Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

เก็บประเด็นเสวนา: วาทกรรม 'มนุษย์ป้า'

$
0
0

ในวงคุยเรื่อง “มนุษย์ป้า… วาทกรรมสื่อและสังคม” คนสื่อถามถ้าการกบฏเป็นจิตวิญญาณหนุ่มสาว ทำไมถึงมาวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการไม่ทำตามกติกาของผู้หญิงสูงวัย ด้านนักกิจกรรมชวนช่วงชิงความหมาย "มนุษย์ป้า"ใหม่


27 มิ.ย.2557 มีเดีย อินไซด์ เอ้าท์ จัดเสวนาเรื่อง “มนุษย์ป้า… วาทกรรมสื่อและสังคม” ที่มีเดีย คาเฟ่ @ มีเดีย อินไซด์ เอ้าท์

นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ สื่อมวลชนอาวุโสและที่ปรึกษามติชนทีวี กล่าวว่า คำว่า "มนุษย์ป้า"เป็นช่องว่างระหว่างวัย และสังคมไทยก็ไม่ได้ยกย่องผู้หญิงมากนักไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว สิ่งเดียวกันเมื่อเพศชายทำกลับมองไม่เห็น ในฐานะที่เป็นคนวัยป้า รู้สึกไม่ชอบรู้สึกว่าเป็นคำที่เหยียดหยามทางเพศ เหยียดวัย พอเป็นผู้หญิงที่สูงอายุก็เลยมองว่าไม่ดี

นิธินันท์ กล่าวว่า เราทนไม่ได้กับพฤติกรรมต่างๆ ของผู้หญิง แต่มีหลายเรื่องที่ผู้ชายก็ทำและเป็นเรื่องน่ารังเกียจ อึดอัดกว่า พ่อที่กดขี่ บังคับลูกให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ บางทีการใช้คำว่ามนุษย์ป้า ก็เป็นการสนุกที่จะอยู่ในสังคมของผู้ชาย

เธอกล่าวว่า ข้อเท็จจริงประการหนึ่งในสังคมเอเชีย คือผู้หญิงมีอำนาจในการจัดการภาระในบ้าน เมื่อแต่งงานเข้าบ้านเธออาจจะต้องทำตามสามี แต่เมื่อสูงวัยขึ้น เธอเสียงดังมากขึ้น สังคมก็อาจจะเริ่มยอมรับไม่ได้

ในส่วนของสื่อนั้น นิธินันท์มองว่า สื่อไทยผลิตซ้ำภาพของผู้หญิงที่อ่อนหวาน เหมือนแม่พลอย ที่ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมชบอกว่า แม่พลอยนั้นโง่มาก และพร่ำเพ้อเหมือนคนในสังคมไทย ต่อมา ผู้หญิงในวงการสื่อที่เริ่มมีแนวคิดเรื่องสิทธิและความเท่าเทียม ก็กลายเป็น เจ๊ ทั้งหมด ซึ่งทั้งหมดอยู่ในกระบวนการทำงานนอกบ้าน ต่อมา บทบาทผู้หญิงเก่งในโลกตะวันตกมีผู้หญิงนักธุรกิจแต่งตัว สื่อก็ตามเทรนด์ตะวันตก ก็ยกระดับการเรียกไปสู่การเป็น "คุณ"ส่วนคำว่า "มนุษย์ป้า"สื่อก็เรียกตามไป เพราะมันเป็นเทรนด์

นิธินันท์ ตั้งคำถามถึงการวิพากษ์วิจารณ์ว่ามนุษย์ป้าไม่ทำตามกฎเกณฑ์ทางสังคมด้วยว่า น่าคิดว่าการกบฏเป็นจิตวิญญาณหนุ่มสาว ทำไมถึงมาวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการไม่ทำตามกติกาของผู้หญิงสูงวัย

เธอมองว่า การทำตลกเกี่ยวกับมนุษย์ป้าก็อาจจะเพราะต้องการต่อต้านอำนาจที่เธอแสดงออกมาในสังคม การที่มนุษย์ป้าเข้ามาในพื้นที่สาธารณะที่เคยเป็นของผู้ชาย เป็นเรื่องคุกคาม ขณะเดียวกันเราไม่ทำตลกกับมนุษย์ลุงที่ทำผิดกติกา


ชวนช่วงชิงความหมาย "มนุษย์ป้า"ใหม่

พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า วาทกรรมมนุษย์ป้าเกิดขึ้นอาจจะเพราะเห็นได้ชัด จากการแต่งตัวที่ไม่ทันสมัย ไม่ได้ทำงานในลักษณะที่สร้างผลผลิตให้สังคม เป็นคนทำงานในบ้าน ซึ่งสังคมสมัยใหม่มองว่ามีคุณค่าต่ำกว่า ขณะที่ถ้าเป็นผู้หญิงในวัยเดียวกันทำงานที่มีลักษณะ productive work เป็นการทำงานในพื้นที่ของผู้ชาย

พิมพ์สิริกล่าวถึงแนวคิดของเพลโตที่เป็นพื้นฐานต่อมาในคริสตศาสนาคือ การมองว่าผู้หญิงต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้ชาย เธอพูดถึงแนวคิดของเฟมินิสต์ ที่พูดเรื่องสิทธิทางการเมือง ขณะที่เฟมินิสต์กระแสที่สอง พูดเรื่องความเท่าเทียมทางสังคมวัฒนธรรม ขณะที่เฟมินิสต์กระแสที่สาม วิพากษ์วิจารณ์สองกระแสแรก

เธอตั้งข้อสังเกตถึงวาทกรรมมนุษย์ป้าในสังคมการเมือง ว่าผู้หญิงวัยกลางคนที่อยู่แนวหน้าในทางการเมืองก็เป็นมนุษย์ป้า

พิมพ์สิริกล่าวว่า มนุษย์ป้าเท่ๆ ก็มี เช่น คุณอังคณา นีละไพจิตรที่เคยเป็นแม่บ้าน แต่เมื่อสามีถูกอุ้มหาย ก็ลุกขึ้นมาต่อสู้จนมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้ไทยลงนามในสนธิสัญญาต่อต้านการอุ้มหาย

พิมพ์สิริกล่าวในตอนท้ายของการเสวนาว่า มนุษย์ป้านั้น เป็นอีกส่วนหนึ่งที่สะท้อนว่า สังคมไทยไม่มี political correctness อย่างไรก็ตามในสังคมเปิด ซึ่งเธอไม่แน่ใจว่าสังคมไทยยังเป็นสังคมเปิดหรือเปล่า แต่ในสังคมเปิด เราไม่ควรห้ามคนอื่นพูด หากเราไม่พอใจความหมายของคำก็ควรจะช่วงชิงความหมาย หรือสร้างความหมายมันเสียใหม่

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles