25 ก.ค. 2557 เวลา 10.00 น.ที่เมืองทองธานี ในงานประชุมวิชาการมหกรรมอาหารและสุขภาพวิถีไท ครั้งที่ 1 ภายใต้แคมเปญ “กินเปลี่ยนโลก:บทบาทอาหารกับสุขภาพ สังคมและสิ่งแวดล้อม” จัดโดย มูลนิธิสุขภาพไทย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิชีววิถี มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายความมั่นคงทางอาหารและสุขภาพวิถีไทย
นายสัตยา ชาร์มา ผู้อำนวยการสหพันธ์ผู้บริโภคสากล ประเทศอินเดีย (Consumers International, CI) กล่าวระหว่างเสวนาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหารของประชาคมอาเซียนว่า แต่ ละประเทศอาเซียนเห็นตรงกันว่าการออกกฎหมายด้านอาหารหลายฉบับ และการแบ่งความรับผิดชอบในแต่ละกระทรวงทำให้เกิดความซ้ำซ้อนต่อการกำกับดูแล และควบคุมมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหาร ขณะที่กลุ่มประเทศต่างๆ ของอาเซียน รวมทั้ง ผู้บริโภคมีความตื่นตัว และคาดหวังที่จะบริโภคอาหารที่มีความปลอดภัยผู้ผลิต ผู้ขาย ผู้แปรรูปมีความรับผิดชอบ ทั้งนี้อยากเสนอแนะว่าแต่ละประเทศควรมีกฎหมายเกี่ยวกับอาหารให้ชัดเจน และมีเรื่องของวิทยาศาสตร์มารองรับ ตลอดจน มีขั้นตอนการตรวจสอบ เฝ้าระวัง และเปิดเผยต่อสาธารณชนให้รับทราบ และการจะออกกฎหมายเพิ่มเติมนั้นควรเปิดโอกาสให้ประชาชน และองค์กรที่ทำงานด้านอาหารเข้ามามีส่วนร่วมกำหนดนโยบายและติดตามอย่างเข้า ใจ นอกจากนี้ทุกประเทศควรมีกองทุนระยะยาวด้านอาหารด้วย อย่างไรก็ตาม ขอชื่นชมประเทศไทยที่มีระบบตรวจสอบมาตรฐานและความปลอดภัยด้านอาหารที่ดีเป็น ตัวอย่างของประเทศอาเซียน
นางสาวคาริน แอนเดอร์สัน อาสาสมัครมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ปี 2558 จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนและอาหารนำเข้าจะมีเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นการติดฉลากสินค้าจึงเป็นเรื่องที่ทุกประเทศควรให้ความสำคัญ ซึ่งมาตรฐานที่ควรปรากฏบนบรรจุภัณฑ์ ควรมีดังนี้ 1.แสดงวันหมดอายุ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยควรใช้เป็น วัน เดือน ปี 2.ส่วนประกอบของอาหาร ควรระบุสารเจือปนว่ามีปริมาณเท่าไหร่ 3.แจ้งรายละเอียดตกแต่งพันธุกรรมที่ชัดเจน เพื่อให้ผู้บริโภคใช้ในการตัดสินใจ 4.บอกคุณค่าทางโภชนาการที่เป็นจริง ซึ่งควรระบุเป็นตัวเลขให้อ่านออกและเข้าใจง่าย 5. ระบุถึงแหล่งที่มาของอาหารให้ชัดเจน เพื่อป้องกันกรณีที่อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ 6.ควรมีระบบเตือนภัยอาหาร หากผลิตภัณฑ์นั้นเสี่ยงอันตราย โดยใช้สัญลักษณ์สีแดงเขียวเหลือง ซึ่งขณะนี้บางประเทศในกลุ่มอาเซียนเริ่มมีการนำมาใช้แล้ว
นายชูศักดิ์ ชื่นประโยชน์ คณะกรรมการธุรกิจเกษตรและอาหาร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย/สถาบันส่งเสริมคุณภาพเกษตรไทย (ThaiGAP) กล่าวว่า ระบบด้านอาหารของแต่ละประเทศมีมาตรฐานที่แตกต่างกัน เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่นและมีประโยชน์ต่อผู้บริโภค ดังนั้นหน่วยงานรัฐ เอกชน เกษตรกร SMEs ควรทำงานร่วมกันอย่างมีระบบ และสิ่งที่เป็นปัญหาตอนนี้คือกฎหมายไม่ถูกนำมาปฏิบัติใช้อีกทั้งยังไม่ครอบคลุมในด้านดังกล่าว จึงฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งทำแผนแม่บทระบบความปลอดภัยด้านอาหาร ส่วนผู้บริโภคควรลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิ์ตัวเอง
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ขณะนี้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่ให้ความสำคัญต่อคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ ขณะที่กระบวนการคุ้มครองผู้บริโภคจะเน้นที่ความปลอดภัยและให้ผู้บริโภคมีทางเลือก เกิดกลไกที่เข้มแข็ง ล่าสุดเราได้จัดทำเว็บไซต์องค์กรผู้บริโภคเพื่อใช้ติดตามเข้าถึงปัญหาต่างๆ ดังนั้นต้องช่วยกันผลักดันวิถีการกินของประชาชนให้หันมาใสใจดูแลการกิน หันมาบริโภคอาหารพื้นบ้าน ไม่เน้นอาหารสำเร็จรูปหรือแช่แข็งมากเกินไป เนื่องจากเสี่ยงอันตรายจากสารปนเปื้อน ไม่รู้แหล่งที่มาในการผลิต
นายชัยสิทธิ์ บุญกัน สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาสคบ.มีส่วนร่วมในการดูแลคุ้มครองผู้บริโภค มีส่วนร่วมพัฒนาระบบเตือนภัย อาทิ สินค้าที่อันตรายห้ามขาย และนำมาเปิดเผยผ่านเว็บไซต์ นอกจากนี้ยังเน้นช่วยเหลือเยียวยาผู้บริโภคที่เกิดปัญหาจากการใช้สินค้า เฝ้าระวังสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงเป็นกลไกไก่เกลี่ยหากผู้บริโภคไม่ได้รับความเป็นธรรม
ดร.ทิพวรรณ ปริญญาศิริ ผู้อำนวยการสำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)กล่าวว่า ปัญหาที่พบคือโครงสร้างด้านอาหารของอาเซียนไม่ตอบโจทย์การทำงาน จึงจำเป็นต้องปรับปรุงโครงสร้างในระบบ มีการวางกรอบที่ชัดเจนทั้งภาคเอกชนภาคผู้บริโภค อย่างไรก็ตามการทำงาน อย. เน้นการออกแบบและควรมีชุดความปลอดภัยด้านอาหาร เช่นสัญลักษณ์สุขภาพ ซึ่งมาตรการนี้จะช่วยตอบโจทย์และพัฒนาโครงสร้างด้านอาหารในกลุ่มอาเซียนได้
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai