Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 2-8 ก.ค. 2557

$
0
0
อิมพีเรียล ควีนส์ปาร์ค สุขุมวิท 22  เล็งเลิกจ้างครั้งใหญ่  พนักงานโรงแรมโอดเงินชดเชยไม่เป็นธรรม  
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พนักงานโรงแรมอิมพีเรียล ควีนส์ปาร์ค ส่งจดหมายร้องเรียน กรณีมีการเลิกจ้างพนักงานโรงแรมอิมพีเรียลฯ จำนวน 800 คน
 โดยเนื้อหาในจดหมายระบุว่า จากกรณีตระกูลสิริวัฒนภักดี เจ้าของโรงแรมอิมพีเรียล ควีนปาร์ค ซอยสุขุมวิท 22 ซึ่งเป็นโรงแรมใหญ่ที่สุดในกรุงเทพมหานคร ด้วยจำนวน 1,251 ห้องพัก ได้ตัดสินใจปิดโรงแรมฯ ที่บริหารโดยคนไทย เพื่อปรับปรุงโรงแรมฯ ใหม่ และมอบให้เครือมาร์ริออท เป็นผู้บริหารกิจการ
 
ประกอบกับการนำโรงแรมเข้าไประดมทุนผู้ถือหุ้นรายย่อยในกองทุนอสังหาริมทรัพย์ โดยการต้องการปิดปรับปรุงโรงแรมเป็นเวลา 2 ปี และบอกเลิกว่าจ้างพนักงานจำนวน 800 คน ทั้งหมดภายใน 3 เดือน
 
การปลดพนักงานครั้งนี้ นับว่าเป็นครั้งใหญ่มากในอุตสาหกรรมโรงแรมของประเทศ โรงแรมยอมจ่ายค่าชดเชยค่าจ้างให้พนักงานเพียงตามกฎหมายกำหนดเท่านั้น แต่ในส่วนของเงินเพิ่มจากเจ้าของกิจการนั้น พนักงานยังเห็นว่า ไม่อยู่ในอัตราที่เหมาะสม เป็นการเอาเปรียบพนักงานโดยไม่คำนึงถึงอายุงาน ที่ผ่านมาและความซื่อสัตย์ที่มีต่อโรงแรม
 
สำหรับรายละเอียดที่มีการเสนอกรณีการเลิกจ้าง แบ่งออกเป็น  1.การจ่ายตามกฎหมายแรงงาน 2.การจ่ายพิเศษนอกเหนือกฎหมายแรงงาน โดยบริษัท ที.ซี.ซี. มอบให้ 2 เดือน และท่านประธานมอบให้ 4 เดือน และ 3. เงินเดือนล่วงหน้าพิเศษจากท่านประธาน
 
ทั้งนี้ ตระกูลสิริวัฒนภักดี ได้เข้าไปซื้อกิจการ (เทกโอเวอร์) 'เครืออิมพีเรียล'ธุรกิจครอบครัวของนายอากร ฮุนตระกูล ผู้ล่วงลับ ตั้งแต่ปี 2537 
 
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ติดต่อไปยังฝ่ายประชาสัมพันธ์ โรงแรมอิมพีเรียล ควีนส์ปาร์คฯ โดยปฏิเสธที่จะให้รายละเอียด พร้อมขอให้โทรไปยังบริษัท ที.ซี.ซี.แทน
 
(สำนักข่าวอิศรา, 2-7-2557)
 
“เซฟสกิน” ทุนอเมริกาในอุตฯ ยางยักษ์ใหญ่ภาคใต้ประกาศเลิกกิจการ ลอยแพแรงงานกว่า 3 พัน
 
รายงานข่าวจากพนักงานประจำสายพานการผลิต โรงงานผลิตถุงมือยาง บริษัท เซฟสกินคอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด เลขที่ 119 หมู่ 8 กาญจนวนิช ตำบลพะตง อำเภอหาดใหญ่ สงขลา เปิดเผยต่อ ‘ASTVผู้จัดการภาคใต้’ ว่า เมื่อวันพุธที่ 23 มิถุนายน 2557 ที่ผ่านมา
       
พนักงานได้รับหนังสือจากฝ่ายบริหารงานบุคคลของบริษัท แจ้งเป็นการภายในว่า บริษัทจะปิดดำเนินการอย่างถาวร เนื่องจากที่ผ่านมา ประสบภาวะขาดทุนจากปัญหาอุทกภัย เมื่อปลายปี 2553 ที่ผ่านมา
       
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2553 พ.ท.สุปรีชา ชลสาคร ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายทรัพยากรบุคคล เครือเซฟสกิน เปิดเผยว่า ในส่วนของโรงงานที่ตั้งอยู่ที่ ต.ทุ่งลุง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา มีระดับน้ำท่วมสูงถึง 2-3 เมตร ส่งผลให้โรงงานได้รับความเสียหายอย่างหนัก คิดเป็นมูลค่าหลายร้อยล้านบาท ต้องปิดปรับปรุงโรงงานนานร่วม 1 เดือน
 
บริษัท เซฟสกิน คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างไทย และสหรัฐฯ ก่อตั้งในปี 2541 ทุนจดทะเบียน 696.25 ล้านบาท ดำเนินธุรกิจผลิตและส่งออกน้ำยางข้น และถุงมือยางทางการแพทย์ ได้รับส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ครั้งแรกในปี 2540 และได้มีการขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง จนล่าสุด ในปี 2550 ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากโครงการขยายกำลังการผลิตถุงมือยางเพิ่มเป็น 1,656 ล้านชิ้น มูลค่าการลงทุน 1,125 ล้านบาท
       
ตลอดระยะเวลาที่บริษัทในเครือเซฟสกิน เข้ามาเปิดโรงงานผลิตถุงมือยาง ในทำเลที่ติดกับคลองอู่ตะเภา เกิดปัญหาการร้องเรียนจากชาวบ้านมาอย่างต่อเนื่องว่า หลังโรงงานแห่งนี้มาเปิดกิจการก็เกิดปัญหาน้ำเสียตามมา จนปัจจุบันลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา 1 ใน 25 ลุ่มน้ำสำคัญของประเทศ กำลังอยู่ในสภาวะวิกฤต และอยู่ในขณะวางแผนฟื้นฟูของหลายหน่วยงาน
       
ขณะที่เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2552 ที่ผ่านมา ชาวบ้านตำบลปริก และตำบลสะเดา จังหวัดสงขลา กว่า 500 คน ประท้วงปิดถนนสายหลักเส้น หาดใหญ่-สะเดา หน้าบริษัท เซฟสกิน เมคดิคอล แอนด์ ไซเอนทิฟิก (ประเทศไทย) จำกัด เรียกร้องให้โรงงานเลิกใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง เป็นผลมาจากนโยบายของรัฐบาลขณพะนั้นที่ให้มีการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงในโรงงานได้ ซึ่งสำหรับเซฟสกิน กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้อนุญาตให้ทดลองใช้ได้ 6 เดือน และได้เกิดกระแสต่อต้านอย่างรุนแรงจากคนในพื้นที่ที่กังวลต่อเรื่องผลกระทบต่างๆ จากโรงงาน
       
แหล่งข่าวในเครือข่ายคนรักษ์คลองอู่ตะเภา อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ระบุว่า หากโรงงานจะปิดตัวจริงก็นับว่าปัญหาผลกระทบที่โรงงานสร้างไว้กับลุ่มน้ำอู่ตะเภา ได้ถึงเวลายุติลงเสียที และต้องมาดูว่าภาครัฐจะเข้ามาจัดการวางแผนฟื้นฟูอย่างไร
       
“กว่า 16 ปีที่ผ่านมา โรงงานอุตสาหกรรมนับพันแห่งที่เข้ามาตั้งอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา ทั้งใน อ.หาดใหญ่ อ.คลองหอยโข่ง อ.นาหม่อม และ อ.สะเดา ทำให้สิ่งแวดล้อมของแหล่งน้ำธรรมชาติได้รับผลกระทบจากการปนเปื้อนน้ำเสีย และสารเคมีต่างๆ มากมาย แม้เซฟสกิน จะปิดตัวแต่ผลกระทบจากโรงงานที่เหลือก็ยังไม่หมดไปง่ายๆ และหากจะมีกลุ่มทุนใหม่เข้ามาดำเนินการต่อก็ควรมีการตรวจสอบระบบป้องกันต่างๆ ของโรงงาน เช่น บ่อบำบัดน้ำเสียอย่างจริงจัง”
       
ชาวบ้านใน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา รายหนึ่ง เปิดเผยว่า ทำงานที่โรงงานเซฟสกินมาตั้งแต่เปิดโรงงาน ก่อนหน้านี้ไม่มีกระแสข่าวว่าโรงงานจะปิด ระบบการผลิตถุงมือยางยังดำเนินการไปตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้พนักงานมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการทำงานล่วงเวลา
       
“บริษัทไม่มีวี่แววมาก่อนว่าจะปิดถาวร จู่ๆ เมื่อมีการปิดประกาศให้พนักงานทราบ หลายคนก็รู้สึกช็อก เพราะไม่รู้ว่าจะไปทำงานอะไรต่อ รอดูว่าจะมีทุนใหม่มารับช่วงต่อถ้ามีงานทำได้ก็อาจทำต่อเพราะยังไม่รู้ว่าจะไปทำอะไรดี การประกาศแบบนี้ทำให้พนักงานจะไม่ได้รับเงินที่เรียกว่าค่าปลอบใจ เพราะบริษัทแจ้งล่วงหน้าก่อน 6 เดือนตามกฎหมาย ส่วนอย่างอื่นก็เป็นไปตามระเบียบบริษัท คือ จ่ายเงินชดเชยให้ตามกฎหมาย”
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 2-7-2557) 
 
ตั้งศูนย์ช่วยเหลือแรงงานไทยใน “ลิเบีย-อิรัก-เคนยา”
 
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมอพยพแรงงานไทย 3 ในประเทศ ทั้งลิเบีย อิรัก และเคนยา ซึ่งยังมีสถานการณ์ความไม่สงบภายในประเทศว่า ขณะนี้ กกจ. ได้ประสานงานกับกระทรวงการต่างประเทศเรียบร้อยแล้ว เพื่อเตรียมอพยพแรงงานไทยในทั้ง 3 ประเทศดังกล่าว หากเกิดเหตุฉุกเฉิน โดยในลิเบียมีแรงงานไทย 1,500 คน อิรัก 14 คน และเคนยา 40 คน ซึ่งส่วนใหญ่ไปทำงานในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและก่อสร้าง ทั้งนี้ กกจ. ได้เปิดศูนย์ประสานงานช่วยเหลือแรงงานไทยและติดตามสถานการณ์ที่ชั้น 11 ของกรมการจัดหางาน
       
อธิบดี กกจ. กล่าวอีกว่า ตนยังได้สั่งการให้สำนักงานจัดหางานจังหวัดในจังหวัดที่มีญาติพี่น้องของแรงงานไทยที่ไปทำงานใน 3 ประเทศนี้ ให้ประสานกับญาติเพื่อแจ้งให้ทราบว่าหากมีเหตุฉุกเฉินให้ติดต่อกับสถานทูตไทยในประเทศนั้นๆ ส่วนญาติพี่น้องที่อยู่ในไทยก็ให้ติดต่อมายัง กกจ. ส่วนการอพยพนั้นกระทรวงการต่างประเทศเป็นหน่วยงานหลักในการดูแล หากมีเหตุฉุกเฉินก็สามารถอพยพแรงงานไทยออกจากทั้ง 3 ประเทศได้ทันที โดยอิงแผนการอพยพของปี 2553 ซึ่งเคยอพยพแรงงานไทยออกจากลิเบียมาก่อน
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 2-7-2557) 
 
บีโอไอหารือ 28 หอการค้า ตปท. เล็งเสนอ 'ประยุทธ์'ขอใช้แรงงานต่างด้าว
 
นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือระหว่าง บีโอไอกับหอการค้าต่างประเทศในไทย 28 แห่ง ว่า บีโอไอต้องการรับฟังความเห็นจากนักลงทุนต่างชาติที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ขณะเดียวกันยังต้องการสร้างความมั่นใจกับหอการค้าต่างประเทศ ถึงความชัดเจนในการดำเนินงานส่งเสริมการลงทุนในประเทศไทยด้วย 
 
โดยเฉพาะแนวทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ภายใต้การบริหารงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งยึดนโยบายเศรษฐกิจเสรี และตลาดเสรี รวมทั้งต้อนรับการลงทุนจากต่างประเทศ พร้อมทั้งมอบให้หน่วยงานภาครัฐให้การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกแก่นักธุรกิจต่างชาติอย่างเต็มที่
 
“จากการหารือและรับฟังข้อเสนอจากหอการค้าต่างประเทศ พบว่ามีหลายเรื่องที่หอการค้าต่างประเทศแสดงความเห็น อาทิ การผ่อนปรนหลักเกณฑ์การออกวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน ตลอดจนกฎระเบียบอื่นๆ ซึ่งบีโอไอและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะนำไปพิจารณาปรับปรุงการอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยให้มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีเรื่องการขอใช้แรงงานต่างด้าวบางส่วนของบริษัท บีโอไอจะเร่งนำหารือบอร์ดใหญ่(มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.เป็นประธาน)ต่อไป ”
 
บีโอไอได้ให้ความมั่นใจแก่บรรดาประธานหอการค้าต่างประเทศถึงเรื่องการพิจารณาอนุมัติให้การส่งเสริมแก่โครงการลงทุนว่าจะมีการดำเนินงานโดยเร็ว เพราะนับตั้งแต่มีคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้มีการพิจารณาอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนแล้วจำนวน 18 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 122,837 ล้านบาท รวมทั้งมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาโครงการ เพื่อทำหน้าที่อนุมัติให้การส่งเสริมและกลั่นกรองโครงการลงทุนขนาดใหญ่ก่อนเสนอบอร์ดใหญ่
 
นายแสตนลี่ย์ คัง ประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทยกล่าวในระหว่างการประชุมหารือกับบีโอไอ ว่า หอการค้าต่างประเทศมีความยินดีที่บีโอไอและหน่วยงานภาครัฐของไทยต้อนรับและอำนวยความสะดวกแก่โครงการลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งรับข้อเสนอในเรื่องต่างๆของหอการค้าต่างประเทศเพื่อไปพิจารณาและดำเนินการอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจในประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้น
 
(มติชน, 2-7-2557)
 
พกส. ลูกจ้างสธ. ร้องคสช.ปฏิรูปการจ้างงาน
 
สสลท. ลูกจ้างชั่วคราวสธ.ยื่นหนังสือ คสช. ร้องความเป็นธรรมค่าตอบแทน หลัง สธ.ชัดเจนปรับเพิ่มไม่ได้ เผยการเคลื่อนไหวของลูกจ้างสธ.ถือว่ามาถึงที่สุดแล้ว หลังสธ.ไม่สามารถปรับเพิ่มให้ได้เทียบเท่ากับกระทรวงอื่น ชี้บอบช้ำมากกับการที่สธ.ไม่ให้ความสำคัญ จึงต้องขอความเป็นธรรมจากคสช.ให้ช่วยเหลือ
 
วันที่ 4 ก.ค. เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ที่กองบัญชาการทหารบก เครือข่ายลูกจ้างชั่วคราวและพนักงานกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ ที่ขอให้คสช.ปฏิรูปการจ้างงาน โดยเรียกร้องให้ปรับลูกจ้างชั่วคราวและพนักงานกระทรวงสาธารณสุข สายสนับสนุน ซึ่งมีอยู่ประมาณ 140,000-150,000 คนทั่วประเทศ เป็นลูกจ้างประจำทั้งหมด และขอให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำในกระทรวงสาธารณสุขให้เท่ากับประกาศของกระทรวงแรงงาน คือค่าจ้างขั้นต่ำ เดือนละ 9,000 บาท
 
ทั้งนี้ทางเจ้าหน้าที่ทหารได้แนะนำว่าให้ไปยื่นเรื่องร้องเรียนดังกล่าวที่ประตู 4 ทำเนียบรัฐบาลแทน เนื่องจากเป็นจุดบริการประชาชนของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย โดยมีเจ้าหน้าที่ของทำเนียบฯคอยดูแลและรับเรื่องร้องเรียนที่มีความสะดวกมากกว่าที่ บก.ทบ.
 
(Hfocus, 4-7-2557)
 
ก.เกษตรฯ เห็นชอบแผนแม่บทแก้ปัญหาแรงงานประมง
 
นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมร่วมกับผู้แทนภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามสถานการณ์ประมง และหารือแนวทางแก้ไขปัญหาแรงงานประมงทั้งระบบ หลังจากสหรัฐจัดอันดับให้ไทยอยู่ใน Tier 3 จากรายงานสถานการณ์ค้ามนุษย์ เพื่อป้องกันผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งในแง่ของการผลิตเพื่อการบริโภคภายในประเทศและเพื่อการส่งออก ซึ่งในแต่ละปีการส่งออกมีมูลค่ากว่า 270,000 ล้านบาท และมีจำนวนแรงงานในอุตสาหกรรมนี้ประมาณ 1 ล้านคน ตั้งแต่ภาคการทำประมง ฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ สถานแปรรูป อุตสาหกรรมประมงต่อเนื่อง และอุตสาหกรรมสนับสนุนอื่นๆ
 
ปลัดกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบแผนแม่บทการดำเนินการแก้ไขปัญหาแรงงานในภาคประมงที่กรมประมงเสนอมา และเตรียมเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป โดยแผนแม่บทดังกล่าว ประกอบด้วย แผนงานการขยายผลการปฏิบัติตามแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (GLP) การจัดระเบียบเรือประมงไทย เพื่อป้องกันการประมงที่ผิดกฎหมายและการค้ามนุษย์ในภาคประมง ซึ่ง 2 เรื่องนี้เป็นแนวทางเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ นอกจากนี้ ยังมีแผนงานเร่งรัดการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวสำหรับแรงงานในภาคประมง การสนับสนุนการบูรณาการตรวจร่วมเรือประมงและแรงงานประมง รวมถึงการตรวจตราเรือประมงพาณิชย์ในน่านน้ำที่เข้า-ออกจากท่า การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ ตลอดจนการส่งเสริมภาพลักษณ์และสร้างความเชื่อมั่นต่อสินค้าประมงของไทยในต่างประเทศ
 
ด้านนายมงคล สุขเจริญคณา รองประธานกรรมการบริหารสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยถูกโจมตีฝ่ายเดียว ทั้งที่ร้อยละ 90 ทำดีแล้ว จึงเห็นว่าแผนแม่บทดังกล่าวเป็นแผนที่ดีมาก มีการบูรณาการมาตรการเชิงรุก โดยเฉพาะการจัดระเบียบเรือประมงทั้งหมด ส่วนการขึ้นทะเบียนแรงงานในภาคประมงตามประกาศของ คสช. ยังมีปัญหาติดขัดกรณีเรืออยู่ในต่างประเทศ ยังกลับเข้ามาขึ้นทะเบียนแรงงานไม่ได้
 
(สำนักข่าวไทย, 5-7-2557)
 
ก.แรงงานอนุมัติงบจ้างงานเร่งด่วน 13 จังหวัด
 
นายพีรพัฒน์ พรศิริเลิศกิจ รองปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมคณะทำงานเพื่อพิจารณากำหนดแนวทางการจัดสรรงบประมาณโครงการจ้างงานเร่งด่วนและพัฒนาทักษะฝีมือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนด้านอาชีพ ครั้งที่ 6 ปี 2557 ณ ห้องประชุมสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ ชั้น 13 อาคารกระทรวงแรงงาน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
 
ที่ประชุมได้พิจารณาอนุมัติการจัดสรรงบประมาณโครงการจ้างงานเร่งด่วนและพัฒนาทักษะฝีมือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนด้านอาชีพ ปี 2557 ให้แก่จังหวัดที่ขอรับการสนับสนุน (รอบแรก) ได้แก่ จังหวัดตราด 177,840 บาท ตรัง 980,560 บาท ระยอง 162,300 บาท สมุทรปราการ 124,000 บาท สมุทรสงคราม 646,560 บาท สมุทรสาคร 1,000,000 บาท และอุทัยธานี 238,500 บาท รวม 3,329,760 บาท 
 
นอกจากนี้ได้อนุมัติงบประมาณให้จังหวัดที่ขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติม (รอบ 2) อีก 6 จังหวัด คือ จังหวัดขอนแก่น 2,000,000 บาท ชลบุรี 68,000 บาท นครสวรรค์ 992,450 บาท เพชรบุรี 458,200 บาท เพชรบูรณ์ 2,000,000 บาท และแพร่ 1,117,360 บาท รวม 6,636,010 บาท รวมทั้งหมด 13 จังหวัดภายใต้กรอบวงเงินทั้งสิ้น 9,965,770 บาท 
 
โดยก่อนหน้าได้จัดสรรงบประมาณให้ไป 58 จังหวัดไปเป็นเงินกว่า 72.6 ล้านบาท เพื่อให้อาสาสมัครแรงงาน (อสร.) เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาท้องถิ่น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชน โดยการสร้างอาชีพและรายได้ผ่านโครงการดังกล่าวคณะทำงานโครงการดังกล่าวจะนำมติผลการประชุมเพื่อเสนอปลัดกระทรวงแรงงานอนุมัติการจัดสรรงบประมาณต่อไป
 
(มติชนออนไลน์, 5-7-2557)
 
นักวิจัยอิสระเสนอ สธ.ให้แรงงานต่างด้าวและผู้ติดตามต้องมีหลักประกัน
 
นักวิจัยอิสระเสนอ สธ.ให้แรงงานต่างด้าวและผู้ติดตามทั้งถูกและผิดกฎหมายต้องมีหลักประกันสุขภาพในอัตราที่เหมาะสม เพิ่มสิทธิประโยชน์เจ็บป่วยฉุกเฉิน และยาต้านไวรัสเอชไอวี หลังผลวิจัยประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว พบการไม่ทราบจำนวนแรงงานต่างด้าวและผู้ติดตามที่แท้จริง การไม่บังคับซื้อประกันสุขภาพ ช่องว่างการพิสูจน์สัญชาติและการเข้าสู่ระบบประกันสังคม เป็นสาเหตุการหลีกเลี่ยงการประกันตนและซื้อประกันสุขภาพ ส่งผลให้ รพ.แบกรับค่าใช้จ่าย
 
เภสัชกรหญิง อุษาวดี สุตะภักดิ์ นักวิจัยอิสระเสนอผลการวิจัย "รูปแบบและการดำเนินการด้านสุขภาพที่เหมาะสมของกองทุนระบบประกันสุขภาพต่างด้าวในประเทศไทย"โดยพบว่า กองทุนหลักประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวของกระทรวงสาธารณสุขอาจมีปัญหาด้านสถานะทางการเงินของกองทุน แม้จะสามารถเลี้ยงตัวเองได้ เนื่องจากพบว่ารายจ่ายบริการสุขภาพมีแนวโน้วสูงขึ้น ขณะที่อัตราการขายบัตรประกันสุขภาพลดลง
 
นอกจากนี้ ยังพบว่าพฤติกรรมการใช้บริการสุขภาพของแรงงานต่างด้าวและผู้ติดตามต่ำกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับประชากรไทย ซึ่งอาจพิจารณาได้ว่ามีปัญหาการเข้าถึงบริการสุขภาพหรือไม่ ส่วนปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการกองทุน พบว่า จากการที่แรงงานต่างด้าวและผู้ติดตามมีประกันสุขภาพในอัตราที่ต่ำ แม้กระทรวงสาธารณสุขจะมีการขายบัตรประกันสุขภาพแต่ก็ขายได้ลดลง สาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านแรงงาน ด้านการประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว การไม่ทราบจำนวนแรงงานต่างด้างและผู้ติดตามที่แท้จริง การไม่มีสภาพบังคับในการซื้อประกันสุขภาพแบะช่องว่างของการพิสูจน์สัญชาติและการเข้าสู่ระบบประกันสังคมทำให้เกิดช่องว่างในการหลีกเลี่ยงการประกันตนและซื้อบัตรประกันสุขภาพ ทำให้โรงพยาบาลต้องแบกรับภาระแรงงานต่างด้าวและผู้ติดตามที่ไม่มีสวัสดิการ ดังนั้นต้องทำให้การประกันสุขภาพมีสภาพบังคับตามกฎหมายไม่เป็นแบบสมัครใจเหมือนปัจจุบัน  นอกจากนี้ยังพบปัญหาโรงพยาบาลไม่ขายบัตรประกันสุขภาพให้ผู้ป่วยบางกลุ่ม เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี เนื่องจากความไม่มั่นใจต่อนโยบายของส่วนกลาง ทำให้โรงพยาบาลต้องแบกรับภาระเอง เป็นต้น
 
ทั้งนี้ จึงเสนอให้กระทรวงสาธารณสุขต้องทำให้แรงงานต่างด้าวและผู้ติดตามทั้งถูกและผิดกฎหมายมีหลักประกันสุขภาพ โดยหารือกับสำนักงานประกันสังคมในการกำหรดมาตรการทางกฎหมายที่ชัดเจน อัตราการประกันสุขภาพที่เหมาะสม สอดคล้องกับการงานของแรงงานต่างด้าว เพิ่มสิทธิประโยชน์เจ็บป่วยฉุกเฉิน การให้ยาต้านไวรัสเอชไอวีอยู่ภายใต้การรักษาโรคค่าใช้จ่ายสูงโดยใช้ระบบบริหารจัดการยา ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และกระทรวงสาธารณสุข ต้องมีมาตรการช่วยเหลือโรงพยาบาลที่มีปัญหาการขาดทุนในระบบหลักประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว มีนโยบายที่ชัดเจนและระบบสนับสนุนที่มีประสิทธิภาพ แนวทางที่ชัดเจนด้านส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค และให้ความสำคัญเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์และการวางแผนครอบครัว
 
(สำนักข่าวไทย, 6-7-2557)
 
ชง คสช.เพิ่มศักยภาพแรงงานส.อ.ท.ทำแผนเป็นวาระแห่งชาติ
 
นายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จากการที่สหรัฐอเมริกาปรับลดอันดับการค้ามนุษย์ในประเทศไทยลงไปสู่ Tier 3 ส่งผลให้ภาพลักษณ์ของประเทศเสียหายเป็นอย่างมาก และอาจจะลุกลามไปสู่การส่งออกสินค้าของประเทศไม่ได้รับการยอมรับ และจะมีผลกระทบต่อภาคการผลิตของอุตสาหกรรมด้วยนั้น โดยทาง ส.อ.ท.ไม่ได้นิ่งนอนใจ และพยายามหาทางออกอยู่ แนวทางหนึ่งที่เป็นไปได้ คือ ส.อ.ท.ได้ศึกษาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำแผนเพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน ที่จะนำเสนอคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้บรรจุเป็นวาระแห่งชาติในสัปดาห์นี้ เนื่องจากต้องการให้ภาพลักษณ์ด้านแรงงานของไทยดีขึ้น โดยหวังว่าภายในระยะ5-8 ปี หากสามารถเดินไปตามแผน ภาพของการใช้แรงงานน่าจะดีขึ้นในสายตาชาวโลกได้
 
แผนเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานของประเทศไทยดังกล่าว จะเน้นการจัดระเบียบแรงงานให้ถูกต้องและเป็นระบบ เพราะนอกจากจะเพิ่มศักยภาพแรงงานไทยและยังสามารถลดปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายด้วย โดยปัจจุบันพบว่ามีแรงงานไทยจำนวน 38 ล้านคน และมีแรงงานต่างด้าว3ล้านคน ในจำนวนนี้มีแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายจำนวน 8-9 แสนราย ดังนั้นในระยะยาว ส.อ.ท.จะเร่งแผนดังกล่าว เพื่อเตรียมความพร้อมด้านแรงงานให้เพียงพอเพื่อรองรับเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้น อย่างไรก็ตามหน่วยงานเอกชนจะต้องให้ความร่วมมือกับภาครัฐด้วย โดยเฉพาะการจัดโครงการเพื่อเสริมประสิทธิภาพแรงงานหรือบุคลากรในองค์กรตั้งแต่ต้นน้ำ เช่น การฝึกอบรม พัฒนาฝีมือแรงงาน โดยเอกชนสามารถของบสนับสนุนจากทางภาครัฐได้ ซึ่ง ส.อ.ท.เตรียมผลักดันและจะเผยแพร่ไปยังผู้ประกอบการให้รับทราบต่อไป
 
(บ้านเมือง, 8-7-2557)
 
สศค.เผยเด็กไทยเมินสายอาชีพ กระทบแรงงานภาคผลิต
 
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้วิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์แรงงานของไทยว่า ปัญหาแรงงานของไทยส่วนใหญ่เป็นปัญหาเกี่ยวกับการขาดแคลนแรงงานประเภทไร้ฝีมือ โดยเฉพาะการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานเข้มข้น เช่น อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมการผลิตเฟอร์นิเจอร์ อุตสาหกรรมการผลิตเพชรพลอย อุตสาหกรรมเครื่องหนัง เป็นต้น
       
ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลจากค่านิยมทางการศึกษาของเด็กไทยที่นิยมศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีมากกว่า “สายอาชีพ” ทำให้แรงงานที่จบออกมาสำหรับภาคการผลิตของไทยมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดแรงงาน จนนำไปสู่ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต
       
โดยข้อมูลล่าสุดการจ้างงานในภาคการผลิตช่วง 5 เดือนแรกมีจำนวนทั้งสิ้น 6.5 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณ 86,000 คน สะท้อนได้ว่าความต้องการแรงงานในสาขาการผลิตของไทยยังมีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าว ซึ่งปัจจุบันจำนวนแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานในประเทศไทยมีประมาณ 1.5 ล้านคน สำหรับสถานการณ์ด้านแรงงานของไทยโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราการว่างงานในเดือน พ.ค. 2557 อยู่ในระดับต่ำที่ 0.9% ของกำลังแรงงานรวม ซึ่งคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 362,000 คน
       
อย่างไรก็ดี ปัจจัยสนับสนุนจากความชัดเจนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการเร่งรัดการเบิกจ่ายภาครัฐของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการใช้จ่ายภาคเอกชนซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนการรับบุคลากรเพิ่มในอนาคต
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 8-7-2557)
 
เร่งขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวเข้ากองทุนเงินทดแทน
 
นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวในการประชุมระหว่างประเทศ เรื่อง "การเสริมสร้างความเข้มแข็ง ความคุ้มครองทางสังคมแก่ประชาคมอาเซียน"ว่าไทยมุ่งมั่นสร้างความคุ้มครองให้กับแรงงานทุกคน และพร้อมที่จะเข้าเป็นสมาชิกการประกันสังคมระหว่างประเทศและสมาชิกการประกันสังคมอาเซียน โดยเน้นกลุ่มแรงงานข้ามชาติ และแรงงานนอกระบบในส่วนการดูแลแรงงานข้ามชาตินั้น เมื่อออกใบอนุญาตทำงานชั่วคราวแล้ว จะให้กระทรวงสาธารณสุขดูแลเรื่องประกันสุขภาพ ส่วนประกันสังคมจะต้องเร่งให้นายจ้างนำแรงงานต่างด้าวขึ้นทะเบียนในกองทุนเงินทดแทนเพื่อดูแลปัญหาการประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน จากนั้นจะเร่งพิสูจน์สัญชาติภายใน 60 วัน ส่วนภาคการประมงขณะนี้ได้ให้นายจ้างรวบรวมรายชื่อส่งมายังกระทรวงแรงงาน
 
ส่วนการเปิดศูนย์วันสตอปเซอร์วิสอยู่ในแผนของคณะกรรมการจัดการนโยบายปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ หรือ กนร. ที่จะขยายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยจะหารือกันอีกครั้ง ส่วนกระบวนการพิสูจน์สัญชาติจะดำเนินการทันกำหนดเวลา 60 วันหรือไม่ ทาง กนร.จะเป็นผู้พิจารณาหากไม่สามารถดำเนินการได้ทัน
 
(สำนักข่าวไทย, 8-7-2557)
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles