24 มิ.ย.2557 สถาบันปรีดี พนมยงค์ จัดงานปาฐกถาประจำปี พ.ศ.2557 ด้วยหัวข้อ เส้นทางแห่งความไม่เสมอภาคในสังคมไทย ปาฐกถาโดย ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ประจักษ์ กล่าวปาฐกถาโดยแบ่งเป็นสามช่วง คือช่วงแรก รากฐานเรื่องความไม่เสมอภาคเท่าเทียม โอยอภิปรายแนวคิดของนักคิดที่สำคัญ 3 คนในการวางรากฐานความคิดว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่ไม่เสมอภาค ได้แก่ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, พระยาอนุมานราชธน และม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งดำรงบทบาทในการเป็นผู้ผลิตสร้างแนวคิดว่า ความไม่เสมอภาคเป็นเรื่องปกติ ดำรงอยู่อย่างเป็นปกติได้ด้วยแนวคิดเรื่องความสามัคคี และแนวคิดเรื่องความเสมอภาคเป็นเรื่องผิดปกติและส่งผลกระทบต่อระเบียบและโครงสร้างสังคม
ประจักษ์กล่าวในช่วงต้นของปาฐกถาว่า การปะทะขัดแย้งระหว่างความคิดที่ไม่เสมอภาคนี้เป็นความขัดแย้งที่อยู่ลึกที่สุดในฐานความคิดของสังคมไทย แม้คณะราษฎรจะยึดอำนาจได้สำเร็จ และสถาปนาการเมืองที่ให้สิทธิให้เสียงกับคนที่กว้างขวางที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่คณะราษฎรได้พ่ายแพ้ในการสถาปนาแนวคิดดังกล่าวให้ลงหลักปักฐานในสังคมไทย อุดมการณ์ที่เชื่อในความไม่เสมอภาคยังฝังลึก
สามนักคิดผู้มีอิทธิพลในการวางรากฐานอุดมการณ์ สังคมไทยไม่เท่าเทียม
แนวคิดเรื่องคนเกิดมาไม่เท่าเทียมกัน เชื่อในเรื่องชาติกำเนิด ความไม่เท่าเทียมเป็นเรื่องปกติ คนที่เชื่อเรื่องความเท่าเทียมเป็นเรื่องไม่ปกติ สังคมจะสงบเรียบร้อย เมื่อคนรู้หน้าที่ที่พึงปฏิบัติ รัฐเสมือนร่างกาย ความคิดเรื่องนี้ปรากฏชัดเจนขึ้นเมื่อสังคมสยามเผชิญภัยคุกคามภายนอกและภายใน ในยุคล่าอาณานิคม เป็นยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จากสมัยรัชกาลที่ 5และสิ้นสุดลงในการปฏิวัติ 2475 รัชกาลที่ 7
กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
เขากล่าวว่า แนวคิดช่วงแรกของการผลิตวาทกรรมเรื่องความไม่เท่าเทียมนั้น ดูได้จากการเปรียบราษฎรเป็นเส้นผม เส้นขน ซึ่งผ่านไปร้อยกว่าปี แนวคิดดังกล่าวก็ยังคงดำรงและฝังรากลึก ชนชั้นนำเชื่อว่าการปราบปรามและกำจัดราษฎรจำนวนน้อยแลกกับความเป็นระเบียบเรียบร้อยเป็นสิ่งกระทำได้และชอบธรรม ในช่วง พ.ศ. 2475 แนวคิดที่สำคัญที่สุดคงหนีไม่พ้นกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นสถาปนิกออกแบบปรับเปลี่ยนความคิดจิตใจของชาวสยาม แก่นแกนความคิดคือการเน้น ชั้น ของคนที่ไมเท่าเทียม ในฐานะที่เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการจัดระเบียบสังคม
ชั้นต่างๆ ตามลำดับสูงต่ำไม่เท่าเทียม พระมหากษัตริย์ เจ้านาย ข้าราชการ พอค้า และราษฎร ประจักษ์ ได้อ้างอิงการวิจัยของ สายชล สัตยานุรักษ์ว่า สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ไม่พยายามแบ่งเขาแบ่งเรา แต่นำเสนอว่าชนชั้นต่างๆ มีศีลธรรม หน้าที่และเอื้ออารีต่อกัน และเมื่อคนทุกชั้นทำหน้าทีของตนตามอัตลักษณ์ที่ตนรับรู้ว่าตนคือใคร สำคัญอย่างไร สิ่งที่สำคัญคือการปลูกฝังความสามัคคี
แนวคิดรุ่นหลังคือการประสานแนวคิดสองแนวคิดที่ขัดกันให้ไปด้วยกันได้คือ แนวคิดเรื่องความสามัคคีกับแนวคิดเรื่องการแบ่งชั้นของคนในสังคม โดยใช้วาทกรรมเรื่องผู้ดี ชาติกำเนิด กฎแห่งกรรม
ประจักษ์กล่าวว่าสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ใช้คำหลายคำที่หมายถึงราษฎร ได้แก่พลเมือง ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน เป็นคนที่อยู่ภายใต้การปกครองของชนชั้นสูงและอยู่ต่ำกว่า มีอัตภาพต่ำ ไม่ควรศึกษาเกินกว่าอัตภาพของตัวเอง ทรงนำเสนอแนวคิดแยกโรงเรียนผู้ดีออกจากโรงเรียนของไพร่ เพื่อไม่ให้ปะปนกัน
พระยาอนุมานราชธน
แม้ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์สิ้นสุดลงไป เมื่อคณะราษฎรปฏิวัติโค่นล้มระบอบนี้ แต่อุดมการณ์ความไม่เสมอภาคที่มุ่งรักษาโครงสร้างสังคมที่เคยมีสถานะเหลื่อมล้ำกันตามชาติกำเนิด ยังได้รับการสืบทอดต่อมายังนักคิดรุ่นหลัง คนที่สำคัญคือ พระยาอนุมานราชธน งานของพระยาอนุมานราชธน มักหลีกเลี่ยงการอธิบายเรื่องการเมืองโดยตรงและมักปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ผลงานโดยมากเกี่ยวกับชีวิตและวัฒนธรรม แต่เมื่ออ่านโดยละเอียดมีความเป็นการเมืองสูงเป็นการสร้างนิยมความหมายให้กับคุณค่าและค่านิยมวัฒนธรรมบางประการ เพื่อดัดแปลงความคิดจิตใจเพื่อรักษาความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมเอาไว้ งานเขียนของท่านจึงเป็นงานการเมืองที่ลึกซึ้ง
ประจักษ์กล่าวว่า ผลงานของพระยาอนุมานราชธนนั้นปลูกฝังให้คนไทยเห็นว่าการที่สังคมไทยและวัฒนธรรมไทยมีชนชั้นนั้นเป็นเรื่องปกติธรรมดา สังคมไทยจะดีงามและเจริญรุ่งเรืองเมื่อชนชั้นต่างๆ ทำหน้าที่ตามฐานะและบทบาทของตนในสังคม ถ้าไม่ทำให้เป็นไปตามฐานะและบทบาทก็จัดว่าสังคมและวัฒนธรรมนั้นบกพร้องมีผลร้ายถึงขั้นทำให้ชาติไทยตั้งอยู่ได้ ต้องสูญชาติไปในที่สุด
ความคิดเหล่านี้ถูกท้าทายโดยการปฏิวัติ 2475 แต่กลุ่มจารีตและอนุรักษ์ได้ฟื้นฟูขึ้นมาสมัย 2490 เป็นต้นมา
ในมโนภาพของพระยาอนุมานราชธน ไม่เพียงไม่เท่ากันในระดับชั้นชาติกำเนิด แต่เป็นระดับวัฒนธรรม เป็นความลึกซึ้งของความไม่เท่ากันในระดับจิตใจ ความเป็นคนบ้านนอกต้องการเวลาในการขัดเกลาจิตใจเพราะมีสติปัญญาเข้าสิ่งต่างๆ ได้น้อย
