Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

รายงานพิเศษ : เชียงดาว เมืองในหุบเขา กับเรื่องเล่าคดีของชาวบ้าน

$
0
0

เชียงดาว เมืองแห่งต้นกำเนิดของแม่น้ำปิง ภูมิประเทศปกคลุมไปด้วยภูเขาสูง เป็นป่าเขา อยู่ทางตอนเหนือของจังหวัดเชียงใหม่ ใช้เวลาเดินทาง 72 กิโลเมตรจากตัวเมืองเชียงใหม่ ก่อตั้งเมืองเมือปี2452  อาณาเขตติดต่อกับอำเภอต่าง ๆ ดังนี้

ทิศเหนือ ติดต่อกับ รัฐฉาน (ประเทศพม่า) และอำเภอไชยปราการ
ทิศตะวันออก  ติดต่อกับอำเภอไชยปราการและอำเภอพร้าว
ทิศใต้   ติดต่อกับอำเภอแม่แตง
ทิศตะวันตก  ติดต่อกับอำเภอปาย (จังหวัดแม่ฮ่องสอน) และอำเภอเวียงแหง

ด้วยความเป็นเมืองเก่าแก่ร้อยกว่าปี ปัจจุบันปี พ.ศ.2557 เชียงดาวมีอายุครบ 105 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้งเมืองมาเมื่อปี 2452 และเป็นเมืองที่มีสภาพภูมิประเทศที่สวยงาม กลางหุบเขา ผู้คนหลากหลายเผ่าพันธุ์อยู่ร่วมกัน มีดอยหลวงเชียงดาว ถ้ำเชียงดาว ที่เป็นเอกลักษณ์มีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยว ตลอดจนสถานที่อื่น ๆ

จากข้อมูลของเทศบาลตำบลเมืองนะบอกว่า ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เป็นตำบลหนึ่งของอำเภอเชียงดาว ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอำเภอเชียงดาว ห่างจากตัวอำเภอ ประมาณ 29 กิโลเมตร มีชนเผ่า กลุ่มชาติพันธุ์ จำนวน 7 เผ่าพันธุ์อาศัยอยู่ร่วมกัน คือ

1. ชนเผ่าอาข่า(อีก้อ)
2. ชนเผ่าลีซู(ลีซอ)
3. ชนเผ่าลาหู่(มูเซอ)
4. ชนเผ่าปกากะญอ (กะเหรี่ยง)
5. ชนเผ่าคะฉิ่น
6. ชนเผ่าละว้า (ลัวะ)
7. จีนฮ่อ

หมู่บ้านในความปกครองจำนวน 14 หมู่บ้าน และมีสถิติประชากรดังนี้

                

พื้นที่อำเภอเชียงดาว เป็นพื้นที่ของการทำงานประเด็นสถานะและสิทธิบุคคล ขององค์การยุติธรรมนานาชาติ (IJM) จังหวัดเชียงใหม่ ที่ให้การช่วยเหลือกลุ่มคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติในพื้นที่ ตั้งแต่ ปี พ.ศ.2555 จากการทำงาน มีชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบด้านสถานะบุคคลในตำบลเมืองนะ เข้ามาขอคำปรึกษาและขอให้ทาง IJM ช่วยเหลือ ชาวบ้านที่มาขอความช่วยเหลือมีจำนวน 3 หมู่บ้าน คือ บ้านหนองเขียว บ้านเจียจันทร์ และบ้านแกน้อย ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งหมู่บ้านทั้งสามหมู่บ้าน มีข้อมูลดังนี้ (ตามตารางสถิติประชากรระดับตำบลของเมืองนะ)

บ้านแกน้อย ปี พ.ศ.2490 นายเล็ก คำอ้ายได้นำพาชาวบ้านกลับมาตั้งถิ่นฐานอยู่
จำนวนครัวเรือน 605 ครัวเรือน เป็นชาย 1,471 คน เป็นหญิง 1,492 คน รวม 2,963 คน
รวมชนเผ่าที่ไม่มีสัญชาติและยังไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร

บ้านหนองเขียว  หมู่บ้านก่อตั้งเมื่อ ปี พ.ศ. 2519
จำนวนครัวเรือน 576 ครัวเรือน ชาย 1,673 คน หญิง 1,705 คน รวม 3,378 คน
รวมชนเผ่าที่ไม่มีสัญชาติและยังไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร

บ้านเจียจันทร์ ชนเผ่าลาหู่ 3 กลุ่ม ได้มาอาศัยอยู่ คือ กลุ่มแรก เมื่อ ปี พ.ศ.2528
จำนวนครัวเรือน 143  ครัวเรือน เป็นชาย 655 คน เป็นหญิง657  คน 1,312 คน รวม 1,127 คน
รวมชนเผ่า ที่ไม่มีสัญชาติและยังไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร

กระบวนการ ขั้นตอน การเริ่มต้นการต่อสู้ของ IJM ในปี พ.ศ.2555
1. จัดเวทีเพื่อแลกเปลี่ยน เรียนรู้ กับชาวบ้าน ผู้นำชุมชนในพื้นที่ของชาวบ้านที่มาขอความช่วยเหลือ เพื่อบันทึกและรวบรวมข้อมูลปัญหาทั้งหมด
2. ชาวบ้าน ผู้นำชุมชนทั้งสามหมู่บ้าน และทาง IJM ได้ติดต่อประสานงานกับหน่วยงานของรัฐ ทั้งอำเภอและเทศบาล ได้ชี้แจงข้อมูลเอกสาร และร่วมปรึกษาหารือแนวทางในการทำงานแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลร่วมกันหลายครั้ง
3. ใช้เวลาประมาณสามเดือน ในการหาแนวทางการแก้ไขปัญหา ซึ่งไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควรจะเป็น ซึ่งทางเทศบาลได้แจ้งว่าไม่มีบุคลากรที่มีองค์ความรู้ประเด็นด้านสถานะบุคคล โดยปฏิเสธรับคำร้องจากชาวบ้าน และการขอคัดสำเนา ทางอำเภอก็แจ้งบอกต้องรอคำร้องจากทางเทศบาล ทำให้เกิดกระบวนการพิจารณาล่าช้า
4. ชาวบ้าน ผู้นำ และ IJM ได้ตัดสินใจร่วมกัน ขอยื่นคำร้องโดยรวบรวมเอกสารของชาวบ้านทั้งหมดส่งทางไปรษณีย์แบบตอบรับ จำนวนคนทั้งสิ้น 600 กว่าราย

ชุดที่ 1 วันที่ 24 มีนาคม 2555
ชุดที่ 2 วันที่ 5 เมษายน 2555
ชุดที่ 3 วันที่ 3 พฤษภาคม 2555
ชุดที่ 4 วันที่ 6 มิถุนายน 2555
ชุดที่ 5 วันที่ 5 กรกฎาคม 2555
ชุดที่ 6 วันที่ 23 กรกฎาคม 2555

ทางเทศบาลตำบลเมืองนะ ตอบกลับมาว่าจะขอตรวจคำร้องชุดที่ 1 และชุดที่ 2 ก่อน

5. ทางชาวบ้าน ผู้นำ และ IJM พยายามติดต่อ ประสานงานทุกอย่างทั้งทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษร การเข้าไปพูดคุย  เพื่อขอจัดทำแผนนัดสอบพยานบุคคลประกอบคำร้อง กำหนดอาทิตย์ละ 3 ราย แต่ปัญหาก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข จนเลยระยะเวลาของกฎหมาย
6. ได้ทำหนังสือร้องเรียนถึงนายอำเภอเชียงดาว, ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่, กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย,สำนักนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แต่เรื่องร้องเรียนทุกอย่างหายเงียบไป ไม่มีการตอบรับกลับมาหรือการประสานงานใดใด
7. ประชุมหารือกับชาวบ้าน ผู้นำชุมชน จะหาแนวทางการอย่างไร ผลสรุปสุดท้ายที่ทำให้ตัดสินใจ คือการใช้กระบวนการศาลปกครอง จึงได้ให้ความรู้กับชาวบ้านเรื่องการฟ้องกับทางศาลปกครอง ชาวบ้านจึงตัดสินใจใช้กระบวนการทางศาลเพื่อให้ช่วยแก้ไขปัญหา จำนวนทั้งหมด 441 ราย จากผู้ยื่นคำร้องก่อนหน้านี้ 600 กว่าราย ได้ทยอยฟ้องคดีทั้งหมด 6 คดี เป็นสำนวนมูลเหตุ การฟ้องคดีเดียวกันและผู้ฟ้องก็เป็นคนเดียวกัน

ฟ้องครั้งที่ 1 วันที่ 2 พฤศจิกายน 2555
ฟ้องครั้งที่ 2 วันที่ 21 พฤศจิกายน 2555
ฟ้องครั้งที่ 3 วันที่ 23 พฤศจิกายน 2555
ฟ้องครั้งที่ 4 วันที่ 6 ธันวาคม 2555 จำนวน 3 คดี

หลังจากฟ้องศาลแล้ว ศาลได้รวมทั้ง 6 สำนวนเป็นสำนวนเดียวเพราะมูลเหตุการฟ้องคดีเดียวกันและผู้ฟ้องก็เป็นคนเดียวกัน จึงเป็นคดีหมายเลขดำที่ 431/2555
8. หลังจากฟ้องคดีก็ได้ประสานงานเพื่อให้ชาวบ้านได้รับการแก้ไขปัญหา และในปี 2556 ชาวบ้านบางส่วนได้เพิ่มชื่อถ่ายบัตร และได้ถอนฟ้องแล้ว 83 ราย ดังนั้นผู้ฟ้องคดีจึงเหลือ 358 ราย

วันที่ 24 ธันวาคม 2556 วันแห่งประวัติศาสตร์

การรอคอยผ่านมาหนึ่งปีเต็ม ๆ หลังจากที่ฟ้องศาลปกครอง ทางศาลได้นัดหมายให้ชาวบ้านมาร่วมรับฟังคดี
ท่ามกลางความหนาวเย็นของอากาศในยามเช้า หมอกสีขาวไหลเคลื่อนคล้อยปกคลุมพื้นที่หมู่บ้าน ในความหนาวเย็นเป็นเพียงช่วงหนึ่งของฤดูกาล หาใช่อุปสรรค ความตั้งใจของพี่น้องชาวบ้านทั้งสามหมู่บ้านกับการรอคอยที่ผ่านมานานแล้ว การนัดหมายการเดินทางของพี่น้องชาวบ้านจาก 3 หมู่บ้าน บ้านแกน้อย บ้านเจียจันทร์ และบ้านหนองเขียว จำนวนกว่า 300 คน ช่วงเช้าเช้าหัวใจทุกดวงหลอมรวมกัน การสวดมนต์ภาวนาร่วมกันให้ความยุติธรรมจงบังเกิดเป็นผลดีกับชาวบ้าน ในการเดินทางจากอำเภอเชียงดาวเพื่อมาร่วมฟังคดีจากศาลปกครอง จังหวัดเชียงใหม่ ประเด็นคดีชาวบ้านที่ฟ้องร้องศาลปกครองไป ชาวบ้านทุกคนมีความหวัง เพราะได้ยื่นเรื่องตามกระบวนการขั้นตอนที่ถูกต้องของกฎหมาย แต่สิ่งที่ได้รับคำตอบมาคือ ความล่าช้า ไม่มีความคืบหน้า  ไม่มีคำตอบใดใดที่ชัดเจน หากศาลปกครองพิจารณาในสิ่งที่เป็นผลดีต่อชาวบ้าน นั่นถือว่า เป็นสิทธิโดยชอบธรรมและเจ้าหน้าที่ไม่สามารถเลือกปฏิบัติหรือการปฏิเสธได้

วันอังคาร ที่ 24 ธันวาคม 2556 เวลา 14.00 น. ณ ศาลปกครองเชียงใหม่ มีคำพิพากษาให้นายทะเบียนท้อง
ถิ่นเทศบาลตำบลเมืองนะและนายอำเภอเชียงดาว พิจารณาคำร้องขอลงรายการบุคคลเข้าในทะเบียนบ้าน (ทร.14) ของผู้ฟ้องคดีทั้งสามร้อยห้าสิบแปดคนในแต่ละกรณี โดยมีคำสั่งอนุมัติภายในกำหนด 90 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด หลังคำพิจารณา ภาพรอยยิ้มและหยาดน้ำตาของพี่น้องชาวบ้านเกิดขึ้นพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย ในที่สุดศาลก็ได้ให้ความยุติธรรม เจ้าหน้าที่ของ IJM ทุกคนใบหน้าเปื้อนยิ้ม พอใจกับการทำหน้าที่ประสานงาน การช่วยเหลือ การให้คำแนะนำกระบวนการ ขั้นตอนทางกฎหมายกับชาวบ้านและสิ่งที่สำคัญไม่ได้ทำให้ชาวบ้านรอคอยแบบสิ้นหวัง  กรณีของคดีชาวบ้านเชียงดาว จะกลายเป็นตำนานและเป็นกรณีศึกษาในการทำงานด้านสถานะบุคคล

นางสีโบ  จะอื่อ, นางสาวนาเซ่  จะแตะ และนายไอ่ซัง  ยังกัง ชาวบ้านบ้านหนองเขียว ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้ร่วมฟ้องคดีกับทางศาลปกครอง ได้กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า “ ดีใจมากที่ศาลได้ให้ความยุติธรรมกับชาวบ้าน ไม่เคยฟ้องคดีแบบนี้เลย ได้รับความร่วมมือจากทาง IJM มาโดยตลอด ทุกคนมีความหวัง ซึ่งครั้งแรกก็กลัวว่าจะไม่ชนะคดี และผลกระทบต่าง ๆ ที่ได้รับก็ยังคงเดิม ไปไหน มาไหนไม่ได้ ถูกตรวจ ถูกจับ ถูกปรับ ขอขอบคุณทาง IJM อีกครั้งที่ได้ให้ความรู้ สร้างความเข้าใจกระบวนการฟ้องร้อง ในอนาคต หากเกิดคดีลักษณะเดียวกัน ชาวบ้านทุกคนก็มีความพร้อมที่จะดำเนินการฟ้องร้อง ช่วยเหลือพี่น้องที่ประสบปัญหาเพราะมีประสบการณ์การฟ้องคดีเป็นตัวอย่างแล้ว”

หลังจากที่ศาลได้พิจารณาคดีที่เป็นผลดีกับชาวบ้าน นางสีโบ  จะอื่อ ได้รับการอนุมัติให้ลงรายการสัญชาติไทยตามมาตรา 23, นางสาวนาเซ่ จะแตะ ได้รับการอนุมัติให้ลงรายการสัญชาติไทยตามระเบียบฯ 43 และนายไอ่ซัง  ยังกัง ยังไม่ได้รับการอนุมัติให้ลงรายการสัญชาติไทย แต่ได้ยื่นคำร้องของลงรายการสัญชาติไทยตามมาตรา 23

นาวสาวอาแผ่  มาโฟ๊ะ (อดีตเจ้าหน้าที่ IJM) บอกไว้ว่า “อยากให้กรณีคดีของชาวบ้านในพื้นที่อำเภอเชียงดาว เป็นกรณีศึกษาให้กับทุก ๆ องค์กรที่ทำงานด้านสถานะบุคคล ความใส่ใจของเจ้าหน้าที่ หน่วยงานของอำเภอและเทศบาล ต้องจริงใจในการแก้ไขปัญหา ระยะเวลาที่ผ่านมาสิบกว่าปี ไม่มีคำตอบที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหา หากจะให้เห็นใจภาครัฐ ภาครัฐก็ควรเห็นใจชาวบ้าน อยากให้ทำหน้าที่จนถึงที่สุด ไม่อยากให้ใช้วิธีการเดิม ๆ ความล่าช้า การรอคอย และการย้ายของเจ้าหน้าที่ คนใหม่มาก็ไม่สามารถทำอะไรต่อได้ การรอไม่ได้ช่วยอะไรให้คืบหน้า การฟ้องร้องในครั้งแรกก็มีหลายองค์กรได้เสนอความคิดเห็นว่าจะเกิดผลกระทบต่อการทำงาน แต่ที่ผ่านมาเราได้ทำตามกระบวนการทุกอย่างแล้ว แต่ยังไม่มีการดำเนินการแก้ไขใดใด จึงได้ใช้วิธีฟ้องศาลปกครอง ดังนั้นจึงคิดว่า การทำงานเราต้องใช้กฎหมายเข้ามาช่วย”

นางสาวละออ  กู่แก้วเกษม ทนายความขององค์การยุติธรรมนานาชาติ (IJM) ผู้มีส่วนสำคัญในการเป็นทนายของคดีฟ้องร้องให้ชาวบ้าน ได้แสดงความเห็นว่า “เราได้พยายามทำการแก้ไขปัญหาทุกวิถีทาง แต่ไม่มีความคืบหน้าใดใดให้กับชาวบ้านเลย จึงทำให้เราต้องใช้กระบวนการทางศาลปกครอง สาเหตุของการอยากทำคดีนี้เพราะ

1. อยากแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือชาวบ้านให้เข้าถึงสิทธิที่พึงมีพึงได้ตามกฎหมาย และการต่อสู้ของชาวบ้านหลาย ๆ คนต่อสู้มาเป็นเวลาสิบกว่าปีแล้ว
2. ได้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นของกลุ่มพี่น้องชาวบ้านในพื้นที่ จึงอยากใช้ความรู้ความสามารถของตนเองให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม โดยเฉพาะพี่น้องชนเผ่า
3. อยากเห็นกระบวนการทางกฎหมายที่แก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้านอย่างยุติธรรมและอยากเห็นกฎหมายที่ใช้ได้จริงกับสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น

ตอนแรกที่ทำคดี เราไม่ได้หวังว่าจะชนะคดี เพราะกฎหมายสถานะบุคคลเป็นกฎหมายเฉพาะ หากไม่มีความเข้าใจอาจเกิดการตีความที่แตกต่างกันได้ และ

(1) ในการดำเนินคดีในศาลปกครองใช้เอกสารหลักฐานเป็นหลัก น้อยมากที่จะเรียกพยานบุคคลมา
สอบถาม คดีนี้พยานหลักฐานเป็นตัวเดินเรื่องให้ศาลเห็น รู้สึกหวั่น ๆ ในผลคดีเหมือนกัน เรามีพยานเอกสารน้อยมาก เพราะได้ติดต่อประสานงานกับภาครัฐเพื่อขอคัดสำเนา แต่ไม่ค่อยได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร
(2) การพิจารณาของศาล กฎหมายไม่ได้กำหนดกรอบระยะเวลาไว้ จึงไม่สามารถวางแผนงานหรือให้ข้อมูลยืนยันกับชาวบ้านได้ว่าคดีจะเสร็จเมื่อไร และจะต้องดำเนินการอย่างไร ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลทั้งหมด แต่คดีเชียงดาวถือว่าศาลดำเนินการเร็วมาก ใช้เวลา 1 ปีเต็ม ๆ
(3) หลังจากศาลชั้นต้นตัดสิน กระบวนการยังไม่จบ จะมีศาลปกครองสูงสุดอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งจะมีการอุทธรณ์ ทำให้ระยะเวลาการตัดสินคดียืดออกไปอีก เราไม่ทราบว่าคดีจะจบเมื่อไร จะเป็นอย่างไร ปัจจุบันนายอำเภอเชียงดาวได้ทำการยื่นอุทธรณ์ แต่ส่วนของเทศบาลตำบลเมืองนะไม่ได้ยื่น

คดีเชียงดาว เป็นคดีตัวอย่างคดีหนึ่ง ที่ได้เห็นความกล้าหาญของชาวบ้าน ที่ออกมาต่อสู้เรียกร้อง แล้วใช้กระบวนการทางกฎหมายมาช่วยแก้ไขปัญหาของตนเอง ซึ่งเราจะเห็นไม่บ่อยหนักเพราะชาวบ้านขาดความมั่นใจ ,มีความรู้สึกว่าตนเองไร้คุณค่า หรือไม่สมควรจะกระทำหรือไม่มีสิทธิทำ ทั้ง ๆ ที่กฎหมายบัญญัติรับรองสิทธิเหล่านั้นไว้อย่างชัดเจน เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคนในโลกนี้ ดังนั้นในอนาคตอยากเห็นชาวบ้านออกมาต่อสู้ เรียกร้อง มีความกล้า มีความมั่นใจที่จะตัดสินใจเลือกใช้วิธีการที่กฎหมายบัญญัติ ดังกรณีของชาวบ้านอำเภอเชียงดาวทั้งสามหมู่บ้าน

เครือข่ายสถานะบุคคล 32 องค์กร ได้มีการประชุมร่วมกันกับกรณีที่เกิดขึ้นของพี่น้องในพื้นที่อำเภอเชียงดาว จึงมีข้อเสนอว่า ควรจะสรุปบทเรียนให้เป็นกรณีศึกษา เพราะผลที่เกิดขึ้น ไม่ได้เฉพาะคนที่ฟ้องสี่ร้อยกว่าคนเท่านั้น เกิดผลดีกับกลุ่มเป้าหมายคนอื่น ๆ ด้วย และจะทำอย่างไรให้ศาลช่วยดำเนินการเร่งให้อำเภอและเทศบาลดำเนินการให้กับชาวบ้าน ให้ศาลคุ้มครองกระบวนการจนสิ้นสุดและให้ศาลเห็นชัดว่า ยิ่งรอนาน สิทธิของชาวบ้านก็ไม่ได้ เสียหายไปเรื่อย ๆ ควรเขียนให้เขาเห็นอย่างชัดเจน

“เราทำตามกระบวนการของกฎหมายแล้ว มีการปรึกษา ยื่นเรื่องราวกรณีของชาวบ้านกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ องค์กรอิสระ หากแต่เรื่องก็เงียบหาย การรอคอยไม่ได้มีผลของความคืบหน้าใดใดเลย เราจึงต้องใช้วิธีการทางศาลปกครอง ซึ่งถือว่าเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่เราสามารถเข้าถึงได้ อยากให้คนทำงานมีความตระหนักร่วมกันว่า การใช้วิธีการทางศาลปกครองเป็นเรื่องราวที่ปกติ ไม่ใช่เรื่องราวที่ยุ่งยาก เป็นทางเลือกหนึ่งที่เราสามารถดำเนินการฟ้องร้องตามกฎหมายได้ กรณีของชาวบ้านที่อำเภอเชียงดาว จึงถือว่าเป็นกรณีศึกษาให้กับคนทำงานในการดำเนินงานด้านสถานะและสิทธิบุคคลต่อไป” นายเขมชาติ ศักดิ์สกุลมงคล ผู้อำนวยการองค์การยุติธรรมนานาชาติ (IJM) บอกกล่าวไว้

บทเรียนการต่อสู้ของชาวบ้าน เป็นบทเรียนแห่งการเรียนรู้ ทั้งกลุ่มชาวบ้านเอง และคนทำงาน ไม่ใช่เรื่องง่ายดายนัก กับการต่อสู้ทางด้านกฎหมาย ความอยุติธรรมคอยเป็นเงาทะมึนติดตามเคียงข้างกับผู้คนที่ยากจน ผู้ที่ยากไร้เสมอ แต่บนความไม่เท่าเทียมกันของสังคม ความยุติธรรมที่ดูเหมือนจะห่างไกล บางครั้งไขว่คว้าไปไม่ถึง ขอเพียงแต่หัวใจที่ไม่ยอมแพ้ของทุกคนพร้อมที่จะก้าวเดินไปสู่ความถูกต้องด้วยตัวเอง เมื่อนั้นกลุ่มคนหรือองค์กรเล็ก ๆ ที่มีใจพร้อมจะยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ พี่น้องชาวบ้านไม่ได้ต่อสู้เพียงลำพังหรือโดดเดี่ยว จะมีผู้คนยืนอยู่บนเส้นทางนั้นและพร้อมจะก้าวเคียงข้างไปด้วยกันกับพี่น้องชาวบ้านเสมอ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles