คปก.ลงพื้นที่ขอนแก่น ระดมความเห็นร่างกม.หลักประกันธุรกิจ ภาคธุรกิจ-ธนาคารหนุนคลอดกม. แนะตั้งสำนักงานทะเบียนภูมิภาคเอื้อประโยชน์คู่สัญญา
29 เมษายน 2556 - คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านกฎหมายเอกชนและธุรกิจในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) จัดเสวนา เรื่อง“ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. .... กับทรัพย์สินทางปัญญา”เมื่อวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมมงกุฎพลอย โรงแรมโฆษะ จังหวัดขอนแก่น
คปก.แจงร่างฯหลักประกันธุรกิจ เผยภาคธุรกิจ-ธนาคารหนุนคลอดกม.
ศาสตราจารย์ ดร. กำชัย จงจักรพันธ์ กรรมการปฏิรูปกฎหมายและประธานกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านกฎหมายเอกชนและธุรกิจ กล่าวบรรยายในหัวข้อ “คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายกับภารกิจในการปฏิรูปกฎหมาย” ว่า ระบบกฎหมายหลักประกันในประเทศไทยมีเพียง 3 ประการ คือ ค้ำประกัน จำนำ จำนอง หลักประกันอย่างอื่นนั้นเป็นเพียงความพยายามของนักกฎหมายที่จะต้องดัดแปลงข้อกฎหมายเพื่อความสะดวกในวงการธุรกิจเท่านั้น ดังนั้น จึงต้องมีกฎหมายเกี่ยวข้องกับหลักประกันทางธุรกิจ เพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้ เช่นเดียวกับประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีหลักประกันในรูปแบบที่ 4 ขึ้น กล่าวคือ ให้สามารถนำสังหาริมทรัพย์ เช่น สินค้าคงคลัง มาเป็นหลักประกันได้โดยไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้ผู้รับหลักประกันยึดถือไว้ นอกจากนี้ยังได้เปิดให้ผู้ประกอบกิจการสามารถนำกิจการทั้งกิจการมาเป็นหลักประกันได้ เช่น กิจการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ กิจการร้านขายอาหาร รวมไปถึงการนำทรัพย์สินทางปัญญา อันมีลักษณะพิเศษแตกต่างจากทรัพย์สินชนิดอื่นมาเป็นหลักประกัน
“ในเชิงนโยบาย ร่างฯ ฉบับนี้ มีผู้เห็นด้วยหลายภาคส่วน ทั้งวงการธนาคาร ภาคธุรกิจต่าง ภาคการเมือง รวมไปถึงภาคประชาชนที่เป็นลูกหนี้ ซึ่งทางคณะกรรมการพัฒนาปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยหลักประกันทางธุรกิจได้นำร่างฯ ออกรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องดังกล่าว ในคราวนี้เป็นครั้งที่ 11 แล้ว”
ศ.ดร.กำชัย กล่าวด้วยว่า กฎหมายร่างพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจนี้ เป็นกฎหมายที่ไม่เป็นโทษแก่ใครเลย เนื่องจากเป็นเพียงเครื่องมือให้คู่สัญญาสามารถนำมาเลือกใช้ได้ และช่วยเสริมสร้างความพร้อมในการแข่งขันเมื่อประเทศไทยจะต้องเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
ร่างฯหลักประกันธุรกิจประสานประโยชน์เจ้าหนี้ ลูกหนี้เข้าถึงแหล่งทุนต้นทุนต่ำ
รศ.ไพฑูรย์ คงสมบูรณ์ อาจารย์พิเศษ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ร่างฯ นี้มีขึ้นเพื่อใช้กับสินเชื่อหรือหนี้ทางการค้า ไม่ใช่หนี้ทางครัวเรือน เพื่อนำเงินมาใช้ในการลงทุนทำธุรกิจการค้า และให้ผู้ขอสินเชื่อนั้นสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบจากสถาบันการเงินได้ โดยในการปล่อยเงินกู้ของสถาบันการเงินนั้น จำเป็นที่จะต้องมีการบริหารความเสี่ยงโดยการเรียกหลักประกัน เนื่องจากสถาบันการเงินนั้นมีความรับผิดชอบต่อเงินของผู้ฝากเงินกับธนาคาร ไม่ใช่เงินของธนาคารเอง โดยหลักประกันที่ดีที่สุด คือการนำทรัพย์สินมาเป็นหลักประกัน
“กฎหมายฉบับนี้จะเป็นการประสานประโยชน์ระหว่างฝ่ายเจ้าหนี้และลูกหนี้ คือ เจ้าหนี้หรือสถาบันการเงินนั้นมีความต้องการที่จะได้รับเงินต้นคืนภายในเวลาที่กำหนดพร้อมดอกเบี้ย ส่วนลูกหนี้ก็ต้องการที่จะเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้โดยมีต้นทุนต่ำ ทั้งนี้ การที่ลูกหนี้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้โดยต้นทุนต่ำนั้นก็จะเพิ่มความสามารถในการแข่งขันได้”
รศ.ไพฑูรย์ กล่าวว่า ปัจจุบันระบบกฎหมายหลักประกันด้วยทรัพย์ของไทยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประกอบไปด้วยการจำนอง จำนำ ซึ่งยังมีอุปสรรค ข้อจำกัดอยู่ กล่าวคือ การจำนองนั้นจำกัดเพียงทรัพย์สินบางประเภทเท่านั้นที่สามารถนำมาเป็นหลักประกันได้ การจำนำนั้นจำเป็นที่จะต้องมีการส่งมอบทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันให้แก่ผู้รับจำนำซึ่งทำให้ลูกหนี้ไม่สามารถนำทรัพย์สินนั้นไปใช้เพื่อหาประโยชน์ในทางเศรษฐกิจได้จึงมีแนวคิดการร่างพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจขึ้น เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ต้องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยมีหลักการสำคัญ คือ การให้ลูกหนี้สามารถนำทรัพย์สินต่างๆ รวมถึงกิจการทั้งกิจการมาเป็นหลักประกันได้โดยไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สินให้ผู้รับหลักประกันและให้ผู้รับหลักประกันมีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันนั้น เป็นรูปแบบการประกันด้วยทรัพย์โดยไม่มีการยกเลิกระบบหลักประกันของเดิม คือ จำนอง จำนำ แต่อย่างใด
ผู้รับหลักประกันบังคับหลักประกันโดยไม่ต้องผ่านศาล
นายสม กุมศัสตรา รองอธิบดีผู้พิพากษา ภาค 4 กล่าวว่า เหตุผลหนึ่งของการมีกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ นอกจากเพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับความไม่เหมาะสม ความไม่เพียงพอของระบบกฎหมายหลักประกันที่มีอยู่เดิม ยังมีเหตุผลในเรื่องความช้าของกระบวนพิจารณาของศาลและกระบวนการบังคับคดี ร่างฯ ฉบับนี้โดยภาพรวมกฎหมายทั้งฉบับ เห็นว่าเป็นกฎหมายลูกครึ่งคือ เป็นกฎหมายสารบัญญัติคือการบัญญัติให้บุริมสิทธิเพิ่มเติมจากที่มีปรากฏในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และวิธีสารบัญญัติ โดยกำหนดกระบวนวิธีพิจารณาของศาล และเป็นกฎหมายลูกครึ่งระหว่างกฎหมายแพ่งและกฎหมายอาญาอีกด้วย
“โดยหลักแล้ว การบังคับชำระหนี้นั้น เจ้าหนี้ไม่สามารถบังคับชำระหนี้ได้เอง จะต้องมาอาศัยกระบวนพิจารณาของศาลเพื่อทำการบังคับให้ แต่ตามร่างฯ นี้ ผู้รับหลักประกันสามารถบังคับหลักประกันได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการพิจารณาของศาล”นายสม กล่าว
แนะตั้งสำนักงานทะเบียน-ผู้บังคับหลักประกันในภูมิภาค
นายเพทาย ศูนย์จันทร์ เลขาธิการชมรมธนาคารจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า หลักประกันที่ธนาคารรับเป็นประจำอยู่ในปัจจุบันนั้น ส่วนมากก็เป็นการจำนอง แต่ในส่วนของธนาคารนั้นก็มีการรับหลักประกันอื่นๆ เช่นกัน เช่น ที่ราชพัสดุ ซึ่งจะต้องมีการดำเนินการกำหนดเงื่อนไขเป็นพิเศษ มีกระบวนการที่จะต้องดำเนินการมากและมีความล่าช้า จะเห็นว่าภาคธนาคารนั้นไม่ได้ต้องการที่จะต้องยึดทรัพย์ลูกค้า แต่ต้องการที่จะได้รับเงินต้นและดอกเบี้ยคืนครบถ้วนเท่านั้น ในความเป็นจริงแล้วทั้งธนาคารและลูกค้าก็ไม่ได้มีความต้องการที่จะให้คดีความขึ้นสู่ศาลเนื่องจากจะเกิดค่าใช้จ่ายตามมา
“แต่เดิมนั้น กรณีของกิจการนั้นไม่สามารถนำกิจการทั้งกิจการมาเป็นหลักประกันได้ หากร่างฯ ฉบับนี้ออกมาใช้บังคับแล้วก็จะทำให้เกิดทางเลือกมากขึ้น ทั้งนี้เห็นว่าควรจะมีสำนักงานทะเบียนรวมไปถึงผู้บังคับหลักประกันในส่วนของภูมิภาคเพื่ออำนวยความสะดวกแก่คู่สัญญาด้วย ไม่ต้องไปติดต่อที่กรุงเทพเท่านั้นดังที่เคยเป็น”
นายปรีชา พันธ์นิกุล รองประธานหอการค้าจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ร่างฯ นี้จะเป็นการอุดช่องว่างของกฎหมายหลักประกันที่มีอยู่เดิม ในส่วนของผู้รับหลักประกันนั้น ที่มีการกำหนดไว้เฉพาะสถาบันทางการเงินนั้น เห็นว่าน่าจะมีการเปิดโอกาสให้บุคคลต่างๆ สามารถเป็นผู้รับหลักประกันได้ด้วย ซึ่งเท่ากับเป็นการเปิดช่องให้บุคคลอื่นใช้ประโยชน์ได้ด้วยไม่เฉพาะแต่สถาบันการเงินย่อมเป็นประโยชน์แก่ลูกหนี้ การให้สถาบันการเงินเป็นผู้บังคับหลักประกันแม้ไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย แต่ย่อมก่อให้บุคคลกลุ่มอื่นๆอีกหลายคนไม่ได้รับประโยชน์
เรือตรีรัฐศาสตร์ ไหลหลั่ง ผู้วิเคราะห์อาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้จะทำให้เกิดผู้ประกอบวิชาชีพ 2 ประเภท คือ 1.ผู้บังคับหลักประกัน 2.ผู้ประเมิน และจะต้องมีการทำนิติกรรมโดยการไปจดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ซึ่งจะต้องมีการเชื่อมโยงระบบกับเครดิตบูโรด้วยและต้องเป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้มีการตรวจสอบได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำว่าลูกหนี้รายนั้นๆมีการนำทรัพย์สินมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจแล้วหรือไม่ และในแต่ละขั้นตอนซึ่งมีค่าใช้จ่าย เช่น การตรวจสอบข้อมูล ต้นทุนการจัดการระบบเชื่อมโยงข้อมูล การทำสัญญาหลักประกัน เป็นต้น ซึ่งท้ายที่สุดลูกหนี้หรือผู้ให้หลักประกันต้องรับภาระ ตรงนี้ค่าธรรมเนียมจะต่างจากระบบอื่นมากน้อยเพียงใด อาทิ เมื่อเทียบกับการจดทะเบียนจำนองกับกรมที่ดิน ค่าธรรมเนียมจะต่างกันหรือไม่
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai