ดาราชื่อดังทำหน้าที่เป็นผู้แทนพิเศษของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ เยือนค่ายผู้ลี้ภัยพม่าในแม่ฮ่องสอน พร้อมกล่าวปราศรัยเผยปัญหาผู้พลัดถิ่นทั่วโลกเพิ่มสูง วอนประชาคมโลกมีปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งก่อนลุกลามจนทำให้มีผู้ลี้ภัย
เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2557 แองเจลินา โจลี ดาราฮอลลิวูดชื่อดังผู้แสดงเรื่อง 'กำเนิดนางฟ้าปีศาจ'หรือ Maleficent ทำหน้าที่เป็นผู้แทนพิเศษของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เพื่อเรียกร้องให้การหยุดยั้งวงจรอุบาทว์ที่ทำให้เกิดความรุนแรงและการถูกขับออกจากถิ่นที่อยู่อาศัย
โจลี กล่าวปราศรัยในฐานะวันผู้ลี้ภัยโลกขณะเดินทางไปเยี่ยมผู้ลี้ภัยชาวพม่าทางภาคเหนือของประเทศไทย โดยจากรายงานล่าสุดของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ระบุว่าในตอนนี้มีผู้ลี้ภัยซึ่งรวมทั้งผู้พลัดถิ่นภายในประเทศและผู้อพยพทั่วโลกจำนวน 51.2 ล้านคน ตัวเลขผู้ลี้ภัยนับตั้งแต่ปลายปี 2555 จนถึงปลายปี 2556 เพิ่มขึ้น 6 ล้านคน
"ประชาคมนานาชาติควรมีความรับผิดชอบร่วมกันในการป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งด้วยการใช้กำลังอาวุธ"โจลีกล่าวขณะเยือนค่ายผู้ลี้ภัยบ้านใหม่ในสอย ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน "จำนวนผู้ลี้ภัยที่เพิ่มขึ้นอย่างมากแสดงให้เห็นว่าประชาคมโลกล้มเหลวในความรับผิดชอบด้านนี้ นี่ถือเป็นสถานการณ์ที่อยุติธรรมและขาดความยั่งยืน หนทางเดียวคือการอุทิศความพยายามและทรัพยากรมากขึ้นในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทั่วโลก เนื่องจากการให้ความช่วยเหลือในเชิงมนุษยธรรมไม่สามารถแก้ไขปัญหาเชิงการเมืองได้"
จากรายงานของ UNHCR ชี้ให้เห็นว่าปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้มีผู้ลี้ภัยเพิ่มขึ้นมากคือการยกระดับความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลาง แอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก รวมถึงไม่มีแนวทางแก้ไขปัญหาผู้ลี้ภัยที่มีอยู่แต่เดิม
โจลี ยังแสดงความเป็นห่วงต่อวิกฤติของซีเรียที่มีการลุกลามไปยังประเทศอิรัก มีผู้ลี้ภัยบางส่วนต้องลี้ภัยกลับไปกลับมาระหว่างอิรักและซีเรียตั้งแต่ช่วงสงครามนิกายปี 2546 ซึ่งชาวอิรักส่วนหนึ่งอพยพในอยู่ในซีเรีย แต่เมื่อเกิดสงครามกลางเมืองในซีเรียเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาพวกเขาก็อพยพลี้ภัยกลับไปสู่อิรัก จนกระทั่งไม่นานมานี้ก็เกิดเหตุความไม่สงบในอิรักอีกทำให้พวกเขาต้องลี้ภัยอีกรอบ
นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์ความรุนแรงในสาธารณรัฐแอฟริกากลางและซูดานใต้ทำให้มีผู้ลี้ภัยไปยังประเทศใกล้เคียง ซึ่งยิ่งเป็นการเพิ่มปัญหาให้กับภูมิภาคที่มีความไม่มั่นคงรวมถึงทำให้เกิดปัญหาด้านอาหาร
โจลี กล่าวว่าการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมช่วยแก้ปัญหาได้ชั่วคราวเท่านั้นแต่ไม่ได้แก้ไขปัญหาในระดับรากฐานที่ทำให้เกิดผู้อพยพได้ ทำให้ประชาคมควรจะมีปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาไม่ใช่แค่เพียงแสดงให้เห็นความห่วงใยต่อปัญหาเท่านั้น
นักแสดงฮอลลิวูดผู้ทำหน้าที่เป็นผู้แทนพิเศษของยูเอ็นกล่าวอีกว่ามีผู้ลี้ภัยครึ่งหนึ่งที่อยู่ภายใต้การดูแลของ UNHCR กลายเป็นผู้ลี้ภัยที่อยู่มาเป็นเวลานาน โดยเฉลี่ยแล้วพวกเขาลี้ภัยมาเป็นเวลา 17 ปี โดยไม่สามารถกลับบ้านหรือใช้ชีวิตต่อไปได้ ซึ่งถ้าหากไม่แก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุก็จะมีจำนวนผู้ลี้ภัยที่อยู่เป็นเวลานานเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
ในประเทศไทยมีผู้ลี้ภัยชาวพม่าราว 120,000 คนอาศัยอยู่ตามค่ายผู้อพยพ 9 แห่งตามชายแดน มีบางส่วนอยู่มานานถึง 30 ปีแล้ว โดยตั้งแต่ปี 2548 มีโครงการที่อนุญาตให้ผู้ลี้ภัยชาวพม่าจำนวนราว 90,000 คน ตั้งรกรากอยู่ตามค่ายผู้อพยพในประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐฯ ออสเตรเลีย และสวีเดน ผู้ลี้ภัยที่เหลืออยู่กำลังสงสัยว่าการปฏิรูปในเมียนมาร์จะทำให้พวกเขาสามารถกลับไปยังประเทศตนได้หรือไม่
โดยหลังจากที่โจลีไปเยี่ยมผู้ลี้ภัยในค่ายบ้านใหม่ในสอย เธอบอกว่าต้องเรียนรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมาร์มากกว่านี้ก่อนที่จะตัดสินใจทำอะไร โจลียังบอกอีกว่าควรเน้นการส่งเสริมทักษะและให้การศึกษาแก่คนในค่ายผู้ลี้ภัยเพื่อเตรียมพร้อมให้พวกเขากลับสู่ประเทศอย่างปลอดภัยและดูแลตัวเองได้
"หลังจากที่ต้องอพยพมาอยู่นอกประเทศเป็นเวลา 30 ปี ทางแก้ไขที่ดีที่สุดคือการให้ผู้ลี้ภัยเหล่านั้นได้รับสิทธิและอำนาจในการตัดสินใจเลือกหนทางของตนเอง"โจลีกล่าว
"นี่คือโอกาสของพวกเราที่จะทำให้มันถูกต้อง เพื่อที่จะทำลายวงจรอุบาทว์ของความขัดแย้งและการพลัดถิ่นให้หมดสิ้นไป"โจลีกล่าว
เรียบเรียงจาก
Resolve conflicts or face surge in life-long refugees worldwide, warns UNHCR Special Envoy, UNHCR, 20-06-2014
http://www.unhcr.org/53a42f6d9.html