คสช.หารือตัวแทนรัฐ-เอกชนกรณีสหรัฐฯ ลดอันดับการค้ามนุษย์ในไทย เร่งสร้างความเชี่อมั่น พม.โต้ถูกกล่าวหาไม่ตรงข้อเท็จจริงเรื่องค้ามนุษย์ แจงทำงานแก้ปัญหามาตลอด
26 มิ.ย.2557 จากกรณีที่สหรัฐฯ ลดอันดับการค้ามนุษย์ของไทย พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะรองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้หารือตัวแทนจากองค์กรภาครัฐและเอกชนประกอบด้วยปลัดกระทรวงพาณิชย์ กรมการค้าต่างประเทศ ปลัดกระทรวงแรงงาน ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตัวแทนกระทรวงการต่างประเทศ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กองบังคับการปราบปราบการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปรามปรามการค้ามนุษย์ สมาคมกุ้งไทย สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย
พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า การปราบปรามแรงงานนอกระบบ รวมถึงการจัดการกระบวนการการค้ามนุษย์เป็นประเด็นที่ คสช.ได้ให้ความสำคัญและเห็นว่าต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน
"ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมกันเสนอแนะแนวทางปฏิบัติ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ประกอบการและกลุ่มผู้ค้า ขณะเดียวกันต้องแสดงออกให้นานาชาติได้เห็นว่าไทยไม่เห็นด้วยกับการใช้แรงงานนอกระบบ"พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว
พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า ที่ประชุมในส่วนของภาคเอกชนได้ให้ความเชื่อมั่นในมาตรฐานของสินค้าที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศยุโรป ซึ่งทางภาครัฐได้ขอให้รักษาระดับมาตรฐานต่อไป และในส่วนของภาครัฐ โดยความร่วมมือของกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงแรงงาน จะเดินหน้าทำความเข้าใจกับผู้ขายและผู้นำเข้าสินค้าทั้งในอเมริกาและยุโรป
พร้อมทั้งยืนยันว่า ขณะนี้ยังคงไม่มีสินค้าไทยถูกระงับการนำเข้า แต่ต้องเร่งในเรื่องการสร้างภาพลักษณ์ที่ดี เพราะยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนตามรายงานของทางสหรัฐ โดยเฉพาะปัญหาการใช้แรงงานเด็ก อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมไม่ได้มีการประเมินว่าจากการปรับลดระดับแรงงานของสหรัฐ จะส่งผลกระทบต่อตัวเลขการส่งออกในปีนี้หรือไม่ แต่จะเดินหน้าทำงานเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจ โดยทางกระทรวงการต่างประเทศจะมีการทำรายงานชี้แจงผ่านทางทูตไทยประจำสหรัฐด้วย
"มีความเป็นไปได้ที่จะมีการเชิญผู้ประกอบการและภาคเอกชนของสหรัฐมาเยี่ยมชมโรงงานผลิตสินค้าในประเทศไทย ซึ่งอยู่ระหว่างการเตรียมการของกระทรวงการต่างประเทศ และทางกระทรวงพาณิชย์ก็มีแผนหาตลาดใหม่ๆ นอกเหนือจากสหรัฐและยุโรปอยู่แล้ว"
ด้านนางศรีรัตน์ รัษฐปานะ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ยอมรับว่า มาตรการของสหรัฐ อาจส่งผลให้มีการหยุดการสั่งสินค้าจากไทยจากผู้ซื้อ 3-4 รายเท่านั้น แต่ส่วนใหญ่ยังคงเชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้าไทย และผู้ประกอบไทยก็มีความสามารถในการแข่งขันในระดับที่ดี
ด้านนายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายกสมาคมแช่เยือกแข็งไทย ระบุว่า ภาคเอกชนโดยเฉพาะผู้ประการผลิตสินค้าที่ทำจากกุ้งและทูน่าจะเดินทางไปชี้แจงต่อสมาคมผู้นำเข้าอาหารทะเลสหรัฐ ในวันที่ 22-23 ก.ค.นี้ เพื่อไปตอกย้ำถึงมาตรฐานของสินค้าไทย และการใช้แรงงาน โดยจะชี้แจงต่อผู้ค้าในสหรัฐเพื่อสร้างความมั่นใจและนำไปบอกต่อผู้ซื้อรายย่อยของสหรัฐ
