หัวหน้าพรรค ปชป. เขียนบทความระบุ ความสงบในปัจจุบันจะยั่งยืนหรือไม่ ต้องพิสูจน์กันในภาวะที่ไม่มีการจำกัดสิทธิในการแสดงความคิดเห็นและเคลื่อนไหว เมื่อเวลาผ่านไป สังคมไม่เห็นการไม่ชำระสะสางระบบนิติรัฐนิติธรรม หรือ คสช. อยู่เหนือการวิจารณ์ ก็จะเกิดแรงกดดันทำให้ไม่อาจปรองดองสมานฉันท์ได้ ส่วน รธน.ฉบับใหม่ คงหนีไม่พ้นนิรโทษ คสช. ซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง แต่ในสภาพความเป็นจริงสังคมไทยยอมรับตลอด โดยหวังว่าการนิรโทษกรรมจะไม่เผื่อแผ่ไปถึงการกระทำในความผิดอื่น ซึ่งจำเป็นต้องชำระสะสางในกระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายต่อไป เพราะหากมีบทบัญญัติในลักษณะดังกล่าว ความยุ่งยากวุ่นวายในประเทศคงจะเริ่มต้นขึ้นอย่างแน่นอน เพราะต้องไม่ลืมว่าวิกฤตการเมืองครั้งนี้เกิดขึ้นจากประชาชนต่อต้านแนวความคิดการล้างผิดกับการกระทำ เช่น การทุจริตคอร์รัปชั่น หรือการใช้ความรุนแรงต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (ที่มา: แฟ้มภาพ/เพจ Abhisit Vejjajiva)
21 ก.ค. 2557 - วันนี้ (21 ก.ค.) อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะอดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เขียนบทความเผยแพร่ในเพจ Abhisit Vejjajiva หัวข้อ "สู่ระยะที่ 2 ของคสช. : รัฐธรรมนูญชั่วคราวและการนิรโทษกรรม"มีรายละเอียดดังนี้
000
สู่ระยะที่ 2 ของคสช. : รัฐธรรมนูญชั่วคราวและการนิรโทษกรรม
อีกเพียง 1 วันก็จะครบ 2 เดือนนับตั้งแต่ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เข้าควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ โดย คสช. ได้แบ่งขั้นตอนการบริหาร (Roadmap) ออกเป็น 3 ระยะ โดยขณะนี้เป็นที่คาดหมายว่าจะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินการในระยะที่ 2
สองเดือนที่ผ่านมา ต้องถือว่าคสช.ประสบความสำเร็จในการนำบ้านเมืองกลับเข้าสู่ความสงบ มีการจับกุมดำเนินคดีกับผู้ก่อความรุนแรง ผู้ครอบครองอาวุธสงคราม มีการเร่งรัดแก้ไขปัญหาที่ค้างคา เช่น การจ่ายเงินในโครงการจำนำข้าว สิ่งเหล่านี้เป็นความแตกต่างที่เป็นรูปธรรมจากสภาพบ้านเมืองก่อนการยึดอำนาจ ทำให้ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนบ่งบอกว่าสังคมมีความพึงพอใจกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม การรัฐประหารก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงการเผชิญความจริงได้ว่าการทำให้ระบอบประชาธิปไตยสะดุดหยุดลง รวมถึงการลิดรอนสิทธิเสรีภาพ แม้ว่าจะทำด้วยเจตนาให้เกิดความสงบ ทำให้ คสช. ต้องพบกับแรงกดดันทั้งจากในและต่างประเทศ ให้มีความชัดเจนว่าจะกลับเข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตยในภาวะปกติเมื่อใดและอย่างไร หากไม่นับบางกลุ่มที่สูญเสียอำนาจ และเคลื่อนไหวแสดงการต่อต้านอย่างเปิดเผย ต้องถือว่าสังคมไทยให้โอกาส คสช. ในการทำงานอย่างเต็มที่ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะพึงพอใจให้ คสช. ใช้อำนาจอย่างเช่นในปัจจุบันตลอดไป
สิ่งที่สังคมไทยคาดหวังที่จะเห็นต่อไป คือ “การปฏิรูปประเทศ” เพื่อให้ระบบการเมือง เศรษฐกิจและสังคมของไทยมีความโปร่งใส เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพ การจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว และนำไปสู่การคืนอำนาจให้แก่ประชาชน จึงมีความคาดหมายว่า สภาพการจำกัดสิทธิเสรีภาพต่างๆ จะค่อยๆ ถูกผ่อนคลายลง และเมื่อเข้าสู่ขั้นตอนการมีรัฐบาลและสภานิติบัญญัติ รวมทั้งสภาปฏิรูป การแสดงความคิดเห็นต่างๆ โดยสุจริต จะสามารถกระทำได้มากขึ้นเพื่อสนับสนุนกระบวนการปฏิรูป โดยมองว่าหากจะต้องมีการใช้อำนาจโดย คสช. ก็น่าจะเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการรักษาความสงบ และชำระสะสางความไม่ถูกต้องทั้งหลาย ตั้งแต่ระดับเล็กๆ เช่น ปัญหาอิทธิพลรถตู้ วินมอเตอร์ไซค์ จนถึงการทุจริตระดับชาติ
สำหรับประเด็นการบริหารโดยทั่วไปก็ดี หรือการออกคำสั่งหรือประกาศก็ดี ย่อมมีคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งคนที่ไม่เห็นด้วย ไม่ได้หมายความว่าต้องการสร้างปัญหาให้กับบ้านเมือง หลายคนเป็นบุคคลที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจจะเห็นการปฏิรูปประเทศประสบความสำเร็จ ซึ่งคนเหล่านี้ควรมีสิทธิที่จะได้นำเสนอมุมมองอย่างตรงไปตรงมา ผมก็ตั้งใจทำหน้าที่นี้ และขณะนี้ มีหลายประเด็นที่น่าห่วงใย โดยเฉพาะการดำเนินการของ คสช. ที่อาจจะไม่เป็นไปตามความคาดหวังของประชาชน โดยจะทยอยนำเสนอเป็นประเด็นๆ ต่อไป โดยเฉพาะประกาศและคำสั่งที่ออกมานั้นมีสถานะเป็นกฎหมาย หากไม่มีการแก้ไข หลายกรณีจะต้องไปใช้สภานิติบัญญัติ หรือรัฐสภาในอนาคตเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะเป็นเรื่องยุ่งยาก
ผมมองว่าปัญหาพื้นฐานประการหนึ่งคือ คสช. ให้น้ำหนักกับประเด็นความแตกแยก ดังที่ประกาศไว้ในวันยึดอำนาจ โดยมองข้ามมิติปัญหาอื่นๆ จึงตกอยู่ในกับดักว่าจะไม่อนุญาตให้มีการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างเลย และหวังว่าสภาพการณ์แบบนี้ จะสามารถนำไปสู่ความสามัคคีปรองดองในทุกระดับได้ โดยไม่ต้องสนใจประเด็นความถูกผิดของการกระทำต่างๆ ที่นำบ้านเมืองมาสู่วิกฤต
ความสงบที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจะมีความยั่งยืนหรือไม่ ต้องพิสูจน์กันในภาวะที่ไม่มีการจำกัดสิทธิในการแสดงความคิดเห็นและเคลื่อนไหว แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไป หากสังคมเห็นว่าการไม่ชำระสะสางปัญหาระบบนิติรัฐนิติธรรมให้เกิดขึ้น หรือการทำงานของคสช.ต้องอยู่เหนือการวิพากษ์วิจารณ์โดยสิ้นเชิง ก็จะเกิดการสะสมแรงกดดันและสุดท้ายไม่อาจนำไปสู่ความสงบหรือความปรองดองสมานฉันท์ได้
สำหรับรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่จะออกมานั้น ผมไม่ได้มีความคาดหวังอะไรมากนักเกี่ยวกับโครงสร้างครม. สภานิติบัญญัติ หรือสภาปฏิรูป เพราะทางเลือกของคสช.คงมีไม่มากนัก แต่สิ่งที่จะต้องจับตามอง คือในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ หรือกฎหมายที่จะออกต่อไป คงหนีไม่พ้นที่จะมีบทบัญญัตินิรโทษกรรมให้ คสช. เอง ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติโดยทั่วไปเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงนอกรัฐธรรมนูญ ซึ่งแม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง แต่เป็นสภาพความเป็นจริงที่สังคมไทยยอมรับมาโดยตลอด แต่ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การนิรโทษกรรมนี้จะไม่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ไปถึงการกระทำในความผิดอื่น ซึ่งจำเป็นต้องชำระสะสางในกระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายต่อไป เพราะหากมีบทบัญญัติในลักษณะดังกล่าว ความยุ่งยากวุ่นวายในประเทศคงจะเริ่มต้นขึ้นอย่างแน่นอน เพราะต้องไม่ลืมว่าวิกฤตการเมืองที่เกิดขึ้นครั้งหลังนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากการที่ประชาชนเกือบทั้งหมดของประเทศต่อต้านแนวความคิดการล้างผิดกับการกระทำ เช่น การทุจริตคอร์รัปชั่น หรือการใช้ความรุนแรงต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
สำหรับประเด็นปัญหาการปฏิรูปประเทศด้านอื่นๆ ขอยกยอดเป็นวันหลังครับ