Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

หญิงวัย 58 ผู้ต่อต้าน 'โดรน'ถูกศาลตัดสินจำคุก 1 ปี อ้างละเมิด 'คำสั่งคุ้มครอง'

$
0
0

แมรี่ แกรดี ฟลอเรส หญิงวัย 58 ปี เธอและพ่อของเธอเคยมีประวัติโชกโชนในเรื่องการประท้วงต่อต้านการทำสงครามของสหรัฐฯ นับตั้งแต่สงครามเวียดนามในยุค 'แคมเดน 28'แต่ตอนนี้เธอกำลังถูกศาลตัดสินให้มีความผิดเพียงเพราะไป 'เหยียบ'ลงบนพื้นที่ของฐานทัพอากาศ ที่มีคำสั่งคุ้มครองเจ้าหน้าที่ทหารรายหนึ่งอยู่


22 ก.ค. 2557 สื่อดิอิทาคาวอยซ์รายงานเรื่องผู้ประท้วงการใช้อาวุธโดรนหรือเครื่องบินไร้คนขับชื่อแมรี่ แกรดี ฟลอเรส ถูกศาลสหรัฐฯ ตัดสินให้มีความผิดในข้อหาละเมิดคำสั่งคุ้มครอง ส่งผลให้ถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 1 ปี

แกรดี ฟลอเรส เป็นหญิงวัย 58 ปี มีหลาน 3 คน เธอยิ้มให้กับเพื่อนและครอบครัวในขณะที่กำลังถูกนำตัวออกจากห้องพิจารณาคดี ก่อนหน้านี้ศาลได้มี "คำสั่งคุ้มครอง"หลังจากที่เธอเข้าร่วมประท้วงหน้าฐานทัพทหารในเดือน ต.ค. 2555 เพื่อสั่งห้ามไม่ให้เข้าใกล้พันเอก เอิร์ล อีวานส์ จากกองกำลังคุ้มกันทางอากาศรัฐนิวยอร์ก ไม่ว่าจะที่บ้านหรือที่ฐานทัพอากาศแฮนค็อกใกล้กับเมืองซิราคูส

นอกจากฟลอเรสแล้วยังมีผู้ประท้วงรายอื่นๆ ที่ร่วมชุมนุมในปี 2555 ได้รับ "คำสั่งคุ้มครอง"แบบเดียวกันด้วย ซึ่งศาลรัฐนิวยอร์กอ้างว่าคำสั่งคุ้มครองมีออกมาเพื่อ "จำกัดพฤติกรรมไม่ให้มีการทำร้ายหรือขู่ว่าจะทำร้ายผู้อื่น"

แต่ผู้ประท้วงก็ตั้งคำถามว่าทำไมสิ่งที่พวกเขาทำถึงถูกมองว่าเป็นภัยหรือการพยายามทำร้าย และทำไมผู้นำทหารที่มีอำนาจมากถึงจำเป็นต้องได้รับการคุ้มครองจากผู้ประท้วงอย่างสงบซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ โดยหนึ่งในผู้ประท้วงมีอายุ 64 ปี ต้องใช้ไม้เท้าช่วยเดิน นอกจากนี้ผู้ประท้วงยังบอกอีกว่าไม่มีใครเคยเจอหน้าพันเอก เอิร์ล อีวาน เลย

"คำสั่งคุ้มครอง"ในกรณีนี้ยังถูกพิจารณายกเลิกโดยผู้พิพากษาในเขตปกครองโอนอนดากา ซึ่งได้พิจารณายกเลิกคำสั่งในกรณีของแดเนียล ฟินเลย์ ผู้ประท้วงอายุ 73 ปี เนื่องจากเป็นคำสั่งที่มีความไม่สมบูรณ์และถือเป็นการละเมิดบัญญัติ Habeas Corpus ซึ่งให้สิทธิแก่บุคคลที่ถูกจับกุมฟ้องร้องปกป้องตนเองต่อศาล

แต่แกรดี ฟลอเรส กลับถูกจับกุมตัวอีกในเดือน ก.พ. 2556 โทษฐานละเมิดอำนาจศาลในระดับที่สอง ซึ่งมีโทษจำคุก 1 ปีเต็ม นักกิจกรรมที่ร่วมประท้วงกับเธอมองว่าฟลอเรสไม่น่าจะต้องโทษ 1 ปีเต็ม แต่ดูเหมือนฝ่ายอัยการจะพยายามลงโทษเธอเต็มอัตราเพื่อเป็นตัวอย่าง โดยอ้างว่าฟลอเรสทำผิดซ้ำซ้อน

อย่างไรก็ตาม แกรดี ฟลอเรส เป็นนักกิจกรรมที่มีประวัติร่วมเคลื่อนไหวต่อต้านในเชิงอารยะขัดขืนมาเป็นเวลานาน ในช่วงที่เธอยังเป็นวัยรุ่น พ่อของเธอคือจอห์น แกรดี ได้เข้าร่วมกลุ่ม "แคมเดน 28"ซึ่งเป็นกลุ่มต่อต้านสงครามเวียดนามที่เคยบุกเข้าไปทำลายบันทึกการเกณฑ์ทหาร 1,000 ฉบับ ในที่ทำการเมืองแคมเดน รัฐนิวเจอร์ซี

จอห์น แกรดี ถูกตั้งข้อหาความผิดอาญาร้ายแรง 7 กระทง ทำให้มีโอกาสถูกสั่งจำคุกมากกว่า 60 ปี แต่ต่อมาแกรดีผู้พ่อและคนในกลุ่มแคมเดน 28 ก็ถูกตัดสินให้พ้นผิด และการพิจารณาคดีนี้ก็ถูกมองว่าเป็นเสมือนการทำประชามติในเรื่องสงครามเวียดนาม และยังถูกมองว่าเป็นความสำเร็จของประชาชนที่สามารถทำให้คำสั่งศาลเป็นโมฆะ

แมรี่ แกรดี ฟลอเรส และพี่น้องของเธอ ต่างก็กลายเป็นนักกิจกรรมในหลายประเด็น โดยเฉพาะการต่อต้านสงครามของกองทัพสหรัฐฯ

เอลเลน แกรดี น้องสาวของเธอเล่าว่าในปี 2556 กลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านการใช้โดรนที่เป็นชาวนิกายคาทอลิกชุมนุมทำพิธีถือบวชเพื่อขอขมาเหยื่อการโจมตีด้วยโดรนในฐานะพลเมืองชาวสหรัฐฯ โดยเธอได้ขอร้องให้แมรี่ แกรดี ฟลอเรส เป็นผู้ถ่ายภาพในช่วงที่มีการชุมนุม

เอลเลนยืนยันว่าแมรี่ไม่ได้ทำความผิดตามคำสั่งคุ้มครอง เธอไม่ได้ปิดกั้นเส้นทางถนนเว้นแต่บางครั้งที่ต้องออกไปหามุมถ่ายภาพ อีกทั้งยังยืนอยู่ห่างโดยแยกตัวออกจากผู้ชุมนุมเพื่อแสดงตัวว่าไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของผู้ชุมนุมอย่างชัดเจน จนกระทั่งถึงช่วงหนึ่งที่แมรี่ แกรดี ฟลอเรส ออกไปขอใช้ห้องน้ำในภัตตาคาร ผู้ชุมนุมก็เริ่มถูกจับและพบว่าแมรี่ก็ถูกจับไปด้วย ทำให้เธอต้องประกันตัวออกมาด้วยวงเงิน 2,500 ดอลลาร์ (ราว 77,500 บาท)

อย่างไรก็ตาม ผู้ช่วยอัยการเขตปกครองโอนอนดากาซึ่งเป็นผู้ฟ้องร้องยืนยันว่าแกรดี ฟลอเรสละเมิดคำสั่งคุ้มครองด้วยการไปยืนอยู่ด้วยกันกับผู้ประท้วงในช่วงเวลาไม่กี่นาที นอกจากนี้ในการประท้วงก่อนหน้าแกรดี ฟลอเรส ได้เหยียบเข้าไปในพื้นที่ของฐานทัพอากาศแฮนค็อก อย่างไรก็ตามทางฐานทัพอากาศเองปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นในเรื่องกระบวนการดำเนินคดี

ผู้พิพากษาเมืองเดอวิตต์ เดวิด กีเดียน ตีความคดีนี้ว่าฟลอเรสเป็นคนที่จงใจละเมิดกฎหมายซ้ำๆ และตัดสินให้มีความผิดเพียงเพราะไม่ยืนอยู่อีกฝั่งของถนน ศาลอ้างอีกว่าจำเลยกระทำการโดยเตรียมพร้อมยอมรับผลที่ตามมาจากการฝ่าฝืนกฎหมายแล้ว อีกทั้งยังระบุในคำตัดสินอีกว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับว่าเธออยู่ในการประท้วงหรือไม่ แต่เธอถูกตัดสินความผิดเพียงเพราะไปเหยียบโดนพื้นที่ฐานทัพ อย่างไรก็ตาม ผู้พิพากษาปฏิเสธจะให้สัมภาษณ์ต่อสื่อดิอิทาคาวอยซ์ในกรณีนี้

การถูกตัดสินจำคุก 1 ปี อาจจะฟังดูเหมือนเป็นโทษไม่หนัก แต่ก็ส่งผลต่อชีวิตคนได้ เช่นกรณีของผู้ประท้วงรายหนึ่งที่ทราบว่าน้องชายของเขาถูกตรวจพบว่าเป็นมะเร็ง เขาถูกสั่งจำคุกจากการไปประท้วงต่อต้านสงครามอิรัก เขาต้องการออกไปเจอน้องชายก่อนเสียชีวิตแต่ก็ไม่สามารถทำได้ จนกระทั่งพอเขาออกจากคุกไปน้องชายเขาก็เสียชีวิตไปแล้ว

เมื่อถามว่ามันคุ้มไหมที่ต้องเสี่ยงกับการถูกจับเพราะประท้วงต่อต้านการทำสงครามกับประเทศอื่น เอลเลน แกรดี บอกว่าเธอเองก็ไม่ทราบว่าการประท้วงของพวกเธอจะส่งผลสำเร็จหรือไม่ แต่เธอคิดว่าพวกเธอมีจิตสำนึกบางอย่างที่ทำให้อยู่นิ่งเฉยโดยไม่วิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องนี้ได้

 


เรียบเรียงจาก

Criminal or martyr? Inside the political formation of Ithaca’s jailed grandmother, The Ithaca Voice, 15-07-2014
http://ithacavoice.com/2014/07/criminal-martyr-inside-political-formation-ithacas-jailed-grandmother/

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles