เปิดอัตราค่าจ้างแรงงาน 5 กลุ่ม 13 อาชีพ ดีเดย์ 28 ก.ค.นี้!
เมื่อวันที่ 8 ก.ค.57 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวในการประชุมระหว่างประเทศ เรื่อง "การเสริมสร้างความเข้มแข็ง ความคุ้มครองทางสังคมแก่ประชาคมอาเซียน"ที่จัดโดยสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ว่า สปส.ตระหนักถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงของการเมือง และความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงวัฒนธรรม จากการเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 โดยผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีประสบการณ์ด้านการใหัความคุ้มครองแก่พลเมืองของตนเข้าร่วมกว่า 300 คน เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งมีประเด็นสำคัญ คือ การสร้างฐานความคุ้มครองทางสังคม การขยายความคุ้มครองประกันสังคมสู่แรงงานนอกระบบ การให้ความคุ้มครองด้านประกันสังคมแก่แรงงานไทยในต่างประเทศ โดยอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศเป็นเครื่องมือ แบ่งเป็น 3 หัวข้อ คือ 1.การพัฒนาการและแนวโน้มการให้ความคุ้มครองทางสังคมจากอดีตสู่อนาคต 2.การให้ความคุ้มครองประกันสังคมแก่แรงงานนอกระบบ 3.การให้ความคุ้มครองด้านประกันสังคมแก่พลเมืองของตนในต่างประเทศ
"ในเรื่องการดูแลแรงงานข้ามชาตินั้น เมื่อออกใบอนุญาตทำงานชั่วคราวแล้ว จะเป็นหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในการดูแลเรื่องประกันสุขภาพ ส่วนหน้าที่ของประกันสังคมจะต้องเร่งให้นายจ้างนำแรงงานต่างด้าวขึ้นทะเบียนในกองทุนเงินทดแทนเพื่อดูแลปัญหาการประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน จากนั้นจะต้องเร่งพิสูจน์สัญชาติภายใน 60 วัน ส่วนภาคการประมงขณะนี้ได้ให้นายจ้างรวบรวมรายชื่อส่งมายังกระทรวงแรงงานตามแบบฟอร์มที่กำหนดไว้ ส่วนการเปิดศูนย์วันสต็อปเซอร์วิส อยู่ในแผนของ กนร. ที่จะขยายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยจะหารือกันอีกครั้งในวันที่ 9 ก.ค.นี้"นายจีรศักดิ์ กล่าว
นายจีรศักดิ์ ยังกล่าวอีกว่า ตามที่คณะกรรมการค่าจ้างได้มีการประชุมศึกษาและพิจารณาถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับตามมามาตรฐานฝีมือ และมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.56 ที่ผ่านมา กำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือรวม 5 กลุ่ม 13 สาขาอาชีพโดยใช้มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานเป็นเกณฑ์วัดค่าทักษะฝีมือ ความรู้ ความสามารถ ซึ่งมีผลบังคับใช้ 28 ก.ค.57 ประกอบด้วย
1. กลุ่มช่างอุตสาหการ ได้แก่ ช่างเชื่อมท่อพอลิเอทีลีนความหนาแน่นสูง ระดับ 1 ค่าจ้าง 460 บาท ช่างประกอบท่อ ระดับ 1 ค่าจ้าง 400 บาท ช่างทำแม่พิมพ์ฉีดโลหะ ระดับ 1 ค่าจ้าง 480 บาท
2. กลุ่มอุตสาหกรรมศิลป์ ได้แก่ ช่างสีเครื่องเรือน ระดับ 1 ค่าจ้าง 350 บาท ส่วนระดับ 2 ค่าจ้าง 450 บาท
3. กลุ่มช่างก่อสร้าง ได้แก่ ช่างหินขัด ระดับ 1 ค่าจ้าง 400 บาท ช่างฉาบยิปซัม ระดับ 1 ค่าจ้าง 400 บาท ช่างมุงหลังคากระเบื้องคอนกรีต ระดับ 1 ค่าจ้าง 400 บาท ระดับ 2 ค่าจ้าง 510 บาท และระดับ 3 ค่าจ้าง 620 บาท
4. กลุ่มช่างเครื่องกล ได้แก่ ช่างบำรุงรักษารถยนต์ ระดับ 1 ค่าจ้าง 340 บาท และระดับ 2 ค่าจ้าง 400 บาท ช่างซ่อมเครื่องยนต์ดีเซล ระดับ 1 ค่าจ้าง 360 บาท ระดับ 2 ค่าจ้าง 445 บาท และระดับ 3 ค่าจ้าง 530 บาท ช่างเครื่องปรับอากาศรถยนต์ขนาดเล็ก ระดับ 1 ค่าจ้าง 360 บาท ระดับ 2 ค่าจ้าง 445 บาท และระดับ 3 อยู่ที่ 530 บาท
5. กลุ่มภาคบริการ ได้แก่ นักส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวมสปาตะวันตก (สุคนธบำบัด) ระดับ 1 ค่าจ้าง 540 บาท และระดับ 2 อยู่ที่ 715 บาท นักส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวมสปาตะวันตก (วารีบำบัด) ระดับ 1 ค่าจ้าง 565 บาท และระดับ 2 อยู่ที่ 750 บาท นักส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวมสปาตะวันตก (โภชนบำบัด) ระดับ 1 ค่าจ้าง 615 บาท และระดับ 2 อยู่ที่ 815 บาท.
(ไทยรัฐ, 9-7-2557)
'ซูเปอร์บอร์ด'เล็งปรับลดโบนัส พนง.รัฐวิสาหกิจ
แหล่งข่าวกระทรวงการคลังเปิดเผย เมื่อวันอังคารว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายและกำกับรัฐวิสาหกิจ (ซูเปอร์บอร์ด) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานในวันนี้ (9 ก.ค.) นอก จากจะมีการหารือถึงกรอบนโยบายการบริหารและกำกับรัฐวิสาหกิจให้มีการดำเนินงานมี ประสิทธิภาพ โปร่งใสแล้ว ยังมีการหารือการจ่ายผลตอบแทนกรรมการ รวมถึงการจ่ายโบนัสพนักงานให้มีความเหมาะสมมากขึ้นด้วย เพราะที่ผ่านมาพบว่ากรรมการมีผลตอบ แทนทางอ้อมที่ซ่อนเป็นรายจ่ายของรัฐวิสาห กิจในจำนวนที่สูงขณะที่การจ่ายโบนัสของพนักงานรัฐวิสาห กิจ ทาง คสช.ได้สั่งให้สำนักงานคณะกรรม การนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะเลขานุการของซูเปอร์บอร์ด ทำข้อมูลราย งานให้คณะกรรมการทราบ เนื่องจากพบว่ามีหลายรัฐวิสาหกิจจ่ายโบนัสข้าราชการสูงถึงปีละ 3-4 พันล้านบาท แต่ยังต้องมาขอเงินเพิ่มทุนจากกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม
นอกจากนี้ ยังพบว่ารัฐวิสาหกิจที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เช่น บริษัท การท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) มีการจ่ายโบนัสให้พนักงานปีที่ผ่านมาสูงถึง 11 เดือน ซึ่งสูงเกินไปเมื่อเทียบกับการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจอื่น
"ทาง คสช.ต้องการปรับปรุงการจ่ายผลตอบแทนกรรมการและการจ่ายโบนัสพนัก งานรัฐวิสาหกิจไปพร้อมกัน เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว ประหยัดเงินของประเทศ สำหรับการจ่ายเงินผลตอบแทนของคณะกรรมการ จะมีการเสนอให้ลดผลตอบแทนการเบิกจ่ายค่ารับรองที่เกี่ยวเนื่องเกี่ยวกับกิจการของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งพบว่าคณะกรรมการมีการเบิกสูง บางคน 3-4 แสนบาทต่อเดือน ซึ่งมีทั้งค่าเดินทางไปต่างประเทศเพื่อดูงาน การเลี้ยงรับรองลูกค้ารายใหญ่ เป็นต้น"แหล่งข่าวกล่าว
สำหรับการจ่ายเงินโบนัสของพนักงานรัฐวิสาหกิจ จะเสนอให้มีการจ่ายโบนัสของพนักงานรัฐวิสาหกิจนอกตลาดหลักทรัพย์ใหม่ จากปัจจุบันจ่ายได้สูงสุดถึง 8 เดือน อาจจะต้องลดจำนวนเดือนลง หากไม่ลดจำนวนเดือน ก็ต้องเพิ่มความเข้มข้นของการประเมินที่เป็นเกณฑ์การจ่ายโบนัสให้เข้มข้นมากขึ้น
นอกจากนี้ จะเสนอว่าการจ่ายโบนัสต้องเป็นกำไรจากผลการดำเนินงานจริงๆ ไม่ใช่โยกเงินทางบัญชี เช่น เงินสำรองหนี้เสียกลับมาเป็นกำไร และการจ่ายโบนัสต้องกันเงินไว้สำหรับการเพิ่มทุนก่อน ไม่ใช่จ่ายโบนัสก่อนและมาขอเงินงบประมาณเพิ่มทุน
ขณะที่การจ่ายเงินโบนัสของพนักงานรัฐวิสาหกิจในตลาดหลักทรัพย์ จะต้องเสนอให้มีการทบทวนจำกัดเพดานเหมือนกับรัฐวิสาหกิจที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งผลสรุปขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของซูเปอร์บอร์ด ที่จะเสนอให้ คสช.เห็นชอบออกมาเป็นคำสั่งต่อไป.
(ไทยโพสต์, 9-7-2557)
แจ้งความดำเนินคดีนายหน้าหลอกลวงไปทำงานมาเลเซีย
ตามที่สำนักงานแรงงานไทยในประเทศมาเลเซีย ได้รายงานการให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยในประเทศมาเลเซีย ซึ่งถูกนายอุสมาน บุญมาหล้า หรือนายสิงห์ หรือนายดำ หลอกลวงไปทำงานที่ประเทศมาเลเซียซึ่งลักษณะของการถูกหลอกลวง คือ ไม่มีงานให้ทำตามที่ตกลงกันไว้ และเข้าเมืองโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2555 ถึงปัจจุบัน มีแรงงานไทยถูกหลอกลวงจำนวน 106 คน มูลค่าความเสียหายประมาณ 2.76 ล้านบาท
นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมาย กรมการจัดหางานดำเนินการในส่วน ที่เกี่ยวข้อง โดยให้ดำเนินคดีกับผู้ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528
ทางด้านกรมการจัดหางานได้รายงานผลการดำเนินการกรณีแรงงานไทยถูกนายอุสมาน หลอกลวง ว่า กรมการจัดหางานได้แจ้งความดำเนินคดีกับนายอุสมานฯ ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ จำนวน 5 คดี ผู้เสียหาย 17 คน เนื่องจากนายอุสมาน ได้หลอกลวงว่า สามารถจัดส่งผู้เสียหายไปทำงานที่ประเทศมาเลเซียในตำแหน่งต่างๆ อาทิเช่น ผู้ควบคุมงานก่อสร้าง ช่างก่อสร้าง ช่างเชื่อม พนักงานประกอบท่อส่งน้ำมัน เป็นต้น อัตราค่าจ้าง ชั่วโมงละ 85-240 บาท และจ่ายค่าบริการและค่าใช้จ่ายคนละ 15,000-26,000 บาท แต่จากการตรวจสอบประวัติและพฤติการณ์ทางทะเบียนระบบคอมพิวเตอร์ออนไลน์ของกรมการจัดหางาน ปรากฏว่านายอุสมาน บุญมาหล้า ไม่ได้รับอนุญาตจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศและไม่ได้จดทะเบียนเป็นลูกจ้างหรือตัวแทนจัดหางานของผู้รับอนุญาตจัดหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ภารกิจสำคัญของกระทรวงแรงงานคือการดูแล คุ้มครอง แรงงานที่จะออกไปทำงานต่างประเทศ ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวง จากสายนายหน้าเถื่อน จึงได้มีการจัดตั้งศูนย์ประสานบริการการไปทำงานต่างประเทศ (TOEA : Thailand Overseas Employment Administration) ในจังหวัดต่างๆ เพื่อให้บริการการจัดหางานแบบเบ็ดเสร็จ เป็นศูนย์กลางการประสานงานและอำนวยความสะดวกสำหรับคนหางานที่ประสงค์จะเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ลดขั้นตอนการติดต่อหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากเป็นรูปแบบศูนย์บริการเบ็ดเสร็จในที่เดียว หรือวันสตอปเซอร์วิส โดยเป็นศูนย์ทะเบียนคนหางานไปทำงานต่างประเทศ (Labour Bank for Overseas Employment) และเตรียมความพร้อมคนหางานก่อนเดินทางไปทำงานต่างประเทศ (Pre-departure training Center) อันจะเป็นการแก้ไขปัญหาการหลอกลวง อันจะนำไปสู่ปัญหาการค้ามนุษย์ในที่สุด
