การที่ประเทศไทยตกอยู่ภายใต้การกุมบังเหียนของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมานั้น นอกเหนือจากประเด็นเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิมนุษยชนของไทยที่ถูกจับตาอย่างใกล้ชิดจากประชาคมระหว่างประเทศ ในอีกด้าน ประเด็นเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศที่ดูเผินๆ เหมือน คสช. จะมีนโยบายหันไปหาจีน หลังถูกกดดันจากประเทศตะวันตกโดยเฉพาะอย่างยิ่ง อเมริกา สหภาพยุโรป และออสเตรเลีย ก็ทำให้ประเทศไทยยิ่งถูกจับตามองด้วยความแปลกใจระคนสงสัยยิ่งขึ้น
ประชาไทสัมภาษณ์ วิโรจน์ อาลี อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มธ. ซึ่งเขาเห็นว่าแม้ คสช. จะดูขึงขังกับประเทศตะวันตกและหันไปซบจีน แต่ไม่คิดว่าจะเป็นนโยบายระยะยาว เช่นเดียวกับประเทศตะวันตกที่ไม่ต่อต้านการรัฐประหารของไทยอย่างจริงจัง เพราะประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนคือปัจจัยสำคัญให้ต้องรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับไทยเอาไว้
ขณะเดียวกัน ทิศทางเศรษฐกิจของประเทศนั้น ยังมีคำถามสำคัญที่ คสช. จะต้องตอบคือ ยังเชื่อในระบบตลาดจัดการตนเองได้อยู่หรือไม่ จะวางประเทศไทยไว้ตรงไหนในระบบเศรษฐกิจโลก
ประชาไท: หลังจากที่ คสช. เข้ามาบริหารประเทศจนถึงขณะนี้ อาจารย์พอจะเห็นทิศทางเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง
วิโรจน์: ณ ตอนนี้ฝุ่นยังตลบอยู่และยังไม่มีอะไรชัดเจนมากนักจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีเข้ามาดำเนินการ อย่างไรก็ดี ในเบื้องต้น ผมเห็นประเด็นที่น่าสนใจอยู่ 3 ประเด็น เรื่องแรกคือ คสช. พยายามจะสานต่อโครงการของรัฐบาลเพื่อไทยเกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นจำนำข้าว รถไฟฟ้าความเร็วสูง รวมไปถึงโครงการบริหารจัดการน้ำ อีกทั้งยังพยายามประสานความร่วมมือกับต่างประเทศเพื่อเตรียมพร้อมการเปิดประชาคมอาเซียน ฉะนั้นในแง่เศรษฐกิจ คสช. คงจะไม่ปรับเปลี่ยนอะไรไปมาก อีกทั้งยังได้เปรียบกว่ารัฐบาลที่ผ่านมาเพราะมีอำนาจในการตัดสินใจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
ประเด็นที่ 2 มีการพูดกันมากว่า คสช.จะกลับไปใช้นโยบายแบบป้องกันตนเอง (Protectionism) ในประเด็นดังกล่าว เมื่อต่างชาติเริ่มวิพากษ์วิจารร์การทำรัฐประหาร คสช. ก็เริ่มมีการแสดงท่าที่โต้ตอบโดยการหันหลังให้สหรัฐฯ และหันไปพึ่งจีนที่มีจุดยืนไม่แทรกแซงการเมืองภายใน ซึ่งก็สร้างความตกอกตกใจให้นานาประเทศได้พอสมควร ตรงจุดนี้ผมมองว่าเป็นนโยบายเพื่อป้องกันตัว (Defensive Mechanism) เสียมากกว่า ไม่ได้หมายความว่า คสช. จะดำเนินนโยบายแบบป้องกันตัวเอง (Protectionism) หรือปฏิเสธสหรัฐฯ ในระยะยาวแต่อย่างใด
ประเด็นที่ 3 ตัวบุคคลที่เข้ามาดูแลงานทางด้านเศรษฐกิจในฐานะที่ปรึกษาก็น่าสนใจไม่น้อย เช่น หม่อมราชวงศ์ปรีดียาธร เทวกุล นายณรงค์ชัย อัครเศรณี และ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ผมคิดว่า 2 ท่านแรกคือหม่อมอุ๋ยกับคุณณรงค์ชัยมีลักษณะคล้ายคลึงกันคือเป็นเทคโนแครต (Technocrat) ที่มีบทบาทมาตั้งแต่หลังยุคสฤษฎิ์ ส่วนคุณสมคิดผมคิดว่า คสช. น่าจะดึงตัวมาทำงานด้านประชาสัมพันธ์ (Public Relations) มากกว่าซึ่งในอนาคตเราคงจะได้เห็นการแยกตัวออกมาอย่างชัดเจน คนที่มีบทบาทจริงๆ ในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของ คสช. น่าจะเป็น หม่อมราชวงศ์ปรีดียาธร กับคุณณรงค์ชัย ซึ่งสองคนนี้เขามีอุดมการณ์ทางเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ คือเชื่อในพลังของตลาด ตลาดต้องจัดการตนเองและรัฐต้องแทรกแซงให้น้อยที่สุด ผมคิดว่าเราจะได้เห็นแนวคิดแบบนี้ในอนาคต
ประชาไท: อาจารย์คิดว่าการดำเนินนโยบายแบบเสรีนิยมใหม่มีจุดเด่นและจะส่งผลต่อประเทศไทยอย่างไร
วิโรจน์: ระบบดังกล่าวจะให้ความสำคัญกับระบบเศรษฐกิจที่เน้นการส่งออก (Export Oriented Industrialization) กล่าวคือ ไทยจะวางตัวเองเป็นฐานการผลิตดึงดูดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนโดยอาศัยจากทรัพยากรที่เรามีอยู่ซึ่งส่วนใหญ่เน้นไปที่การลงทุนทางด้านอุตสาหกรรมและการบริการ ทั้งนี้มีมุมมองที่จะไม่ให้ความสำคัญต่อภาคการเกษตรมากนัก กรอบวิธีคิดทางศรษฐกิจดังกล่าวทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโตไวมาก GDP ของประเทศไทยโต 8-9% ต่อปี ในยุค 70-90 ที่ไทยเป็นฮับ (Hub) ของการลงทุนในภูมิภาค แต่นั่นคือในสมัยที่ประเทศคู่แข่งทางการค้าเรายังไม่เยอะ ทุกวันนี้เรามีทั้งจีน อินโดนิเซีย มาเลเซีย เวียดนาม ซึ่งพร้อมจะเป็นฐานการผลิตแข่งกับเรา อีกทั้งระบบตลาดจัดการตนเองยังเป็นแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับปัจจัยทางสังคมน้อยมากปัญหาที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนคือความเหลื่อมล้ำรายได้ส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่กับนายทุน ชนชั้นกลางและบรรษัทข้ามชาติ การจะให้ความสำคัญกับเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ โดยไม่คำนึงถึงเสรีนิยมทางการเมืองเป็นจึงเรื่องที่ล้าสมัยไปแล้วในกระแสโลกปัจจุบัน
ในทางกลับกัน หากเราดูบทบาทของรัฐในรายละเอียด เราจะเห็นได้ว่านับวันรัฐจะยิ่งเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจมากขึ้นจนเกิดเป็นแนวคิดใหม่คือระบบเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญกับอุปสงค์ (Demand side economy) คือแนวคิดที่กระตุ้นเศรษฐกิจโดยการกระจายรายได้ไปสู่ชนชั้นล่างเพื่อขยายตลาด ทำให้คนมีอำนาจในการซื้อเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นแนวคิดที่สามารถตอบสนองได้ทั้งเสรีนิยมทางเศรษฐกิจและการเมือง ยกตัวอย่างเช่นในจีนมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อความมั่นคงของรัฐ (Sovereign Wealth Fund) เพราะจีนมีการลุงทุนจากต่างชาติเยอะ แต่ไม่มีเทคโนโลยีเป็นของตัวเองพึ่งพาต่างชาติอยู่ตลอดเวลา แต่เมื่อมีกองทุนดังกล่าว รัฐบาลจีนก็สามารถซื้อเทคโนโลยีของตัวเอง หรืออย่างสิงค์โปร์ก็ดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจโดยการทำตัวเองให้เป็นสวรรค์ภาษี (Tax Heaven) เพื่อให้ต่างชาติอยากเข้ามาลงทุน
กล่าวโดยสรุปก็คือทุกวันนี้กระแสโลกไม่ได้ยึดติดกับความคิดที่ว่าตลาดต้องจัดการตนเอง และทุกประเทศต้องดำเนินทิศทางเศรษฐกิจตามทรัพยากรที่ตนมีอยู่อีกต่อไป แต่รัฐต้องเข้ามาแทรกแซง สนับสนุนการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ และตอบสนองคนในสังคมด้วย ประเทศไทยก็มีนโยบายเศรษฐกิจแบบนี้ค่อนข้างเยอะแต่ส่วนใหญ่คนจะมองว่าเป็นนโยบายประชานิยม เช่นจำนำข้าว รถไฟความเร็วสูง รถคันแรก คนที่คัดค้านก็จะมองว่านโยบายดังกล่าวเป็นความสิ้นเปลืองทางเศรษฐกิจเพราะมีการแทรกแซงตลาด และลงทุนในสิ่งที่ไม่เหมาะสมกับประเทศไทย คนที่คัดค้านนโยบายดังกล่าวคิดว่านโยบายที่ดีต้องไม่มีประชานิยมซึ่งผมกลับมองว่ามันไปด้วยกันได้ ที่ผ่านมานโยบายที่ถูกมองว่าเป็นประชานิยมส่วนใหญ่ก็มีส่วนช่วยขยายขนาดของตลาดออกไปได้อย่างเห็นได้ชัด
ประชาไท: หาก คสช. จะนำแนวคิดแบบเสรีนิยมใหม่กลับมาใช้ อาจารย์คิดว่าจะเป็นอย่างไร
วิโรจน์: คำถามที่ คสช. ต้องตอบก็คือเรายังเชื่อในระบบตลาดจัดการตนเองได้อยู่หรือไม่? การที่ พล.อ. ประยุทธ์นั่งตำแหน่งประธานบอร์ด BOI ก็เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า คสช. จะให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมและการลงทุน ซึ่งมันก็เป็นเรื่องที่ดี แต่เราจะเพิกเฉยปัญหาการกระจายรายได้ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไม่ได้ จริงอยู่การลงทุนจะทำให้เกิดการจ้างงานแต่ก็ในปริมาณที่น้อยมาก แต่สิ่งที่ตามมาคือการปล่อยให้ราคาพืชผลการเกษตรและ ค่าแรงให้ลดต่ำลงเพื่อดึงดูดนักลงทุน ซึ่งผู้ที่จะได้ประโยชน์คือนายทุน ในขณะที่ภาคการเกษตรซึ่งของไทยซึ่งมีขนาดใหญ่มากกลับได้ประโยชน์เพียงน้อยนิดวิธีการพัฒนาคนตามแนวคิดเศรษฐกิจแบบนี้คือการศึกษาแต่ก็เป็นเพียงการฝึกคนให้เข้าไปเป็นลูกจ้างให้กับนักลงทุนเท่านั้น มิได้มีเป้าหมายเพื่อให้ประเทศไทยสามารถยืนได้ด้วยตนเอง หรือหลุดออกจากการเป็นประเทศกำลังพัฒนา
ประชาไท: อาจารย์มองว่าการที่ คสช. หันเข้าไปพึ่งจีนมีนัยยะสำคัญอย่างไร
วิโรจน์: ผมคิดว่า คสช. คงไม่ได้วางแผนจะตัดความสัมพันธ์กับต่างประเทศในระยะยาว การที่จีนเข้ามาก่อนเป็นเพราะจีนไม่มีนโยบายแทรกแซงการเมืองภายในประเทศ อีกทั้งจีนมองว่าการทำข้อตกลงกับรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารทำได้ง่ายกว่าในระบอบประชาธิปไตย เพราะรัฐบาลมีอำนาจเบ็ดเสร็จ อีกทั้งในการเมืองประชาธิปไตย จีนมีคู่แข่งที่จะมาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานหลายเจ้าทั้งสหรัฐและญี่ปุ่น ซึ่งในแง่ของชื่อเสียงและคุณภาพจีนก็ไม่สามารถสู้คู่แข่งได้เลย จีนจึงรีบเข้ามาก่อนเพื่อช่วงชิงโอกาสทางเศรษฐกิจ ผมเชื่อว่าอีกเมื่อนานาชาติเริ่มมั่นใจในทิศทางเศรษฐกิจของไทย ชาติอื่นๆ ก็คงกลับมาลงทุนตามปกติ แต่ในแง่ของยุทธศาสตร์การลงทุนที่เขาใช้อาจจะเปลี่ยนแปลงไป การลงทุนในภาคบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดที่ขยายขึ้นอาจจะลดน้อยลงเนื่องจากนโยบายเศรษฐกิจแบบขยายตลาดที่ดำเนินมาในยุครัฐบาลเพื่อไทยได้สิ้นสุดลง แต่รูปแบบการลงทุนผ่านการลงทุนร่วม (Partnership) ที่ทั้งสหรัฐฯ และญี่ปุ่นก็วางรากฐานมาอย่างแข็งแรงก็ยังคงอยู่และไม่ได้เปลี่ยนแปลงไม่มากหลังจากการรัฐประหาร นักลงทุนจึงบังสามารถกอบโกยได้แม้ในสถานการณ์การเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย อีกทั้งประเทศไทยเองก็ไม่ได้เป็นจุดยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญขนาดนั้น ผมเชื่อว่าหากการรัฐประหารครั้งนี้เกิดในกลุ่มประเทศ BRICS อย่างเช่นบราซิล หรืออินเดีย สหรัฐฯ คงจะอยู่ไม่สุขแน่ แต่ตลาดเรายังไม่ใหญ่พอที่จะทำให้นานาประเทศสนใจมากขนาดนั้น การออกแถลงการณ์หรือการตัดเงินช่วยเหลือที่เกิดขึ้น ผมมองว่าเป็นเพียงการส่งสาสน์ให้ คสช. เร่งนำประเทศกลับเข้าสู่ภาวะประชาธิปไตยให้เร็วที่สุดเท่านั้น แม้แต่ประเทศที่ให้ความสำคัญกับระบอบประชาธิปไตยหลายๆประเทศในยุโรปอก็ยังไม่มีการออกมาตอบโต้การรัฐประหารครั้งนี้อย่างจริงจัง เพราะเขาก็คำนึงถึงนักลงทุนของประเทศเขา หากไม่มีเหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงเขาก็ไม่อยากจะวิพากษ์วิจารณ์มากนัก
อีกปัจจัยหนึ่งซึ่งจะทำให้นักลงทุนต่างชาติยอมรับรัฐประหารรอบนี้คือการเปิดประชาคมอาเซียน เพราะมันจะทำให้การเคลื่อนย้ายสินค้าทำได้ง่ายขึ้นซึ่งมันจะทำให้นักลงทุนต่างชาติมีตัวเลือก 2 ทาง 1. ตั้งฐานการผลิตในไทยและส่งสินค้าออกไปขายในประเทศเพื่อนบ้าน เพราะไทยก็ยังคงเป็นฐานการผลิตที่น่าสนใจเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน กับทางที่ 2 คือตั้งฐานการผลิตในประเทศเพื่อนบ้านและส่งสินค้าเข้ามาขายในไทยซึ่งหากเป็นในแนวทางที่ 2 นี้จะน่ากลัวมากเพราะเราจะไม่มีรายได้จากการลงทุน และการจ้างงานเลย มีเพียงแค่รายได้จากการบริโภคเท่านั้นเงินอาจไหลออกนอกประเทศมากขึ้น
ประชาไท: อาจารย์คิดว่า คสช. ควรจะดำเนินทิศทางเศรษฐกิจอย่างไร
วิโรจน์: ประการแรก คสช. ต้องจัดวางตำแหน่งของประเทศไทยในเวทีเศรษฐกิจโลกให้ชัดเจน อย่าคิดแต่จะเป็นฐานการผลิต ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ว่าเราพอจะสรรค์สร้างนวัตรกรรมใหม่อะไรได้บ้าง 2 ต้องดูโอกาสทางเศรษฐกิจ ทำอย่างไรเราจึงจะสามารถดึงการลงทุนที่อยู่ตามชายฝั่งเช่นเวียตนาม พม่า ให้เข้ามาสู่ประเทศไทยซึ่งเป็นตัวแผ่นดินใหญ่ให้ได้ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจึงเป็นสิ่งสำคัญ ทุกวันนี้นักลงทุนเขาไม่ได้ดูแค่ราคาต้นทุนการผลิต หรือค่าแรงที่ต่ำเพียงอย่างเดียว ต้นทุนด้านการขนส่ง การโทรคมนาคมก็เป็นปัจจัยที่สำคัญซึ่งตอนนี้เราช้ามากเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน คสช. ต้องทำความเข้าใจระบบเศรษฐกิจแบบอุปสงค์ซึ่งเป็นกระแสของโลกในปัจจุบัน หาก คสช. ให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าวผลที่ได้คือเศรษฐกิจของไทยจะเติบโตขึ้น ประชาชนมีฐานะดีขึ้น ชนชั้นกลางจะมีมากขึ้น ตลาดจะขยายตัวมากขึ้นซึ่งจะเป็นผลดีกับทุกฝ่าย
ประชาไท: อาจารย์คิดว่าการดำเนินเศรษฐกิจของ คสช. จะส่งผลต่อกระบวนการประชาธิปไตยอย่างไร
วิโรจน์: จริงๆ มันก็มองได้หลายแบบ สูตรสำเร็จของเศรษฐกิจการเมืองก็คือเมื่อเศรษฐกิจแย่ เกิดความเหลื่อมล้ำประชาชนก็จะออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย (เพราะเดิมการเลือกตั้งสามารถตอบโจทย์ประเด็นความเหลท่อมล้ำได้บ้าง) ซึ่งหาก คสช. ดำเนินนโยบายแบบเสรีนิยมใหม่จริงย่อมเกิดความเหลื่อมล้ำขึ้นแน่นอน แต่ในทางกลับกันหากเศรษฐกิจดีประชาชนก็อาจจะเรียกร้องให้ประเทศกลับเข้าสู่ภาวะประชาธิปไตยก็เป็นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เคยอยู่ในระบบเศรษฐกิจแบบอุปสงค์ที่การเลื่อนชั้นทางสังคม (Social Mobility) ทำได้ง่ายย่อมต้องการเรียกร้องให้กลับไปใช้ระบบเศรษฐกิจแบบเดิมรวมถึงระบอบประชาธิปไตย