8 ก.ค.2557 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ร่วมกับองค์กรสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์ต่อกรณีเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งประกอบด้วย ทหารจากกองทัพภาคที่ 2 เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และชุดมวลชนของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน และเจ้าหน้าที่ตำรวจ เข้าไปในพื้นที่หมู่บ้านเก้าบาตร อำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ โดยมีการตรวจค้น และสั่งให้ชาวบ้านรื้อสิ่งปลูกสร้าง และคุมตัวแกนนำชาวบ้าน
ในแถลงการณ์ระบุว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจเกินควร และไม่นำไปสู่ความปรองดอง รวมถึงเรียกร้องให้ใช้กระบวนการตามกฎหมายปกติในการแก้ปัญหา, ยุติการกักตัวและควบคุมตัวและใช้ หลักเกณฑ์ตามกฎหมายปกติแทนการใช้กฎอัยการศึก, ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตรวจสอบหน่วยงานที่เข้าไปปฏิบัติการในพื้นที่บ้านเก้าบาตร และให้ คสช.หลีกเลี่ยงการทำงานอย่างเร่งรีบโดยอาศัยข้อมูลจากข้าราชการเพียงอย่างเดียว ซึ่งอาจไม่รอบด้าน
องค์กรที่ร่วมออกแถลงการณ์ ประกอบด้วย สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม และศูนย์ข้อมูลชุมชน
รายละเอียดแถลงการณ์ ดังนี้
แถลงการณ์
ขอให้ยุติการกระทำที่คุกคามสิทธิของประชาชน
ตามที่เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2557 ได้ปรากฏข่าวว่ากองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน จังหวัดบุรีรัมย์ ได้ปฏิบัติการโดยอ้างว่าเป็นการกระทำเพื่อการแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าดงใหญ่ ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 64/ 2557 และคำสั่งที่ 66/2557 โดยสนธิกำลังปฏิบัติการร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหารกองทัพภาคที่สอง เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ชุดมวลชนของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน จังหวัดบุรีรัมย์ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธร โนนดินแดง ได้ลงพื้นที่หมู่บ้านเก้าบาตร อำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกกักตัว ตรวจค้น ทำเครื่องหมายกำกับสิ่งปลูกสร้างของชาวบ้านและแจ้งให้ชาวบ้านรื้อสิ่งปลูกสร้าง ภายในวันที่ 8 กรกฎาคม 2557 หากไม่กระทำเจ้าหน้าที่จะผลักดันผู้บุกรุกออกนอกพื้นที่ รวมทั้งรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างต้นไม้พืชเพาะปลูกต่างๆ รวมถึงที่มีการควบคุมตัวนายศรราม มะสันเทียะ แกนนำชาวบ้าน นั้น
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และองค์กรข้างท้ายนี้เห็นว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ เป็นการใช้อำนาจเกินสมควร ไม่เคารพสิทธิของประชาชนและไม่อาจนำไปสู่ความปรองดองได้ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
1. นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ย่อมต้องได้รับการคุ้มครอง
การควบคุมตัวนายศรรามมะสันเทียะ แกนนำชาวบ้าน โดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก เป็นการคุกคามนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนซึ่งตามปฏิญญาว่าด้วยนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนได้ให้การคุ้มครอง ในฐานะที่บุคคลดังกล่าวเป็นผู้ที่มีบทบาทในการปกป้องและส่งเสริมสิทธิของประชาชน ซึ่งประเทศไทย ต้องให้การคุ้มครองแก่ประชาชนในการใช้สิทธิดังกล่าว โดยไม่ถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ หากมีการละเมิดหรือคุกคาม รัฐจะต้องมีกระบวนการสอบสวน และคุ้มครอง เพื่อให้สิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนเป็นจริงในทางปฏิบัติ
2. การควบคุมตัวประชาชน การตรวจค้น เป็นการใช้อำนาจโดยไม่มีเหตุอันสมควร
การที่เจ้าหน้าที่ทหาร ได้สนธิกำลังเข้าตรวจค้นบ้านเรือนของประชาชน ทำเครื่องหมายกำกับ และพูดว่าจะจับตัวแกนนำชาวบ้านคนอื่นๆ ด้วยนั้นโดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึกนั้น เป็นการใช้อำนาจโดยไม่มีเหตุอันสมควร เกินความจำเป็นและไม่ผ่านกระบวนการพิจารณาที่รอบคอบตามที่ปรากฏในกฎหมายปกติ
3. การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งที่เพิ่มมากขึ้น
การกระทำดังกล่าวต่อชาวบ้าน หมู่บ้านเก้าบาตร ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปดำเนินการ ตรวจค้น ทำเครื่องหมายกำกับสิ่งปลูกสร้างของชาวบ้าน เชิญผู้นำชาวบ้านจำนวนหนึ่งเข้ารับฟังคำชี้แจง และให้ผู้นำชาวบ้านดำเนินการคัดกรองประเภทของชาวบ้านและที่ดินที่ชาวบ้านถือครองอยู่ และแจ้งให้ชาวบ้านรื้อสิ่งปลูกสร้างและให้ออกจากพื้นที่นั้น เป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเกินสมควร การดำเนินการผลักดันชาวบ้านเกษตรกรที่พื้นที่ป่าดงใหญ่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เป็นกรณีพิพาทในเรื่องที่ทำกินของชาวบ้านในพื้นที่ป่ามาตั้งแต่อดีต เป็นการกระทำ ที่อาศัยข้อมูลจากฝ่ายข้าราชการแต่เพียงฝ่ายเดียว และไม่ผ่านกระบวนการพูดคุย หรือรับฟังสภาพปัญหาของชาวบ้าน และมีลักษณะในการดำเนินการอย่างเร่งรีบ ผิดวิสัยการบริหารจัดการบ้านเมืองที่เคยมีมาเป็นปกติในระบอบประชาธิปไตย ทั้งๆ ที่พื้นที่นี้อยู่ระหว่างการพยายามแก้ไขปัญหาเรื่องที่ทำกินในพื้นที่เขตป่าอยู่ก่อนมาหลายสิบปี การกระทำที่อ้างว่า อาศัยอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และนำเอากฎอัยการศึกมาปฏิบัติการดังกล่าว อาจส่งผลให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐมากยิ่งขึ้น และขัดต่อแนวนโยบายการปรองดองแห่งชาติอย่างชัดเจน
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนมูลนิธิผสานวัฒนธรรมและองค์กรข้างท้าย จึงขอเรียกร้องต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้คำเนินการดังต่อไปนี้
1. ยุติการประกาศและการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกและคำสั่งที่อ้างถึงในการปฏิบัติการในพื้นที่ชุมชนบ้านเก้าบาตร และในพื้นที่อื่นที่มีลักษณะใกล้เคียงกันหากจะมีการดำเนินการแก้ไขปัญหาก็ให้ดำเนินการโดยใช้กระบวนการตามกฎหมายปกติ
2. ขอให้ยุติการกักตัว และควบคุมตัวบุคคลต่างๆ อันเนื่องมาจากการปฏิบัติการข้างต้น หากมีการกักตัวบุคคลๆ ใดอยู่ ขอให้ปล่อยตัวโดยเร็ว และให้ใช้หลักเกณฑ์ตามกฎหมายปกติมาใช้ในการดำเนินการแทนการนำกฎอัยการศึกมาใช้ในการปฏิบัติการ
3. ขอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ตรวจสอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่เข้าไปปฏิบัติการโดยอ้างเอาคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ไปดำเนินการใดๆอันส่งผลกระทบต่อชาวบ้านหมู่บ้านเก้าบาตร และหรือชุมชนอื่นที่มีลักษณะเดียวกัน เพื่อต้องรับผิดชอบในความเสียหายแก่ประชาชนในพื้นที่ โดยทันที และดำเนินการให้มีการยุติการกระทำต่างๆต่อชุมชนบ้านเก้าบาตร โดยเฉพาะคำสั่งของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน จังหวัดบุรีรัมย์ที่จะจัดจำแนกประชาชนที่อยู่ในพื้นที่และมีคำสั่งให้ชาวบ้านโยกย้ายทรัพย์สินและตนเองออกไปจากพื้นที่ ภายในระหว่างวันที่ 7-12 กรกฎาคม2557 การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายการบังคับเคลื่อนย้ายที่สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนทั้งสังคมเศรษฐกิจความมั่นคงในชีวิตและการศึกษาของเด็กและเยาวชนเกินสมควร
4. คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ต้องหลีกเลี่ยงการทำงานอย่างเร่งรีบโดยอาศัยเพียงข้อมูลจากข้าราชการที่อาจไม่รอบด้านและส่งผลต่อภาพรวมของความเชื่อมั่นในแนวทางการแก้ไขปัญหาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และควรที่จะยุติการกระทำที่ส่งผลให้ชาวบ้านเกษตรกรที่มีที่ทำกินในพื้นที่ที่มีข้อพิพาทเกิดความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินทั้งสิ้น ทั้งนี้เพื่อให้โอกาสรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยหลักธรรมภิบาลตามหลักการประชาธิปไตยโดยเน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วม
ด้วยความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนและหลักสิทธิมนุษยชน
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
ศูนย์ข้อมูลชุมชน