ตำรวจควบคุมตัว วีระ สมความคิด ไปสอบที่กองปราบปรามทันที ตามหมายจับคดีก่อการร้าย และข้อหาอื่นรวม 8 ข้อหา จากกรณีร่วมกันนำมวลชนไปปิดล้อมท่าอากาศยานบินสุวรรณภูมิเมื่อปี 2551
2 ก.ค. 2557 หลังจากนายวีระ สมความคิด เดินทางถึงไทยเมื่อเวลาประมาณ 11.30 น. ตำรวจควบคุมตัว ไปกองบังคับการปราบปรามทันที โดยพล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง รอง ผบ.ตร. ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนในคดีความมั่นคง เปิดเผยว่า ต้องควบคุมตัวนายวีระไปสอบสวนทันที เนื่องจากเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับคดีก่อการร้าย และข้อหาอื่นรวม 8 ข้อหา จากกรณีร่วมกันนำมวลชนไปปิดล้อมท่าอากาศยานบินสุวรรณภูมิเมื่อปี 2551 และไม่มามอบตัวตั้งแต่ถูกออกหมายจับ ถือว่าหลบหนีคดี จนถูกทางการกัมพูชาจับกุมตัวไปคุมขังเป็นเวลา 3 ปี ขณะนี้พนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างการสอบปากคำ และทนายความยื่นขอประกันตัวในชั้นสอบสวน
และหัวหน้าพนักงานสอบสวนอนุมัติให้ประกันตัวกลับไป หลังทนายยื่นหลักทรัพย์เป็นเงินสด 1 แสนบาท เพราะเห็นว่านายวีระ ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี และนัดให้มารายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 9 ก.ค. เวลา 10.00 น. ที่กองบังคับการปราบปราม
ทั้งนี้นายวีระถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำในประเทศกัมพูชาเป็นเวลา 3 ปี 6 เดือน ในข้อหาเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย บุกรุกเขตทหาร และโจรกรรมข้อมูล ก่อนได้รับอภัยโทษออกมา
ด้านนางพิศอำไพ สมความคิด ภรรยา รู้สึกดีใจที่สามีได้รับการปล่อยตัว โดยยังไม่ได้พูดคุยกัน โดยได้กอดสามีไปเพียงหนึ่งครั้งเท่านั้นที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หน้าตาสามีดูสดชื่น แจ่มใสดี
รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ชี้ 'วีระ'ไม่ต้องรับโทษที่ไทยอีก แต่คดียึดสนามบินต้องดำเนินการต่อ
นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม รักษาการปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า กรณีของนายวีระ สมความคิด นั้นได้มีการดำเนิน 2 ทางจากฝ่ายไทย คือ การขอโอนตัว และขอรับพระราชทานอภัยโทษ แต่การปล่อยตัวครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการขอแลกเปลี่ยนนักโทษ แต่เป็นการรับพระราชทานอภัยโทษตามปกติ และเมื่อได้รับพระราชทานอภัยโทษมา ก็ไม่ต้องกลับมารับโทษต่อแต่อย่างใด ส่วนคดียึดสนามบินที่นายวีระเป็นผู้ต้องหาด้วย ก็ยังคงถูกดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมตามปกติ
เมื่อถามถึงกรณีการนำตัวนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ และนายจักรภพ เพ็ญแข ที่หลบหนีอยู่ต่างประเทศ นายชาญเชาวน์ กล่าวว่า หน่วยงานต่างๆ รับทราบแนวปฏิบัติเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้กำลังประสานทำงานกันอยู่ระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุด ส่วนกรณีของโรส ลอนดอน หรือนางสาวฉัตรวดี อมรพัฒน์ นั้น ก็ใช้กระบวนการเดียวกันที่ต้องหาช่องทางของกฎหมายที่เป็นไปได้
พร้อมโอนตัว 14 นักโทษตามคำร้องขอกัมพูชา
นายชาญเชาวน์ เปิดเผย หลังจากรัฐบาลกัมพูชาให้อภัยโทษนายนายวีระ และขอให้มีการส่งกลับนักโทษชาวกัมพูชา จำนวน 14 ราย ว่า ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่เรียกว่า “สนธิสัญญาโอนนักโทษ” จะมีลักษณะเป็นข้อตกลงสองฝ่ายที่จัดทำขึ้น โดยอยู่บนพื้นฐานของหลักการถ้อยทีถ้อยอาศัย (reciprocity) จึงไม่ถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนนักโทษ อย่างไรก็ตาม ตนยังไม่ทราบว่าทางสถานเอกอัครราชทูตกัมพูชา ได้ประสานรายชื่อนักโทษที่ต้องการให้ส่งตัวกลับมายังกระทรวงการต่างประเทศของไทยแล้วหรือไม่ หากราชทัณฑ์ได้รับรายชื่อมาแล้ว ก็สามารถปล่อยตัวกลับประเทศได้ทันที
ด้านนายกอบเกียรติ กสิวิวัฒน์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า กรมราชทัณฑ์ได้ตรวจสอบข่าวที่นำเสนอผ่านหนังสือพิมพ์พนมเปญโพสต์ ซึ่งระบุว่า กัมพูชาขอโอนตัวนักโทษ 14 รายนั้น เบื้องต้นพบว่า ใน จ.สระแก้ว มีผู้ต้องขังชาวกัมพูชา จำนวน 13 ราย ถูกส่งเข้าเรือนจำ เพื่อควบคุมตัวระหว่างการสอบสวน โดยทั้งหมดถูกดำเนินคดีในข้อหาปลอมแปลงเอกสาร และคดีความผิดเล็กน้อยอื่นๆ แต่เนื่องจากขณะนี้พบว่าตัวเลขยังไม่ตรงกันว่าจะเป็น 13 หรือ14 คน จึงสั่งการให้มีการตรวจสอบ โดยให้เจ้าหน้าที่ประสานไปยังสถานทูตกัมพูชา ประจำประเทศไทย เพื่อตรวจสอบข้อมูลให้ชัดเจนว่า มีชาวกัมพูชาถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำของประเทศไทยกี่ราย
"กรมราชทัณฑ์ต้องตรวจสอบรายชื่อว่าจำนวนที่กัมพูชาร้องขอนั้นมี 13 หรือ 14 คน และเป็นนักโทษตรงกับรายชื่อนักโทษทั้ง 13 คน ที่ จ.สระแก้วหรือไม่ หากต้องการโอนตัวนักโทษ 14 คน จะต้องไปตรวจสอบว่านักโทษรายที่ 14 เป็นใคร ถูกคุมขังอยู่ที่ใด และหากเป็นผู้ต้องขัง 13 คน ใน จ.สระแก้ว ซึ่งเรือนจำมีข้อมูลอยู่แล้วว่าเป็นผู้ต้องขังระหว่างการสอบสวน คดียังไม่แล้วเสร็จ จึงยังไม่เข้าเงื่อนไขการโอนตัว แต่สามารถใช้วิธีทางรัฐศาสตร์ คือ ให้ตำรวจทำความเห็นสั่งไม่ฟ้อง ปล่อยตัวกลับประเทศได้ทันที"นายกอบเกียรติ กล่าว
เรียบเรียงจาก สำนักข่าวไทย, คมชัดลึกออนไลน์