63 กลุ่มประชาสังคม เรียกร้องให้สหประชาชาติปกป้องการแสดงออกอย่างเสรีบนพื้นที่ออนไลน์ - ประณามการปิดโซเชียลมีเดียในหลายประเทศ ไม่เห็นด้วยกับการกักขังนักกิจกรรมสันติวิธีของไทย
19 มิ.ย. 2557 ที่กรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ องค์กรอาร์ทิเคิลไนน์ทีน (ARTICLE 19) เป็นตัวแทนองค์กรประชาสังคม 63 แห่ง กล่าวแถลงการณ์ต่อประธานคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งประชาชาติ ในที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนครั้งที่ 26 ระบุ “การพัฒนาและการยอมรับทุกคนในสังคมอย่างเท่าเทียมนั้นจำเป็นต้องอาศัยอินเทอร์เน็ตที่สงวนไว้ให้เป็นทรัพยากรร่วมกันของทั้งโลก มีการบริหารจัดการโดยคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ เพื่อให้เป็นพื้นที่ที่มีความเป็นประชาธิปไตย มีอิสระ และมีความหลากหลาย”
องค์กรประชาสังคม 63 แห่งจากทั่วโลก เรียกร้องให้รัฐต้องสนับสนุนและอำนวยการให้ประชาชนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตคุณภาพสูงได้อย่างถ้วนหน้า “บนพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรม และการไม่เลือกปฏิบัติบนระบบเครือข่าย” โดยระบุว่าการเข้าถึงดังกล่าวรวมถึงช่วงเวลาที่เกิดความไม่สงบด้วย
แถลงการณ์ดังกล่าวเน้นความสำคัญของเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิที่จะมีความเป็นส่วนตัว โดยได้ยกตัวอย่างถึงกรณีละเมิดสิทธิในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย
“การปิดกั้นการสื่อสาร รวมถึงสื่อสังคม ในอียิปต์ มาเลเซีย ปากีสถาน ตุรกี และเวเนซุเอลา เป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการรวมตัวสมาคมและการชุมนุม และสมควรถูกประณามว่าเป็นความผิด”
“เราไม่เห็นด้วยกับการกักขัง สมบัติ บุญงามอนงค์ ในประเทศไทย ซึ่งเขาอาจได้รับโทษจำคุกสูงถึง 14 ปี จากการที่เขาเรียกร้องให้ต่อต้านอย่างสันติต่อการรัฐประหารโดยกองทัพเมื่อเร็วๆ นี้ ผ่านทางสื่อสังคม ด้วยการชูสามนิ้ว”
แถลงการณ์ยังได้อ้างถึงการเปิดโปงโครงการสอดแนมประชานทั่วโลกโดยสโนว์เด็น และเรียกร้องให้คณะมนตรีฯให้ความเคารพต่อเสรีภาพในการแสดงออกและความเป็นส่วนตัว โดยระบุว่าการสอดแนมการสื่อสารของประชาชนโดยทั่วไป ซึ่งประกอบด้วยการเก็บบันทึก ประมวลผล และดักรับข้อมูลการสื่อสารใดๆ ก็ตาม “เป็นการกระทำที่ผิดสัดส่วนโดยธรรมชาติของตัวมันเองและละเมิดสิทธิมนุษยชน”
ในตอนท้าย แถลงการณ์อ้างถึง “หลักการความจำเป็นและได้สัดส่วน” (Necessary and Proportionate Principles) https://th.necessaryandproportionate.org/text ซึ่งวางแนวทางการดักรับข้อมูลส่วนบุคคลที่เจาะจงเป้าหมาย ในกรณีที่จำเป็น ตามกรอบกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และย้ำว่าโครงสร้างพื้นฐานของอินเทอร์เน็ตซึ่งรวมถึงมาตรฐานต่างๆ นั้นจะต้องไม่ถูกวุ่นวายรบกวนเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการดักรับหรือถอดรหัสข้อมูล
63 องค์กรประชาสังคมดังกล่าว มีทั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ สมาคมสื่อระดับภูมิภาค หน่วยงานวิจัยกฎหมายและนโยบายสาธารณะ กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนา และองค์กรสิทธิดิจิทัลระดับท้องถิ่น
อ่านแถลงการณ์ฉบับเต็มได้ที่เว็บไซต์ Article 19
http://www.article19.org/resources.php/resource/37593/en/63-civil-society-groups-call-on-un-to-protect-free-expression-online