ประกาศ คสช. ฉบับที่ 67/2557 ยืนยัน คสช. ไม่มีนโยบายจับกุมกวาดล้างแรงงานข้ามชาติ การปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อแก้ปัญหาอยู่ในขั้นตอนพิจารณาเพื่อให้แก้ไขได้อย่างเป็นระบบ ยั่งยืน ไม่เกิดผลกระทบ ย้ำข่าวค้ามนุษย์-แรงงานทาส-ประทุษร้ายแรงงานไม่เป็นความจริง การเผยแพร่เรื่องนี้ทำให้ประเทศขาดความน่าเชื่อถือ ส่งผลกระทบต่อภารกิจ คสช. โดยขอให้องค์กรระหว่าง ปท.-สื่อต่างชาติทำความเข้าใจ
เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ออกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 67/2557 "เรื่อง มาตรการชั่วคราวในการดำเนินการต่อแรงงานต่างด้าว"
โดยการออกประกาศดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากที่ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2557 พล.อ.ประยุทธ์ ได้ลงนามในคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 59/2557 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว และ คำสั่ง คสช. 60/2557 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการประสานงานการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว โดยโครงสร้างของคณะกรรมการประกอบด้วยข้าราชการและเจ้าหน้าที่ทหาร (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)ขณะเดียวกันหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนของอังกฤษตีแผ่การใช้แรงงานทาสในกิจการประมงฝั่งอ่าวไทย และมีวงจรเกี่ยวข้องกับบรรษัทผลิตอาหารรายใหญ่ของประเทศ นอกจากนี้เมื่อสัปดาห์ก่อนจนถึงขณะนี้เกิดการอพยพกลับภูมิลำเนาขนานใหญ่ของแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะด้านชายแดนไทย-กัมพูชา เนื่องจากผู้ใช้แรงงานหวาดกลัวในเรื่องสวัสดิภาพและมีความไม่มั่นใจต่อนโยบายแรงงานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย
สำหรับประกาศ คสช. ฉบับที่ 67/2557 ดังกล่าวมีรายละเอียดดังนี้
000
ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
ฉบับที่ 67/2557
เรื่อง มาตรการชั่วคราวในการดำเนินการต่อแรงงานต่างด้าว
ตามที่ปรากฏข่าวสารที่ส่งผลกระทบต่อการจ้างแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย จนเป็นผลให้แรงงานต่างด้าวอพยพ และละทิ้งงานกลับไปภูมิลำเนาของตนเอง ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อการประกอบกิจการ ตลอดจนระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีความกังวลต่อผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว ดังนั้นจึงขอแจ้งมาตรการชั่วคราวในการดำเนินการต่อแรงงานต่างด้าวให้ทราบ ดังต่อไปนี้
1. คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ยังไม่มีนโยบายที่จะเร่งรัดจับกุมกวาดล้างแรงงานต่างด้าวตามที่ปรากฏเป็นข่าว
2. การจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว ในขณะนี้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ กำหนดให้มีมาตรการควบคุมแรงงานต่างด้าว โดยให้ผู้ประกอบการ นายจ้าง ที่ประกอบกิจการบนบก และทางทะเล จัดเตรียมรายชื่อลูกจ้างในสังกัดให้ครบถ้วน เพื่อให้พร้อมรับการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวในห้วงต่อไป ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย ปัญหายาเสพติด ปัญหาอาชญากรรม การจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม การประทุษร้าย รวมทั้งเพื่อให้แรงงานได้รับการดูแลอย่างเป็นธรรมตามหลักสิทธิมนุษยชน และหลักมนุษยธรรม ตลอดจนสามารถชี้แจงต่างประเทศได้ โดยไม่ถูกลดระดับความหน้าเชื่อถือ
3. สำหรับมาตรการ/กระบวนการ และการปรับปรุงกฎหมาย ตลอดจนระเบียบต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวนั้น ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เพื่อให้ปัญหาได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบ มีความยั่งยืน และไม่ให้เกิดผลกระทบดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ทั้งนี้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ มุ่งหวังที่จะได้ดูแลแรงงานของทุกชาติที่อยู่ในประเทศไทย อย่างเหมาะสมและเป็นธรรม ให้สมกับที่ประเทศต้นทางของแรงงานเหล่านั้นให้ความเป็นห่วง
4. ให้ระมัดระวัง กรณีที่มีบุคคลหรือกลุ่มบุคคล แอบอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ มาปล่อยข่าวให้แรงงานเกิดความหวาดกลัว ซึ่งกลุ่มที่กระทำดังกล่าว อาจเป็นกลุ่มที่มุ่งหวังผลประโยชน์ในการจัดระเบียบแรงงานผิดกฎหมายกลุ่มใหม่ หรือไม่ต้องการจ่ายค่าจ้างให้ครบถ้วนตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญา ทั้งนี้ หากตรวจพบการกระทำดังกล่าว ให้แจ้งเบาะแสแก่เจ้าหน้าที่ และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เพื่อดำเนินการตรวจสอบและลงโทษตามกฎหมายต่อไป
5. ให้ผู้ประกอบการ นายจ้าง ฯลฯ ที่มีลูกจ้างเป็นแรงงานต่างด้าว ทำความเข้าใจกับลูกจ้างและให้ความร่วมมือกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในการดำเนินการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมทั้งระบบโดยในระยะนี้ ให้ถือว่าเป็นมาตรการชั่วคราวในการดำเนินการต่อแรงงานต่าวด้าว
6. หากผู้ประกอบการ นายจ้าง แรงงานต่างด้าว และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน มีข้อสงสัยในการดำเนินการเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าว ขอให้แจ้งข้อมูลให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และคณะรักษาความสงบแห่งชาติทราบ ตลอดจนสอบถามข้อสงสัยดังกล่าวโดยทันที ก่อนที่จะดำเนินการใดๆ ต่อไป
7. ประเทศไทย ถูกกดดันจากองค์กรสิทธิมนุษยชน และสังคมโลก ในประเด็นเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน การค้ามนุษย์ การใช้แรงงานเถื่อน แรงงานทาส การใช้กำลังประทุษร้ายต่อแรงงาน ฯลฯ ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่ประการใด ดังนั้น การเผยแพร่ประเด็นดังกล่าวจึงทำให้ประเทศไทยขาดความน่าเชื่อถือและส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติภารกิจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
8. คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ขอประชาสัมพันธ์ให้สื่อต่างประเทศ/องค์กรระหว่างประเทศต่างๆ เข้าใจโดยทั่วกัน เพื่อไม่ให้เกิดความตื่นตระหนก เสียหายต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม ตลอดจนการก่อให้เกิดความเข้าใจผิดกับประเทศต้นทาง โดยเฉพาะกรณีที่มีการปล่อยข่าวว่าเจ้าหน้าที่ใช้อาวุธต่อแรงงานจนเสียชีวิต หรือมีการจับกุมกวาดล้าง ฯลฯ ซึ่งไม่เป็นความจริง ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน
9. ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงกลาโหม กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กองกำลังป้องกันชายแดนของกองทัพบกและกองทัพเรือ กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย ตลอดจนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ยึดถือการดำเนินการ ตามข้อ 1 - 8 เป็นแนวทางในการปฏิบัติโดยทั่วกัน
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง
ประกาศ ณ วันที่ 16 มิถุนายน พุทธศักราช 2557
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