นอกจากนั้น ยังย้ำว่าภาคเอกชนทั้ง 8 สมาคมมีแผนในการแก้ไขปัญหาทั้งหมดไว้แล้ว และได้นำปัญหาทั้งหมดเสนอต่อ คสช.แล้ว และพร้อมที่จะมีการจัดระเบียบใหม่ทั้งหมด โดยไม่ได้รู้สึกกังวลต่อการดำเนินการของสหรัฐในครั้งนี้
พม.โต้ถูกกล่าวหาไม่ตรงข้อเท็จจริงเรื่องค้ามนุษย์ แจงทำงานแก้ปัญหามาตลอด
วันเดียวกัน นายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นประธานพิธีเปิดงานวันต่อต้านการค้ามนุษย์ ประจำปี 2557 เพื่อรณรงค์เผยเเพร่ความรู้เกี่ยวกับภัยของการค้ามนุษย์ และแสดงเจตนารมณ์ ความมุ่งมั่นในการป้องกันและปราบปรามปัญหาของไทย
นายวิเชียร กล่าวว่า ไทยมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาเรื่องนี้มาตลอดตั้งแต่ปี 2551 แต่เดิมใช้กฎหมายอาญาธรรมดา แต่ในปี 2553 ได้เปลี่ยนมาใช้กฎหมายการค้ามนุษย์ และมีนายกรัฐมนตรีกำกับดูแลในเรื่องนี้มาทุกสมัย ซึ่งไนปี 2553 ไทยถูกสหรัฐถูกจัดอันดับการค้ามนุษย์ในระดับ 2 (Tier 2 Watch List) คือ ต้องจับตามองเป็นเวลาติดต่อกัน 4 ปี ( 2553-56) มาในปีนี้ต้องจัดอันดับใหม่ ถูกลดมาอยู่ในระดับ 3 (Tier 3) คือ เป็นกลุ่มประเทศที่มีสถาการณ์การค้ามนุษย์ในระดับเลวร้ายที่สุด โดยอเมริการระบุว่าไทยไม่ได้แสดงความก้าวหน้าในการดำเนินการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ตามที่สหรัฐกำหนด
และสิ่งที่สำคัญคือ ข้อกล่าวหาร้ายแรงที่ทำให้อเมริกาปรับลดอันดับไทย คือการกล่าวหาว่านำกลุ่มโรฮิงญาเข้ามาในสถาประกอบการ ซึ่งคนกลุ่มนี้อพยพมาจากทางตะวันตกของพม่า และเป้าหมายคือประเทศมาเลเซีย ไม่ใช่ไทย และยืนยันว่าสถานประกอบการในไทยไม่ได้ต้องการคนกลุ่มนี้เข้าทำงาน
“เราเสียใจที่ถูกกล่าวหาไม่ตรงกับข้อเท็จจริง โรฮิงญาเป็นปัญหาการลักลอบเข้าเมือง ไม่ใช่การค้ามนุษย์ และรายงานของอเมริกาก็ไม่ใช่ผลลัพธ์ที่ พม.ทำในปี 2556 แต่ไปใช้ในปีก่อนๆ มาตัดสิน” นายวิเชียร กล่าวและว่า ที่กล่าวมาไม่ใช่การแก้ตัว เพราะ พม.มีหลักฐานในการทำงาน และจะไม่หยุดทำงานแม้จะถูกพาดพิง หลังจากนี้จะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เปิดพื้นที่ให้สื่อมวลชน รวมถึงองค์กรที่ไม่ใช่ภาครัฐเข้ามานำเสนอข้อมูลทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อนำข้อมูลมาเร่งแก้ไขให้เป็นตามมาตราฐานสากล หรือ 5P ที่ประกอบด้วย การดำเนินคดี การคุ้มครองดูแล การป้องกันปัญหา การกำหนดนโยบายและนำไปสู่แนวทางปฏิบัติ และการร่วมมือในภูมิภาคที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ ที่สำคัญจะแปลหนังสือรายงานผลดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย ปี 2556 เป็นภาษาอังกฤษ ส่งให้สหรัฐพิจารณาอีกครั้ง รวมถึงขอความร่วมมือประเทศเพื่อนบ้านให้ช่วยปราบปรามและป้องกันการทะลักเข้ามาของแรงงาน เพื่อช่วยกันลดปัญหาการค้ามนุษย์ในไทย
นอกจากนี้ ไทยยังถูกสหรัฐกล่าวหาว่าละเลยในการปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงกล่าวหาว่าภาครัฐมีส่วนรู้เห็นเป็นใจ ซึ่งในนามของรัฐขอยืนยันว่าที่ผ่านมาอาจมีเจ้าหน้าที่เข้าไปเกี่ยวแต่เป็นความผิดตัวบุคคลไม่ใช่เหมารวม ยอมรับที่ผ่านมาหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พยายามแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์มาโดยตลอด แต่เนื่องจากพรมแดนไทยอยู่ติดกับหลายประเทศเพื่อนบ้าน สะดวกต่อการโยกย้ายถิ่นฐานทั้งที่เข้ามาแบบถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย รวมทั้งความเจริญเติบโตทางด้านการค้า ทำให้เป็นที่สนใจของแรงงานต่างด้าวให้เข้ามาหารายได้ในประเทศไทยมากขึ้น จึงเกิดการหลอกลวงแรงงาน ทั้งจากประเทศต้นทางและปลายทาง ทำให้แรงงานต่างด้าวจำนวนไม่น้อยต้องตกอยู่ในขบวนการค้ามนุษย์
ที่มา:เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจและสำนักข่าวไทย