ขณะที่ความเสี่ยงจากภายนอกเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นจากสงครามกลางเมืองในอิรักและความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นปรกติของไทยกับประเทศมหาอำนาจตะวันตก เสนอเตรียมรับมือมาตรการคว่ำบาตรจากสหรัฐอเมริกา
22 มิ.ย. 2557 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูปมองเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงจากปัจจัยภายในลดลงจากเสถียรภาพทางการเมืองที่ดีขึ้น การรัฐประหารไม่นำมาสู่ความรุนแรงนองเลือดและความขัดแย้งเพิ่มเติมจึงไม่เกิดทศวรรษแห่งความถดถอยในขณะนี้ ทำให้ความเชื่อมั่นทางด้านการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศกระเตื้องขึ้น งบประมาณปี 2558 สามารถจัดสรรได้ตามกรอบเวลา ขณะที่ความเสี่ยงจากภายนอกเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นจากสงครามกลางเมืองในอิรักและความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นปรกติของไทยกับประเทศมหาอำนาจตะวันตก พร้อมเสนอให้เตรียมรับมือมาตรการคว่ำบาตรจากสหรัฐอเมริกา
ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงจากปัจจัยภายในลดลงมากจากเสถียรภาพทางการเมืองที่ดีขึ้น การรัฐประหารไม่นำมาสู่ความรุนแรงนองเลือดและความขัดแย้งเพิ่มเติมจึงไม่เกิดทศวรรษแห่งความถดถอยในขณะนี้ ทำให้ความเชื่อมั่นทางด้านการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศกระเตื้องขึ้น งบประมาณปี 2558 สามารถจัดสรรได้ตามกรอบเวลา ขณะที่ความเสี่ยงจากภายนอกเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นจากสงครามกลางเมืองในอิรักและความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นปรกติของไทยกับประเทศมหาอำนาจตะวันตก และ อาจทำให้ข้อตกลงทางการค้า การลงทุนและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ความช่วยเหลือด้านต่างๆอาจต้องชะลอออกไปก่อนจนกว่าจะได้มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
ทางคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูปคาดว่าเศรษฐกิจไทยโดยภาพรวมในปีนี้น่าจะขยายตัวเป็นบวกได้แม้นอัตราการขยายตัวในไตรมาสแรกจะติดลบก็ตามและเศรษฐกิจไทยน่าจะผ่านจุดต่ำสุดของปีไปแล้ว และอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังคงอยู่ในกรอบประมาณการเดิม 1.5-2.5% (ประมาณการเดิม -0.5-2.5%) โดยที่อัตราเงินเฟ้อปรับสูงขึ้นกว่าที่ประมาณการไว้เดิมมาอยู่ที่ระดับ 2-3% (ประมาณการเดิม 1.5-2%) ส่วนทิศทางเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังและปีหน้า นอกจากขึ้นอยู่กับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ การฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคการลงทุน การท่องเที่ยว การบริโภคและการส่งออกแล้วความสามารถในการแข่งขันโดยเฉพาะคุณภาพทรัพยากรมนุษย์และการลดความเหลื่อมล้ำเป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว นอกจากนี้ ความสามารถในการกลับคืนสู่ประชาธิปไตยที่มีคุณภาพและมีเสถียรภาพของไทยยังเป็นอีกปัจจัยสำคัญในการกำหนดความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและสันติสุขของประเทศในระยะปานกลางและระยะยาว
ผศ. ดร. อนุสรณ์ กล่าวว่า ผลกระทบของการรัฐประหารต่อเศรษฐกิจ การลงทุน การท่องเที่ยวได้ถูกบรรเทาลงจากเสถียรภาพทางการเมืองที่ดีขึ้น การเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณ การจัดทำงบประมาณปี 58 และการประกาศเดินหน้านโยบายด้านเศรษฐกิจที่สำคัญของรัฐบาลชุดที่แล้ว ทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภคกลับคืนมา และมีความคาดหวังว่าจะมีความสงบเรียบร้อยและมีเสถียรภาพมากขึ้นอันเป็นบรรยากาศที่ส่งเสริมต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ หลังการรัฐประหาร 1 เดือน ยังไม่มีความรุนแรงนองเลือดใดๆเกิดขึ้นหรือความเสี่ยงที่จะพัฒนาสู่สถานการณ์สงครามกลางเมืองหรือภาวะอนาธิปไตย ฉะนั้น ระดับความเสี่ยงที่จะเกิดทศวรรษแห่งความถดถอยหลังการรัฐประหารจึงไม่เกิดขึ้น ณ. ขณะนี้ อย่างไรก็ตาม หากเกิดองค์กรพลัดถิ่นหรือรัฐบาลพลัดถิ่นเกิดขึ้นและนำมาสู่ความตึงเครียด ความขัดแย้งและวิกฤตการณ์การเมืองขึ้นอีก ผลกระทบของรัฐประหารต่อเศรษฐกิจไทยจะมีความซับซ้อนมากขึ้นและจำเป็นต้องมีการประเมินสถานะของเศรษฐกิจไทยใหม่อีกครั้งหนึ่ง สถานะของเศรษฐกิจไทยที่ย่ำแย่ลงย่อมส่งผลต่อประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนโดยรวมด้วย
อย่างไรก็ตาม หากประเทศไทยสามารถก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาวิกฤติไปได้จนก่อให้เกิดการปฏิรูปอย่างรอบด้านและประชาธิปไตยสมบูรณ์ขึ้น ประชาชนจะอยู่ในสภาวะใหม่ซึ่งมีคุณภาพชีวิตและประเทศจะเจริญก้าวหน้าขึ้นอย่างชัดเจนหลังวิกฤติใหญ่ผ่านไป
ผศ. ดร. อนุสรณ์ กล่าวว่า หากวิเคราะห์ถึงสภาวะตลาดการเงินหลังการรัฐประหารหนึ่งเดือนพบว่า กระแสเงินไหลออกไม่มากอย่างที่ประเมินไว้เดิม จึงมีผลทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าเพียงเล็กน้อยในช่วงแรกของการรัฐประหาร หลังการรัฐประหารหนึ่งเดือนเงินบาทค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงเวลาก่อนการทำรัฐประหาร คสช (เงินบาทอยู่ที่ 32.57 บาทต่อดอลลาร์เมื่อวันที่ 22 พ.ค. และอยู่ที่ 32.43 เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. ที่ผ่านมา) โดยช่วงที่เหลือของปี เงินบาทน่าจะอ่อนค่าลงจากดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลลดลงจากแรงกดดันของราคาพลังงานนำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้น ส่วนดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.41% (ดัชนีวันที่ 22 พ.ค. อยู่ที่ 1,405.01 วันที่ 20 มิ.ย. อยู่ที่ 1,467.29) หลังการรัฐประหารหนึ่งเดือน ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวเป็นขาลงเฉพาะช่วงสัปดาห์แรกของการรัฐประหารเท่านั้น ส่วนสถานะของนักลงทุนต่างชาติ ยังคงขายสุทธิต่อเนื่อง ส่งผลให้ตั้งแต่ต้นปีถึง 20 มิ.ย. 2557 ผู้ลงทุนต่างประเทศขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย 43,541 ล้านบาทดัชนีปรับเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมาเป็นผลจากนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อยในประเทศเป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม ดัชนีตลาดหลักทรัพย์มีโอกาสแตะระดับ 1,550 จุดได้ในปีนี้ หากการเมืองไทยยังคงมีเสถียรภาพและมาตรการเศรษฐกิจต่างๆสามารถดำเนินการได้ตามกรอบเวลา ในส่วนของตลาดตราสารหนี้พบว่าครึ่งแรกของเดือนมิถุนายน เม็ดเงินต่างชาติไหลกลับ 5.8 พันล้านบาท ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันไหลออกสุทธิ 6.4 หมื่นล้านบาท ประเมินทั้งปีเงินไหลออกสุทธิไม่มาก โดยนักลงทุนต่างชาติถือครองตราสารหนี้สุทธิปัจจุบัน 6.45 แสนล้านบาท ตราสารหนี้ระยะยาว 85% ตราสารหนี้ระยะสั้น 15% สะท้อนว่านักลงทุนต่างชาติยังเชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทย ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ-ไทย ยังคงหนุนให้เงินไหลเข้าตลาดตราสารหนี้ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีสหรัฐฯกับไทยต่างกันถึง 1.5%
ผศ. ดร. อนุสรณ์ กล่าวเสนอแนะว่า คสช. และ ผู้ที่เกี่ยวข้องควรมีมาตรการรับมือผลกระทบทางเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐอเมริกาอันเกี่ยวเนื่องกับการที่ “ไทย” ถูกลดอันดับบัญชีค้ามนุษย์ให้อยู่ในระดับต่ำสุดอยู่ในระดับเดียวกับเกาหลีเหนือ ซีเรีย ซิมบับเว และเวเนซูเอลา การมีมาตรการรับมือล่วงหน้าอย่างเหมาะสมต่อการคว่ำบาตร (คาดว่ามาตรการคว่ำบาตรจะเกิดขึ้นภายใน 90 วัน) จะช่วยบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อประชาชนและธุรกิจอุตสาหกรรมได้ นอกจากนี้ ไทย ควรมียุทธศาสตร์และแผนการดำเนินการต่อร่างกรอบข้อตกลง Trade in Service Agreement (TISA) ล่าสุดที่ผลักดันโดยสหรัฐอเมริการและสหภาพยุโรป โดยเป็นข้อตกลงที่มีความเข้มข้นกว่าข้อตกลงภายใต้องค์กรการค้าโลก (WTO) โดยจะเป็นข้อตกลงที่ให้มีการเปิดตลาดภาคบริการเต็มรูปแบบ ทั้ง ภาคการเงินการธนาคาร สาธารณสุข การศึกษา การสื่อสารโทรคมนาคม การบริการพื้นฐานโดยรัฐ และ การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai