Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

เสวนาบทเรียนความมั่นคงทางอาหาร: ไทย อินโดฯ มาเลฯ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม

$
0
0

ชี้ระบบอาหารไทยเข้าขั้นวิกฤติ คนไทย 70% แห่ซื้ออาหารนอกบ้านรับประทาน ทั้งที่ไม่รู้แหล่งผลิต หวั่นเกิดสารปนเปื้อนและไม่ผ่านค่ามาตรฐาน เผยอาหารแช่แข็งยังครองแชมป์ยอดฮิต แนะส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยสู่ระบบที่ยั่งยืน-พัฒนางานวิจัย ควบคุมการใช้สารเคมีที่ต้นทาง ด้านนักวิจัยมาเลเซียแฉ พบสารตกค้างในผลิตภัณฑ์การเกษตรของมาเลเซียอื้อ วอนหน่วยงานรัฐแก้กฎหมายคุมครองผู้บริโภค ฟากนักวิจัยฟิลิปปินส์ชี้อุตสาหกรรมอาหาร โหมการตลาดโฆษณาเกินจริงหลอกผู้บริโภค


24 ก.ค. 2557 เมื่อเวลา 10.00 น. ในงานประชุมวิชาการมหกรรมอาหารและสุขภาพ วิถีไท ครั้งที่ 1 ภายใต้แคมเปญ “กินเปลี่ยนโลก: บทบาทอาหารกับสุขภาพ สังคมและสิ่งแวดล้อม” จัดโดย มูลนิธิสุขภาพไทย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิชีววิถี มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ มูลนิธิเกษตรยั่งยืน (ประเทศไทย) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายความมั่นคงทางอาหารและสุขภาพวิถีไทย

นางสาวกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา รองผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวระหว่างเสวนาหัวข้อ บทเรียนการทำงานของแต่ละประเทศในประเด็นความมั่นคงด้านอาหาร ว่า ปัจจุบันผู้บริโภคมีความเสี่ยงในการรับประทานอาหารที่จัดว่าอยู่ในขั้นวิกฤต เพราะเลือกรับประทานอาหารนอกบ้านและซื้ออาหารสำเร็จรูปมากกว่าร้อยละ 70 ของรายจ่ายค่าอาหารทั้งหมด โดยที่ไม่สามารถรู้แหล่งผลิตได้เลยว่าขั้นตอนการทำเป็นเช่นไร

รองผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี  กล่าวต่อว่า วิกฤตที่กำลังเผชิญอยู่แบ่งเป็น 3 แหล่ง คือ 1.เกษตรกรรายย่อยนับวันจะหายไปจากระบบ เพราะเอาตัวไม่รอด กำไรหดหาย 2.ระบบการผลิต ทำลายสิ่งแวดล้อม เนื่องจากใช้ทรัพยากรสิ้นเปลืองทำให้คนไทยมีวิถีการกินอยู่ที่น้อยลง หันไปพึ่งอาหารแช่แข็งมากขึ้น 3.วิกฤตผู้บริโภค ประสบปัญหาไม่มีทางเลือกในการกิน จากระบบผูกขาดของบริษัทผู้ค้ารายใหญ่ รวมถึงผู้บริโภคขาดความรู้ในการเลือกอาหาร ซึ่งแม้ปัจจุบันจะมีฉลากระบุในบรรจุภัณฑ์ แต่พบว่าไม่ตรงกับความเป็นจริง จึงเสี่ยงที่ผู้บริโภคอาจได้รับสารปนเปื้อนที่มีอันตรายต่อร่างกายได้

“สิ่งที่ควรทำคือต้องจัดการอาหารทั้งระบบ โดยผู้บริโภคต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมเกษตรกรรายย่อย รวมทั้งต้องสนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่ม พัฒนาวิจัย จัดตั้งระบบสหกรณ์รายย่อย ควบคุมสารเคมีที่ต้นทาง นอกจากนี้ควรมีการควบคุมการดำเนินงานกิจการธุรกิจทางการเกษตร ให้เกษตรกรรายย่อยลุกขึ้นมามีบทบาท และรัฐบาลควรสร้างตลาดขนาดเล็ก ตลาดทางเลือกให้เกษตรกรเข้ามามีพื้นที่ ขณะเดียวกันกฎหมายเกี่ยวกับอาหารควรเข้มงวดมากขึ้นเพราะที่ผ่านมาแม้จะมีกฎหมายแต่การบังคับใช้ไม่มีประสิทธิภาพ และคณะกรรมการยังละเลยไม่ใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างจริงจัง” นางสาวกิ่งกร กล่าว

นางสาวฮูซนา ซาฮีร์ นักวิจัยจากองค์กรผู้บริโภค ประเทศอินโดนีเซีย (Yayasan Lembaga Konsumen Indonesia, YLKI) กล่าวว่า แม้อินโดนีเซียจะมีแหล่งทรัพยากรที่เพียงพอ และข้าวเป็นอาหารหลัก แต่กว่า 50% ต้องนำเข้าจากเพื่อนบ้าน รวมถึงอาหารอื่นๆ และมีแนวโน้มราคาสูงขึ้นทุกปี ซึ่งรัฐบาลแม้จะสนับสนุนให้ปลูกข้าว แต่ไม่ได้จริงจังในเรื่องการผลิตและส่งออก อีกทั้งเกษตรกรส่วนใหญ่นิยมใช้สารเคมี ทำให้สิ้นเปลือง เกิดหนี้สิน และส่งผลเสียต่อผลผลิต เกษตรกรจึงเริ่มมองหาพืชพื้นบ้านเพื่อนำมาทดแทน เช่น ปลูกข้าวฟ่าง ข้าวโพด และประสบความสำเร็จแค่เพียงระดับท้องถิ่น เนื่องจากรัฐบาลไม่ให้ความร่วมมือ อย่างไรก็ตาม ภาครัฐควรยกระดับอาหารพื้นบ้านเหล่านี้ และศึกษาพัฒนางานวิจัยใหม่ๆ ให้เข้ามาตอบโจทย์เกษตรกรรมรูปแบบต่างๆ จัดอบรมให้ความรู้กับผู้บริโภคดังคำขวัญของประเทศคือ “กินอาหารท้องถิ่น รักษาเกษตรกรท้องถิ่น”

นางสาวหัทธิยา ฮาสซิม นักวิจัยจากสมาคมผู้บริโภคแห่งปีนัง ประเทศมาเลเซีย (Consumer Association of Penang) กล่าวว่า มาเลเซียมีโรงงานอุตสาหกรรมผลิตอาหารจำนวนมาก แต่กลไกการผลิตนั้นอาจมีการปนเปื้อนและมีสารเคมีตกค้าง โดยที่ผู้บริโภคไม่รู้ ที่ผ่านมาชมรมผู้บริโภคปีนัง พยายามแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคที่มีมานานกว่า 30 ปีแล้ว เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ในเรื่องวัตถุดิบ สารปนเปื้อน การห้ามนำเข้า เช่น สารเร่งเนื้อสัตว์ที่ทำให้โตไว ซึ่งมีเข้ามาและเปลี่ยนชนิดเปลี่ยนรูปแบบใหม่ไปเรื่อยๆ ทำให้กฎหมายเกิดความหละหลวมไม่สามารถคุ้มครองผู้บริโภคได้

“เราจำเป็นต้องรณรงค์กับผู้บริโภคและผู้ขายอาหารตามข้างทาง เกี่ยวกับคุณภาพอาหาร รณรงค์ลดน้ำตาล เนื่องจากประเทศอินโดนีเซียติดอันดับ 8 ของโลกที่บริโภคน้ำตาลสูง เพราะมีผลต่อสุขภาพ ทั้งนี้รัฐบาลอินโดนีเซียควรเน้นคุ้มครองเกษตรกรรายย่อยที่ทำการเกษตรอินทรีย์เพื่อความยั่งยืน และคุ้มครองสิ่งแวดล้อมด้วยวิธีการจับปลาที่เน้นเชิงอนุรักษ์” นางสาวหัทธิยา กล่าว

นางสาวเจนนิเฟอร์ กุสต์ นักวิจัยจากองค์กรผู้บริโภคประเทศฟิลิปปินส์ (IBON Foundation) กล่าวว่า ปัจจัยที่ยังท้าทายวิกฤติอาหารของฟิลิปปินส์คือการมีโฆษณาชวนเชื่อ ส่งเสริมการแปรรูปอาหารและมีทุนในระบบอุตสาหกรรมมากเกินไป ซึ่งที่ผ่านมาฟิลิปปินส์เกิดการขาดแคลน ขาดดุลทางอาหารเพราะมีการนำเข้ามากกว่าส่งออก รัฐบาลมีนโยบายเปิดการค้าเสรี จึงทำให้เกิดแหล่งธุรกิจเอกชนมากขึ้น ประชากรไม่สามารถเข้าถึงแหล่งอาหารที่มีราคาถูก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้การค้าข้าวมีการผูกขาด ซื้อถูกขายแพง เกิดการกักตุน ลักลอบนำเข้าโดยไม่จ่ายภาษี นอกจากนี้ในเรื่องของการผลิตข้าวโพดที่ปรับแต่งพันธุกรรม (GMO) ก็มีผลกระทบต่อเกษตรกร ล่าสุดล้มละลายถึง 10% ของเกษตรกรที่ปลูกข้าวโพด อีกทั้งส่งผลให้เป็นโรคหอบหืด ภูมิแพ้สารเคมี

“อยากให้เกิดบทบาทของภาครัฐมากกว่าที่เป็นอยู่ ส่งเสริมผลผลิตของเกษตรกรให้สูงขึ้น เพราะอย่าลืมว่าผู้บริโภคตื่นตัวเรื่องอาหารและความเป็นอยู่ สนใจอาหารออแกนิกส์เพราะตระหนักได้ถึงความปลอดภัย อย่างไรก็ตามเราพยายามต่อสู้หันมาทำเกษตรทางเลือก พยายามล็อบบี้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อให้มีใบรับรอง มีกฎหมายที่สนับสนุนทำเกษตรอินทรีย์ซึ่งอยู่ในระหว่างดำเนินการ” นางสาวเจนนิเฟอร์ กล่าว

นางสาวอลิซ ฟาม นักวิจัยจากองค์กรผู้บริโภค ประเทศเวียดนาม (CUTS Internation) กล่าวว่า ประเทศเวียดนามเป็นประเทศยากจน และประเทศที่ผลิตข้าวกว่า 73% มีการส่งออกข้าว 3 ล้านตันต่อปี ซึ่งรองจากประเทศไทย ทั้งนี้ยอมรับว่าเทคโนโลยีในการผลิตข้าวยังไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งเวียดนามยังประสบปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วม ฝนแล้งอย่างต่อเนื่อง ทำให้รายได้ของเกษตรกรลดลง การแข่งขันสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ภาครัฐต้องเพิ่มผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรใหม่ๆ ไม่พึ่งพาข้าวอย่างเดียว และเกษตรกรต้องได้ตัดสินใจว่าจะปลูกพืชอะไร ไม่ถูกชี้นำจากรัฐบาล

นายซิว ก๊ก เซียง ผู้วิจัยจากสมาคมผู้บริโภค ประเทศสิงคโปร์ (Consumer Association of Singapore, CASE) กล่าวว่า สิงคโปร์เป็นประเทศที่ทำการเกษตรค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่ 90% นำเข้าจากต่างประเทศ โดยหน่วยงาน ABA ด้านการเกษตรและปศุสัตว์จัดทำหน้าที่เชื่อมโยงการนำเข้าผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยมีการประเมินสารปนเปื้อนตรวจสอบอย่างละเอียด เพื่อไม่ให้บริโภคมีความเสี่ยง นอกจากเรายังพยายามส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีทางเลือกทั้งเรื่องราคาและคุณภาพของอาหาร

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles