เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2556 ที่ผ่านมา สำนักงาน กสทช.ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดสัมมนาวิชาการ เรื่อง ทีวีดิจิตอล....จุดเปลี่ยนประเทศไทย ตอนทีวีดิจิตอลสาธารณะ ณ ห้องประชุมชั้น 2อาคารสถาบัน 3 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ภายในการสัมมนาประกอบด้วยการปาฐกถาในหัวข้อ"จากจุดเริ่มต้นปฏิรูปสื่อสู่ทีวีดิจิตอล"โดย รศ.จุมพล รอดคำดี อดีตกรรมาธิการยกร่าง พ.ร.บ. จัดสรรคลื่นความถี่ พ.ศ.2553 และเวทีอภิปรายผ่านมุมมองของนักวิชาการด้านต่างๆ ทั้งนี้ในช่วงอภิปราย"อนาคตทีวีดิจิตอลสาธารณะในมุมมองนักวิชาการด้านสื่อและกฎหมาย"มีเนื้อหาที่น่าสนใจโดยวิทยากรประกอบด้วย ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูต รณะนันทน์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อ.ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินรายการโดย ดร.ธีรารัตน์ พันทวี นักวิชาการสื่ออิสระ
การเปลี่ยนระบบอนาล็อกสู่ทีวีดิจิตอลจะทำให้เกิดการแข่งขันใหม่หรือไม่อย่างไร?
ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูต รณะนันทน์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เทคโนโลยีดิจิตอลจะทำให้เกิดห่วงโซ่คุณค่าแบบใหม่ซึ่งต่างจากอนาล็อก ที่มีเพียงผู้ผลิตรายการ ดังนั้นอำนาจจะไปกองอยู่ที่สถานีโทรทัศน์เป็นหลักเพราะสถานีโทรทัศน์จะเป็นผู้เลือกว่าจะให้ใครเข้าช่องเช่าช่วงรายการ แต่หากเปลี่ยนเป็นทีวีดิจิตอล ทาง กสทช.หรือ กสท. มีการจัดประเภทการประกอบกิจการโทรทัศน์เป็นสองส่วนด้วยกันคือ ตามรูปแบบของการประกอบกิจการตามใบอนุญาต เช่น บริการสาธารณะ บริการชุมชนและบริการธุรกิจ แต่ในขณะเดียวกันก็ดูห่วงโซ่คุณค่าในการประกอบกิจการก็จะแบ่งเป็นช่องรายการเป็นโครงข่าย เพื่ออำนวยความสะดวก ดังนั้นการประกอบกิจการจะถูกซอยย่อยทำให้ผู้ที่เข้าสู่ตลาดรายใหม่จะมีช่องทางเข้าได้มากขึ้น
ทั้งนี้ คำว่า บริการสาธารณะ Public Service Broadcasting เป็นศัพท์ที่ตรงตัวอยู่แล้วไม่ควรแยกคำ หากพูดถึงทีวีสาธารณะว่าเป็นสื่อทีวี Public Service Broadcasting ในรูปแบบของทีวีซึ่งมี Radio มาก่อน จริงๆ แล้วตามวิวัฒนาการ Public Service Broadcasting มีการกระจายเสียงและแพร่ภาพเพื่อบริการสาธารณะเกิดขึ้นในแถบยุโรปตะวันตกในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และถือว่าเป็น sector หลักในการแพร่ภาพและกระจายเสียง
อย่างไรก็ตาม คุณค่าของสื่อสาธารณะอยู่ที่การมองคนเป็นพลเมืองมากกว่าที่จะเป็นผู้บริโภคและมองในแง่ของการสื่อสารหรือการสร้างวัฒนธรรม สร้างสังคม มากกว่าการสร้างเศรษฐกิจหาเลี้ยงตัวเอง อีกทั้งในแง่การสื่อสารว่า การสื่อสารที่จะก่อเกิดสื่อบริการสาธารณะนั้นจะต้องสร้างพื้นที่บริการสื่อสาธารณะที่เป็นพื้นที่ของประชาธิปไตยทุกคนสามารถจะเข้าร่วมได้ สามารถที่จะแลกเปลี่ยน ถกเถียงอภิปรายจากกลุ่มตัวแทนต่างๆ และนำไปสู่ข้อสรุปหรือนำไปสู่การขยายผลต่อรองนโยบายต่อผู้มีอำนาจด้วยก็ตาม นั่นคือพื้นที่สาธารณะ
จะทำอย่างไรให้เป็นพื้นที่สาธารณะ คิดว่าหลักการพื้นฐานคือทุกคนต้องเข้าถึงได้เพราะมีความเป็นสาธารณะ อย่างเช่น BBC ในอังกฤษ CDC ในแคนนาดา NHKในญี่ปุ่นค่อนข้างเน้นในความหลากหลายเพราะมีหลากหลายกลุ่ม หลากหลายเชื้อชาติในสังคม เป็นต้น
ในแง่กฎหมายไทย Public Service Broadcasting (PSB) จะต้องมีกองบรรณาธิการที่เป็นอิสระจากรัฐ ต้องสนองตอบผลประโยชน์ของสาธารณะ ต้องปกป้องผลประโยชน์จากการถูกครอบงำทางการเมืองหรือทางธุรกิจ เรื่องเนื้อหารายการจะต้องมีความหลากหลาย มีคุณภาพสูงเน้นให้ความรู้ ให้ข้อมูล ให้ความบันเทิง ส่วนด้านการบริหารจัดการในองค์กร PSB ต้องมีบอร์ดบริหารที่มีความเป็นอิสระจากรัฐ และจะต้องถูกการันตีในกฎหมาย
ประเด็นข้างต้นถ้าเราไปดู พ.ร.บ.องค์การแพร่ภาพและกระจายเสียงสาธารณะแห่งประเทศไทยปี 2551 ซึ่งเป็นที่มาของไทยพีบีเอส ซึ่งจะมีความชัดเจนคือบอร์ดบริหารของไทยพีบีเอสจะต้องมาจากไหน ที่มาคืออะไร และจะทำอย่างไรให้มีความโปร่งใส และอิสระจากการครอบงำทุนและรัฐ จะต้องตอบโจทย์ของสังคมได้ และจะต้องมีความสามารถในการถูกตรวจสอบ
ทั้งนี้ รายได้ส่วนใหญ่จะต้องมาจาก public funding เช่น BBC ใช้วิธีเสียค่าภาษี เครื่องรับโทรทัศน์อย่างญี่ปุ่นก็ได้รับสนับสนุนจากรัฐบาลแบบครึ่งต่อครึ่ง อย่างไทยพีบีเอสถูกออกแบบมาโดยการใช้ภาษีบาป ถ้าหากมาเปรียบเทียบกฎหมายไทย แบ่งประเภทบริการสาธารณะ ซึ่งแปลตรงตัวคือ Public Service Broadcasting แบ่งเป็นสามรูป คือ แบบที่ 1 สาธารณะเพื่อสาธารณะ แบบที่ 2 สาธารณะเพื่อความมั่นคง (ปลอดภัย) แบบที่ 3 สาธารณะเพื่อความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐกับประชาชนพ่วงผู้พิการเข้ามาด้วย แต่การนิยาม PSB ของประเทศไทยไม่ตรงกับนิยามของสากลอาจเป็นความเข้าใจผิด
ปฏิรูปสื่อนั้นสำคัญไฉน-นำไปสู่การปฏิรูปสังคมอย่างไร?
สำหรับประเด็นการแบ่งช่องทีวีบริการสาธารณะที่เหมาะสมนั้น ผศ.ดร.พิรงรอง แสดงความเห็นว่า ประโยชน์สาธารณะคือสิ่งที่ประชาชนสนใจ ถ้ามองว่าละครก็เป็นสิ่งที่ประชาชนสนใจ เพราะวัดจากเรทติ้ง เราต้องมองว่าสิ่งที่ประชาชนสนใจคือสิ่งที่จะต้องจรรโลง ยกระดับสติปัญญา
ทั้งนี้ กรณีการแบ่งช่อง ถ้าเรามองการปฏิรูปสื่อว่าคือการพยายามสร้างเนื้อหาในรูปแบบใหม่ ซึ่งไม่ได้มีอยู่ในทีวีกระแสหลักแบบเดิม เราก็จะเห็นเรื่องราวสาระประโยชน์ ซึ่งอาจเป็นคำกว้างมาก อย่างวิทยุชุมชนก็มีข้อกำหนดว่าเรื่องสาระประโยชน์ แต่เมื่อถึงเวลากำกับดูแลจริงๆ แล้ว กสทช.จะมีการกำกับดูแลแบบใด เพราะ กสทช.ไม่สามารถเข้าไปกำกับดูแลได้ อย่างวิทยุที่จัดรายการเพลง หากเขาเขียนผังรายการว่าสาระบันเทิงสลับการเปิดเพลงและพูด ในส่วนนี้ กสทช.ก็เข้าไปกำกับดูแลยาก
นอกจากนี้ เรื่องใบอนุญาตทีวีดิจิตอลสาธารณะจะต้องมีการประเมินศักยภาพผู้ที่ใช้ประโยชน์จากทีวีดิจิตอลด้วยว่ามีศักยภาพในการใช้ประโยชน์จากทีวีดิจิตอลสำหรับประมวล หรือนำเสนอข้อมูลของตนเอง เพื่อเสริมศักยภาพการสื่อสารของประชาชนได้เช่น ตัวอย่างของ NHK BBC มีสิ่งที่เรียกว่า Digital Archives สิ่งต่างๆ ที่เขานำเสนอไปในอดีตนั้นสามารถถูกประเมินโดยผู้ชมแต่ไม่ใช่ผู้ชมทุกคน เฉพาะคนที่จ่ายค่า License Fee ถ้าตนเป็น กสทช. ก็จะพิจารณาจากตรงนี้ด้วย
ผศ.ดร.พิรงรอง กล่าวทิ้งท้ายว่า ไทยต้องกลับมาที่คิดว่า การปฏิรูปสื่อคืออะไร ในต่างประเทศก็จะมีการรณรงค์ให้ปฏิรูปองค์กร กฎหมาย การกำกับดูแล โครงสร้าง การเข้าถึงและการใช้ประโยชน์ (ของไทยเน้นการเข้าถึงและการใช้ประโยชน์ในคลื่นความถี่ซึ่งเป็นทรัพยากรที่ใช้ในการสื่อสาร) หรืออาจจะเป็นเรื่องการปรับเปลี่ยนเนื้อหาทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ อาจจะเป็นเรื่องการส่งเสริมพลังของสื่อให้เป็นอิสระเพราะถ้าเรามองว่าตอนนี้สื่อไม่เป็นอิสระ เราก็ต้องดูว่าจะเสริมตรงส่วนไหน ชุมชนใช่หรือไม่
อีกประการหนึ่ง คือเรื่องของการสร้างความรู้เท่าทันสื่อนั้น เป็นสิ่งสำคัญของการปฏิรูปสื่อ เพราะยิ่งมีช่องทางในการเสพสื่อหรือบริโภคสื่อมาก อำนาจของ กสทช.ในการมอนิเตอร์ก็ยิ่งน้อยลงเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นจะสร้างอย่างไรให้ผู้ที่รับสื่อสามารถคิด วิเคราะห์ วิจารณ์ได้ สุดท้ายการสร้างวิถีปฏิบัติในสื่อ ซึ่งก็คือเรื่องของจรรยาบรรณ วิชาชีพ จริยธรรมและการยกระดับมาตรฐานในการทำงานของสื่อ
ทั้งหมดนี้ คือแนวทางการปฏิรูปสื่อ ถามว่าถ้าเป็นทีวีดิจิตอลจะทำได้ทั้งหมดนี้ไหม ก็คงทำได้บางข้ออย่างการรู้เท่าทันสื่อ ไม่น่าจะทำได้ เพราะคนทำสื่อไม่ถือว่าเป็นหน้าที่ ซึ่ง กสทช.ต้องตอบโจทย์ว่าจะตอบโจทย์ทีวีสาธารณะ และทำให้เกิดการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรมอย่างไร
ทีวีดิจิตอลสาธารณะ กับจุดเปลี่ยนของประเทศ
อ.ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า แม้เทคโนโลยีเป็นการก้าวข้ามเรื่องการจำกัดคลื่นความถี่ต่างๆ แต่ที่ผ่านมาข่าวสารเรื่องทีวีดิจิตอลยังทราบไม่ทั่วถึง สาธารณะยังไม่ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างเต็มที่ ทั้งที่เป็นผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ หากเรามีทีวีดิจิตอลสิบช่องเพิ่มอีกยี่สิบสามสิบช่อง หรือร้อยช่องก็ตาม แต่เนื้อหายังเป็นแบบเดิม โครงสร้างการถือครองยังเป็นแบบเดิม มันก็ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงหรืออาจย้อนกลับไปยุคเดิมด้วยซ้ำ
คำถามคือ เราจะยอมทิ้งสิ่งที่เรียกร้องต่อสู้กันมาหรือไม่ สิ่งที่เจอยังอยู่ในกรอบคิดแบบเดิม การปะทะความคิดแบบเดิม ในยุคแรกคลื่นความถี่ถูกจำกัดเอาไว้ว่าเป็นความถี่ของรัฐเพื่อสื่อสารกับประชาชนสื่อแบบ one-way communication สื่อสารด้านเดียว แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง ระบบต่างๆ ถูกตั้งคำถาม คำว่า "ความมั่นคง"ถูกตั้งคำถามว่ามันเป็นความมั่นคงของใครคำว่า "รัฐ"คือรัฐแบบใดซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก
"กรณีที่ กสทช.บางท่านระบุว่าอย่าพูดคำว่า "ทีวีสาธารณะ"ให้พูดคำว่า "ทีวีบริการสาธารณะ"นั้นมันมีนัยที่ชัดเจนว่าบริการออกไปสู่ประชาชน ประชาชนเป็นผู้รับบริการ แต่ประชาชนไม่มีส่วนร่วม ตนมองว่าตรรกะผิดเพี้ยนไป ถ้าเป็นทีวีสาธารณะคือการเปิดให้มีการสื่อสารทั้งสองทางหรือหลายทางมากขึ้น คำว่าดิจิตอล มันเปิดโอกาสให้มีการสื่อสารได้หลากหลายช่องทางกันมากขึ้น ผู้ส่งสารสามารถส่งไปยังผู้รับสารได้ ส่วนผู้รับสารผู้ฟังผู้ชมทีวี หากไม่พึงพอใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ทันที คำถามคือ ผู้ที่จะบริหารช่องหรือคลื่นความถี่ยังใช้กรอบคิดแบบเดิมในการจำกัดคิดสื่อสารด้านเดียวหรือไม่อย่างไร"
ทั้งนี้ เมื่อมีการแบ่งรายการประเภทที่หนึ่งจัดสรรแบ่งช่องที่ 5-7 วัตถุประสงค์คือการให้ความรู้ การศึกษา ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม การเกษตร และการส่งเสริมอาชีพอื่นๆ สุขภาพอนามัย กีฬาหรือการส่งเสริมคุณภาพชีวิตประชาชน ประเภทที่สอง ช่อง 8-9 เป็นเรื่องความมั่นคงและความปลอดภัย ประเภทที่สาม วัตถุประสงค์เพื่อกระจายข้อมูลข่าวสารเพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐบาลประชาชน และรัฐสภา กับประชาชนและการกระจายข้อมูลส่งเสริมสนับสนุนในการเผยแพร่และให้การศึกษาแก่ประชาชนเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข บริการข้อมูลข่าวสารอันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนแก่คนพิการ คนด้อยโอกาสหรือกลุ่มความสนใจที่มีกิจกรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะหรือบริการข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะอื่น
คิดเห็นอย่างไรในการแบ่งประเภทข้างต้น และของไทยควรแยกไทยพีบีเอส หรือมีบริการสาธารณะอีกต่างหาก?
อ.ดร.มานะ กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวว่า การทำความเข้าใจกับประชาชนเป็นสิ่งสำคัญเป็นบทบาทหน้าที่หนึ่งในการเปลี่ยนผ่านของ กสทช.ที่จะต้องอธิบายให้กับประชาชนเข้าใจมากกว่าจะไปแจกกล่องเพื่อเปลี่ยนจากอนาล็อกเป็นดิจิตอลอย่างเดียว ซึ่งเรื่องของทีวีสาธารณะ หลักใหญ่คือต้องการเปิดพื้นที่ให้กับประชาชนพลเมือง โดยเฉพาะคนตัวเล็กตัวน้อย คนชายขอบที่ไม่มีสิทธิ์เสียงที่จะพูด หรือเรื่องที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากการกระทำของรัฐเช่น เขื่อนปากมูล รวมถึงเรื่องอื่นๆ ภายใต้แนวคิดการพัฒนาประเทศการพัฒนาประชาธิปไตยของรัฐ ซึ่งคนที่ได้รับผลกระทบไม่มีสิทธิและเสียงที่จะพูดโต้แย้งใดๆ ทั้งสิ้นผ่านสื่อ การจะได้ออกสื่อแต่ละครั้งคนตัวเล็กตัวน้อยจะต้องประท้วงปิดถนน
แต่แนวคิดทีวีสาธารณะคือต้องการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนคนตัวเล็กตัวน้อยและจะต้องมีเวทีกลางให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็น หากยังมีการจำกัดสิทธิการเข้าถึงสื่อของคนตัวเล็กตัวน้อย เขาก็ไปหาช่องทางอื่นเอง ไม่ว่าจะเป็นช่องทางอินเทอร์เน็ตหรือกระทำการอย่างอื่นเองเพื่อที่จะทำให้เสียงเขาดังขึ้น ถ้าเราไม่ต้องการที่จะจำกัด เราก็ต้องเปิดเวทีให้ประชาชน แต่ปัญหาคือ แนวคิดของ กสทช.ถ้ายังยึดแนวคิดแบบเดิมว่า คลื่นวิทยุ คลื่นโทรทัศน์เป็นของ กสทช. เป็นของรัฐซึ่งแนวคิดนี้จะมีปัญหาตามมา รัฐจะต้องแก้ปัญหาความขัดแย้งอื่นๆ ที่ระเบิดตามมามากมาย
"ไม่อยากคาดเดาว่าทีวีสาธารณะที่บอกว่าแบ่งคลื่นความถี่ต่างๆ แล้วนั้น ตอนนี้แบ่งกันเกือบทั้งหมดแล้ว มีเพียง 4-5 ช่องที่เหลือพื้นที่ที่จะให้คนอื่นๆ เข้ามาเป็นสาธารณะ นอกนั้นกระทรวง ทบวงกรมต่างๆ ตีตั๋วฟรีอยู่ในช่องบริการแรกๆ ถ้ากดช่องปุ๊บก็เจอปั๊บ เป็นต้น เขาสามารถหาประโยชน์เพิ่มเติมได้รายได้เพิ่มเติมที่เป็นงบประมาณจากประชาสัมพันธ์ของกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ และงบประมาณจากโครงการต่างๆ ขององค์กรธุรกิจที่จะไหลเข้ามา และยังไม่นับการเช่าช่วงให้ไปดำเนินการต่อ ผมไม่อยากให้เกิดกลุ่มธุรกิจต่างๆ แย่งกันเข้ามาสนับสนุนหน่วยงานรัฐที่เป็นทีวีสาธารณะเพื่อหวังผลประโยชน์บางอย่างต่อเนื่องตามมา"
ปฏิรูปสื่อสู่การปฏิรูปสังคม?
อ.ดร.มานะ กล่าวว่า ดังที่ได้กล่าวไปว่าการจะปฏิรูปสื่อต้องเปิดพื้นที่ให้คนอย่างหลากหลาย เพื่อให้เขามีโอกาสแสดงความคิดเห็นมีเวทีที่ได้พูด ได้สื่อสารออกไป เพราะที่ผ่านมาตั้งแต่มีการใช้คลื่นวิทยุโทรทัศน์ มันถูกจำกัดโดยกลุ่มที่เรียกว่า รัฐและทุนแต่พื้นที่ให้คนทั่วไปมีน้อยมาก แต่ถ้าปฏิรูปสื่อไปแล้ว คลื่นทั้งหมดจัดสรรแล้ว สถานการณ์ยังเหมือนเดิมคือ ประชาชนยังได้รับข้อมูลชุดเดียวแบบเดิม ประชาชนยังไม่มีโอกาสได้แสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง ประชาชนไม่มีโอกาสที่จะได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ปัญหาต่างๆ ก็ยังมีอยู่ คำถามคือ คนที่เจอปัญหาจะทำอย่างไรก็ต้องดิ้นรนหาทางออก ทางอื่น เพื่อที่จะชิงพื้นที่สื่อ
"การปฏิรูปสื่อจะไม่เกิดขึ้นเลยหากว่าคนทั่วไปรู้สึกว่า มันยังไงก็ได้ เพราะฉะนั้นคิดว่าจังหวะที่จะก้าวต่อไป กลุ่มคนจากภาคส่วนต่างๆ คงต้องแสดงตนให้มากขึ้นว่า ถ้าจะปฏิรูปสื่อโดยเฉพาะสื่อที่เขาเปิดช่องไปแล้วตั้งแต่ต้นว่าเป็นทีวีสาธารณะ แต่เมื่อมันยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง เราจะยอมกันอยู่ต่อไปไหม ถ้าไม่ยอมเราจะเลือกทางใดต่อ"
ทีวีสาธารณะ ทีวีบริการสาธารณะ ทีวีของรัฐ ตีความแบบใดให้เหมาะสมกับในบริบทไทยแลนด์?
ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ถ้าถามว่าทีวีดิจิตอลเป็นจุดเปลี่ยนของประเทศไทยหรือไม่ ตนมองว่ามันอาจจะเป็นไปได้ แต่ขึ้นอยู่กับตัวรายการว่ารายการควรจะต้องตอบสนองประชาชนอย่างไร คำว่าสาธารณะนั้นไม่มีใครเป็นเจ้าของ ซึ่งเงินที่ใช้ในการจัดรายการทีวีมาจากภาษีของประชาชน ส่วนทีวีของรัฐมันมีความชัดเจนอยู่แล้ว เช่น เมื่อมีการปฏิวัติก็กลายเป็นทีวีของรัฐ
ส่วนทีวีบริการสาธารณะ เข้าใจว่าเป็นศัพท์ด้านกฎหมายมหาชนแท้จริงแล้วคำว่า "บริการสาธารณะ"ในประเทศไทยเพิ่งนำมาใช้ไม่กี่ปีที่ผ่านมา กล่าวคือเป็นกิจการที่อยู่ในความอำนวยการหรืออยู่ในความควบคุมของฝ่ายปกครองที่จัดทำขึ้นเพื่อตอบสนองส่วนรวมของประชาชน "อยู่ในความอำนวยการ"หมายความว่าฝ่ายปกครองเป็นผู้ดำเนินการเอง ในขณะที่คำว่า "อยู่ในความควบคุม"หมายความว่าฝ่ายปกครองให้คนอื่นไปดำเนินการซึ่งมีหลายระบบ เริ่มตั้งแต่มีการตั้งรัฐวิสาหกิจขึ้นมามีการมอบให้ท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการกิจการ หรือแม้กระทั่งเปิดให้สัมปทานให้เอกชนไปดำเนินกิจการก็ได้ เพราะฉะนั้นบริการสาธารณะจะต้องมีสองส่วน
ส่วนที่หนึ่งจะต้องยึดโยงกับรัฐ ส่วนที่สองจะต้องตอบสนองประชาชนบริการสาธารณะประเภทแรก ทางวิชาการใช้คำว่า บริการสาธารณะทางปกครองเป็นการใช้อำนาจรัฐเพื่อจัดระบบสังคมเพื่อให้อยู่กันอย่างสงบ เช่น กิจการทหารตำรวจ ความมั่นคง แนวนโยบายของรัฐ เรื่องเศรษฐกิจต่างๆ และบริการสาธารณะ ประเภทที่สอง คือบริการสาธารณะทางอุตสาหกรรมและการค้า ประเภทนี้จะเป็นการบริการที่ตอบสนองประชาชน
ศ.ดร.นันทวัฒน์กล่าวต่อไปว่า แม้จะมีทีวีดิจิตอลแต่ไม่มีคนดู ทำไปมันก็ไม่มีประโยชน์ดังนั้นการที่จะทำให้มีคนดูหรือไม่มีนั้น มันขึ้นอยู่กับรายการและการจัดแบ่งช่องรายการนั้นจะเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ซึ่งการแบ่งช่องนั้นทาง กสทช.เองได้ไปศึกษาดูของเคเบิลทีวีหรือไม่ว่า คนเขาดูช่องใดเยอะหรือช่องใดน้อย ซึ่งการแบ่งช่องของราชการนั้นเป็นสิ่งที่น่ากลัว มันมีคำถามว่า จาก 12 ช่องจะแบ่งให้เป็นเจ้าของช่อง หรือเป็นเจ้าของช่วงเวลา ซึ่งตนไม่ทราบว่าหน่วยงานต่างๆ มีทั้งหมดเท่าไหร่แล้วจะแบ่งอย่างไร เพราะมีองค์กรต่างๆ เยอะมากและจะมีคนดูหรือไม่
"ถ้าเป็นบริการสาธารณะแล้วแต่ไม่ตอบสนองประชาชนสุดท้ายมันก็ไม่ใช่บริการสาธารณะ เป้าหมายคือจะทำอย่างไรให้มันตอบสนองประชาชนได้มากที่สุดมากกว่ากำหนดว่าใครจะเป็นเจ้าของช่อง"
มติ กสทช.ที่ไม่ถามสังคม?
ศ.ดร.นันทวัฒน์ กล่าวว่ากฎหมายด้านการปกครองมันมีหลักพื้นๆ ว่า ฝ่ายปกครองทำอะไร ต้องโปร่งใส และตรวจสอบได้ในอดีตเราเคยมีกฎหมายจำนวนมากที่ให้ดุลพินิจฝ่ายปกครอง แต่ช่วงหลัง ตั้งแต่ปี 2539 เรามีกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการปกครองออกมา เขาก็บังคับแล้วว่า ในการใช้ดุลพินิจต้องมีเหตุผลประกอบว่า ทำไมถึงใช้ดุลพินิจแบบนี้ การจะออกเป็นประกาศหรือไม่เป็นประกาศ ตนเข้าใจว่าคนออกประกาศจะต้องรับรู้อยู่แล้วว่าจะออกหรือไม่ออก ถ้าจะออกเพราะต้องการให้ทุกอย่างมันชัดเจนมีกติกา มันก็ควรจะออก ในอดีตมันอาจจะไม่มีประเด็นนี้ แต่ในปัจจุบันนี้มีประเด็นการฟ้องขอให้ศาลปกครองเพิกถอน
"ควรจะออกเพื่อจะได้เห็นความโปร่งใสสามารถตรวจสอบได้ ลำพังแค่บอกว่ามันอยู่ในกฎหมายแล้ว 7-8 ฉบับ มันไม่ง่ายสำหรับประชาชนหรือคนที่จะเข้าไปตรวจสอบซึ่งถ้ามีประกาศ จะทำให้เห็นหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน และคนที่ได้รับใบอนุญาตจะได้ภายใต้หลักการเดียวกันไม่ได้ได้โดยหลักดุลพินิจ"
ศ.ดร.นันทวัฒน์ กล่าวสรุปว่า ปัญหาของไทย มันวนมาจากจุดเริ่มต้นจุดเดียว ก็คือ ตอนที่เรามีรัฐธรรมนูญ 40 เรามีการตั้งองค์กรต่างๆ เป็นจำนวนมาก ในขณะที่เราไม่ได้เตรียมคนที่จะเข้าสู่องค์กรนั้น เพราะคนที่อยู่ในองค์กรต้องสุดยอด ต้องมีความรู้ด้านนั้น แต่ปัจจุบันเราอาจจะโชคดีมีคนที่รู้ตรงในบางองค์กร แต่ก็มีบางองค์กรได้คนไม่รู้ ปัญหามันจึงเกิดขึ้น
หมายเหตุ:เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://www.prachatham.com/detail.htm?code=n6_25042013_01