พระยาอนุมานราชธนไม่นิยมระบอบประชาธิปไตยเพราะเสียงข้างมากยังโง่เขลาและมืดมน ไม่อาจไว้วางใจมอบสิทธิทางการเมืองในกับชาวบ้านได้ ตลอดทศวรรษ 2500 งานเขียนโน้มน้าวให้เห็นว่าความไม่เท่ากันเป็นเรื่องปกติไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
อุปมาอุปไมยที่ใช้เสมอและถูกอ้างอิงเสมอในหมู่คนไม่ศึกษาประวัติศาสตร์ คือการเปรียบนิ้วมือที่สั้นยาวไม่เท่ากันแต่ทำงานประสานสอดคล้องกัน เป็นการประสานแนวคิดเรื่องความไม่เท่าเทียมกับความสามัคคี นิ้วไม่เท่ากันแต่ทำงานได้ดีเมื่อสามัคคีกัน
พระยาอนุมานราชธนเห็นว่าความพยายามทำให้คนเท่ากันเหมือนความพยายามของเปรต โดยอ้างถึงนิทานชาวอิสาน เล่าว่าคนเดินทางหลายคน มานอนค้างแรมที่ศาลาในกลางป่า เมื่อหลีบสนิท เปรตตนหนึ่งมาที่ศาลาเห็นคนเหล่านั้นนอนก่ายกันให้เป็นระเบียบเรียบร้อย จึงลากศีรษะคนเหล่านั้นให้เท่ากัน เมื่อศีรษะเท่ากัน ก็พบว่าปลายเท้าไม่เท่ากันอีก การเปรียบความพยายามทำให้คนเท่ากันของเปรตเป็นกลอุบายทางการเมืองที่แยบคาย นอกจากจะทำให้เห็นว่าเป็นได้ ยังล้อเลียนให้กลายเป็นความน่าขำขันน่าหัวร่อ ไม่น่าเอาเป็นเยี่ยงอย่าง ยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว
พระยาอนุมานราชธนเห็นว่าปัจเจกชนแต่ละคนนั้นมีสติปัญญาไม่เท่าเทียม หน้าที่จึงสำคัญกว่าสิทธิ เพราะถ้าทุกคนตามหน้าที่สังคมก็จะสงบสุขและเดินไปได้
แต่ความต่างของปัญญาชนคนอื่นคือ พระยาอนุมานราชธนพยายามสร้างความรู้และสร้างมโนทัศน์ว่าชนบทนั้นดี ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายตามประเพณี ศาสนา เต็มไปด้วยทุ่งนาอันสวยงาม แต่อีกด้านก็มีภาพของชาวบ้านที่ไม่มีปัญญา ใช้ศรัทธาและอารมณ์มากกว่าสติปัญญา ขาดความเจริญทางวัตถุ ต้องได้รับการพัฒนาจากคนที่มีสติปัญญาและคุณธรรมสูงกว่า ต้องเปลี่ยนนายเถื่อนเป็นนายเมือง และถูกผลิตซ้ำอย่างกว้างขวางจากข้าราชการ เอ็นจีโอและสื่อมวลชน กลายเป็นวาทกรรม โง่ จน เจ็บ
แนวคิดพระยาอนุมานราชธน ด้านหนึ่งเหมือนเชิดชูชาวบ้านและชนบท แต่อีกด้านเป็นการควบคุมชนบท ตอกย้ำว่าขาดความเจริญเกินกว่าจะปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ประกอบกับช่วง 2490-2500 ไทยถูกควบคุมด้วยกองทัพ ที่ต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ แนวคิดของพระยาอนุมานราชธนจึงมีบทบาทหนุนเสริมอย่างสำคัญในการตอกย้ำไม่ให้ชาวบ้านเรียกร้องสิทธิ ความเหลื่อมล้ำ ไม่ท้าทายอำนาจและความไม่เท่าเทียม สอดคล้องกับระบอบพ่อขุนอุปถัมภ์เผด็จการของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
ในช่วงทีนักศึกษาออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยปี 2516 นั้น พระยาอนุมานราชธนถึงแก่อนิจกรรมไปแล้ว สี่ปีก่อนหน้า แต่แนวคิดยังเป็นเชื้อที่สืบทอดมาถึงปัจจุบัน
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช
นักคิดคนสุดท้ายคือ มรว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ปัญญาชนรอยัลลิสต์ ที่พัฒนาต่อยอดแนวคิด ผ่านโขน ละคร นิยาย งานเขียนต่างๆ ในช่วงก่อนและหลังเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 เมื่อแนวคิดเสรีประชาธิปไตยได้กลายเป็นแนวคิดที่นิยมในคนรุ่นใหม่ มรว.คึกฤทธิ์ ก็พยายามปรับการนำเสนอ เห็นว่าหลักเสมอภาค ภราดรภาพ มีอยู่แล้วแต่เดิมในหลักพุทธศาสนา แม้สังคมไทยเป็นสังคมชนชั้นแต่ก็อนุญาตให้เลื่อนฐานะได้
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ สร้างภาพสังคมชวนฝันที่ไม่มีอยู่จริงในอดีต คือผู้ปกครอง ชาวนา ประชาชนในชนบท เป็นไปอย่างราบรื่น ไม่มีการขูดรีด ไม่มีการนึกฝันถึงสภาพสังคมที่ไม่มีความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ไม่อาจจะจินตนาการถึงชีวิตที่ดีกว่านี้ได้เพราะทีเป็นอยู่นั้นดีที่สุดอยู่แล้ว
ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นผู้วางพื้นฐานในการผลิตวาทกรรมโง่ จน เจ็บ และมีอิทธิพลอย่างกว้างขวาง แม้แต่ในหมู่นักศึกษาช่วง 14 ตุลาที่ออกค่ายชนบท มองว่าชาวบ้านช่วยตัวเองไม่ได้ มองว่านักศึกษาเป็นชนชั้นนำที่อยู่เหนือกว่า สาเหตุของปัญหามาจากตัวชาวบ้านเองที่ไม่ขวนขวายทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น สะท้อนออกมาในกิจกรรมร่วมของนักศึกษาสามมหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ และมหิดล ร่วมกันทำ การแบ่งงานคือ ให้ธรรมศาสตร์ แก้ปัญหาความโง่เขลา ม.เกษตรศาสตร์ แก้ปัญหาความจน และมหิดลแก้ปัญหาความเจ็บ ปัญหาคือตอนนี้ไม่รู้ใครจะมาแก้ไขความโง่เขลาของมหาวิทยาลัยเอง
ปาฐกถาช่วงที่ 2 วาทกรรม โง่ จน เจ็บ ฐานในการสร้างนิทานครอบงำสังคมไทย
ประจักษ์ชี้ว่า วาทกรรมโง่ จนเจ็บ ถูกเอามาใช้เป็นฐานสร้างนิทานครอบงำสังคมไทย ชาติคือครอบครัวที่ทุกคนมีตำแหน่งแห่งที่ของตัวเอง ไม่เน้นเรื่องความเท่ากัน ไม่ให้ความสำคัญกับสิทธิทางการเมือง ไม่เน้นเรื่องการปกครองตัวเองโดยไม่พึ่งผู้มีอำนาจวาสนา ไม่พูดถึงความขัดแย้งทางเชื้อชาติ ศาสนา เพศสภาพ เพราะวาดภาพคนไทยเป็นมวลสารก้อนหนึ่งที่คิดและรู้สึกเหมือนกัน ใครที่คิดและรู้สึกไม่เหมือนกันก็ให้สงสัยไว้ก่อนว่าคนนั้นอาจจะไม่ใช่คนไทยอย่างแน่แท้ เกลียดกลัวความเห็นต่าง เห็นเป็นอาชญากรรม และผู้คิดต่างเป็นอาชญากร ให้ความสำคัญกับศีลธรรม ขันติธรรมของผู้ปกครองที่ไม่เบียดเบียนประชาชน และไม่คำนึงว่าไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้า ยอมรับอำนาจนิยม มองว่าการเมืองไทยเต็มไปด้วยการคอร์รัปชั่น บังเอิญคนในชนบทเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ มีมายาคติว่าเราไม่เหมือนใคร ไม่มีใครเข้าใจเรา มายาคติว่าจะมีคนดีมาปกครองบ้านเมือง ประจักษ์เห็นว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายวายิ่งที่สังคมไทยยิ่งเผชิญวิกฤตมากเท่าไหร่ มายาคติเหล่านี้กลับถูกตอกย้ำมากขึ้นแทนทีจะเบาบางลง
ปาฐกถาช่วงที่ 3 การต่อต้านวาทกรรมหนึ่งคนหนึ่งเสียง ว่าด้วยกุลี ลิงบาบูน
ประจักษ์กล่าวถึงสภาพการณ์ในปัจจุบันที่ความคิดและถ้อยคำจำนวนมากที่หลั่งไหลพรั่งพรูอย่างไม่ขาดสาย ทั้งจากข้าราชการ ดารา เอ็นจีโอ ดูถูกเพื่อนร่วมชาติอย่างไม่ปิดบัง ไม่กระมิดกระเมี้ยน เชื่อว่าเสียงของตัวเองเป็นเสียงของเหตุผลและคุณธรรมเพราะมีการศึกษาสูงกว่า และฐานะสูงกว่า ซึ่งไม่ใช่ความคิดใหม่ถอดด้าม แต่ถูกสร้างมาจากอดีตโดยปัญญาชนอนุรักษ์นิยม
ปัจจุบันในห้วงยามที่ชนชั้นกลางไม่มั่นคง สับสนในอัตลักษณ์ของตนเองท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง พวกเขาได้กลับไปน้อมเอาแนวคิดชนชั้นสูงมาเป็นของตนเอง แต่ดัดแปลง ผลิตซ้ำไม่เหลือความซับซ้อนแยบคาย เหลือแต่ความแข็งกร้าว ตื้นเขิน เปลี่ยนจุดเน้นแบ่งชนชั้นด้วยชาติกำเนิด มาสู่การเน้นเรื่องระดับการศึกษา
ปาฐกถา ช่วงสุดท้ายของประจักษ์ ก้องกีรติ โดยสรุป เขาชี้ว่าประวัติศาสตร์ของประชาธิปไตยคือการขยายอำนาจของประชาชนให้ทุกเสียงถูกนับ ไม่มีใครสูงส่งกว่าคนอื่นโดยธรรมชาติ และประชาชนรู้ดีที่สุดว่าจะปกป้องสิทธิและเสียงของตัวเองอย่างไร และบกพร่องได้เสมอ แต่วิธีแก้ไขที่ดีที่สุดคือการจำกัดและถ่วงดุลผู้มีอำนาจ นับเป็นเรื่องน่าเศร้าใจที่ผ่านมา 82 ปี ประชาชนจำนวนมากยังไม่มีศักดิ์และสิทธิ ถูกดูถูกว่าเป็นพวกโง่ จน เจ็บ ความคิดที่มองคนไม่เท่ากัน เป็นวิฤตอย่างลึกซึ้งต่อประชาธิปไตยไทย
แม้ว่าพวกเขาจะเป็นพลเมืองชั้นสองทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม แต่อย่างน้อยการมีสิทธิและเสมอภาค ก็ทำให้คนเป็นเจ้าของประเทศเท่าๆ กับคนอื่น ถ้าไม่ให้ความเสมอภาค จะไม่ให้ประชาชนที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศน้อยเนื้อต่ำใจได้อย่างไร การให้ความเท่าเทียมกันเป็นจุดเริ่มต้นของการปรองดองอย่างแท้จริง และหากเลิกดูถูกเหยียดหยามเพื่อนร่วมชาติ ก็จะเป็นการยกระดับจิตใจของท่านเอง และคืนความเป็นมนุษย์ให้กับตนเองอย่างสำคัญยิ่ง
ติดตามชมวิดีโอปาฐกถาได้ที่นี่เร็วๆ นี้