หมายเหตุประเพทไทย สัปดาห์นี้พบกับ อรรถ บุนนาค และพิธีกรรับเชิญ รศ.ชาตรี ประกิตนนทการ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มาคุยกันถึงแนวคิดและการออกแบบ การตกแต่งภายในสนามบินต่างๆ ที่สะท้อนของอัตลักษณ์ของชาติ ซึ่งรวมถึงสนามบินสุวรรณภูมิของไทยด้วย
คนจำนวนหนึ่งเชื่อว่า สนามบินเปรียบเสมือนประตูบานแรกที่เปิดต้อนรับการมาเยือนของคนต่างชาติ เป็นความภาคภูมิใจของประเทศ ดังนั้นจึงให้ความสำคัญกับการออกแบบสนามบินที่แสดงความความเป็นชาตินั้นๆ อย่างเด่นชัด ดังเช่น สนามบินสุวรรณภูมิ ที่แม้ภายนอกจะถูกออกแบบให้ดูทันสมัยโดย Helmut Jahn สถาปนิกชาวเยอรมัน แต่กลับไม่เป็นที่พอใจและถูกมองว่าสถาปัตยกรรมของสนามบินสุวรรณภูมิไม่สะท้อนถึงอัตลักษณ์ความเป็นไทย จึงมีการออกแบบและตกแต่งภายในด้วยสิ่งต่างๆ ที่สะท้อนความเป็นไทยแบบจารีตเป็นจำนวนมาก เช่น ลวดลายไทยบนพื้นทางเดิน รูปปั้นยักษ์ ประติมากรรมนารายณ์กวนเกษียรสมุทร ศาลาไทย รวมถึงการประดับภาพจิตรกรรมไทยเล็กใหญ่อีกจำนวนหนึ่ง
ในขณะที่สนามบินนานาชาติอื่นๆ กลับออกแบบและตกแต่งภายในที่เน้นความทันสมัย ล้ำยุคของการเดินทางโดยอากาศยาน เช่น John F.Kennedy International airport ในสหรัฐอเมริกาที่สร้างเป็นอาคารรูปทรงคล้ายนกบินมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960 หรือสนามบินใหม่ๆ อย่าง Hamad International airport ที่ดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ Beijing Capital International airport ที่ปักกิ่งประเทศจีน ที่เปิดให้สถาปนิกสามารถตีความและประยุกต์อัตลักษณ์ความเป็นชาติผ่านรูปทรงเรขาคณิตแบบอาหรับ และการใช้สีสันและเส้นสายในแบบของจีน ทำให้การออกแบบภายนอกและภายในสอดคล้องกลมกลืน ไม่แปลกแยก ขณะเดียวกันก็ดูทันสมัยและสะท้อนลักษณะความเป็นชาติผ่านการตีความใหม่ๆ ของนักออกแบบได้ด้วย