Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

รายงานฮิวแมนไรท์ วอทช์ เผยรายละเอียด "การฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุ"ต่อชาวโรฮิงญา

$
0
0

"สิ่งที่คุณทำได้ คือการภาวนาให้รอดชีวิต"รายงานของฮิวแมนไรท์วอทช์เปิดเผยการ "ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์"ต่อชาวโรฮิงญา ในขณะที่ปธน. เต็งเส่งได้รับรางวัล 'สันติภาพดีเด่น'จากองค์กร ICG

 
ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในรัฐอาระกัน ทางตะวันตกของประเทศพม่าในเดือนมิถุนายนและตุลาคมเมื่อปีที่แล้ว นำมาซึ่งการเสียชีวิตของประชาชนชาวชาติพันธุ์ยะไข่และโรฮิงญาอย่างน้อย 180 คน นอกจากนี้ยังทำให้ชาวโรฮิงญากว่า 125,000 พลัดถิ่น บ้านเรือนเกิดความเสียหายและถูกเผาไหม้เป็นพื้นที่ราว 348 เอเคอร์ หรือราว 1.4 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นอาคารและบ้านเรือนจำนวนราว 4,862 แห่ง 
 
หลังจากเกิดเหตุจลาจลทางชาติพันธุ์และศาสนาดังกล่าว รัฐบาลพม่าได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนที่ประกอบด้วยภาคส่วนต่างๆ จำนวน 27 คน รวมถึงผู้นำฝ่ายค้าน อาทิ มิน โก นาย และซากานาร์ นักเคลื่อนไหวสมัยการลุกฮือของนักศึกษาปี 1988 เพื่อค้นหาข้อเท็จจริงและผลิตรายงานเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีเต็งเส่ง ได้กล่าวว่าความรุนแรงในพื้นที่เกิดขึ้นจากพรรคการเมือง พระสงฆ์บางกลุ่ม และคนบางกลุ่มที่กระพือสร้างความเกลียดชังระหว่างกลุ่มคนต่างศาสนา อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจนในการลงโทษผู้กระทำผิด หรือการช่วยเหลือเยียวยาด้านอื่นๆ 
 
หลังจากเก็บข้อมูลและสัมภาษณ์คนในพื้นที่ราว 100 คนจากกลุ่มชาวโรฮิงญาและชาวอาระกัน ฮิวแมนไรท์วอทช์ ได้เผยแพร่รายงานที่ชื่อ "'All You Can Do is Pray': Crimes Against Humanity and Ethnic Cleansing of Rohingya Muslims in Burma’s Arakan State"ซึ่งชี้ว่าการกระทำหลายด้านของรัฐบาลต่อเหตุการณ์จลาจลนับเป็น "การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์"ต่อชาวมุสลิมโรฮิงญา ไม่ว่าจะเป็นการปิดกั้นความช่วยเหลือจากองค์กรด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศ หรือการที่เจ้าหน้าที่ความมั่นคงของรัฐร่วมกับชาวอาระกันทำร้ายและทำลายที่อยู่อาศัยของชาวโรฮิงญา เป็นต้น 
 
"รัฐบาลพม่ามีส่วนในการดำเนินการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ต่อชาวโรฮิงญาที่ยังคงเกิดอยู่จนถึงวันนี้ ผ่านการปิดกั้นการให้ความช่วยเหลือและการจำกัดการเคลื่อนย้าย"ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียของฮิวแมนไรท์ วอทช์ กล่าว "รัฐบาลจำเป็นต้องยุติการละเมิดดังกล่าว และให้ผู้กระทำผิดรับผิดชอบ มิเช่นนั้น รัฐบาลจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบกับความรุนแรงต่อชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์และศาสนาที่เกิดขึ้นในประเทศ" 
 
ข้อมูลจากฮิวแมนไรท์ วอทช์เปิดเผยว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงระหว่างกลุ่มศาสนาระลอกแรกในเดือนมิถุนายน เจ้าหน้าที่รัฐได้เข้าทำลายมัสยิด บุกเข้าจับกุมชาวโรฮิงญาด้วยความรุนแรง และปิดกั้นความช่วยเหลือแก่ชาวโรฮิงญาที่พลัดถิ่นในประเทศ ต่อมาในเดือนตุลาคม ชาวอาระกันก็ได้กระพือความเกลียดชังด้วยการเผยแพร่เอกสารที่ส่งเสริมการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ต่อชาวโรฮิงญา และเข้าทำลายชุมชนของชาวมุสลิม ใน 9 เขตของรัฐอาระกัน ในขณะที่เจ้าหน้าที่รักษาความมั่นคงของรัฐได้ยืนมองด้วยความเพิกเฉย และบางส่วนยังให้ความช่วยเหลือผู้เข้าทำร้ายอีกด้วย  
 
พบเจ้าหน้าที่รัฐสนับสนุนการฆ่าล้างชาวโรฮิงญา
 
รายงานระบุว่า เจ้าหน้าที่รัฐที่ประจำการอยู่ในรัฐอาระกัน ทั้งตำรวจท้องถิ่น ตำรวจปราบจลาจล กองกำลังควบคุมชายแดน รวมถึงทหารและนาวิกโยธิน ต่างล้มเหลวในการป้องกันความรุนแรงดังกล่าว หรือมีส่วนร่วมในการสร้างความรุนแรง นอกจากนี้ยังเปิดเผยว่า มีการทำลายศพด้วยวิธีการฝังในหลุมฝังศพขนาดใหญ่รวมกัน ทำให้ไม่สารถนำหลักฐานมาตรวจสอบเพื่อความโปร่งใสได้ 
 
ฮิวแมนไรท์ วอทช์ รายงานด้วยว่า พบหลุมศพขนาดใหญ่จำนวน 4 แห่งในรัฐอาระกัน โดยสามแห่งเกิดขึ้นในระหว่างเหตุความรุนแรงเดือนมิถุนายนถึงตุลาคมปีที่แล้ว แสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่รัฐพยายามจะขัดขวางกระบวนการยุติธรรม และทำลายหลักฐานการก่ออาชญากรรมดังกล่าว ดังเช่นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 55 รถกระบะของรัฐได้ทิ้งศพชาวโรฮิงญา 18 คน บริเวณค่ายผู้พลัดถิ่นของขาวโรฮิงญานอกเมืองซิตเหว่ การกระทำเช่นนี้ นับเป็นการส่งข้อความออกไปว่า ชาวโรฮิงญาควรออกจากรัฐอาระกันอย่างถาวร 
 
เหตุการณ์รุนแรงที่สุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม ซึ่งการจลาจลในหมู่บ้านยานเท เขตมรวกอู ส่งผลให้มีชาวโรฮิงญาราว 70 คนต้องเสียชีวิต โดยถึงแม้ว่ามีการประกาศล่วงหน้าแล้วว่าจะมีความรุนแรง แต่ตำรวจควบคุมการจลาจลและทหาร ก็มิได้ป้องกันความรุนแรง แต่กลับสนับสนุนการฆ่าโดยการปลดอาวุธและอุปกรณ์ป้องกันตนเองของชาวโรฮิงญา รายงานระบุว่า มีเด็กโรฮิงญา 28 คนถูกทุบตีจนเสียชีวิต
 
ที่มาของชื่อรายงานฮิวแมนไรท์ วอทช์ มาจากคำพูดของทหารคนหนึ่งที่บอกกับชาวมุสลิมในหมู่บ้าน ซึ่งกำลังขอความช่วยเหลือในขณะที่หมู่บ้านตนเองกำลังถูกเผาไหม้ว่า "สิ่งเดียวที่คุณทำได้คือการสวดมนต์เพื่อให้รอดชีวิต"
 
นักข่าวสเปนระบุเป็น "หายนะทางมนุษยธรรมจากฝีมือมนุษย์"
 
สอดคล้องกับนักข่าวสเปนคาร์ลอส ซาร์ดิน่า กาลาเช่ ที่ลงพื้นที่ดังกล่าวในช่วงเดือนตุลาคมปีที่แล้วเพื่อรายงานข่าว เขากล่าวว่า จากการได้สัมภาษณ์ชาวโรฮิงญาที่พลัดถิ่นในอาระกัน ชาวโรฮิงญาหลายคนให้สัมภาษณ์ตรงกันว่า กลุ่มคนที่เข้าทำร้ายและโจมตีพวกเขานั้นเป็นคนที่เขาไม่เคยเห็นหน้ามาก่อนในหมู่บ้านหรือชุมชน จึงทำให้เกิดข่าวลือสะพัดว่าเจ้าหน้าที่รัฐและทหารเป็นผู้สร้างความรุนแรง คาร์ลอสยังกล่าวด้วยว่า เขารู้ว่ามีกรณีหนึ่งที่ตำรวจฆ่าประชาชนอย่างน้อย 4 คน ในขณะที่พวกเขาพยายามดับไฟที่กำลังเผาไหม้มัสยิด
 
นักข่าวสเปนยังเล่าวว่า จากการพูดคุยกับทั้งชาวอาระกัน ต่างพูดเหมือนกันว่า ก่อนหน้านี้ชาวพุทธไม่เคยมีปัญหากับชาวมุสลิมในพื้นที่ และไม่เคยเกิดความรุนแรงเช่นนี้มาก่อน จนกระทั่งเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา จึงเริ่มเกิดความตึงเครียดขึ้น เขากล่าวว่า ในช่วงที่เขาไปลงพื้นที่นั้น เขตจักเพียวซึ่งอยู่ทาง ของรัฐยะไข่ แทบจะไม่เหลือชาวมุสลิมอยู่เลย เพราะเหมือนดังว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้ขับไล่พวกเขาออกไปอย่างหมดสิ้น
 
นอกจากนี้ ในแง่การให้ความช่วยเหลือด้านการรักษาพยาบาล อาหาร และที่พักอาศัยในค่ายผู้ลี้ภัย คาร์ลอส กล่าวถึงความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างสภาพของค่ายผู้ลี้ภัยของชาวโรฮิงญา และของชาวอาระกัน โดยในค่ายชาวอาระกันค่ายหนึ่ง มีคนราว 150 คน และมีหมอ 2 คน กับพยาบาลอีก 2 คน คอยอยู่ให้ความดูแล ในขณะที่ค่ายผู้ลี้ภัยของชาวโรฮิงญา มีคนราว 1,400 คน และมีหมอราว 7 คน เป็นอาสาสมัครที่ถูกส่งมาจากองค์กรมุสลิม
 
"สภาพเช่นนี้มันไม่เพียงพอและแย่มากๆ ผมเห็นเด็กคนหนึ่งอายุ 4 เดือน ซึ่งในตอนนี้อาจจะไม่รอดแล้วก็ได้ และก็เห็นเด็กอายุ 7 ขวบที่ผอมแห้งไม่ได้กินอาหาร เห็นแบบนี้เยอะมากในค่ายของชาวโรฮิงญา"คาร์ลอสกล่าว "พวกเขาบอกว่ามีหมอไปเยี่ยมพวกเขาเพียงอาทิตย์ละครั้งเท่านั้น"โดยเฉพาะในมาดรัสสา (โรงเรียนสอนศาสนา) เขาเล่าว่า มีคนอยู่กันอย่างแออัดมาก หลายคนอยู่ไปโดยไม่ได้กินอะไรเลยถึง 5 วัน และพวกเขาก็ต้องต่อคิวรอเพื่อรับยาหรือการรักษาที่ยาวมาก 
 
เขาเล่าต่อว่า เนื่องจากชาวโรฮิงญาถูกจำกัดพื้นที่ให้อยู่ในเต้นท์ขนาดเล็กราว 10*15 ตารางเมตร และไม่ได้รับอนุญาตให้ออกไปข้างนอก หรือทำงาน พวกเขาจึงไม่มีรายได้จากทางใดเพื่อจะมาพัฒนาสภาพทางเศรษฐกิจได้เลย "เท่าที่เห็นก็คือ พวกเขาอยู่ในค่ายกักกันมากกว่าเป็นค่ายผู้ลี้ภัย"คาร์ลอสกล่าว 
 
ต่อคำถามที่ว่า มองว่าเหตุการณ์ความรุนแรงในรัฐอาระกันเป็นเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หรือไม่ นักข่าวต่างประเทศผู้นี้ตอบว่า รัฐบาลพม่ากำลังปิดตาและไม่รับรู้ต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้น นอกเหนือไปจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นแล้ว  สภาพในค่ายผู้ลี้ภัยขณะนี้ก็แย่และเลวร้ายมาก มีเด็กๆ เสียชีวิตมากมายโดยที่ไม่มีใครรับรู้หรือสามารถช่วยเหลือได้ 
 
"สภาพที่อาหารขาดแคลนสำหรับคนจำนวนมากเช่นนี้ เป็นเพราะการจัดการของรัฐบาล และผมก็จะเรียกมันว่าเป็นหายนะทางมนุษยธรรมที่เกิดจากฝีมือมนุษย์"เขากล่าว 
 
ความขัดแย้งที่รัฐบาลได้ประโยชน์
 
คาร์ลอสมองว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น คนที่ได้ประโยชน์มากที่สุด คือรัฐบาล เขาย้ำว่า ประเด็นนี้สำคัญและเป็นเรื่องที่สื่อต่างประเทศมักมองข้าม ว่าประชาชนในรัฐอาระกันเป็นกลุ่มที่ต้องการมีรัฐเป็นของตัวเอง ในขณะที่ขบวนการชาตินิยมในอาระกันนั้นถือว่าเข้มแข็งมาก และถึงแม้จะไม่ได้รุนแรงขนาดในรัฐคะฉิ่นหรือกะเหรี่ยง แต่การที่รัฐพยายามสร้างโครงการทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่นการสร้างท่อก๊าซที่เชื่อมอาระกันไปยูนนานในจีน ก็ทำให้เกิดขบวนการต่อต้านในหมู่ชาวอาระกันค่อนข้างมาก 
 
อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างชาวอาระกันกับชาวโรฮิงญาเกิดขึ้น ก็ทำให้การต่อต้านรัฐบาลลดลง และหันไปมุ่งกับการต่อต้านชาวโรฮิงญาแทนเนื่องจากเกิดความกลัวว่าโรฮิงญาจะเข้ามาสร้างรัฐอิสลามในรัฐอาระกัน รัฐบาลจึงได้ประโยชน์จากการหยุดประท้วงโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ คาร์ลอสให้ความคิดเห็น
 
ในประเด็นเรื่องจุดยืนของฝ่ายค้านสนับสนุนประชาธิปไตยของพม่า เขากล่าวว่า นางออง ซาน ซูจี และผู้นำจากพรรคเอ็นแอลดี ยังมิได้ออกมาพิทักษ์สิทธิของชาวโรฮิงญามากเท่าที่ควร เพราะการพูดเช่นนั้น เสมือนกับ "เป็นการฆ่าตัวตายทางการเมือง"ในพม่า เขามองว่า นางออง ซาน ซูจี ควรมีบทบาทที่กล้าพูดเพื่อปกป้องชาวโรฮิงญามากกว่านี้
 
"ไม่ว่าจะเรียกว่าเป็นความรุนแรงในเขตอาศัย หรือการปะทะกันทางชาติพันธ์ุ แต่ชาวโรฮิงญาก็ถูกกดขี่แบบทับซ้อน พวกเขาถูกกระทำโดยรัฐบาลและถูกมองว่าไม่ใช่พลเมือง ฉะนั้นพวกเขามีสิทธิน้อยกว่าประชาชนในพม่าทั่วไป"เขากล่าว "ชาวโรฮิงญายังถูกกระทำจากชาวอาระกันด้วย ฉะนั้นเรื่องนี้ไม่ใช่เกี่ยวกับการเลือกข้าง แต่เป็นการพิทักษ์สิทธิมนุษยชน" 
 
ในวันเดียวกันกับการเผยแพร่รายงานของฮิวแมนไรท์ วอทช์ (22 เม.ย. 56) องค์กรอินเตอร์เนชั่นแนล ไครซิส กรุ๊ป ได้จัดงานกาลาดินเนอร์ในนิวยอร์ก เพื่อมอบรางวัลสันติภาพ "In Pursuit of Peace"แก่ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ของพม่า และประธานาธิบดีลูอิส อีนาซีอู ลูลา ดา ซิลวา ของบราซิล ท่ามกลางข้อวิพากษ์วิจารณ์ขององค์กรสิทธิมนุษยชนอื่นๆ นอกจากนี้ สหภาพยุโรป ยังได้ยกเลิกการคว่ำบาตรที่มีมายาวนานกว่าศตวรรษ นำมาซึ่งข้อวิจารณ์ว่า อียูยกเลิกการคว่ำบาตรต่อพม่าเร็วเกินไป ทั้งๆ ที่ยังมีปัญหาอื่นๆ อีกมากในประเทศ เช่น เรื่องนักโทษการเมือง และความขัดแย้งกับกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นต้น 
 
ฮิวแมนไรท์ วอทช์ เรียกร้องให้รัฐบาลพม่าแก้ไขกฎหมายปี 1982 ว่าด้วยเรื่องสัญชาติ เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติต่อชาวโรฮิงญา และเพื่อรับรองสิทธิพลเมืองของเด็กโรฮิงญาที่เกิดมาใหม่ในพม่า และไม่ต้องกลายเป็นบุคคลไร้รัฐ และให้รัฐบาลจัดตั้งคณะกรรมการค้นหาความจริงเพื่อสอบสวนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรม 
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles