Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

อ่านสตรีอุษาอาคเนย์บนแผ่นฟิล์ม กับ กำจร หลุยยะพงศ์

$
0
0

เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2557 วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดกิจกรรม “หญิงอ่านเขียน เขียนอ่านหญิง” ครั้งที่ 7 ในครั้งนี้เป็นการอ่านงานเขียนเรื่อง Feminism in Film โดยผู้ชวนอ่านคือ กำจร หลุยยะพงศ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชานิเทศน์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

กำจรกล่าวว่าหนังสือเล่มเรื่องที่พูดถึงภาพยนตร์ในมิติเพศสภาวะคือหนังสือ “ความเรียงว่าด้วยสตรีกับสื่อมวลชน” ของอาจารย์กาญจนา แก้วเทพ หนังสือเล่มนี้กล่าวว่าภาพยนตร์ส่วนใหญ่เป็นผลผลิตของผู้ชาย วิธีการเล่าเรื่องในหนังกระแสหลักต่างๆ ก็มักออกมาจากมุมมองของผู้ชาย ทั้งบทพูด มุมกล้อง เส้นเรื่อง ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีส่วนในการสร้างภาพลักษณ์ให้กับผู้หญิง เช่นในเรื่องเจมส์ บอนด์ ผู้หญิงของบอนด์ต้องหุ่นสวย เซ็กซี่ นอกจากนี้ความคิดของผู้ชายในภาพยนตร์ยังสะท้อนออกมาจากมุมกล้อง เนื่องจากตากล้องส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย กล้องจึงมักจะจับภาพไปยังผู้หญิงสวยๆ เป็นการบังคับให้คนดูโฟกัสผู้หญิงผ่านมุมมองของผู้ชาย เช่นสะโพก หน้าอก ใบหน้า เพื่อให้เกิดความหลงไหล

อย่างไรก็ตาม ต่อมาได้เริ่มภาพยนตร์แนวผู้หญิง (Woman film) ที่ผู้กับกับมักจะเป็นผู้หญิง ถึงแม้จะไม่เป็นผู้หญิงแต่ก็จะมีมุมมองการเล่าเรื่องแบบผู้หญิง เช่นภาพยนตร์เรื่อง Unforgiven โดยผลงานกำกับของคลินท์ อีสต์วูด เป็นเรื่องของคาวบอยที่รับเงินจากโสเภณี ซึ่งเป็นการเล่าเรื่องของผู้หญิงจากมุมมองของผู้หญิงจากเดิมที่เป็นการเล่าเรื่องผ่านมุมมองของผู้ชาย หรือภาพยนตร์เรื่อง Bridge of Madison county ของคลิ้นท์อีกเช่นกัน ก็เป็นการสะท้อนการมองโลกและปัญหาของผู้หญิง ภาพยนตร์ดังกล่าวเป็นเรื่องราวของผู้หญิงสูงอายุคนหนึ่งที่ไม่มีความสุขกับชีวิตแต่งงาน ไม่ได้รับความสนใจจากสามีและลูก จนกระทั่งมาเจอกับพระเอกซึ่งเป็นคนจากต่างเมือง ทั้งสองตกหลุมรักกันแต่แทนที่นางเอกจะหนีไปกับพระเอก เธอกลับเลือกที่จะอยู่กับครอบครัวที่ไม่มีความสุขของเธอ เพราะความเป็นแม่ และความเป็นเมียที่กดทับเสรีภาพของเธอเอาไว้ เราจะเห็นได้ว่าแม้ผู้กำกับจะไม่ใช้ผู้หญิงแต่ก็สามารถเข้าใจความคิดของผู้หญิงและสะท้อนออกมาได้เป็นอย่างดี

กำจรกล่าวว่า เมื่อเราพูดถึงประเด็นเรื่องภาพยนตร์ ผู้หญิง และอาเซียน ผู้หญิงอาเซียนในมุมมองของคนอาเซียนด้วยกันเอง กับมุมมองของตะวันตกมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ตะวันตกยังคงมองผู้หญิงอาเซียนในฐานะเหยื่อ ผู้ถูกกระทำ ทำงานค้าบริการทางเพศ  เชื่อมโยงกับยาเสพติด ผู้หญิงอาเซียนในสายตาคนตะวันตกจึงดูอ่อนแอ ไม่ว่าจะเป็นไทย มาเลเซีย อินโดนิเซีย เช่นเรื่อง Only god forgive หรือในภาพยนตร์เชิงสารคดีเรื่อง a good woman of Bangkok ก็เป็นการเสนอภาพโสเภณีในฐานะตัวแทนของผู้หญิงกรุงเทพฯ แม้ในยุคหลังๆ จะเริ่มมีภาพของผู้หญิงที่พยายามแข็งขืนต่อสู้บ้างแต่ก็ในปริมาณที่น้อยมาก แต่ในสายตาของคนอาเซียนด้วยกันเองผู้หญิงอาเซียนมีความหลากหลายมาก ภาพยนตร์ในยุคใหม่ๆ เริ่มมีภาพของผู้หญิงที่แข็งขืน ต่อสู้กับระบบที่กดขี่มากขึ้นเช่นเรื่อง บะบ๋า ยะหย๋า เป็นซีรี่ย์สิงคโปร์ที่ออกอากาศทางช่องไทยพีบีเอส ซึ่งเป็นเรื่องราวของผู้หญิงที่ต่อสู้กับการกดขี่ทางชนชั้นมาตั้งแต่รุ่นยาย ซึ่งผิดกับผู้หญิงอาเซียนในอดีตที่มักจะมีภาพเรียบร้อย น่ารักเหมือนผ้าพับไว้ รอเป็นแม่บ้านที่ดี แบบในภาพยนตร์เรื่องสบายดีหลวงพระบาง ที่อนันดา เอฟเวอริ่งแฮมนำแสดง นางเอกในเรื่องซึ่งเป็นสาวลาวเป็นผู้หญิงที่ยึดติดกับประเพณี อยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน แต่ถ้าจะย้อนให้ไปไกลกว่านั้นภาพของผู้หญิงอาเซียนในภาพยนตร์ยุคแรกเริ่มคือผี เช่นภาพยนตร์งูเก็งกองของกัมพูชา ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อดั้งเดิมของอาเซียนที่เชื่อมโยงผู้หญิงเข้ากับอำนาจเร้นลับ ผู้หญิงในภาพยนตร์ไทยก็เช่นกัน ต้นแบบของผู้หญิงไทยในภาพยนตร์มีอำนาจผ่านผี เช่นเรื่องบ้านผีปอบ กับนางนาค และความเฮี้ยนของผู้หญิงจะเปลี่ยนแปลงไปตามการกระทำของผู้ชาย ผีผู้หญิงต้นตำรับไม่ว่าจะเป็นบ้านผีปอบ หรือแม่นาคยุคเป็นผีที่ผู้ชายไม่สามารถปราบได้ แม้กระทั่งแม่นาคเวอร์ชั่นแรกคนที่ตายกลับเป็นพี่มากเสียเอง จนในยุคต่อมาที่ผู้หญิงถูกกำราบโดยผู้ชายเสียเป็นส่วนใหญ่ แม้กระทั่งแม่นาคเวอร์ชั่นล่าสุดในภาพยนตร์พ่อมากพระขโนงที่มาริโอ้ เมาเรอร์ นำแสดง แม่นาคกลับกลายเป็นแรงงานที่มีประโยชน์ในตอนสุดท้ายของเรื่อง เหตุผลที่แม่นาคไม่จำเป็นต้องไปผุดไปเกิดไม่ใช่เพราะความรักโรแมนติกของพ่อมาก แต่เป็นพระแม่นาคสามารถสร้างประโยชน์ให้กับชาวบ้านได้ กล่าวคือตอกหลังคาวัดได้ ทำบ้านผีสิงได้ ส่วนรูปแบบของผู้หญิงอุษาอาคเนย์ในภาพยนตร์รูปแบบสุดท้ายคือภาพของวีรสตรี ซึ่งถือเป็นภาพที่ค่อนข้างใหม่ที่เราอาจจะยังไม่เห็นมากนักแต่ก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นซีรี่อำแดงเหมือนที่สะท้อนชีวิตของผู้หญิงที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิสตรีในสมัยรัชกาลที่ 4 หรือทวีภพเวอร์ชั่นปี 2547 ที่นางเอกสามารถช่วยให้สยามพ้นจากภัยของลัทธิล่าอาณานิคมได้ หรือในภาพยนตร์บู๊อย่างเช่นเรื่องช๊อกโกแลทที่จีจ้า ญาณิน นำแสดงก็ถือเป็นการสะท้อนภาพลักษณ์ของผู้หญิงเก่ง และเป็นวีรสตรีเช่นกัน

กำจรกล่าวอีกว่า นอกจากการสะท้อนภาพลักษณ์ของผู้หญิง แล้วภาพยนตร์ยังเป็นพื้นที่แห่งการต่อสู้ในประเด็นทางเพศอีกด้วย ซึ่งแง่มุมดังกล่าวสะท้อนออกมาจากหนังรักเสียเป็นส่วนใหญ่ การต่อสู้ที่เราเห็นได้ในปัจจุบันเช่นการต่อสู้เรื่องวัย ภาพยนตร์คลาสสิคที่แสดงออกถึงการต่อสู้ด้านวัยที่ชัดเจนคือเรื่องข้างหลังภาพ เรื่องราวความรักระหว่างคุณหญิงกีรติ และนพพร แต่ตอนจบของเรื่องไม่ค่อยจะมีความสุขนัก อันสะท้อนถึงการข้อจำกัดบางอย่างที่ผู้กำกับพยายามนำเสนอ แต่ทุกวันนี้มีการขยายพื้นที่ของรักต่างกับวัยออกไปอย่างเห็นได้ชัดไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์เรื่อง “ช่างมันฉันไม่แคร์” “30 กำลังแจ๋ว” หรือการต่อสู้ในประเด็นเรื่องบทบาทของผู้หญิงในการเข้าหาเพศตรงข้ามเช่นเรื่อง “รถไฟฟ้ามาหานะเธอ” การเปิดพื้นที่ในเรื่อง ความรักกับชาติพันธุ์เช่น “อารีดัง” หรือ “คู่กรรม”

พื้นที่การต่อสู้ที่น่าสนใจที่สุดคือข้อจำกัดเรื่องเพศสภาวะ (Gender) ภาพยนตร์เรื่องแรกๆ ที่มีการพูดถึงความรักร่วมเพศคือ “เพลงสุดท้าย” แต่ตอนจบก็คือความตายเช่นเดียวกับข้างหลังภาพ แสดงให้เห็นว่าผู้กำกับเองก็ยังไม่สามารถก้าวพ้นจากความสัมพันธ์แบบชาย-หญิงได้ ซีรี่ภาพยนตร์ที่แสดงให้เห็นถึงการท้าทายอำนาจของสถาบันรักต่างเพศที่ดีคือ “หอแต๋วแตก” จริงอยู่ที่ภาพยนตร์ดังกล่าวเป็นการสร้างภาพลักษณ์ให้เพศที่ 3 ต้องยึดโยงกับความตลก แต่อีกมุมนึงความตลกมันคือการเขย่าอำนาจของสังคมรักต่างเพศ ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวทำให้เห็นว่านางเอกของเรื่องไม่จำเป็นต้องเป็นชายจริงหญิงแท้เสมอไปก็สามารถมีตอนจบที่มีความสุขได้ จนนำไปสู่ภาพยนตร์เรื่อง “รักแห่งสยาม” หรือ “ไม่ได้ขอให้มารัก” ที่เอาความตลกของเพศที่ 3 ออกไปอย่างสิ้นเชิง และเป็นเรื่องราวดราม่าล้วนๆ ซึ่งสื่อภาพยนตร์ก็ส่งผลต่อคนที่ทำงานในวงการบันเทิงโดยตรง เราจะเห็นว่าวงการที่เปิดรับเรื่องความหลากหลายทางเพศมากที่สุดวงการหนึ่งคือวงการบันเทิง เราเห็นดาราหลายๆ คนเช่นดีเจเจ๊แหม่ม เบน ชลาทิศ ออกมาประกาศตัวว่าเป็นเพศที่สามพร้อมกับควงแฟนหนุ่มของพวกเขาออกมาแถลงข่าวเยอะมาก แต่ที่ยังไม่ได้รับการยอมรับมากนักคือพื้นที่ความสัมพันธ์แบบหญิงรักหญิง แม้จะมีภาพยนตร์เลสเบี้ยนออกมาบ้างเช่น Yes or no แต่ก็ไม่ได้รับความนิยมจากกระแสสังคมมากเท่าที่ควร

อย่างไรก็ตามแม้ภาพยนตร์รักจะเป็นสื่อที่เปิดพื้นที่ให้กับรูปแบบความสัมพันธ์ที่หลากหลาย แต่เราก็ต้องไม่ลืมว่าผู้หญิงในภาพยนตร์ประเภทนี้ส่วนใหญ่จะเป็นการตอกย้ำภาพของผู้หญิงในยุคที่ 2 นั่นคือผู้หญิงต้องเรียบร้อย หมกมุ่นอยุ่กับความรัก ซึ่งหนังรักเองก็เป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงแทบจะทุกเรื่อง แม้แต่หนังไทยเรื่องแรกคือเรื่องนางสาวสุวรรณก็ยังเป็นหนังรัก หนังรักจึงเปรียบเสมือนดาบสองคม เพราะในแง่หนึ่งมันช่วยเปิดพื้นที่ให้รูปแบบความสัมพันธ์ใหม่ๆ แต่ในอีกแง่หนึ่งมันก็เป็นการตอกย้ำภาพของผู้หญิงในฐานะเพศที่ต้องคิดถึงแต่ความรักด้วยเช่นกัน

ในประเด็นสุดท้ายของวันนี้คือเรื่องหนังรักกับอาเซียน กำจรเล่าว่า หนังรักเป็นการสะท้อนมุมมองที่คนไทยมีต่อประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนได้เป็นอย่างดี ลองสังเกตดูว่าเราจะไม่ค่อยเห็นความรักระหว่างคนไทยกับพม่า จะมีบ้างก็เป็นหนังกระแสรองของเจ้ย อภิชาติพงศ์ซึ่งก็ไม่ได้เป็นที่พูดถึงในวงการหนังตลาดบ้านเราเท่าไหร่ อีกทั้งยังเป็นเรื่องราวความรักระหว่างแรงงานต่างด้าวกับสาวโรงงาน ซึ่งก็สะท้อนว่าความรักระหว่างไทยพม่าจะมีได้ก็แต่ในชนชั้นแรงงานเท่านั้น กัมพูชาก็เช่นกัน เราก็จะไม่ค่อยเห็นคนไทยรักกับคนกัมพูชา เราจะมองกัมพูชาในฐานะดินแดนลี้ลับเป็นประเทศแห่งหมอผี และครึ่งคนครึ่งเสืออังกอร์ แต่ความรักระหว่างไทยสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนิเซีย พวกนี้ไม่ค่อยมีปัญหาเพราะเรามีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ดีต่อกัน เวียดนามก็เป็นประเทศที่เราเพิ่งจะรักเขาได้ เมื่อเขาเริ่มพัฒนาและมีความสัมพันธ์อันดีกับเรา เช่น MV เพลง เธอ ของวงค๊อคเทล ที่อนันดาเป็นพระเอก MV หรือภาพยนตร์ ฮอยอันฉันรักเธอ ก็แสดงให้เห็นว่าไทยกับเวียดนามเริ่มรักกันได้แล้ว ความรักในภาพยนตร์ กับความรักในมิติความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยและอาเซียนจึงมีความสัมพันธ์กันอย่างน่าประหลาด

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles