พล.ต.อ.อดุลย์ ในฐานะหัวหน้าฝ่ายกิจการพิเศษ คสช. ยืนยันว่าไม่มีการทุบ-รื้อสิ่งก่อสร้างในทำเนียบรัฐบาล สื่อมวลชนยังทำงานได้ในรังนกกระจอก ตอนนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องงบแต่ใช้ไม่ถึง 300 ล้านแน่ๆ ส่วน ม.ล.ปนัดดา ยันปรับปรุงทำเนียบยึดสถาปัตยกรรมเดิม และเป็นไปตามแนวทางพอเพียง
ทำเนียบรัฐบาล (แฟ้มภาพ/ประชาไท)
15 ก.ค. 2557 - สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยรายงานวันนี้ (15 ก.ค.) ว่า พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองหัวหน้า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ในฐานะหัวหน้าฝ่ายกิจการพิเศษ คสช. กล่าวว่า จะไม่มีการ ทุบ หรือ รื้อถอน สิ่งก่อสร้างภายในทำเนียบรัฐบาล และไม่มีนโยบายเข้าแทรกแซง หรือ ย้ายสถานที่ทำงานของสื่อมวลชน โดยยังคงให้ปฎิบัติงานในรังนกกระจอกได้เช่นเดิม เนื่องจาก ที่ผ่านมา มีเพียงนโยบายให้ปรับปรุง ซ่อมแซมอาคารเท่านั้น
ส่วนการย้ายศูนย์แถลงข่าว ประจำทำเนียบรัฐบาล ไปยังตึกบัญชาการ 2 เป็นเพียงแนวคิดที่ยังไม่ได้ข้อยุติ จึงขอย้ำว่าการปรับปรุงครั้งนี้ จะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น ไม่มีอะไรที่แย่ หรือ เลวร้ายลง สำหรับงบประมาณที่ใช้ แม้จะยังไม่ได้ข้อสรุป แต่ยืนยันว่าไม่ถึง 300 ล้านบาท ตามที่เป็นข่าวอย่างแน่นอน
ด้าน ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ได้รับทราบแผนการปรับปรุงอาคารสถานที่ ภายในทำเนียบรัฐบาล และได้กำชับว่า การปรับปรุงทำเนียบรัฐบาลซึ่งเป็นสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ จะต้องเป็นไปตามสถาปัตยกรรมเดิม ซึ่งการดำเนินการต้องมีการหารือร่วมกับกรมศิลปกร กรมโยธาธิการและผังเมือง รวมถึงต้องเป็นไปตามแนวทางพระราชดำรัสเรื่องความพอเพียง ประหยัด ไม่ฟุ่มเฟือย โดยเฉพาะอย่างยิ่งรังนกกระจอกสถานที่ทำงานของสื่อมวลชน ซึ่งมีการก่อสร้างเพื่อให้เป็นสถานที่ทำงานให้มาตั้งแต่ปี 2522 ก็ไม่มีการทุบ หรือย้ายสถานที่ทำงานแต่อย่างใด
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 14 ก.ค. มีรายงานข่าวในหนังสือพิมพ์ข่าวสดว่า ในแผนการปรับปรุงทำเนียบรัฐบาล นอกจากการย้ายศูนย์แถลงข่าวตึกนารีสโมสร ไปอยู่ที่ตึกบัญชาการ 2 จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์แล้ว ยังมีแผนการรื้อห้องปฏิบัติการสื่อมวลชน 1 หรือรังนกกระจอกเก่า เพื่อใช้พื้นที่ทำเป็นสวนหย่อมสำหรับพักผ่อน และย้ายให้สื่อมวลชนทั้งหมดไปรวมกันอยู่ที่ห้องปฏิบัติการสื่อมวลชน 2 โดยจะขอฟังความเห็นจากสื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาลในสัปดาห์หน้า อย่างไรก็ตามเมื่อมีกระแสข่าวออกไป ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์และกระแสต่อต้านจากสื่อมวลชน เนื่องจากรังนกกระจอกถือเป็นห้องปฏิบัติการสื่อมวลชนที่อยู่คู่กับทำเนียบรัฐบาล จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของทำเนียบรัฐบาลตั้งแต่สมัยรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อปี พ.ศ. 2522 ส่วนการเพิ่มห้องปฏิบัติการสื่อมวลชน 2 ก็เพื่อลดความแออัดของจำนวนสื่อมวลชน เนื่องจากมีปริมาณเพิ่มขึ้นตามสถานการณ์ปัจจุบัน