23 ก.ค.2557 กรณี คสช.ออกคำสั่งที่ 94/2557 ให้ กสทช.ชะลอการดำเนินการเกี่ยวกับการประมูลคลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคม ออกไปเป็นระยะเวลาหนึ่งปี มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดย สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิฯ และ บุญยืน ศิริธรรม อดีตวุฒิสมาชิก แถลงข่าวแสดงความไม่เห็นด้วยกับการเลื่อนประมูลคลื่นดังกล่าว รายละเอียดมีดังนี้
1. ประเด็นเลื่อนประมูลคลื่นและให้เซ้งคลื่นได้
- ไม่เห็นด้วย แต่เมื่อออกประกาศไปแล้ว ต้องรีบกำหนดกติกาใหม่ให้ดีกว่าเดิม เพราะกติกาของ กสทช. ที่รับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ไม่ได้คุ้มครองผู้ใช้บริการคลื่น 1800 ที่ยังมีผู้ใช้บริการไม่น้อยกว่า 4 ล้านราย โดยต้องมีกลไก ว่า กติกาใหม่จะกำหนดอย่างไร ให้ดีกว่าเดิม รอบคอบ/มีส่วนร่วม การไม่กำหนดกลไก เหมือนปล่อยอยู่ในมือ กสทช. ต่อ ไม่ทำให้อะไรดีขึ้นหรือเปลี่ยนแปลงในทางดีขึ้นแน่นอน
- ตรงกันข้าม ปัญหาในปัจจุบันคือ มี กสทช. บางคนช่วงชิงเสนอแก้ไขกฎหมาย (พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553) เพื่อยกเลิกการประมูลคลื่น (การจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรคมนาคมด้วยการประมูล) ไปเลย เครือข่ายผู้บริโภคจึงมีความเป็นห่วงว่า คสช. และสังคมจะถูกชี้นำโดยข้อมูลด้านเดียว จึงอยากทำความเข้าใจว่า
1) วิธีการจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรคมนาคมด้วยการประมูลเป็นวิธีที่ได้รับการยอมรับระดับสากลว่าจะเป็นหลักประกันว่า คลื่นความถี่จะถูกจัดสรรไปอยู่ในมือของผู้ที่มีศักยภาพในการใช้ทรัพยากรของชาติดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะมากที่สุด
2) วิธีการประมูลจะช่วยจำกัดการใช้ดุลพินิจในการจัดสรรคลื่นความถี่ ลดความเสี่ยงของการใช้อำนาจเพื่อเอื้อประโยชน์ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
3) การจัดประมูลที่ไม่ชอบหรือมีปัญหาที่ผ่านมาไม่ได้สะท้อนว่าวิธีการนี้ผิด แต่เป็นความผิดของผู้ออกแบบการประมูล เช่น กรณีการประมูลคลื่น 3G ที่ไม่ก่อให้เกิดการแข่งขันและปัญหาฮั้วประมูล
4) หากจะแก้ไขต้องสร้างหลักประกันว่าการจัดประมูลจะได้รับการออกแบบให้มีการแข่งขัน กระบวนการออกแบบมีความโปร่งใส
- นอกจากข้อเสนอให้ยกเลิกการประมูล ยังมีข้อเสนอให้ยกเลิกข้อห้ามการให้ผู้อื่นประกอบกิจการแทน ทั้งที่ข้อห้ามนี้เป็นเครื่องป้องกันการครอบครองคลื่นโดยไม่ใช้ประโยชน์ ไม่ให้มีการนำคลื่นไปค้ากำไรมือเปล่า โดยไม่ประกอบการ ดังนั้นข้อเสนอให้ยกเลิกข้อห้ามดังกล่าวจึงไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคหรือสังคมส่วนร่วม แต่มุ่งตอบสนองผู้ประกอบการเท่านั้น
- ดังนั้นเครือข่ายผู้บริโภคจึงหวังว่า คสช. จะไม่ยอมรับการฉวยโอกาสในข้อนี้ และขอให้สังคมร่วมจับตาข้อเสนอลักษณะสอดไส้เหล่านี้ด้วย
2. ประเด็นการขยายมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการ
- ปัญหาสำคัญของเรื่องนี้คือ การปฏิบัติหน้าที่ที่ล่าช้าของกสทช. ที่ไม่สามารถประมูลคลื่น 1800 ได้ทันภายในเวลาที่กำหนด จนต้องออกประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราว กรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ.2556 เป็นการอนุญาตให้บริษัทเอกชนที่เคยเป็นผู้รับสัมปทานใช้คลื่นความถี่ของรัฐวิสาหกิจในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่สามารถให้บริการต่อเนื่องต่อไปโดยใช้คลื่นความถี่และทรัพยากรต่างๆ อย่างเดิมภายหลังจากสัญญาสัมปทานสิ้นสุดแล้ว จึงเสมือนเป็นการขยายระยะเวลาสัมปทานอย่างไม่ถูกกฎหมาย
- การที่ผู้รับสัมปทานไม่ต้องคืนคลื่นความถี่เพื่อนำไปจัดสรรใหม่ภายหลังหมดอายุสัมปทานและได้ให้บริการต่อไปอีก 1 ปี นั้น เป็นการเปิดช่องให้ผู้ประกอบการเอกสารสามารถใช้คลื่นความถี่หรือทรัพยากรสาธารณะได้ฟรี อันทำให้ผู้รับสัมปทานได้ประโยชน์จำนวนมาก โดยไม่ต้องเสียต้นทุนในการประกอบกิจการโทรคมนาคมเช่นเดียวกับผู้รับใบอนุญาตรายอื่น ส่วนรัฐกลับต้องสูญเสียรายได้หรือเงินเข้าแผ่นดินไป ดังนี้
1) ในสัมปทานปกติ ผู้รับสัมปทานจะต้องส่งรายได้ให้ผู้ให้สัมปทานร้อยละ 20-30 ของรายได้ในแต่ละปี ซึ่งใน พ.ศ. 2554 เพียงปีเดียวนั้น ปรากฏว่า TRUE Move และ DPC ได้จ่ายค่าสัมปทานไปถึงประมาณ 6,800 ล้านบาท (หกพันแปดร้อยร้อยล้านบาท)
2) หรือหากเป็นระบบการให้ใบอนุญาต ผู้ชนะการประมูลใบอนุญาตหรือผู้รับใบอนุญาตจะต้องเสียค่าธรรมเนียมในการประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ร้อยละ 5.75 ของรายได้ในแต่ละปีตามที่ประกาศ กสทช. ที่เกี่ยวข้องกำหนด ซึ่งมีมูลค่าประมาณปีละ 1,300 ล้านบาทต่อปี (หนึ่งพันสามร้อยล้านบาท)
3) หากมีการประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าวทันทีเมื่อหมดอายุสัมปทาน โดยคำนวณจากราคาตั้งต้น (กรณีไม่มีการสู้ราคาเลยก็ตาม) ตามที่ กสทช. กำหนดในการจัดประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าวแล้ว ผู้รับสัมปทานจะต้องเสียค่าใช้คลื่นความถี่ดังกล่าวประมาณปีละ 1,200 ล้านบาทต่อปี (หนึ่งพันสองร้อยล้านบาท)
- แม้ประกาศดังกล่าวมีข้อกำหนดว่า ผู้ให้บริการมีหน้าที่นำเงินรายได้และดอกผลที่เกิดขึ้นจากการให้บริการ หักต้นทุนค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการให้บริการแล้ว เงินส่วนที่เหลือต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป แต่ข้อเท็จจริงจากกรณีบริษัททรูมูฟให้บริการตามประกาศดังกล่าวในช่วงเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา จากรายงานของบริษัททรูพบว่า การประกอบการอยู่ในภาวะขาดทุน รายได้ไม่เพียงพอที่จะหักรายจ่าย นั่นหมายความว่าจะไม่มีเงินคงเหลือให้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดินได้ ในทางตรงกันข้าม บริษัทอาจเรียกร้องให้ กสทช. หรือรัฐต้องชดเชยส่วนที่ขาดทุน จึงเป็นที่ชัดเจนว่า มาตรการตามประกาศนี้ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ
- การบริการต่อหลังสิ้นสุดสัมปทานยังมีปัญหาว่า กสท โทรคมนาคม หรือ CAT อาจจะไม่ได้รับค่าเช่าใช้โครงข่ายในการให้บริการ
- เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า ผลลัพธ์จากการใช้ประกาศดังกล่าว จะทำให้ผู้ใช้บริการที่ยังคงเหลืออยู่ต้องซิมดับหรือสูญเสียบริการไปอย่างแน่นอน เนื่องจากตามข้อ 10 [1]ของประกาศได้กำหนดให้เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการคุ้มครอง หากยังมีผู้ใช้บริการคงเหลือที่ไม่แจ้งความประสงค์จะขอย้ายไปยังผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายอื่น ให้สิ้นสุดระยะเวลาคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวตามประกาศนี้ ประกาศจึงมิได้ช่วยการแก้ปัญหาซิมดับ แต่เป็นเพียงการเลื่อนเวลาซิมดับเท่านั้น และยังเป็นการยืนยันว่าซิมจะดับแน่นอน หากว่าผู้ใช้บริการไม่แจ้งความประสงค์จะขอย้ายไปยังผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายอื่น
- การกำหนดให้ใช้ประกาศนี้เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ให้ได้ใช้บริการอย่างต่อเนื่องจึงไม่ใช่แนวทางที่เหมาะสม ทางเลือกเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคนั้นสามารถทำได้ในแนวทางอื่นๆ ที่ดีกว่า ทั้งในแง่ความถูกกฎหมาย ไม่ทำให้รัฐเสียประโยชน์ และเป็นการบังคับและตัดสิทธิผู้บริโภค
ข้อเสนอ: แก้ไขประกาศให้บริษัททรูและดีพีซี จ่ายเงินให้รัฐเหมือนเดิม ไม่ใช่สามารถให้บริการโดยไม่ต้องจ่ายเงินเลยเช่นที่ผ่านมา
3. ข้อเสนอประเด็นการแก้ไขกฎหมาย
- จะต้องมีหลักประกันว่าจะไม่มีการละเมิดหลักการใหญ่ที่สังคมตกผลึกร่วมกันแล้ว ในเรื่องเป้าหมายการปฏิรูปสื่อและการเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานสู่ระบบการอนุญาต
- การปฏิรูปกฎหมาย กสทช. ต้องทำให้ กสทช.แยกบทบาทการกำกับดูแลและการให้ใบอนุญาต เพราะที่ผ่านมา มีปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย (ประกาศและระเบียบ) ของ กสทช. เพื่อให้เกิดการคุ้มครองผู้ใช้บริการโทรคมนาคมอย่างแท้จริง เช่น กรณีค่าบริการระบบ 2G ต้องไม่เกิน 99 สตางค์, ราคาค่าบริการภายในเครือข่ายเดียวกันไม่แตกต่างกับบริการข้ามเครือข่าย, อัตราค่าบริการระบบ 3G ต้องต่ำกว่า 2G ร้อยละ 15, กรณีการเติมเงินล่วงหน้าทุกอัตราต้องได้ระยะเวลาการใช้งาน 30 วัน และสะสมได้ไม่น้อยกว่า 365 วัน เป็นต้น
- การปรับเปลี่ยนต้องพิจารณาในเชิงระบบ และมีกระบวนการที่เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง มีความโปร่งใส ไม่ใช่การผูกขาดการออกแบบ
- ควรกำหนดให้เรื่องระบบสื่อสารเป็นประเด็นหนึ่งในการปฏิรูปประเทศ
[1] เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการคุ้มครอง หากยังมีผู้ใช้บริการคงเหลือที่ไม่แจ้งความประสงค์จะขอย้ายไปยังผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายอื่น ให้สิ้นสุดระยะเวลาคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวตามประกาศนี้
ในกรณีที่ผู้ให้บริการมีเงินค้างชำระแก่ผู้ใช้บริการตามวรรคหนึ่ง ผู้ให้บริการต้องคืนเงินนั้นแก่ผู้ใช้บริการ ทั้งนี้ การคืนเงินให้เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่องมาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ข้อ 34 โดยอนุโลม