Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

องค์กรสิทธิฯ เรียกร้อง คสช.ทบทวนมาตรการจัดระเบียบแรงงานข้ามชาติ

$
0
0

17 มิ.ย.2557 องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและแรงงานข้ามชาติ ร่วมกันออกแถลงการณ์ถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ทบทวนมาตรการจัดระเบียบแรงงานข้ามชาติ เพื่อป้องกันผลกระทบด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงของมนุษย์

โดยเรียกร้องให้ คสช.ยุติการกวาดล้าง จับกุมแรงงานข้ามชาติ และกำหนดนโยบายและมาตรการในการปฏิบัติให้ชัดเจน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ในท้องที่ปฏิบัติเป็นแนวเดียวกันอย่างเป็นเอกภาพ, สร้างความมั่นใจต่อแรงงานข้ามชาติ และผู้ประกอบการว่ามาตรการการจัดระบบแรงงานข้ามชาติจะไม่ส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน เพื่อยับยั้งการไหลออกของแรงงาน, ปรับโครงสร้างคณะกรรมการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว และไม่ควรแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติโดยใช้มิติความมั่นคงเพียงอย่างเดียว ให้ดำเนินการจัดการแรงงานข้ามชาติที่เน้นการนำแรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบอย่างถูกกฎหมาย

รายละเอียดแถลงการณ์ มีดังนี้

..............................................

 

แถลงการณ์ด่วน เรียกร้องคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
ทบทวนมาตรการจัดการระเบียบแรงงานข้ามชาติ ป้องกันผลกระทบด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงของมนุษย์

ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ทำการยึดอำนาจการปกครอง มาตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลาเกือบหนึ่งเดือนแล้วที่ คสช.ได้ออกประกาศ-คำสั่ง จนถึงวันที่ 16 มิถุนายน 2557 จำนวน 68 ฉบับ โดยมีคำสั่งที่ 59/2557 และ 60/2557 ลงวันที่ 11 มิถุนายน 2557 เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติ โดยมีตัวแทนด้านความมั่นคงและข้าราชการพลเรือนร่วมเป็นคณะกรรมการและคณะกรรมการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

จากการติดตามสถานการณ์ของเครือข่ายประชากรข้ามชาติ และองค์กรแนบท้าย พบว่า ก่อนคสช.จะได้ออกคำสั่งเลขที่ 59/2557 และ 60/2557 ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2557 หน่วยงานด้านความมั่นคงและเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนในนามกองอำนวยการรักษาความมั่นคงจังหวัด (กอ.รมน.จว.) บางพื้นที่ได้ให้ข้อมูลผ่านสื่อมวลชนว่าได้ดำเนินการที่เรียกว่าจัดระเบียบแรงงานต่างด้วยโดยใช้กำลังปิดล้อม ตรวจค้นบ้านที่ต้องสงสัยว่าอาจจะมีแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยและควบคุมแรงงานข้ามชาติไว้เป็นจำนวนมาก จากข้อมูลที่ได้รับพบว่ามีกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ถูกควบคุมตัวหลายกลุ่ม เช่น แรงงานไม่มีเอกสารเดินทางเข้าเมืองแบบถูกกฎหมายและไม่มีใบอนุญาตให้ทำงาน บางรายมีหนังสือเดินทางแต่ใบอนุญาตทำงานไม่สอดคล้องกับพื้นที่ทำงานกับพื้นที่ที่่มีการพบและควบคุมตัวแรงงาน บางกรณีเป็นแรงงานที่มีหนังสือเดินทางและใบอนุญาตทำงานครบสี่ปี มีการดำเนินการรื้อถอนบ้านในชุมชนที่ต้องสงสัยว่ามีแรงงานข้ามชาติเข้าเมืองผิดกฎหมายพักอาศัยอยู่ และบางกรณีได้มีการดำเนินการที่มีแนวโน้มจะละเมิดต่อมาตรการการคุ้มครองเด็กตามกฎหมายคุ้มครองของไทย และตามอนุสัญญาที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเด็กประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิก ซึ่งจากกระแสข่าวเรื่องจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวดังกล่าว ทำให้แรงงานข้ามชาติมีความหวาดกลัวและมีความเสี่ยงว่าจะถูกจับกุม จึงทยอยเดินทางออกนอกราชอาณาจักรไทยเป็นจำนวนหลายแสนคน ซึ่งย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของชาติ เนื่องจากประเทศไทยประสบปัญหาภาวะการขาดแคลนแรงงานในภาคผลิตทั้งอุตสาหกรรมและภาคการเกษตร ที่ผ่านมาหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการจัดการการขาดแคลนแรงงาน โดยให้รัฐบาลมีนโยบายจดทะเบียนแรงงานเพื่อให้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านได้แก่ประเทศเมียนมาร์ ลาว และกัมพูชา สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และได้พยายามหาทางแก้ไขปัญหากลุ่มแรงงานที่ทำงานในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย สามารถเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ มีหนังสือเดินทางและใบอนุญาตทำงานที่ถูกต้อง เครือข่ายประชากรข้ามชาติเห็นว่า นอกจากรัฐบาลไทยมีความพยายามในแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานแล้ว ยังสามารถแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงของชาติด้วยเนื่องจากทำให้ประเทศไทยมีแรงงานข้ามชาติที่ถูกกฎหมายมากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นความสำเร็จในการจัดการแรงงานข้ามชาติ

อย่างไรก็ตามปัญหาของแรงงานข้ามชาติ ยังต้องมีการเดินหน้าแก้ไขปัญหาที่สำคัญหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแรงงานที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ และการนำเข้าที่ผ่านบันทึกข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีเงื่อนไขอนุญาตให้ทำงานได้ครั้งละ 2 ปี และสามารถต่อระยะเวลาการทำงานไปได้อีกไม่เกินสองปี ซึ่งปรากฏว่าเมื่อปี 2556 มีแรงงานข้ามชาติที่ครบกำหนดวาระการจ้างงานสี่ปีกว่าสองแสนราย (อ้างถึงหนังสือกระทรวงแรงงานเลขที่ รง 0307/2443ลงวันที่ 17 มีนาคม 2557 ถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี) เพื่อแก้ปัญหาการแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติที่ครบระยะเวลาการจ้างงานสี่ปี และอยู่ในประเทศไทยเกินกำหนดระยะเวลา ที่จะทำให้แรงงานมีความเสี่ยงต่อการถูกจับกุม และภาคธุรกิจประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน กระทรวงแรงงานจึงได้เสนอให้มีมติคณะรัฐมนตรีกำหนดให้แรงงานที่ครบกำหนดวาระการจ้างงานสี่ปีสามารถอยู่ต่อในประเทศไทยได้เป็นกรณีพิเศษ 180 วัน หรือจนกว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่ที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ เพื่อให้นายจ้างนำแรงงานข้ามชาติไปขอรับการตรวจลงตราและประทับตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร ขอรับใบอนุญาตทำงานตามขั้นตอนที่หน่วยงานราชการกำหนดไว้ต่อไป ดังนั้นแรงงานกว่าสองแสนรายที่ครบกำหนดวาระการจ้างงานสี่ปี ย่อมได้รับการคุ้มครองโดยการไม่่ถูกจับกุมและบังคับให้ส่งกลับหากแรงงานอยู่ระหว่างขั้นตอนการดำเนินการขอรับการตรวจลงตราและใบอนุญาตทำงานตามขั้นตอนที่หน่วยงานของรัฐกำหนด

เหตุการณ์การปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม ควบคุมตัวและการหลั่งไหลกันกลับประเทศต้นทางของแรงงานข้ามชาติ ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อนโยบายการจัดการแรงงานข้ามชาติ และความสัมพันธ์ที่ดีต่อประชาชนในประเทศเพื่อนบ้าน แม้หลายหน่วยงานรวมทั้งฝ่ายคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะยืนยันผ่านสื่อต่างๆว่าไม่มีนโยบายเร่งรัด ปราบปราม กวาดจับ แรงงานข้ามชาติแต่อย่างใด แต่มีแรงงานและผู้ประกอบการอีกจำนวนมากที่ยังไม่มั่นใจต่อนโยบายของฝ่ายไทย มีบางกรณีที่ปรากฏเป็นข่าวนายจ้างคนไทยลอยแพแรงงานกว่าสองร้อยคน เนื่องจากเกรงกลัวความผิด หรือกระทั่งเหตุการณ์ล่าสุดที่รถขนแรงงานที่กำลังเดินทางไปชายแดนกัมพูชา ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์เป็นเหตุให้แรงงานชาวกัมพูชาได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต และชาวบ้านซึ่งเป็นเด็กและอยู่บนท้องถนนใกล้ที่เกิดเหตุถูกยิงด้วยกระสุนปืนจนได้รับบาดเจ็บ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้สะท้อนการขาดการทำงานอย่างบูรณาการ ฝ่ายพลเรือนยังถูกจำกัดบทบาทในการร่วมกันแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติที่ยังคงมีความสลับซับซ้อนและต้องใช้ระยะเวลา และอาจเป็นอุปสรรคต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่จะสร้างความสงบสุข และการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ เครือข่ายประชากรข้ามชาติและองค์กรแนบท้าย จึงขอเรียกร้องและมีข้อเสนอแนะเร่งด่วน ดังนี้

1. ยุติมาตรการของเจ้าหน้าที่ในการกวาดล้าง จับกุมแรงงานข้ามชาติ และกำหนดนโยบายและมาตรการในการปฏิบัติให้ชัดเจน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ในท้องที่ต่างๆ ปฏิบัติเป็นแนวเดียวกันอย่างเป็นเอกภาพ ออกประกาศ แจ้งให้หน่วยงานด้านความมั่นคงและฝ่ายพลเรือนที่เกี่ยวข้องระมัดระวังในการดำเนินการปราบปรามกลุ่มแรงานที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย เนื่องจากแรงงานบางรายอาจจะอยู่ในกลุ่มที่อยู่ระหว่างการดำเนินการออกใบอนุญาตทำงานหลังจากที่แรงงานประมาณสองแสนรายครบวาระการจ้างงานสี่ปี

2. ออกมาตรการด่วนที่จะสร้างความมั่นใจต่อแรงงานข้ามชาติ และผู้ประกอบการว่ามาตรการการจัดระบบแรงงานข้ามชาติจะไม่ส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน เพื่อยับยั้งการไหลออกของแรงงาน สืบเนื่องจากการได้รับข่าวลือที่ คสช.เห็นว่าไม่เป็นความจริงแต่ประการใด

3. คสช.ควรปรับโครงสร้างคณะกรรมการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวมีคณะกรรมการที่เป็นตัวแทนผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง กับ การจ้างแรงงานข้ามชาติในแต่ละกลุ่ม เช่น ผู้ประกอบการ ตัวแทนกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม เพื่อให้ได้มุมมองและข้อเสนออย่างรอบด้าน และสะท้อนแนวทางการแก้ไขปัญหาที่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง ซึ่งจะเป็นการรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงด้านเศรษฐกิจและเสถียรภาพความสัมพันธ์ระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้าน

4. สถานการณ์ที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่ามาตรการที่เน้นการใช้มิติความมั่นคงอย่างเดียวไม่สามารถแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นระบบได้ ทาง คสช. และคณะกรรมการจึงควรที่จะยืนยันจะดำเนินการจัดการแรงงานข้ามชาติที่เน้นการนำแรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบอย่างถูกกฎหมายตามแนวทางเดิมอย่างต่อเนื่องควบคู่ไปกับมาตรการอื่น ๆ เช่น การจ้างงานชายแดน ทั้งนี้โดยคำนึงถึงความสมดุลของความมั่นคงของประเทศ การพัฒนาทางเศรษฐกิจ และการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ

ด้วยความเคารพในสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

1.เครือข่ายประชากรข้ามชาติ (Migrants Working Group)
2.เครือข่ายปฏิบัติงานเพื่อแรงงานข้ามชาติ (ANM)
3. คลินิกกฎหมายด้านสิทธิและสถานะบุคคล ศูนย์สังคมพัฒนา มูลนิธิคาทอลิกสุราษฎร์ธานี
4. โครงการประสานชาติพันธุ์อันดามัน พังงา
5. มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF)
6. เครือข่ายสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN)
7.สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ (stateless watch)
8.มูลนิธิส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน (Prorights Foundation)
9.สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (UCL)
10. Save the Children

 


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles