15 ก.ค. 2557 ศูนย์ข้อมูล & ข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ) ร่วมกับ ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม จัดเสวนา 'อำนาจเหนือเกษตรกร - อำนาจเหนือสื่อ'โดยมี ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI), ผศ.ดร.ประพาส ปิ่นตบแต่ง กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านโฉนดชุมชนคลองโยง-ลานตากฟ้า อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, และสุชาดา จักรพิสุทธิ์ ผู้อำนวยการเว็บไซต์ TCIJ ร่วมเสวนา และ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ เป็นผู้ดำเนินรายการ ณ ห้องประชุม อาคารแคปปิตอลแมนชั่น
วิโรจน์กล่าวในประเด็นอำนาจเหนือเกษตรกรว่า มีความเชื่อว่าเกษตรพันธสัญญาส่วนใหญ่ล้มเหลว แต่ตนเชื่อว่าเกษตรพันธสัญญาส่วนใหญ่ประสบความสำเร็จ มีเกษตรกรเพียง 7-8% ที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด เนื่องจากสัญญาจะถูกออกแบบมาให้เกษตรกรได้กำไร แต่เพราะเป็นสัญญาที่ร่างโดยบริษัท ทำให้อำนาจตัดสินใจขึ้นอยู่กับบริษัทเกือบทุกกรณี ขณะที่เกษตรกรต้องเป็นผู้รับความเสี่ยงมากกว่า แม้จะมีหลายกรณีที่บริษัทคำนึงถึงปัญหาในการแบกรับความเสี่ยงและพยายามหาทางออก แต่โดยตัวสัญญาทำให้เกษตรกรอยู่ในฐานะที่ต้องเป็นผู้รับความกรุณาปรานีของบริษัท
นอกจากนี้ยังมีความเชื่อที่ว่า ปัญหาเกิดมากในบริษัทที่มีชื่อเสียงมาก แต่หากนับจากกรณีพิพาท หรือการผิดสัญญา บริษัทใหญ่มักมีการผิดสัญญาน้อย เพราะมีการบริหารจัดการดีกว่าบริษัทเล็ก สัญญามีความรัดกุม และมีทีมกฎหมายเข้มแข็งกว่า ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการนิยามปัญหาด้วยเช่นกัน ซึ่งหากมองที่ปริมาณกรณีพิพาทหรือการผิดสัญญา อาจไม่พบในบริษัทใหญ่มากนัก
ความสนใจในระบบเกษตรพันธสัญญาจากมุมมองฝั่งธุรกิจ พบว่า ในแต่ละขั้นตอนของธุรกิจใช้เงินลงทุนและได้รับผลกำไรต่างกัน บริษัทย่อมสนใจที่จะลงทุนในขั้นตอนที่ต้นทุนต่ำหรือได้รับส่วนต่างกำไรสูงกว่า ขณะเดียวกัน ธุรกิจต้องพึ่งพาวัตถุดิบทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพ ในกรณีการส่งออก ถ้าปัญหาเรื่องคุณภาพมีความรุนแรง บริษัทมักจะหันมาผลิตเอง เพราะมีความกังวลในแง่ที่ไม่สามารถควบคุมเกษตรกรที่เป็นคู่สัญญาได้ 100%
อย่างไรก็ตาม มีบริษัทครบวงจรที่ไม่ต้องการลงทุนเองทั้งหมด เนื่องจากความต้องการผลผลิตมีความผันผวน ดังนั้น หากบริษัทต้องการผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการ ก็ต้องมีกำลังการผลิตขนาดใหญ่มาก รวมถึงมีเกษตรกรคู่สัญญา เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการผลิต ส่วนเหตุผลที่บริษัทกลัวข้อครหาว่าทำธุรกิจผูกขาด อาจไม่ใช่ปัจจัยหลักในการใช้ระบบเกษตรพันธสัญญา
หากมองจากฝั่งเกษตรกร พบว่า เกษตรกรได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีขั้นสูงของบริษัท ที่สำคัญคือพันธุ์สัตว์ และระบบการจัดการ เกษตรกรมีความเชื่อว่าถ้าเป็นคู่สัญญาจะมีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรเหล่านี้ได้มากขึ้น มีส่วนช่วยลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต
นอกจากนี้ เกษตรกรส่วนหนึ่งต้องการเป็นเจ้าของกิจการ ต้องการยกระดับการผลิต ซึ่งการเป็นคู่สัญญากับบริษัท ช่วยเพิ่มโอกาสในการขอสินเชื่อในระบบที่มีดอกเบี้ยไม่สูงนัก รวมถึงตอบโจทย์ด้านหลักประกันทางการตลาด สามารถขายผลผลิตได้แน่นอน
วิโรจน์กล่าวถึงในอีกด้านหนึ่งว่า ปัญหาหลักของเกษตรพันธสัญญาอยู่ที่ความไม่สมดุลในระบบ 3 ประการ ได้แก่
1. ความไม่เท่าเทียมทางด้านข้อมูล เนื่องจากสัญญาถูกเขียนโดยให้สิทธิบริษัทในการตัดสินใจแทบทุกเรื่อง
นอกจากนี้ยังเป็นที่เข้าใจกันว่าบริษัทให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน อาจเป็นผลมาจากกระบวนการจูงใจที่ทำให้ต้องพูดถึงข้อดีมากกว่าข้อเสีย แต่ในบางกรณี เกษตรกรเองก็รับรู้เฉพาะข้อมูลที่ตนต้องการฟัง ขณะที่ตัวแทนของบริษัทก็ไม่ทราบข้อมูลบางส่วนที่เป็นปัญหา ทำให้เกษตรกรได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วน
ทั้งนี้ ปัญหาที่พบว่าเกิดขึ้นจริงคือบริษัทไม่ได้มอบหนังสือสัญญาแก่เกษตรกร เข้าใจว่าบริษัทใหญ่ส่งมอบสัญญาให้เกษตรกร แต่มีกรณีที่บริษัทกังวลใจว่าเกษตรกรไม่สนใจรักษาหนังสือสัญญาที่มอบให้ ซึ่งอันที่จริงเป็นเรื่องส่วนบุคคลของเกษตกร ไม่ใช่ประเด็นที่บริษัทต้องเป็นกังวลแทน แม้จะมีความกังวลเรื่องการลอกเลียนสัญญาจากคู่แข่งทางธุรกิจ แต่การไม่มอบหนังสือสัญญาให้คู่สัญญาก็ถือเป็นความผิด
2. ความไม่สมดุลระหว่างสัญญาระยะสั้นกับการลงทุนระยะยาวของเกษตรกร เนื่องจากสัญญาเป็นแบบปีต่อปี แต่เกษตรกรต้องลงทุนสร้างโรงเรือน โดยที่คาดหมายว่าจะใช้งานยาวนานหลายปี หนี้ที่ต้องชำระธนาคารก็กินเวลาอย่างน้อย 5 ปี ทำให้อำนาจต่อรองของเกษตรน้อยลงไปอีก จากปกติที่มีน้อยกว่าบริษัทอยู่แล้ว
3. การแบกรับความเสี่ยงที่ไม่เท่าเทียม แม้สัญญาจะถูกเขียนให้เกษตรมีกำไรในกรณีที่สถานการณ์ปกติ แต่หากเกิดภัยพิบัติ เช่น น้ำท่วม หรือโรคระบาดจะเกิดปัญหาทันที เพราะเกษตรกรจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีข้อกล่าวหาว่าบริษัทกดดันเกษตรกรผ่านการจูงใจทางการเงิน ให้เกษตรกรลงทุนเพิ่มและเป็นหนี้สินโดยไม่จำเป็น มีกรณีที่เป็นการบังคับคือให้เปลี่ยนโรงเรือนเป็นระบบปิด ซึ่งบริษัทมักจะผลักให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานราชการ แต่มาตรฐานของทางราชการยังเป็นโรงเรือนในระบบเปิด อีกกรณีคือการกดดันให้ทำไบโอแก๊สสำหรับฟาร์มหมูเพื่อลดมลภาวะที่เกิดกับชุมชน แต่ในบางกรณีบริษัทอ้างว่าเป็นความสมัครใจของเกษตรกรเอง เช่น การติดตั้งระบบเก็บและคัดไข่อัตโนมัติ แต่บริษัทก็จูงใจโดยการรับซื้อผลผลิตในราคาที่สูงขึ้น
วิโรจน์กล่าวว่า หากมองระยะสั้น พบว่าบริษัทอาจมีความเสี่ยงอยู่บ้าง ในการที่เป็นฝ่ายส่งพันธุ์สัตว์ และยาให้เกษตรกรก่อน แต่ก็เกิดขึ้นหลังจากเกษตรกรต้องลงทุนสร้างโรงเรือนที่ใช้เงินลงทุนสูง และในกรณีที่อำนาจตัดสินใจอยู่ที่บริษัท หากมีการเลื่อนการรับผลผลิต เกษตรกรก็เป็นผู้ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น
ในระยะกลาง เกษตรกรมีความเสี่ยงที่บริษัทจะไม่ต่อสัญญา แม้ปกติอาจไม่เกิดกรณีนี้ แต่สัญญาที่เป็นแบบปีต่อปีก็ยังคงมีความเสี่ยงนี้อยู่
อีกปัญหาที่ไม่ค่อยมีใครคาดคิดมาก่อน คือ ความเสี่ยงด้านการเงินหรือธรรมาภิบาลของบริษัท เช่น กรณีของสหฟาร์มที่เคยเป็นบริษัทส่งออกไก่อันดับ 1 ของประเทศไทย เมื่อไม่สามารถจ่ายเงินให้เกษตรกรได้ตามสัญญา ทำให้เกษตรกรต้องเป็นผู้รับภาระที่อยู่เหนือการควบคุมของตนเอง
วิโรจน์ เสนอทางแก้ปัญหาว่า ควรมีการสร้างสัญญามาตรฐานขึ้นมา มีการเฉลี่ยความเสี่ยงระหว่างคู่สัญญา มีความเป็นหุ้นส่วนระหว่างบริษัทกับเกษตรกรมากขึ้น รวมถึงมีการชดเชยในกรณีที่บริษัทไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญา
อีกประการหนึ่ง คือ ควรมีองค์กรกลางที่ไม่ใช่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาทำหน้าที่ดูแลการทำสัญญาตามมาตรฐาน และให้ความช่วยเหลือ ไกล่เกลี่ยเมื่อเกิดกรณีพิพาท
ประภาส กล่าวว่า เกษตรพันธสัญญาหรือเกษตรครบวงจรเป็นผลมาจากนโยบายของรัฐตั้งแต่ปี 2527 เริ่มได้รับการสนับสนุนทางวิชาการและการเงิน เพื่อเน้นให้บริษัทรายใหญ่เป็นผู้ทำการผลิต
ประเด็นสำคัญที่ถูกพูดถึงคือการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ในแง่ปริมาณอาจไม่เป็นปัญหา แต่หากมองในมิติของความหลากหลาย จะเห็นเห็นถึงปัญหาการผูกขาดเมล็ดพันธุ์อาหารสัตว์ ต้นทุนวัตถุดิบทำให้ความหลากหลายของอาหารหายไป
ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายที่เป็นกรอบควบคุมเกษตรครบวงจร ขาดเงื่อนไขที่เป็นธรรมระหว่างเกษตรกรและผู้ผลิต ดังนั้น จึงควรผลักดันให้เกิดกระบวนการต่อรองและตรวจสอบข้อมูล รวมถึงมีหลักประกันที่เหมาะสมสำหรับเกษตรกร เช่น การเป็นหุ้นส่วนระหว่างกัน ซึ่งต้องเคลื่อนไหวให้เป็นนโยบายสาธารณะ
สุชาดา จักรพิสุทธิ์ กล่าวถึงประเด็นอำนาจเหนือสื่อว่า เนื้อหาที่ผู้ร่วมเสวนาทั้งสองคนได้บอกเล่าคือส่วนที่หายไปจากสื่อ อาจมีความเกี่ยวเนื่องกับข่าวเอกสารของฝ่ายประชาสัมพันธ์บริษัทยักษ์ใหญ่จ่ายเงินซื้อสื่อ ลบกระทู้ในสื่อออนไลน์ และอ้างชื่อนักวิชาการ เรื่องนี้เป็นข้อมูลที่ได้รับมาเป็นเวลานานพอสมควร มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเชิงเทคนิค รวมถึงปรึกษากับผู้รู้จนแน่ใจว่าเป็นข้อมูลจริง จึงนำเสนอผ่านเว็บไซต์ข่าว TCIJ
วัตถุประสงค์ในการเปิดเผยข่าวดังกล่าว เนื่องมาจาก TCIJ เป็นสื่อมวลชน ต้องทำหน้าที่ของสื่อ ในการนำเสนอข้อมูลที่ให้คุณหรือโทษต่อสาธารณะ ไม่ได้มีเจตนาบอยคอตสินค้าของบริษัทดังกล่าว เพราะขอบข่ายของบริษัทนั้นใหญ่โตเกินกว่าที่จะหลีกเลี่ยงได้ในชีวิตประจำวัน รวมถึงไม่ต้องการก่อให้เกิดความเกลียดชังต่อสื่อมวลชน แต่ในฐานะสื่อมวลชน ตนไม่สามารถนั่งดูข้อมูลเหล่านี้แล้วปล่อยผ่านไปเฉยๆ ได้
"มีข้อมูลจำนวนมากที่ถูกซุกซ่อน ถูกปกปิด แล้วไม่มีใครที่จะทำหน้าที่ตรงนี้ได้ ปัญหาหลายอย่างที่อาจารย์วิโรจน์ หรืออาจารย์ประภาสได้พูดมาก่อนหน้านี้ก็ไม่ถูกนำเสนอไปสู่ความรับรู้ ซึ่งการจะเปลี่ยนแปลงอะไรก็ตาม ต้องเกิดจากความรับรู้ที่มากพอถึงจะเกิดเป็นพลังได้ ความคาดหวังในข่าวชิ้นนี้จึงเป็นไปเพื่อกระตุ้นเตือนให้เกิดการเรียนรู้และนำไปสู่การรู้เท่าทัน"ผอ.เว็บไซต์ TCIJ กล่าว
ผอ.เว็บไซต์ TCIJ กล่าวด้วยว่า ธุรกิจขนาดใหญ่ควรเข้าใจว่า การเน้นการลงทุนกับภาพลักษณ์นำมาสู่การฉ้อฉล เป็นการคอร์รัปชั่นรูปแบบหนึ่ง เพราะการคอร์รัปชั่นคือผลประโยชน์ที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่ชอบด้วยศีลธรรม การคอร์รัปชั่นรูปแบบนี้เป็นรูปแบบที่ไม่คุ้นเคย การเปิดเผยข่าวดังกล่าวจึงต้องการสร้างการเรียนรู้ให้เกิดขึ้น
ประการต่อมา คือความสัมพันธ์ที่ไม่ปกติระหว่างบริษัทใหญ่กับนักข่าว จัดเป็นการเซ็นเซอร์เชิงวัฒนธรรมด้วยการผูกสัมพันธ์ ก่อให้เกิดความเกรงใจ ทำให้นักข่าวไม่แยกแยะระหว่างเรื่องส่วนรวมกับส่วนตัว
สุชาดากล่าวว่า สื่อมวลชนไทยมักจะทำหน้าที่อย่างแข็งขันในการยืนอยู่ตรงข้ามรัฐบาล ไม่ว่าพรรคไหนจะขึ้นมาเป็นรัฐบาล ถือเป็นหน้าที่ที่ต้องตรวจสอบ แต่กลับไม่ค่อยต้องการจะยืนอยู่ตรงข้ามทุน ตรวจสอบทุน รวมทั้งอาจจะมีส่วนที่ไม่รู้เท่าทันทุนมากพอ เพราะทุนมีวิธีการที่เป็นธรรมชาติและแนบเนียน เข้ามาอยู่ในวัฒนธรรมอันเดียวกับนักข่าว หรือสื่ออาจจะมีผลประโยชน์ทับซ้อนทั้งความชอบพอส่วนตัว จนถึงการรับเงิน
ผอ. TCIJ กล่าวว่า ความคาดหวังอีกประการ คือผู้บริโภคข่าวต้องรู้เท่าทันสื่อ รู้เท่าทันธุรกิจขนาดใหญ่ เนื่องจากที่ผ่านมาผู้บริโภคข่าวเข้าใจว่าสิ่งที่ปรากฏบนสื่อกระแสหลักเท่ากับความจริง ข่าวนี้ต้องการแค่ชี้ประเด็นปัญหาเชิงระบบ เพราะการไม่รู้เท่าทัน หรือมีผลประทับซ้อน
รูปแบบในการใช้อำนาจเหนือสื่อที่มักจะเกิดซ้ำ ได้แก่ 1. การแถลงข่าวตอบโต้จากองค์กรธุรกิจที่ได้รับความเสียหาย 2. ล็อบบี้ผู้ที่เสียหายมาร่วมกันแถลงการณ์ตอบโต้ 3. โดดเดี่ยวสื่อที่นำเสนอข่าว และสร้างข้อมูลเชิงลบเพื่อสร้างศัตรูให้สื่อนั้น ๆ 4. สร้างข่าวขึ้นมากลบ 5. เจรจากับสื่อเฉพาะราย โดยเฉพาะสื่อที่มีอิทธิพลต่อผู้รับสารให้งดนำเสนอข่าว 6.ข่มขู่ ใช้วิธีการรุนแรงในทางลับ หลอกล่อเพื่อเอาข้อมูล 7. ฟ้องร้อง เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอันยาวนาน เพื่อให้สังคมลืมเลือน
สุชาดากล่าวว่า การประชาสัมพันธ์โดยวิธีการดังกล่าวของธุรกิจขนาดใหญ่ แสดงให้เห็นว่า ธุรกิจไม่ได้ให้ความสำคัญกับเกษตรกร ในฐานะต้นทางการผลิต เพราะไม่ถูกกล่าวถึงในเอกสารดังกล่าว ธุรกิจจึงควรถูกตรวจสอบ ยอมให้สื่อพูดความจริง แล้วนำข้อบกพร่องไปแก้ไข เพื่อความสง่างามของทั้งธุรกิจและสื่อ
สุชาดา จักรพิสุทธิ์ ยืนยันว่า ยินดีให้ความร่วมมือกับสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติและองค์กรวิชาชีพสื่อที่ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบเท่าที่เป็นไปได้ แต่ต้องอยู่บนจรรยาบรรณวิชาชีพที่จะปกปิดแหล่งข่าวเพื่อปกป้องแหล่งข่าว และปกปิดรายชื่อผู้เสียหาย ทั้งนี้ ตนมีสิทธิที่จะไม่ไว้วางใจ เนื่องจากองค์กรสื่อยังไม่ได้พิสูจน์ตนเองว่าปกป้องคนในวิชาชีพได้อย่างแท้จริง และสื่อใหม่ก็ไม่ถูกนับรวมเป็นสมาชิกในสภาการหนังสือพิมพ์
* อ่านข่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับเอกสารประชาสัมพันธ์ของบริษัทยักษ์ใหญ่ โดย TCIJ ได้ที่ http://tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=4559
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai