หลังจากที่ทางการไทยประกาศจะเข้มงวดต่อเรื่องวีซ่าของชาวต่างชาติ อาจจะส่งผลกระทบต่อการเรียนการสอนภาษาอังกฤษเพื่อรับกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เนื่องจากครูสอนภาษาชาวต่างประเทศในโรงเรียนเล็กๆ หลายแห่งถูกจำกัดให้ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตซึ่งมีขั้นตอนยุ่งยากและค่าการจัดการสูง
30 ก.ค. 2557 เคซี ไฮเนส นักข่าวอิสระที่รายงานข่าวในแถบเอเชียเขียนบทความลงเว็บเอเชียนคอร์เรสปอนเดนต์ ระบุว่าความเข้มงวดและการปราบปรามชาวต่างชาติที่อยู่อาศัยหรือทำงานในประเทศไทยอาจจะส่งผลต่อหลายภาคส่วนโดยเฉพาะเรื่องการศึกษาภาษาอังกฤษ เนื่องจากมีครูสอนภาษาอังกฤษชาวต่างชาติจำนวนหนึ่งไม่สามารถจัดทำใบอนุญาตประกอบวิชาชีพได้ ทำให้พวกเขาตกงาน ส่วนกระบวนการทำใบอนุญาตฯ เองก็มีความยุ่งยากและต้องลงทุนลงแรงมาก
ไฮเนสระบุว่ามีโรงเรียนบางแห่งจ้างครูสอนภาษาชาวต่างชาติให้พวกเขาสามารถทำงานได้โดยใช้แค่หลักฐานวีซ่านักท่องเที่ยวเพื่อหลีกเลี่ยงความยุ่งยากในการขอใบอนุญาตทำงาน แต่จากการที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองประกาศจะกีดกันผู้ที่ไม่มีวีซ่าระยะยาวทำให้อาจส่งผลกระทบการจ้างงานเช่นนี้
ในบทความระบุถึงปัญหาเกี่ยวกับการขอใบอนุญาตว่า โรงเรียนเล็กๆ ไม่มีกำลังคนมากพอในการดูแลจัดการกระบวนการที่ใช้เวลานานและมีราคาแพงให้กับครูชาวต่างชาติ ริชาร์ด แบร์โรว บล็อกเกอร์แนวท่องเที่ยวที่อยู่ในไทยซึ่งเป็นผู้จัดหางานและเป็นผู้ประสานงานให้กับครูชาวต่างชาติกล่าวว่า กระบวนการขอใบอนุญาตทำงานใช้เวลาถึง 2 เดือน และอาศัยเอกสารจำนวนมากรวมถึงต้องติดต่อกับหน่วยงานราชการมากมายหลายที่
ขณะที่โรงเรียนใหญ่ๆ ที่มีทุนหนาจะมีคนดูแลจัดการเรื่องนี้ได้ดี บทความระบุว่าเหตุที่เรื่องนี้ต้องมีคนดูแลจัดการให้เนื่องจากกระบวนการมีหลายขั้นตอนมากจนทำให้ชาวต่างชาติรายใหม่ที่ต้องการทำงานเป็นครูไม่สามารถดำเนินการด้วยตนเองและต้องอาศัยความช่วยเหลือจากผู้มีประสบการณ์
บทความระบุอีกว่าก่อนหน้านี้มีชาวต่างชาติบางส่วนใช้วิธีเข้าออกผ่านผ่านพรมแดนไทยและประเทศใกล้เคียงทุกๆ เดือนเพื่อให้ได้ข้องดเว้นชั่วคราวให้พำนักได้ไม่เกิน 30 วัน หรือบางคนก็ขอวีซ่านักท่องเที่ยวซึ่งอนุญาตให้อยู่ได้ไม่เกิน 3 เดือน
อย่างไรก็ตาม ทางการไทยประกาศว่าภายในวันที่ 12 ส.ค. จะมีการดำเนินการตามกฎหมายเข้มงวดขึ้น ทำให้ผู้ที่ทำงานในไทยอาจจะไม่สามารถใช้วิธีการเดิมได้ โดยอีกด้านหนึ่งก็มีกรณีที่ชาวต่างชาติบางคนที่มีวีซ่าอย่างถูกกฎหมายถูกปฏิเสธไม่ให้ข้ามผ่านพรมแดนระหว่างไทยกับมาเลเซีย อีกทั้งยังถูกบอกให้ขึ้นรถประจำทางไปที่กรุงกัวลาลัมเปอร์แล้วขึ้นเครื่องบินเข้ามาในไทยแทน โดยเรื่องนี้มีการรายงานในเว็บไซต์ ThaiVisa ชาวต่างชาติที่ถูกห้ามเข้าประกอบด้วยชาวสหรัฐฯ, อังกฤษ, นิวซีแลนด์, อิตาลี, โรมาเนีย และรัสเซีย
พอล วิลเลียม ผู้ดูแลเว็บไซต์เกี่ยวกับการเรียนการสอน ajarn.com กล่าวว่าการทำใบอนุญาตประกอบวิชาชีพมีค่าใช้จ่ายด้านการเดินทางและค่าอำนวยความสะดวกอื่นๆ จำนวนมาก เทียบกับเงินเดือน 30,000 บาทต่อเดือน ครูต่างชาติยังเคยบอกอีกว่าพวกเขาต้องจ่ายค่าทำวีซ่าเองด้วย นอกจากนี้หลังจากมีนโยบายเข้มงวดของทางการก็ทำให้พวกเขามีความเสี่ยงที่จะกลับเข้าประเทศไม่ได้เพิ่มมาอีก
ในบทความระบุอีกว่าการขอใบอนุญาตยังต้องอาศัยหลักฐานการเรียนจบปริญญาตรี แบร์โรว ผู้จัดหางานไม่เห็นด้วยกับข้อบังคับนี้เขาคิดว่ามันไม่ยุติธรรมเลย การไม่มีปริญญาไม่ได้หมายความว่าจะเป็นครูที่ดีไม่ได้ บางคนมีประสบการณ์สอนมาเป็นเวลา 5-10 ปี เป็นครูที่ดีและมีประสบการณ์ซึ่งเป็นเรื่องน่าเห็นใจสำหรับพวกเขา
ทางด้านพอล การ์ริแกน นักเขียนอิสระ ซึ่งอดีตเคยทำงานเป็นครูบอกว่าปริญญาไม่ได้เป็นตัววัดว่าโรงเรียนจะได้ครูที่ดีเสมอไป โดยยกตัวอย่างว่าเขารู้จักครูจำนวนมากที่ไม่มีปริญญา แต่มีความสามารถบางด้านอย่างการจัดการห้องเรียน โดยทำได้ดีกว่าเขาเองซึ่งจบด้านศึกษาศาสตร์ในระดับบัณฑิตวิทยาลัย
การ์ริแกนเล่าถึงประสบการณ์การพยายามขอใบอนุญาตของเขาเองว่าเจ้านายของเขาสัญญาว่าจะจัดหาใบอนุญาตให้ แต่พอถามถึงก็ถูกตอบบ่ายเบี่ยงทุกครั้งและคิดว่าครูชาวต่างชาติอีกหลายคนก็ประสบปัญหาเจ้านายไม่ทำตามสัญญาทำให้ทำงานอย่างถูกกฎหมายไม่ได้
ไฮเนสระบุอีกว่าประเทศไทยมีความน่าเป็นห่วงในเรื่องความสามารถด้านภาษาอังกฤษในช่วงก่อนเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนภายในปี 2558 นี้ ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการได้จัดสรรงบประมาณ 500 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนมีทักษะภาษาอังกฤษเพิ่มมากขึ้น แต่การเพิ่มความเข้มงวดด้านคนการตรวจคนเข้าเมืองจนเป็นอุปสรรคต่อครูสอนภาษาชาวต่างชาติก็น่าสงสัยว่าจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการสอนภาษาได้จริงหรือไม่
วิลเลียมเสนอว่ารัฐบาลไทยควรผ่อนผันมาตรการเข้มงวดนี้ลง หรือไม่ก็เปลี่ยนแปลงกระบวนการขอใบอนุญาตให้สะดวกขึ้น มิเช่นนั้นคงต้อง "เสียหน้า"เมื่อมีหลายโรงเรียนออกมาบอกว่า "พวกเราไม่มีครูแล้ว"
แม้ว่าโรงเรียนอาจจะมีการแก้ปัญหาโดยใช้ครูสอนภาษาอังกฤษที่เป็นคนไทยแทน แต่วิลเลียมก็บอกว่าปัญหาคือการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาไทยอาจจะไม่มีประสิทธิภาพมากเท่าและโดยส่วนตัวเขาเองคิดว่าครูไทยส่วนมากยังพูดภาษาอังกฤษไม่ดีพอ
อย่างไรก็ตามวิลเลียมได้แสดงความเห็นใจต่อโรงเรียนเล็กๆ ที่อาจจะประสบปัญหาการขาดแคลนครูในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ด้วย
เรียบเรียงจาก
Thailand visa crackdown likely to impact English education, Asian Correspondent, 28-07-2014
http://asiancorrespondent.com/125194/thailand-visa-teach-english/
Visa enforcement tightens for tourists and expats in Thailand, Asian Correspondent, 16-07-2014
http://asiancorrespondent.com/124798/visa-enforcement-tightens-for-tourists-and-expats-in-thailand/