ด้านสำนักงานแรงงานไทยในมาเลเซีย รายงานว่า ได้รับการติดต่อขอความช่วยเหลือจากแรงงานไทยที่เข้ามาทำงานในประเทศมาเลเซีย ว่าถูกนายหน้าสายเถื่อนหลอกให้มาทำงานโดยส่วนใหญ่มาจากภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยอ้างว่าจะมีงานในกิจการประเภทโรงกลั่นน้ำมันของบริษัทมีชื่อเสียง หรือในไซต์ด์งานก่อสร้างขนาดใหญ่ มีการเก็บค่าหัวในการเดินทางมาทำงานตั้งแต่ต้นทางในสถานีขนส่งหมอชิตจนถึงอำเภอสุไหงโกลก ในจังหวัดนราธิวาส รายละ 20,000-45,000 บาท แล้วนำไปพักที่โรงแรมตามแนวชายแดน รอส่งข้ามแดนจากประเทศไทยผ่านด่านสุไหงโกลกหรือด่านตากใบ เพื่อข้ามแดนไปยังด่านรันเตาปันยัง หรือด่านเปิงกาลันกุโบร์ ประเทศมาเลเซีย โดยใช้รถปิกอัพส่งไปยังที่พักคนงานในรัฐต่างๆ ที่อยู่ห่างไกล โดยนายหน้าจะทิ้งให้รองาน หรือให้ทำงานระยะสั้นๆ เมื่อมีค่าจ้าง จะถูกหักเป็นค่าใช้จ่าย หลายรายทำงานครบตามที่ตกลงกันแต่ไม่ได้รับค่าจ้าง รวมทั้งมีการโกหกให้เชื่อให้รอตลอดว่าจะมีงานให้ทำในรัฐต่างๆ โดยที่แรงงานเหล่านี้ไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือบางรายมีใบอนุญาตทำงานปลอม และจนกระทั่งอยู่เกินกำหนดวีซ่า ทำให้คนงานอยู่ด้วยความหวาดระแวงและต้องหลบซ่อนตัวตลอดเวลา
ซึ่งที่ผ่านมาสถานเอกอัครราชทูต สำนักงานแรงงานไทยในมาเลเซีย และฝ่ายกงสุลของสถานกงสุลใหญ่โกตาบารู ได้ส่งรายงานและแจ้งข้อมูลพฤติกรรมของนายหน้ารายนี้ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการตามกฎหมายแล้ว อย่างไรก็ตามยังมีข้อขัดข้องที่ยังไม่สามารถจับกุมผู้กระทำผิดรายนี้ได้ สำหรับความผิดตามกฎหมายของประเทศมาเลเซีย กรณีที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือการใช้วีซ่าท่องเที่ยวในการลักลอบทำงาน ถือเป็นการใช้วีซ่าผิดประเภท และเป็นการละเมิดพระราชบัญญัติตรวจคนเข้าเมืองของมาเลเซีย มีโทษปรับสูงสุด 1,000 ริงกิต หรือจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีอยู่เกินกำหนด ต้องโทษปรับไม่เกิน 10,000 ริงกิต หรือจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีใบอนุญาตทำงานปลอม ต้องโทษปรับไม่ต่ำกว่า 30,000 ริงกิต และจำคุกไม่น้อยกว่า 5 ปี แต่ไม่เกิน 10 ปีและอาจถูกโบยด้วย 6 ที
สำหรับตำแหน่งงานว่างในประเทศมาเลเซีย บริษัทที่มีความต้องการจ้างแรงงาน จะมีเจ้าหน้าที่หรือมอบหมายให้ผู้แทนมาติดต่อที่สำนักงานแรงงานในประเทศมาเลเซีย ซึ่งตั้งอยู่ในสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ โดยจะต้องนำหลักฐานมาแสดงกับเจ้าหน้าที่ว่าเป็นบริษัทที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย มีการประมูลงานได้จริง ได้รับอนุญาตจากทางการมาเลเซียให้จ้างแรงงานต่างชาติได้ และมีความประสงค์จะจ้างแรงงานไทย
ดังนั้น ผู้ที่ต้องการมาทำงานในประเทศมาเลเซียควรติดต่อโดยตรงกับกรมการจัดหางาน หรือสำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อสอบถามความต้องการแรงงาน ตรวจสอบตำแหน่งงานว่างให้มีความมั่นใจก่อนตัดสินใจ หรือหากมีนายจ้างมาแจ้งความประสงค์จะจ้างงาน นายจ้างควรติดต่อโดยตรงที่ สำนักงานแรงงานไทยในมาเลเซีย และให้คนงานที่ต้องการทำงานแจ้งลงทะเบียนที่กรมการจัดหางานเพื่อดำเนินการตรวจสุขภาพ สมัครเป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือแรงงานในต่างประเทศ และจะได้รับการอบรมให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประเทศมาเลเซีย ซึ่งจะทำให้มีความปลอดภัยจากการถูกหลอกและได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายของมาเลเซีย
(สำนักข่าวไทย, 9-7-2014)
ชี้ปี 2573 ไทยต้องการแรงงานต่างด้าวกว่า 9 ล.คนช่วยพยุงระดับจีดีพี
(10 ก.ค.) รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนกุล ผอ.ฝ่ายนโยบายชาติและความสัมพันธ์ข้ามชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวในการสัมมนา “การบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติในบริบทอาเซียน” ที่โรงแรมเดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ ว่า สกว. ได้จัดทำโครงการ “จับตาอาเซียน” ขึ้นโดยศึกษาวิจัยเรื่องต่างๆ เกี่ยวอาเซียนและการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (เอซี) ซึ่งจากผลการศึกษาวิจัยในด้านแรงงานโดยภาพรวมสรุป ว่า การเคลื่อนย้ายแรงงานในอาเซียนทั้งแรงงานวิชาชีพและแรงงานทั่วไปเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจและสวัสดิการของคนไทย แต่ยังต้องมีการศึกษาผลกระทบ เช่น ช่องว่างการบริหารจัดการที่ทำให้การค้ามนุษย์หรือผลกระทบทางสังคมจากการเคลื่อนย้ายอพยพ
รศ.ดร.ปัทมาวดี กล่าวอีกว่า แรงงานต่างด้าวมีความสำคัญมากขึ้น เมื่อไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แต่ไม่สามารถทดแทนแรงงานไทยได้โดยสมบูรณ์ จะต้องพัฒนาศักยภาพพร้อมกับการพัฒนาศักยภาพแรงงานไทยเพื่อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน โดยประเทศไทยจะต้องมีระบบการบริหารจัดการแรงงานที่ดี มีกฎระเบียบต่อแรงงานทั้งไทยและต่างชาติตามสิทธิมนุษยชนและสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงานและการบริหารจัดการที่ส่วนกลางอาจไม่ตอบสนองต่อสภาพความเป็นจริงที่มีแรงงานข้ามชาติเข้าออกรายวันในที่พื้นที่ชายแดน ทั้งนี้ ชุมชนท้องถิ่นเป็นอีกภาคส่วนหนึ่งที่สามารถมีบทบาทเสริมในการจัดการแรงงานที่ชายแดนได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย
ม.ล.ปุณฑริก สมิติ รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “การบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ : โอกาสและความท้าทาย” ว่า นโยบายกระทรวงแรงงานเพื่อแก้ปัญหาการใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายและค้ามนุษย์ได้มุ่งให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในไทยโดยผ่านความร่วมมือระหว่างรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) และนำเข้ามาผ่านระบบเอ็มโอยูเพื่อได้รับการคุ้มครองดูแลตามกฎหมายและเข้าสู่ระบบประกันสังคม ทั้งนี้ ปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าวทั้งพม่า กัมพูชาและลาว รวมถึงสัญชาติอื่นๆ ซึ่งได้รับขึ้นทะเบียนและได้รับอนุญาตทำงานอย่างถูกกฎหมายแบบถาวรแล้วกว่า 1.3 ล้านคน ซึ่งในส่วนของแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายกำลังเร่งจดทะเบียนตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
รองปลัด รง. กล่าวอีกว่า ส่วนการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติระดับอาเซียนนั้น ขณะนี้ทั้ง 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาจัดทำร่างตราสารอาเซียนว่าด้วยการปฏิบัติให้เป็นไปตามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของแรงงานต่างด้าวหรือปฏิญญาเซบู เพื่อกำหนดให้ประเทศที่เป็นผู้ส่งแรงงานและรับแรงงานป้องกันการใช้แรงงานต่างด้าวโดยผิดกฎหมาย ดูแลแรงงานต่างด้าวให้ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายจะมีการประชุมร่วมกัน 3 ครั้ง ภายในสิ้นปีนี้คาดว่าจะร่วมกันประกาศตราสารอาเซียนฯได้ในปีหน้า
ผศ.ดร.กิริยา กุลกลการ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวนำเสนอผลวิจัยเรื่อง “การบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยกับต่างประเทศ” ว่า จากการศึกษาการบริหารแรงงานข้ามชาติของประเทศต่างๆ เช่น อเมริกา สิงคโปร์ เกาหลี พบว่า คำนึงถึง 3 ด้าน ได้แก่ ความมั่นคงของชาติ เศรษฐกิจและแรงงานโดยอนุญาตให้แรงงานต่างชาติไร้ฝีมือเข้ามาทำงานเพียงชั่วคราวโดยเน้นแรงงานมีฝีมือมากกว่าไร้ฝีมือ
ผศ.ดร.กิริยา กล่าวอีกว่า การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวของไทยในรอบ 22 ปี ตั้งแต่ปี 2535 - 2557 พบว่า มีทั้งการขึ้นทะเบียน ปรับสถานะแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายและนำเข้าแรงงานอย่างถูกกฎหมาย และมีจุดอ่อนคือ ไม่มีความพยายามลดการพึ่งพาแรงงานข้ามชาติ นโยบายแค่ระยะสั้น ไม่ยืดหยุ่นตามพื้นที่และอุตสาหกรรมขาดการบูรณาการระหว่างหน่วยงานและขาดแคลนบุคลากร และโควตาแรงงานไม่ได้สะท้อนความต้องการที่แท้จริง ขาดการมองปัญหาขาดแคลนระดับมหภาค นอกจากนี้ ค่าธรรมเนียมค่อนข้างสูง ขั้นตอนและเอกสารมาก การสกัดกั้นปราบปรามและส่งกลับด้อยประสิทธิภาพ รวมทั้งการคุ้มครองสิทธิและสวัสดิการแรงงานยังมีปัญหา รัฐต้องรับภาระการคลังด้านต่างๆ เกิดชุมชนแรงงานต่างด้าวในพื้นที่ต่างๆ และไม่มีนโยบายชัดเจนเรื่องครอบครัว
ผศ.ดร.กิริยา กล่าวด้วยว่า จากผลวิจัยมีข้อเสนอแนะว่า รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องมีมาตรการควบคุมคุณภาพแรงงานและลดการพึ่งพิงแรงงานราคาถูก สร้างระบบที่เหมาะสมกับประเภทอุตสาหกรรมและพื้นที่ มีหน่วยงานทำหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคม นายจ้างเสียภาษีการใช้แรงงานต่างด้าวตามระดับการพึ่งพา นำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดเก็บข้อมูลแรงงานต่างด้าวและนายจ้างอย่างเป็นระบบ เปิดเผยและนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ รวมทั้งดูแลคุ้มครองและพัฒนาฝีมือแรงงานต่างด้าว
ดร.ธนะพงษ์ โพธิปิติ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวนำเสนอผลวิจัยเรื่อง “ความต้องการแรงงานต่างชาติสำหรับสังคมสูงวัย”ว่า ปัจจุบันไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้จำนวนแรงงานลดลงและรายได้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ลดลงไปด้วย ซึ่งการแก้ปัญหาระยะสั้นทำได้โดยนำเข้าแรงงานต่างด้าวโดยผลการศึกษาพบว่า หากไม่เพิ่มจำนวนแรงงานต่างด้าวให้มากขึ้นในปี 2573 จะทำให้จีดีพีลดลงร้อยละ 7 และรายได้ต่อหัวลดลงร้อยละ 8 และปี 2593 จีดีพีลดลงร้อยละ 16 และรายได้ต่อหัวลดลงร้อยละ 17 หากเพิ่มจำนวนแรงงานต่างด้าว จะทำให้จีดีพีเพิ่มเป็นร้อยละ 4.29 แต่รายได้ต่อหัวลดลงร้อยละ 0.76 และปี 2593 จีดีพีเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.70 แต่รายได้ต่อหัวลดลงร้อยละ 0.22
ดร.ธนะพงษ์ กล่าวอีกว่า ในปี 2573 หากจะรักษาระดับจีพีดีไว้ไทยต้องการแรงงานต่างด้าวทั้งหมด 9.14 ล้านคน แต่คาดว่าจะมีแรงงานต่างด้าวมาทำงานในไทยเพียง 6.4 ล้านคน ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของแรงงานต่างด้าวไม่สามารถแก้ปัญหาการลดลงของรายได้ต่อหัวซึ่งเกิดจากการภาวะสังคมผู้สูงอายุของไทยได้ จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องตัดสินใจว่าจะนำเข้าแรงงานต่างด้าวเพิ่มขึ้นหรือไม่
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 10-7-2557)
เอชอาร์-ไอที-การเงิน ติดโผยอดนิยมหางานผ่านเว็บไซต์
"นพวรรณ จุลกนิษฐ"กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ็อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่าในช่วงไตรมาสแรกของปี 2557 มีการเติบโตของจำนวนการจ้างงานผ่านช่องทางออนไลน์ในเอเชียสูงขึ้น 9% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2556 ในขณะที่การจ้างงานในไทยเติบโตขึ้นถึง 13%
"เป็นผลมาจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมค้าปลีกและค้าส่งในช่วง ก่อนที่จะเข้าสู่การเปิดการค้าเสรีที่ผู้ประกอบการต้องการขยายการลงทุนออกไป ยังต่างประเทศ ประกอบกับมีการขยายการลงทุนไปยังหัวเมืองสำคัญที่เศรษฐกิจภายในจังหวัดกำลัง เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา, อุดรธานี, อุบลราชธานี, ขอนแก่น, เชียงราย, เชียงใหม่, ระยอง, ชลบุรี, สงขลา, ภูเก็ต และสุราษฎร์ธานี"
โดยประเมินจากปัจจัยทั้ง 5 ด้าน ประกอบด้วย
หนึ่ง รายได้ประชากรในพื้นที่ขยายตัวสูง จึงทำให้ตลาดขยายใหญ่ขึ้น
สอง ความหนาแน่นของประชากร โดยเฉพาะเขตเทศบาล ซึ่งนับว่ามีความเจริญทางด้านสาธารณูปโภคเป็นสำคัญ
สาม การเติบโตของการค้าชายแดน และเขตผ่านแดน จึงทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่นั้น ๆ มีความคึกคักมากขึ้น
สี่ การเติบโตของภาคธุรกิจท่องเที่ยว ที่จูงใจให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในพื้นที่มากขึ้น
ห้า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐในต่างจังหวัด เช่น การลงทุนพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่งที่เชื่อมโยงสู่ทุกภาคของไทย
จากภาพรวมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น "นพวรรณ"อธิบายให้ฟังว่า จะส่งผลโดยตรงต่อความต้องการแรงงานไทยเพิ่มขึ้น และจากข้อมูลเปรียบเทียบความต้องการหาคนของจ็อบส์ ดีบี ดอทคอม ช่วงไตรมาสที่ 1 ในปี 2556 และปี 2557 พบว่ากลุ่มธุรกิจที่มีความต้องการบุคลากรเข้าร่วมงานอย่างสม่ำเสมอ จนติดอันดับ Top 5 ในเว็บไซต์ ได้แก่ ธุรกิจการจัดการทรัพยากรบุคคล และธุรกิจที่ปรึกษาทรัพยากรบุคคล, ธุรกิจด้านไอที, ธุรกิจบริการด้านการเงิน, ธุรกิจสายการผลิต และธุรกิจโฆษณา ตามลำดับ
"สำหรับธุรกิจสายการผลิต และธุรกิจโฆษณา เป็น 2 กลุ่มธุรกิจที่ไต่ลำดับขึ้นมาเป็นลำดับที่ 4 และ 5 จากที่เคยอยู่ลำดับที่ 6 และ 7 มาโดยตลอด นั่นเป็นสัญญาณของการเติบโตในสายธุรกิจ ที่ช่วยขับเคลื่อนองค์กรให้มีความเติบโตสูงขึ้น โดยเฉพาะด้านการตลาดที่มีส่วนช่วยปรับกลยุทธ์ในการสื่อสารแบรนด์ หรือผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น"
"ส่วนสายการผลิต ตลาดแรงงานไทยยังเป็นที่ต้องการในทุกอุตสาหกรรม โดยเฉพาะตำแหน่งช่างต่าง ๆ ที่กำลังขาดแคลนอย่างหนักในช่วงปีนี้"
ซึ่งไปตรงกับข้อมูลของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ที่ระบุถึงปัญหาการขาดแคลนของตลาดแรงงานไทยในปัจจุบันคือความไม่สมดุลของ โครงสร้างแรงงานไทย ทั้งระดับล่างและระดับบน ซึ่งไทยมักขาดแรงงานระดับล่าง และมีแรงงานส่วนเกินในระดับอุดมศึกษา จึงส่งผลให้เกิดปัญหาคุณภาพแรงงานไม่ตรงต่อความต้องการของตลาด
ดังนั้นถ้าจะแก้ปัญหานี้ในระยะยาว ผู้ที่เกี่ยวข้องทางการศึกษาควรศึกษาข้อมูลความต้องการแรงงาน พร้อมแนะนำให้เด็กเลือกเรียนในสายที่มีความต้องการแรงงานสูง เพื่อป้องกันการว่างงานในอนาคต
"นพวรรณ"บอกว่า สิ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาการว่างงานในยุคตลาดแรงงานที่มีความต้องการบุคลากรสูง ผู้หางานจะต้องมีความสามารถทางภาษาเป็นลำดับแรก ที่สำคัญจะต้องมีความสามารถทางภาษาที่ 3 ควบคู่ไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นจีน, ญี่ปุ่น, เกาหลี หรือภาษาอาเซียน
"นอกจากนี้ ผู้หางานจะต้องมีความรู้ด้านโปรแกรมคอมพิวเตอร์และโซเชียลมีเดียด้วย เพื่อให้ผู้หางานมีโอกาสได้งานมากยิ่งขึ้น ในฐานะบริษัทจัดหางานมองว่า เราเป็นแค่ผู้ช่วยหลักสำคัญของนายจ้างเพื่อคัดกรองบุคลากรให้ตรงต่อความต้อง การขององค์กร"
"จึงได้ผุดโซลูชั่นที่ช่วยอำนวยความสะดวกขึ้น โดยเพิ่มฟังก์ชั่นการค้นหางานด้วยเงินเดือน เพื่อตอบโจทย์ผู้หางานให้พบกับงานในช่วงเงินเดือนที่ผู้หางานต้องการอย่าง รวดเร็ว ในขณะที่ผู้ประกอบการก็สามารถระบุรายละเอียดของเงินเดือนที่ต้องการสื่อสาร ได้ แม้ไม่ได้ระบุเงินเดือนโดยตรง เช่น สามารถต่อรองได้ หรือเงินเดือนรวมค่าคอมมิสชั่น เป็นต้น"
จากผลสำรวจของผู้หางานผ่าน ฟังก์ชั่น "การค้นหางานด้วยเงินเดือน"ในช่วงปีที่ผ่านมา "นพวรรณ"พบว่า 32% ของผู้หางานชอบค้นหางานโดยใช้เงินเดือน
"สอดคล้องต่อเทรนด์การหางานในปี 2557 ที่ผู้หางาน และผู้ประกอบการหาแรงงานผ่านเว็บไซต์ออนไลน์ โดย 75% พอใจกับการใช้เว็บไซต์หางานในการสมัครงานผ่านจ็อบส์ ดีบี ดอทคอม และแอปพลิเคชั่น jobsDB mobile app 2.0 ซึ่งเอื้อต่อการใช้สมาร์ทโฟนของผู้หางาน และผู้ประกอบการได้ทุกที่ทุกเวลา"
"ทั้งยังเป็นการตอบโจทย์กับผู้หางานทั้ง 3 กลุ่ม ประกอบด้วย คนที่มุ่งหางาน (Looking) 35%, ผู้ที่ต้องการเปลี่ยนงาน (Exploring) 48% และผู้ที่พอใจกับงานที่ทำอยู่แล้ว (Settled) 17%"
"ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลให้แอปพลิเคชั่นหางานบนสมาร์ทโฟนของจ็อบส์ ดีบี มียอดการหางานเติบโตอย่างก้าวกระโดดผ่านระบบปฏิบัติการทั้ง ios ถึง 264% และ Android 324% สิ่งนี้คือเครื่องชี้วัดที่สำคัญว่า การเพิ่มช่องทางการหางานของเราเป็นการตอบโจทย์ที่สะดวกและรวดเร็วให้กับผู้ หางาน และผู้ประกอบการเป็นอย่างดี ซึ่งดิฉันเชื่อว่าความพร้อมของบุคลากร คือจุดเริ่มต้นของโลกแห่งการทำงานภายใต้ความท้าทายการแข่งขันของแรงงานไทย"
ทั้งยังพร้อมก้าวไปสู่การแข่งขันเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ที่จะถึงในเร็ววันนี้ด้วย
(ประชาชาติธุรกิจ, 11-7-2557)
ประกาศ คสช. ฉ.90 ตั้งศูนย์จดทะเบียนแรงงานต่างด้าว อีก 6 แห่ง
11 ก.ค. คสช. ออกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 90/2557 เรื่อง การจัดตั้งศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) เพิ่มเติม
โดยที่ข้อ 4 ของประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 70/2557 เรื่อง มาตรการชั่วคราวในการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ ลงวันที่ 25 มิถุนายน พุทธศักราช 2557 กำหนดให้จัดตั้งศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จในทุกจังหวัด โดยการจัดตั้งในจังหวัดอื่นใดและเริ่มทำการเมื่อใด ให้เป็นไปตามที่ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ประกาศกำหนด คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีประกาศ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้จัดตั้งศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ตามข้อ 4 ของประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 70/2557 เรื่อง มาตราการชั่วคราวในการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ ลงวันที่ 25 มิถุนาย พุทธศักราช 2557 เพิ่มเติมในกรุงเทพมหานคร จำนวน 6 แห่ง ณ สถานที่ตั้ง ดังนี้
(1) ศูนย์กีฬารามอินทรา เขตบางเขน
(2) ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง
(3) ศาลาประชาคมเมืองมีนถิ่นทอง เขตมีนบุรี
(4) ศูนย์เยาวชนลุมพินี เขตปทุมวัน
(5) ศูนย์เยาวชนทวีวัฒนา เขตทวีวัฒนา
(6) ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา (บางบอน) เขตบางบอน
ทั้งนี้ ให้เริ่มทำการตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2557 ถึงวันที่ 14 สิงหาคม 2557
ข้อ 2 ให้กระทรวงมหาดไทยและกรุงเทพมหานคร มีหน้าที่รับผิดชอบในการอำนวยความสะดวก ในการดำเนินการของศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ ที่จัดตั้งตามข้อ 1 โดยปฏิบัติงานร่วมกับกระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 11 กรกฎาคม พุทธศักราช 2557
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
(ไทยรัฐ, 11-7-2557)
แรงงานไทยในอิสราเอลยังปลอดภัย เผยคลิปวิธีหลบระเบิด
12 ก.ค. - แรงงานไทยในอิสราเอลยังปลอดภัย เปิดเฟซบุ๊กโพสต์ความเป็นอยู่ในที่หลบภัย การทำงานท่ามกลางการสู้รบ แชร์คลิปที่ต้องคอยหลบระเบิดไปด้วย กระทรวงแรงงานยืนยันไม่ทอดทิ้ง เตรียมคุยกรมการกงสุลย้ำแผนอพยพแรงงานไทยใน 4 ประเทศหากสถานการณ์รุนแรง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หน้าเฟซบุ๊ก "แรงงานไทยภายใต้โครงการความร่วมมือไทย-อิสราเอล (TIC)"ได้เผยแพร่ภาพความเคลื่อนไหวและชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานไทยในบางช่วงเวลาที่จะต้องหยุดทำงาน แล้วรีบเข้าสู่ที่หลบภัย แต่โดยรวมยังปลอดภัยดี โดยล่าสุดยังมีการเผยแพร่คลิปวิดีโอสอนวิธีหลบระเบิด เขียนข้อความว่าในวันเสาร์ (12 ก.ค.) ทำงานไปได้เพียง 2 ชั่วโมงก็ต้องเลิกงานแล้วเพราะยังมีการยิงปืนใหญ่อย่างต่อเนื่องบริเวณฉนวนกาซา พร้อมทั้งยังเขียนติดตลกเรียกตัวเองว่า "แรงงานผ่านศึก"ขณะที่มีคนไทยโดยเฉพาะสาวไทยเข้าไปโพสต์ข้อความให้กำลังใจแรงงานไทยอย่างคึกคัก
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยถึงการดูแลแรงงานไทยในประเทศอิสราเอล ซึ่งกำลังมีการสู้รบบริเวณชายแดนปาเลสไตน์ว่า ได้ประสานกับกระทรวงการต่างประเทศและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดในการดูแลความปลอดภัยของแรงงานไทย ซึ่งมีจำนวนกว่า 23,000 คน ทางการอิสราเอลมีระบบในการดูแลความปลอดภัยอย่างดี ในมาตรฐานสูงเช่นเดียวกับการดูแลคนในอิสราเอลทุกคน ขณะนี้แรงงานไทยยังคงทำงานได้ปกติและปลอดภัยดี
ทั้งนี้ กลุ่มแรงงานไทยในอิสราเอลได้เปิดเฟซบุ๊กในการติดต่อสื่อสารและแจ้งข่าวสาร "แรงงานไทยภายใต้โครงการความร่วมมือไทย-อิสราเอล (TIC)"ซึ่งเปิดให้สามารถเข้าไปทักทาย พูดคุย ส่งกำลังใจให้กับพี่น้องแรงงานไทยที่อิสราเอลได้ผ่านหน้าเฟซบุ๊กนี้ได้เช่นเดียวกัน
นายสุเมธ กล่าวว่า กรมการจัดหางานเตรียมทำหนังสือถึงญาติคนงานไทยในอิสราเอลให้ทราบถึงการเตรียมการช่วยเหลือ อพยพ และสถานการณ์ปัจจุบัน เช่นเดียวกับที่ได้ทำหนังสือถึงญาติคนงานไทยที่ทำงานในประเทศลิเบีย อิรัก และเคนยาแล้ว โดยในสัปดาห์หน้าจะหารือกับกรมการกงสุลเพื่อสรุปข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลคนไทยในทั้ง 4 ประเทศ และตรวจสอบแผนอพยพหากเกิดเหตุการณ์รุนแรง
อธิบดีกรมการจัดหางานกล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ยังให้จัดหางานจังหวัดออกไปพบปะเยี่ยมเยียนแสดงความห่วงใย และยืนยันว่าไม่ได้ทอดทิ้งคนงานไทยแต่อย่างใด โดยจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือแรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในต่างประเทศ โดยสามารถติดต่อสอบถามได้ทางหมายเลขสายด่วน 1694 ด้วย
(สำนักข่าวไทย, 12-7-2557)
กต.เผยยังไม่มีคนไทยได้รับบาดเจ็บ-เสียชีวิตจากเหตุโจมตีอิสราเอล
2 ก.ค. - นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยความคืบหน้าเหตุการณ์โจมตีอิสราเอลด้วยจรวดจากฉนวนกาซา และการเตรียมการช่วยเหลือคนไทย ว่า ได้รับรายงานจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ขณะนี้มีรายงานผู้เสียชีวิตในฉนวนกาซาแล้ว 53 คน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 400 คน แต่ยังไม่มีคนไทยได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต
นายเสข กล่าวว่า มีการยิงจรวดจากฉนวนกาซากว่า 180 ลูก เข้ามายังอิสราเอล แต่ระบบการป้องกัน Iron Dome ของอิสราเอลสามารถสกัดจรวดได้ร้อยละ 90 ซึ่งทางการอิสราเอลยืนยันว่าจะทำทุกวิถีทางเพื่อปกป้องผู้บริสุทธิ์และทำให้เหตุการณ์ความรุนแรงสิ้นสุดโดยเร็ว
“สถานเอกอัครราชทูตได้ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับชุมชนคนไทยในอิสราเอล ในการให้คำแนะนำ และความช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉิน แต่ในขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องอพยพคนไทยออกจากอิสราเอลแต่อย่างใด” นายเสข กล่าว
(สำนักข่าวไทย, 12-7-2557)
ระงับส่งคนไทยไปทำงานลิเบีย หลังการสู้รบไม่จบ
วันที่ 12 ก.ค. นายพงศวัฒน์ เพชรวิเชียร จัดหางานจังหวัดอุดรธานี เปิดเผยว่า ตามที่เกิดสถานการณ์ความไม่สงบและความรุนแรงในประเทศลิเบียอย่างต่อเนื่อง จากการต่อสู้ระหว่างกองกำลังฝ่ายรัฐบาลกับกลุ่มติดอาวุธต่อต้านรัฐบาล มีการโจมตีสถานที่ราชการ การทำร้ายและการลักพาตัวชาวต่างชาติ โดยสถานการณ์ยังมีความเสี่ยงและจะทวีความรุนแรงต่อไปอีก
ทั้งนี้ กรมการจัดหางานได้ประเมินสถานการณ์ในลิเบีย ซึ่งมีความสลับซับซ้อน แปรเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ยากที่จะคาดเดาเหตุการณ์ได้ ประกอบกับกระทรวงการต่างประเทศยังประกาศเตือนประชาชน ว่าหากไม่มีความจำเป็นจริงๆ ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไปลิเบีย เพื่อความปลอดภัยของแรงงานไทย ดังนั้น จัดหางานจังหวัดอุดรธานีจึงระงับการส่งแรงงานไทยไปทำงานในประเทศลิเบีย
อย่างไรก็ตาม หากทางแรงงานจังหวัดอุดรธานีประเมินสถานการณ์ในประเทศลิเบียว่าปลอดภัยต่อการกลับเข้าไปทำงานแล้ว ทางจ้ดหางานจึงจะจัดส่งแรงงานไทยเข้าไปทำงานในประเทศลิเบียอีกครั้งหนึ่ง.
(ไทยรัฐ, 12-7-2557)
ประธานสหภาพ ขสมก. แจง "ขาดทุน"เสนอ คสช. "ซื้อรถใหม่-เพิ่มอู่"
กรณีนางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงกลุ่มรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงคมนาคมจำนวน 13 แห่ง ที่มีผลประกอบการขาดทุนจำนวน 3 แห่ง ประกอบด้วย 1.การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ขาดทุนสะสมรวมหนี้สินสูงถึงประมาณ 1 แสนล้านบาท 2.องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ขาดทุนสะสมรวมหนี้สินประมาณ 8-9 หมื่นล้านบาท และ 3.บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ขาดทุนประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะต้องเข้าไปแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน โดยหน่วยงาน ร.ฟท. กับ ขสมก. มีแผนฟื้นฟูกิจการแต่ยังไม่ได้รับการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมนั้น
นายวีระพงศ์ วงแหวน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (สร.ขสมก.) กล่าวเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า ขสมก.เป็นองค์กรที่ขาดทุนมาตลอด เพราะวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งเพื่อให้เป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการให้บริการประชาชน ดังนั้น ขสมก.จึงไม่สามารถปรับขึ้นค่าโดยสารได้มากนัก เพราะต้องไม่ทำให้ประชาชนที่ใช้บริการเดือดร้อน เนื่องจากกลุ่มคนที่ยังขึ้นรถเมล์ ขสมก.ไม่ใช่กลุ่มคนที่มีรายได้ เป็นบุคคลที่มาจากต่างจังหวัด ต้องเก็บค่าโดยสารต่ำกว่าต้นทุน ตรงนี้เป็นนโยบายของรัฐบาลอยู่แล้ว
"ไม่ได้รู้สึกกังวลหรือหนักใจที่ถูกมองว่าเป็นรัฐวิสาหกิจที่ขาดทุนมาโดยตลอด เพราะการขาดทุนมาจากนโยบายรัฐเอง ที่ผ่านมาเคยมีการทำแผนฟื้นฟู ขสมก.ให้สามารถเลี้ยงตัวเองได้ หนึ่งในนั้นคือจัดหารถใหม่จำนวน 3,183 คัน มาทดแทนรถเดิมที่หมดสภาพแล้ว แต่ ขสมก.รอมา 4-5 รัฐบาลแล้วยังไม่ได้รับการอนุมัติ"นายวีระพงศ์กล่าว
นายวีระพงศ์กล่าวว่า ได้ทำหนังสือไปยังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผ่านไปยัง พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช. เพื่อเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหา ขสมก.แล้วหลายแนวทาง ทั้งเรื่องจัดหารถใหม่ จัดหาอู่รถเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถติดตั้งสถานีเอ็นจีวีได้ด้วย และอยากให้ คสช.มอง ขสมก.เป็นองค์กรที่ให้บริการสังคมเป็นรัฐสวัสดิการ ถ้าเป็นอย่างนี้ต้องไม่แสวงหากำไร เห็นด้วยกับที่ คสช.ต้องการแก้ปัญหารัฐวิสาหกิจที่มีปัญหามาก และหนึ่งในนั้นมี ขสมก.ด้วย ในการแก้ปัญหาอยากให้เชิญตัวแทนพนักงาน หรือ สร.ขสมก.เข้าไปช่วยให้ข้อเสนอแนะด้วย
"พนักงาน ขสมก.กว่า 1.3 หมื่นคน ไม่เคยได้รับโบนัส เพราะเป็นองค์กรที่ขาดทุนมาตลอดตั้งแต่ตั้ง ขสมก.เมื่อปี 2519 แต่พนักงานหวังว่า คสช.จะเข้ามาช่วยปรับปรุงดูแล ขสมก.ให้ดีขึ้น ไม่ต้องถึงกับทำให้มีกำไรมากเหมือนกับที่อื่น แค่ให้เลี้ยงตัวได้พอแล้ว"นายวีระพงศ์กล่าว
(ประชาชาติธุรกิจ, 13-7-2557)
อึ้ง! พนง.มหาวิทยาลัย จว.ชายแดนใต้ ไม่ได้เงินเดือนตามมติ ครม. ร้อง คสช.สางปัญหา
ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานจาก รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะเลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา (CHES) ถึงกรณีปัญหาเรื้อรัง 15 ปีของการบริหารระบบพนักงานมหาวิทยาลัย ว่าถึงเวลาแล้วที่ คสช.ต้องหันมาคืนความสุขให้พนักงานมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ โดยเฉพาะอาจารย์และเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยที่ปฏิบัติงานในเขต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
รศ.ดร.วีรชัย กล่าวถึงความเป็นมาว่า ในอดีตมีการกำหนดให้บุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ราชการในสถาบันอุดมศึกษา มีสถานะเป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ต่อมาในปี พ.ศ. 2542 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้จัดจ้างพนักงานทดแทนอัตราข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย เพื่อรองรับการออกนอกระบบในปี พ.ศ. 2545 โดยให้ได้รับเงินเดือนในอัตราที่มากกว่าข้าราชการ คือ เพิ่มขึ้น 1.7 เท่า สำหรับอาจารย์ และเพิ่มขึ้น 1.5 เท่า สำหรับบุคลากรสายสนับสนุน โดยจะไม่ได้รับสวัสดิการของระบบข้าราชการเดิม ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการกำหนดอัตราพนักงานมหาวิทยาลัย ทดแทนอัตราข้าราชการ และปัจจุบันในสถาบันอุดมศึกษาไม่มีการบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาแล้ว โดยจะใช้การบรรจุและแต่งตั้งพนักงานมหาวิทยาลัยทดแทนอัตราข้าราชการเดิม ปัจจุบันมีบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษากว่า 1 แสน 7 หมื่นคน มีข้าราชการเหลือเพียง 3 หมื่นคน และระบบที่กำหนดไว้ในอดีตดูเหมือนจะราบรื่นแต่ความจริงมีปัญหามาโดยตลอด คือ พนักงานมหาวิทยาลัยไม่ได้รับการปฏิบัติตามตามมติ ครม. ดังกล่าวจริง มีเพียงไม่กี่มหาวิทยาลัยเท่านั้นที่ให้เงินเดือนเต็ม 1.7 และให้สัญญาจ้างไปจนอายุ 60 ปี
รศ.ดร.วีรชัย กล่าวต่อว่า ที่น่าตกใจมากคือศูนย์ประสานงานฯ ได้รับทราบข้อมูลของอาจารย์ที่ปฏิบัติหน้าที่ในเขต 3 จังหวัดชายแดนใต้ ว่าได้รับเงินเดือนในอัตราสูงสุดไม่เกิน 1.5 บางแห่ง ได้ 1.3 และมหาวิทยาลัยบีบสัญญาจ้างลงเหลือเพียง 3 ปี 4 ปี และสูงสุดไม่เกิน 5 ปี อาจารย์หลายคนได้ลาออก หลายท่าน ถูกบีบออกจากงาน ในสายอาจารย์ที่สอนรัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ ต้องออกพื้นที่เพื่อทำวิจัย ทำการเรียนการสอน เสี่ยงต่อการลอบสังหาร และยังมีความไม่มั่นคงในอาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัยอีก ด้วยสัญญาที่สั้น เงินเดือนไม่เป็นตามข้อตกลง จึงได้ร้องเรียนเข้ามายังศูนย์ประสานงานฯ จำนวนมาก
"เราขอให้ คสช.ใช้โอกาสนี้ คืนความสุขให้พนักงานมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ แก้ปัญหาระบบพนักงานมหาวิทยาลัยให้เหมือนกันทั่วประเทศ สำนักงบประมาณจัดสรรงบมาตามมติ ครม. อยู่แล้ว ก็ขอให้ทุกคนได้เงินเดือนค่าตอบแทนและอายุสัญญาจ้างเท่ากันตามเจตนารมย์ของมติ ครม. เมื่อปี 42 และหลายมหาวิทยาลัยทำดีอยู่แล้ว เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎชัยภูมิ มหาวิทยาลัยราชภัฎสุรินทร์ ฯลฯ แต่มีมากกว่า 50 มหาวิทยาลัยที่แก้ไขปัญหายังไม่ได้ และไม่ปฏิบัติตามมติ ครม. ดังกล่าว ซึ่งปัญหาเกิดจากความไม่เข้าใจในระบบ และการให้อิสระในการบริหารจัดการพนักงานฯ"รศ.ดร.วีรชัยกล่าว
(ประชาชาติธุรกิจ, 14-7-2557)
ไทยหอบข้อมูลเดินสายแจงผู้นำเข้าเคลียร์ข้อกล่าวหาใช้แรงงานทาส
สหพันธ์สมาคมอุตฯประมงแนะไทยใช้เวทีที่แฮมเบิร์กหอบข้อมูลเคลียร์ข้อกล่าวหาใช้แรงงานทาสทำความเข้าใจผู้นำเข้าของเยอรมนี ตลาดนำเข้าอาหารทะเล สค.เผยการส่งออกไปอียูในช่วง 5 เดือนแรกปี’57 โต 14.8%
นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ(สค.) เปิดเผยว่าสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี รายงานการเข้าหารือกับสหพันธ์สมาคมอุตสาหกรรมประมงและผู้ค้าส่งอาหารทะเล(BVFI) กรณีไทยถูกกล่าวหาใช้แรงงานทาสในเรือประมงว่าสหพันธ์ฯได้แนะนำให้ไทยใช้เวทีการประชุมใหญ่ที่เมืองแฮมเบิร์กชี้แจงกับสมาชิกในวงการราว 90 รายที่ประกอบด้วยผู้ประกอบการด้านอาหารทะเล ผู้นำเข้าและห้างค้าปลีก เพื่อให้ข้อมูล สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว
“สมาพันธ์ฯได้นำข้อมูลจากหน่วยงานไทยและเครือซีพีอธิบายให้สมาชิกเข้าใจสภาพความเป็นจริงของผู้ส่งออกและอาหาร ที่นำเข้า ซึ่งปัจจุบันเยอรมนีต้องนำเข้าสินค้าประมงจากต่างประเทศจำนวนมาก โดยเฉพาะอาหารทะเลซึ่งสูงกว่าปลาที่จับเองและผลิตในประเทศถึง 6 เท่า โดยนำเข้าจากไทยเป็นอันดับ 5” นางนันทวัลย์ กล่าว
น.ส.ณัฐิยา สุจินดา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กรุงเบอร์ลิน กล่าวว่าการส่งออกไปตลาดสหภาพยุโรป(อียู) ยังขยายตัวได้ 6.4% โดยเฉพาะเยอรมนี คาดว่าจะเพิ่มจากปีก่อนที่ส่งออกได้ 4,067 ล้านเหรียญสหรัฐ(12.7%) ในช่วง 5 เดือนแรก (มกราคม-พฤษภาคม) ปีนี้ ส่งออกเพิ่มขึ้น 14.8% หรือมีมูลค่า 1,836 ล้านเหรียญสหรัฐ (59,181 ล้านบาท ขยายตัว 25.8%) ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศขนาดเล็กอื่นๆ ในยุโรปที่พึ่งพาเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศหลัก
โดยภาพรวมอียูเริ่มนำเข้าไก่สดเพิ่มขึ้นมาเป็นอันดับ 5 หรือเพิ่มขึ้น 23% คิดเป็นมูลค่า 392 ล้านเหรียญสหรัฐ(980 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.3%) เชื่อว่าผู้นำเข้าต้องใช้เวลาปรับคำสั่งซื้อจากเดิมที่ไปพึ่งไก่สดจากบราซิล ส่วนสินค้ากุ้งยังน่าเป็นห่วงมากเพราะประสบปัญหาโรคกุ้งตายด่วน (EMS) สินค้าไทยส่งออกไปเยอรมนี อันดับแรกได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ เพิ่มขึ้น 24.8% มูลค่า 1,064 ล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่อง และผลิตภัณฑ์ยาง
(แนวหน้า, 15-7-2557)
สหพันธ์ไปรษณีย์ฯ ยื่นหนังสือ คสช. ให้ช่วยเหลือด้านสวัสดิการ
(15 ก.ค.) ที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบก สหพันธ์ไปรษณีย์อนุญาตแห่งประเทศไทย นำโดยนางดารีย๊ะ หมานสัน รองประธานสหพันธ์ฯ พร้อมตัวแทนภาคใต้จำนวน 30 คน ระบุว่า ในวันนี้มายื่นหนังสือถึงหัวหน้า คสช.ให้ดำเนินการช่วยเหลือ เนื่องจาก พวกตนเป็นลูกจ้างนอกระบบของไปรษณีย์ไทย ซึ่งไม่ได้รับสวัสดิการ การบรรจุ หรือช่วยเหลือในการรักษาพยาบาลแต่อย่างใด ทั้งยังได้รับค่าจ้างไม่ถึง 300 บาท ด้วย ทั้งนี้ทางสหพันธ์มีสมาชิกทั้งหมด 3,500 คน จากทั่วประเทศ ซึ่งได้ดำเนินการร้องเรียนมาตั้งแต่รัฐบาลของพลตำรวจโททักษิณ ชินวัตรแล้ว แต่ไม่มีความคืบหน้า
(มติชนออนไลน์, 15-7-2557)
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai