ภาพล่าง ชาตรี ประกิตนนทการ (ซ้าย) เอนก นาวิกมูล (ขว่)
เมื่อวันอังคารที่ 24 มิถุนายน 2557 เวลา 14.00 น. นิตยสารสารคดีจัดเสวนาในหัวข้อ “มรดกและวัธนธัม จอมพล ป. ในสังคมไทย” ณ ร้านหนังสือริมขอบฟ้า มุมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยมี ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และ เอนก นาวิกมูล ผู้ก่อตั้ง “บ้านพิพิธภัณฑ์” ร่วมเสวนา โดย สุเจน กรรพฤทธิ์ นักเขียนประจำกอง บก. นิตยสารสารคดี ผู้ดำเนินรายการ เกริ่นนำว่า มิถุนายน มีทั้งวันที่ครบรอบการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และเป็นเดือนที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม บุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยถึงแก่กรรม จึงเป็นเดือนที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง
ชาตรี ประกิตนนทการ เริ่มการเสวนาโดยกล่าวว่า จอมพล ป. ถือเป็นบุคคลที่ถูกพูดถึงอย่างต่อเนื่องในประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยเมื่อกล่าวถึงจอมพล ป. คำบอกเล่าที่ถูกกล่าวกันมาอย่างยาวนานคงหนีไม่พ้น “ผู้นำเผด็จการ” ทั้งนี้ จอมพล ป. เคยเป็นผู้ดำรงอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรียาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ซึ่งนับเวลาก็ยาวนานถึง 14 ปี 11 เดือน 18 วัน การดำรงตำแหน่งที่ยาวนานทำให้จอมพล ป.ทิ้งมรดกวัฒนธรรมต่างๆ ไว้มากมาย และเป็นผู้ที่มีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยอย่างมาก มิได้มีแค่ภาพลักษณ์ของผู้นำเผด็จการเพียงอย่างเดียว
ชาตรี กล่าวว่า ความทรงจำ จอมพล ป. ในสังคมไทย สามารถแบ่งออกเป็นห้ายุคด้วยกัน ในยุคแรกจะเป็น ยุค 2475-2490 เป็นช่วงที่ประชาชนให้การสนับสนุนคณะราษฎร และฝ่ายเจ้าถูกโจมตีอย่างหนัก ซึ่งจอมพล ป.เป็นหนึ่งในคณะราษฎร ในยุคต่อมาคือยุค 2490-2520 เป็นยุคที่ประชาชนหันกลับไปให้ความสนับสนุนฝ่ายเจ้าและฝ่ายคณะราษฎรถูกโจมตีอย่างหนัก ยุคที่สามจะเป็นยุคที่ฝ่ายซ้ายที่เป็นสังคมนิยม โจมตีทั้งคณะราษฎรและฝ่ายเจ้าเพราะคิดว่าทั้งสองฝ่ายไม่ได้นำมาซึ่งความเสมอภาคของประชาชน ยุคถัดมาซึ่งเป็นทศวรรษที่ 20 ภัยคุกคามของคอมมิวนิสต์ลดน้อยลงไป ปรีดี พนมยงค์แยกออกจากคณะราษฎรและอยู่ในสถานะของฮีโร่ เป็นเสรีไทย ซึ่งในขณะนั้น จอมพล ป. ก็ถูกแยกออกมาและกลายเป็นตัวแทนของเผด็จการ ต่อมายุคที่ห้าหลังจากปี 2549 จนถึงปัจจุบันเป็นยุคที่ประชาชนที่รักประชาธิปไตยหมดศรัทธากับคนเดือนตุลา ขาดที่พึ่ง จึงเปลี่ยนกลับไปหาคณะราษฎร เกิดกระบวนการรื้อฟื้นคณะราษฎร ทำให้จอมพล ป. ถูกมองในมุมมองใหม่ๆมากขึ้น จึงเกิดความคิดของคนสองกลุ่มที่มองว่าจอมพล ป. เป็นตัวแทนของนักประชาธิปไตยที่เป็นฮีโร่ ขณะที่อีกขั้วความคิด ฉายภาพความเป็นเผด็จการของจอมพล ป.
“จะเห็นว่าภาพของจอมพล ป. ยังคงเป็นตัวละครที่ดูเหมือนมีชีวิต และได้รับการต่อสู้ภายใต้สถานการณ์การเมืองไทย” ชาตรีกล่าว
ขณะที่เอนกกล่าวว่า การดำเนินนโยบายสมัยที่จอมพล ป. ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีหลายเรื่องที่ส่งผลต่อสังคมไทยในยุคนั้นและยังมีอิทธิพลต่อสังคมมาถึงปัจจุบัน การดำรงตำแหน่งที่ยาวนานทำให้จอมพล ป. ได้สร้างวัฒนธรรม สถาปัตยกรรมต่างๆ ไว้เยอะมาก แต่บางครั้งก็เป็นการสร้างบางอย่างพร้อมกับทำลายบางอย่าง อาทิ พระราชวังวินด์เซอร์ที่กลายมาเป็นสนามกีฬาแห่งชาติ และยังมีสถาปัตยกรรมอีกมากมายและเราที่เคนรุ่นหลังได้ใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่อง เช่น วัดพระศรีมหาธาตุ, อนุสรณ์สถานแห่งชาติ, อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ก็ล้วนเกิดขึ้นในยุค “เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย” ทั้งสิ้น ในยุคของจอมพล ป. ประชาชนสนใจเรื่องความรักชาติมากขึ้น ประเทศมีการพัฒนาตัวเองดีขึ้นในหลายๆ ด้าน
“ผมว่าชาติ ต้องมีระเบียบ กติกา แต่ปัจจุบันเหมือนสิ่งเหล่านี้หย่อนยาน จอมพล ป. พยายามสร้างกติกา ให้รู้จักคำว่าเข้าแถว การเคารพธงชาติบางคนเห็นเป็นเรื่องตลก แต่อีกด้านก็ช่วยฝึกเราเหมือนกัน เมื่อไม่กี่อาทิตย์ที่เขาจัดให้ดูหนังฟรี ไปแย่งกันไม่มีระเบียบ ผมว่าถ้าจอมพล ป.ท่านเห็นคงเสียใจ” เอนกกล่าวยิ้มๆ เรียกเสียงหัวเราะของผู้ร่วมงาน
เอนกกล่าวต่ออีกว่ารัฐบาลจอมพล ป. ได้เปลี่ยนแปลงประเพณีและวัฒนธรรมบางอย่าง เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองและให้เกิดความทันสมัย เช่น มีการเปลี่ยนชื่อประเทศจาก “สยาม” เป็น “ไทย” ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 , เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่จากวันที่ 1 เมษายน เป็นวันที่ 1 มกราคมของทุกปี เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสากล มีการสร้างชาติด้วยวัฒนธรรมใหม่ โดยจัดตั้ง “สภาวัฒนธรรมแห่งชาติ”ซึ่งปัจจุบันคือกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อจัดระเบียบการดำเนินชีวิตของคนไทยให้เป็นแบบอารยประเทศ โดยประกาศรัฐนิยมฉบับต่างๆ อาทิ สั่งห้ามประชาชนกินหมากโดยเด็ดขาด, ให้ผู้หญิงเลิกนุ่งโจงกระเบน เปลี่ยนมานุ่งผ้าถุงแทน, ให้สวมหมวก สวมรองเท้า, มีการตัดตัวอักษรที่ออกเสียงซ้ำกัน จึงมีการเปลี่ยนแปลงการสะกดคำมากมาย เช่น “กระทรวงศึกษาธิการ” เขียนเป็น “กระซวงสึกสาธิการ” เป็นต้น
ชาตรี กล่าวถึงชะตากรรมของตัวงานสถาปัตยกรรมคณะราษฎรในศตวรรษที่ 21 ว่า “ศิลปะแยกไม่ออกจากการเมือง” สถาปัตยกรรมในยุคคณะราษฎรเป็นสิ่งก่อสร้างที่ไม่สามารถจะอธิบายโดยอ้างอิงกับรูปแบบทางประวัติศาสตร์ศิลปะเพียงอย่างเดียว แต่ต้องอธิบายควบคู่ไปกับบริบททางการเมืองที่ปรากฏขึ้นในช่วงนั้นด้วย ยกตัวอย่างเช่น ศิลปะแบบ Modern Architecture ซึ่งเป็นศิลปะในแบบยุคทันสมัยที่ถูกนำเข้ามาในสมัยคณะราษฎร ในบริบทสากลศิลปะแบบ Modern Architecture จะเป็นภาพแทนของเสรีภาพ แต่เมื่อถูกนำเข้ามาในสังคมไทยและถูกสร้างให้เป็นงานสถาปัตยกรรมในสมัยคณะราษฎร ทำให้ศิลปะแบบ Modern Architecture ถูกตีความผิดเพี้ยนไปจากความเป็นสากลซึ่งในเมืองไทยศิลปะแบบ Modern Architecture จะถูกแทนความหมายว่าเป็นศิลปะของฟาสซิสต์
“ตัว Modern Architecture มันไม่ได้น่าเกลียดโดยตัวมันเอง แต่ในเมืองไทยมันถูกโยงเข้ากับคณะราษฎรและจอมพล ป. มันเลยไม่ถูกยอมรับ ซึ่งเป็นเรื่องของการตีความทางการเมือง” ชาตรีกล่าว
ชาตรีกล่าวต่อถึงประเด็นสำคัญของ “การเมืองของการทำให้ลืม” ซึ่งเป็นปฏิบัติการทางการเมืองโดยที่ทำโดยไม่รู้ว่าเป็นปฏิบัติการทางการเมืองว่า “แบบนี้จะน่ากลัว” ยกตัวอย่างเช่นศาลฎีกาที่เป็นสิ่งก่อสร้างในสมัยจอมพล ป. ตัวอาคารไม่มีลวดลาย สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ตึกอาคารศาลฎีกาถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกถึงการได้เอกราชทางการศาล ก็มี “กระบวนการทำให้ลืมความทรงจำ” เหล่านี้ จนสถานะของตึกศาลฎีกากลายเป็นเพียงตึกสี่เหลี่ยมเรียบๆ ที่ไม่มีความหมายอะไร ก็เลยรื้อถอนโดยไม่เห็นความสำคัญ
ชาตรีกล่าวเสริมว่า ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่ผู้รื้อถอนรู้ว่าเป็นอาคารเกี่ยวกับคณะราษฎรเลยทำการรื้อถอน แต่การรื้อถอนโดยไม่รู้ว่าศาลฎีกาเป็นตัวแทนของการได้เอกราชทางการศาลก็เลยทำการรื้อถอน