆ มาก
“ฆ่าคนตายประกันได้ แต่ยาเสพติดเป็นคดีที่เซนสิทีฟที่สุด ไม่ได้ประกันตัวมากที่สุด เพราะแคมเปญที่เราทำกันมา 30-40 ปีจนทุกคนมีทัศคติที่เลวร้ายมาก แต่มันเกินส่วนไปไหม ดูจากคำพิพากษา ฆ่าคนตายอาจโดนโทษ 15 ปี 18 ปี แต่ยาบ้า 20,000 เม็ดโอกาสติดตลอดชีวิตสูงมาก”
“เราจะเดินหน้าคดียาเสพติดกันต่ออย่างนี้หรือเปล่า สังคมไทยคิดอะไรไม่ออกก็เพิ่มโทษไว้ก่อน แต่มันก็ไม่ได้ผล” วันชัยกล่าวและว่า สิ่งที่จะได้ผลคือความเสี่ยงในการโดนจับ โทษน้อยหากความเสี่ยงสูงคนก็จะกระทำผิดน้อยลง ในขณะที่โทษหนักแต่ความเสี่ยงไม่มาก คนก็ยังกระทำผิดอยู่
“เรือนจำเป็นส่วนที่เลือกไม่ได้ มีหมายศาลมาต้องรับหมด เวลาแออัดมากๆ ก็ต้องหาโอกาสมงคลขออภัยโทษ เพราะคุกมันจะแตก แออัดมากๆ เสี่ยงเกิดจลาจล” วันชัยกล่าวพร้อมเสริมด้วยว่า นอกจากจำนวนผู้ต้องหาจะล้นจากความสามารถของเรือนจำในการรองรับไปมากแล้ว อัตรากำลังเจ้าหน้าที่ของราชทัณฑ์ก็มีอย่ายงจำกัดยิ่งทำให้ต้องดูแลนักโทษเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงยากจะคาดหวังเรื่องอื่นๆ เพียงคุมสภาพให้ปกติก็เป็นงานที่หนักมากแล้ว
ชาติชาย สุทธิกลมเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวเสริมในกรประเด็นการแสวงหาทางเลือกในการลงโทษว่า ประเทศไทยพยายามพัฒนาเรื่องดังกล่าวแต่ก็กระทำได้ไม่สุด เช่น ในปี 2550 มีการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 89/2 ให้มีการกักตัวที่อื่นแทนเรือนจำ เรื่องนี้มีการแก้กฎกระทรวงแล้ว แต่ประกาศเกี่ยวกับรายละเอียดยังไม่ออก ในทางปฏิบัติจริงๆ จึงยังไม่มีการใช้กฎนี้แม้แต่กรณีเดียว ไม่ต้องเอ่ยถึงมาตราการกำหนดให้ผู้ต้องขังคดีไม่ร้ายแรงสามารถติดคุกได้ในวันเสาร์-อาทิตย์ และสามารถออกไปทำงานได้ตามปกติในวันธรรมดา
รศ.ดร.นภาภรณ์ หะวานนท์นักวิชาการอิสระ ผู้ทำวิจัยและเขียนหนังสือเรื่องเรือนจำมาหลายเล่ม ได้ช่วยเน้นย้ำให้เห็นภาพนโยบายที่ผิดพลาดเกี่ยวกับการจัดการปัญหายาเสพติดด้วย โดยเน้นในช่วงการประกาศสงครามกับยาเสพติดในช่วงรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และนำเสนอด้วยว่า สภาพการณ์ที่ผู้ต้องขังล้นคุกและมีชีวิตต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานนี้เป็นอาการผิดปกติของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาและของสังคม จึงจำเป็นที่ต้องผลักดันให้เรื่องนี้เป็น “วาระแห่งชาติ” เพราะเนื่องจากคดียาเสพติดมีโทษสูง หากไม่เป็นวาระแห่งชาติก็จะไม่มีใครกล้าขยับ ทบทวนกฎหมายที่โทษหนักเกินไป นอกจากนี้ยังต้องเปลี่ยนแปลง ไม่ให้นำ “จำนวนคดี” มาเป็นดัชนีชี้วัดความสำเร็จของการแก้ปัญหายาเสพติดของตำรวจ เพราะที่ผ่านมาตำรวจมักมุ่งเน้นแต่การจับกุมรายเล็กเพื่อเพิ่มจำนวนคดี ทั้งที่การจับกุมรายเล็กนั้นเป็นเรื่องอันตราย เนื่องจากสร้างผลกระทบกับครอบครัวอีกมาก
ท้ายที่สุดคือเรื่องการพักโทษ เราอาจลองทดสอบกับพื้นที่นำร่อง ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม เพราะจากการทำงานร่วมกับอบต.หลายแห่งพบว่า เขายินดีจะรับคนในพื้นที่ตัวเองกลับมาดูแลและควบคุมความประพฤติ
“เขาบอกว่าล่ามโซ่เขาไว้ที่บ้านก็ได้ ดีกว่าอยู่ในคุกเพราะมันเลวร้ายจริงๆ”
“ตัวอย่างปัญหาที่เราพยายามจัดการอยู่ตอนนี้คือ ที่ราชบุรี ผู้ต้องขังหญิงที่ไม่เหลือฟันแม้แต่ซี่เดียว มีอยู่ถึง 20 คน”
“ทั้งหมดจากที่ทำการสำรวจศึกษา เราไม่นึกเลยว่ามนุษย์จะทำกับมนุษย์ด้วยกันได้ขนาดนี้”
วราภรณ์กล่าวทิ้งท้ายวงเสวนา