'อลิซาเบธ พิซานี'วิเคราะห์ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการของอินโดนีเซียว่า ผู้สมัครโจโก วิโดโด ที่มีพื้นเพเป็นประชาธิปไตยมากกว่าดูจะได้รับความนิยมเพราะผู้คนไม่อยากกลับไปสู่ยุคเผด็จการรวมศูนย์เช่นที่ปราโบโว สุเบียนโต ผู้สมัครฯ อดีตนายพลเสนอไว้
16 ก.ค. 2557 เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา อลิซาเบธ พิซานี ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับประเทศอินโดนีเซียได้เขียนบทความเกี่ยวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนที่ 7 ของอินโดนีเซียซึ่งมีขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีการชิงชัยกันระหว่างสองผู้ลงสมัครคือโจโก วิโดโด ผู้เคยเป็นเซลล์แมนขายเฟอร์นิเจอร์ในเมืองเล็กๆ ที่ต่อมากลายเป็นนายกเทศมนตรีและผู้ว่าการกรุงจาการ์ตา กับปราโบโว สุเบียนโต อดีตนายพลผู้มั่งคั่งที่มีอดีตข้องเกี่ยวกับเผด็จการ
พิซานีระบุว่าแม้ผลการเลือกตั้งของอินโดนีเซียจะยังไม่ประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ แต่ผู้ที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นผู้ชนะคือวิโดโด ซึ่งจุดนี้แสดงให้เห็นว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งในอินโดนีเซียมี "วุฒิภาวะ"โดยต้องการปกป้องสิทธิในด้านประชาธิปไตยของตนเอง ไม่หลงเชื่อวาทศิลป์โน้มน้าวด้วยแนวคิดชาตินิยมตื้นๆ
"แต่ดูเหมือน 'วุฒิภาวะ'นี้จะไม่มีในหมู่ชนชั้นสูงทางการเมือง"พิซานีกล่าวในบทความ เธอหมายถึงเรื่องที่สุเบียนโตประท้วงไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ หลังจากมีการนำเสนอผลซึ่งวิโดโดได้ประกาศว่าตนเองชนะ
พิซานีเตือนว่า 'ผู้แพ้'อย่างสุเบียนโตจะพยายามอ้างผลการตัดสินที่เป็นไปในทางตรงกันข้ามจากองค์กรที่มีความน่าเชื่อถือต่ำเพื่อสร้างความสับสนทางสถิตินำไปสู่การชักใยผลการเลือกตั้งรอบสุดท้าย แต่ก็อาจจะทำให้เขาแพ้ภัยตนเองในที่สุด
ในช่วงที่มีการหาเสียง สุเบียนโตประกาศว่าจะมีการพิจารณาปฏิรูปประชาธิปไตยหลายอย่างในประเทศ แต่ดูเหมือนว่าในตอนนี้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่เลือกฝ่ายตรงข้ามกับเขา พิซานีบอกว่าชาวอินโดนีเซียทำไปเพื่อพยายามปกป้องประชาธิปไตยของตนเองและการพยายามแย่งชิงผลการเลือกตั้งในบรรยากาศเช่นนี้เป็นไปได้ยากมาก หากมีการพยายามกระทำดังกล่าวจะทำให้เกิดการประท้วงใหญ่ของประชาชนอย่างแน่นอน
ชาวอินโดนีเซียเริ่มยอมรับประชาธิปไตยเพิ่มมากขึ้นในช่วงสิบปีที่แล้วหลังจากการโค่นล้มผู้นำเผด็จการซูฮาร์โตสำเร็จ ในประเทศที่มีกลุ่มชาติพันธุ์หลายร้อยกลุ่มและประชาชนในหลายหมู่เกาะอย่างอินโดนีเซีย อดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โตก็ได้ปกครองแบบรวมศูนย์ภายใต้กองทัพและกลุ่มอำมาตย์ที่ควบคุมจากเมืองหลวงส่วนกลางจาการ์ตา แต่หลังเกิดวิกฤติการเงินอาเซียนนายพลชราก็ลงจากอำนาจในปี 2541 และออกจากประเทศท่ามกลางความไม่พอใจของประชาชนแทบทุกฝ่าย
พิซานีระบุในบทความว่า พอถึงจุดหนึ่งกลุ่มคนต่างกลุ่มกันในอินโดนีเซียก็เริ่มรวมตัวหรือร่วมมือกันแม้กระทั่งกับกลุ่มที่ไม่น่าจะเข้ากันได้เพื่อสร้างระบบการเมืองที่กองทัพต้องตอบสนองต่ออำนาจของพลเรือน ทำให้การปกครองหลังยุคซูฮาร์โตมีการปกครองแบบกระจายอำนาจ ในเขตปกครองมากกว่า 500 เขตจะมีผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง มีสภาท้องถิ่นและกระทรวงต่างๆ ของตนเอง พิซานีบอกว่าระบบนี้วุ่นวาย ใช้ทรัพยากรมากและไม่มีประสิทธิภาพพอ แต่ก็ได้รับความนิยมมากโดยเฉพาะในเขตนอกเกาะชวา ซึ่งเป็นเกาะหลักของอินโดนีเซีย
แม้ว่าทุกวันนี้จะมีคนบ่นว่าผู้นำท้องถิ่นของตนแต่อย่างน้อยพวกเขาก็รู้ว่าพวกเขาสามารถใช้เสียงเลือกตั้งของตนเองในการเรียกร้องการทำงานและถ้าพวกเขาไม่ได้รับสิ่งที่เรียกร้องก็สามารถโค่นล้มผู้นำได้ นี่เป็นเรื่องใหม่สำหรับชาวอินโดนีเซียหลายคนที่เคยถูกปกครองจาก "ที่ไกลๆ"ทั้งในสมัยอาณานิคมเนเธอร์แลนด์และในสมัย "อำมาตยาธิปไตยชาวชวา"ทำให้เป็นเรื่องใหม่ที่ควรค่ามาก
พิซานีระบุว่า ภายใต้ระบบแบบกระจายอำนาจนี้เองที่ทำให้วิโดโดได้ขึ้นเป็นนายกเทศมนตรีในเมืองเล็กชื่อโซโล ในการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีครั้งที่ 2 เขาได้รับคะแนนเสียงท่วมท้นร้อยละ 90 ต่อมาจึงได้รับเลือกเป็นผู้ว่าราชการจาการ์ตาในปี 2555 และดูเหมือนว่าระบบกระจายอำนาจแบบนี้เองที่สุเบียนโตพยายามจะยกเลิก
สุเบียนโตเป็นทหารที่เกิดในครอบครัวมั่งคั่งของอินโดนีเซีย เขาเคยแต่งงานกับลูกสาวคนหนึ่งของอดีตผู้นำซูฮาร์โต พิซานีบอกว่านิสัยของสุเบียนโตมองโลกเป็นการออกคำสั่งต่อกันเป็นทอดๆ ในการหาเสียงเขาก็เน้นเรื่องการปกครองอินโดนีเซียด้วยอำนาจเข้มแข็ง ซึ่งเรื่อง "อำนาจที่เข้มแข็ง"นี้เองกลายเป็นหัวข้อสนทนากันในหมู่ชาวอินโดนีเซียในชนบท
"หลังจากที่พูดคุยด้วย พวกเขา (คนในชนบท) มักจะสรุปว่าเสรีภาพที่พวกเขาได้รับ สื่อที่สามารถต่อกรกับอำนาจ และความสามารถในการต่อรองค่าจ้าง ความสามารถในการเปลี่ยนแปลงผู้นำ เป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากกว่า 'ความมั่นคง'ที่มาจากการสนับสนุนของทหารแบบเดียวกับที่ซูฮาร์โตเคยทำและสุเบียนโตก็อยากพาย้อนอดีตไปถึงตอนนั้น"พิซานีระบุในบทความ
ในบทความของพิซานียังระบุอีกว่าสุเบียนโตไม่เพียงอ้างความมั่นคง แต่ยังใช้วิธีการป้ายสีคู่แข่ง ใช้วาทศิลป์กล่าวต่อต้านบรรษัทอเมริกัน แต่ตัวเขาเองกลับจ้างที่ปรึกษาด้านการหาเสียงเป็นชาวสหรัฐฯ ซึ่งเคยเสนอวิธีการดิสเครดิตผู้สมัครจอห์น แมคเคน ในการเลือกตั้งปี 2543 มาก่อน
พิซานีพูดถึงวิโดโดในบทความว่าเขาเป็นคนที่ "ติดดิน"มากกว่าทำให้ได้ใจจากชาวอินโดนีเซียส่วนใหญ่ เขารู้เรื่องการปฏิรูปที่ได้ผลจริงและสร้างความเปลี่ยนแปลงได้มากกว่าอีกฝ่าย วิโดโดยังไม่ตอบโต้ใดๆ ต่อการป้ายสีของฝ่ายตรงข้าม ไม่ได้ตั้งคำถามใดๆ กับการกระทำหมิ่นเหม่ด้านสิทธิมนุษยชนของอดีตนายพล เขาเพียงแค่เชื่อมั่นว่าชาวอินโดนีเซียจะลงคะแนนเสียงเพื่อปกป้องเสรีภาพที่เป็นประชาธิปไตยและจะไม่ยอมกลับไปสู่ระบอบเผด็จการอีก
พิซานีระบุว่าอุปสรรคของวิโดโดเหลืออยู่อย่างเดียวคือการทำให้ผลการเลือกตั้งไม่ถูกทำให้เป็นโมฆะ และคนทั่วทั้งโลกก็พร้อมที่จะเลิกยุ่งเกี่ยวกับใครก็ตามที่พยายามทำลายกระบวนการประชาธิปไตยของอินโดนีเซีย
เรียบเรียงจาก
Indonesia’s Democracy Test, Elizabeth Pisani, 15-07-2014
http://www.nytimes.com/2014/07/16/opinion/indonesias-democracy-test.html
ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
http://en.wikipedia.org/wiki/Indonesian_presidential_election,_2014