Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

องค์กรสิทธิฯ กัมพูชา ตำหนิทางการไทยละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติ

$
0
0

บีบีซีรายงานแรงงานข้ามชาติชาวกัมพูชาพากันอพยพออกนอกประเทศเนื่องจากกลัวการกวาดจับของทางการไทย รวมถึงรัฐบาลเผด็จการทหารกดดันนให้คนงานส่วนหนึ่งออกนอกประเทศ, คณะกรรมการปฏิบัติการด้านสิทธิมนุษยชนกัมพูชา (CHRAC) ออกแถลงการตำหนิรัฐบาลทหารไทยละเมิดสิทธิมนุษยชน

15 มิ.ย. 2557 องค์กรเพื่อผู้อพยพสากล (International Organization for Migration หรือ IOM) เปิดเผยในทวิตเตอร์ว่ามีชาวกัมพูชาราว 70,000 คน อพยพหนีออกจากประเทศไทยเนื่องจากกลัวเรื่องที่รัฐบาลทหารปราบปรามแรงงานข้ามชาติ

ก่อนหน้านี้รัฐบาลเผด็จการทหารของไทยได้กวาดจับกุมแรงงานข้ามชาติทำให้ผู้อพยพจำนวนมากรู้สึกกลัวอีกทั้งหลายคนยังถูกนายจ้างให้ออกจากงานและส่งกลับบ้านตั้งแต่กองทัพก่อรัฐประหารเมื่อเดือนที่แล้ว

บีบีซีรายงานว่าชาวกัมพูชาจำนวนมากได้พากันเดินทางไปที่แถบชายแดน ซึ่งบางส่วนก็มีรถโดยสารของทางการไทยไปส่งพวกเขา ซึ่งองค์กรเพื่อผู้อพยพสากลระบุว่ามีรถโดยสาร รถบัส และรถไฟ หลายร้อยคันใช้บนส่งแรงงานข้ามชาติให้กลับสู่บ้านเกิดของพวกเขา

เบรทท์ ดิกสัน จากองค์กรเพื่อผู้อพยพสากลกล่าวว่าคนงานจำนวนมากเป็นคนที่ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจและหลายคนที่มีเงินเก็บก็ได้ใช้มันเพื่อเดินทางมาถึงตรงนี้ ดิกสันกล่าวอีกว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดในตอนนี้คือต้องจัดหายานพาหนะให้กับพวกเขาเพื่อไม่ให้พวกเขาติดอยู่ในสภาพย่ำแย่นานเกินไป

บีบีซีระบุว่ามีคนงานชาวกัมพูชาในไทยทั้งหมดราว 150,000 คน มีอยู่ราว 80,000 คนที่เป็นแรงงานถูกกฎหมาย

โดย เสข วรรณะเมธี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่าเจ้าหน้าที่ทางการไทยเล็งเห็นความสำคัญของคนงานอพยพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยดังนั้นจึงต้องการปรับปรุงและบูรณาการระบบจัดการ รวมถึงกำจัดการแสวงหาผลประโยชน์ของกลุ่มผู้ลักลอบเพื่อป้องกันการกดขี่แรงงานและปัญหาการค้ามนุษย์


องค์กรสิทธิมนุษยชนกัมพูชา แถลงการณ์ตำหนิทางการไทย

อย่างไรก็ตามคณะกรรมการปฏิบัติการด้านสิทธิมนุษยชนกัมพูชา (CHRAC) ซึ่งมาจากการรวมกลุ่มของคณะทำงานด้านสิทธิมนุษยชน 21 องค์กร ได้ออกแถลงการณ์ตำหนิการส่งตัวผู้อพยพชาวกัมพูชาจำนวนมากออกนอกประเทศ โดยถือว่ากองทัพไทยได้ละเมิดสิทธิ์แรงงานโดยการบังคับให้พวกเขาออกจากประเทศและนำตัวพวกเขาอยู่ในยานพาหนะที่แออัดยัดเยียด

ในแถลงการณ์ของคณะกรรมการปฏิบัติการด้านสิทธิมนุษยชนกัมพูชา (CHRAC) ระบุว่านับตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2557 มีคนงานชาวกัมพูชาราว 40,000 คนในประเทศไทยได้ออกจากประเทศด้วยตนเองหรือถูกทหารบังคับให้ออกจากประเทศจากการสืบสวนของสมาคมเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาของกัมพูชา (ADHOC) มีแรงงานข้ามชาติบางรายถูกทุบตีหรือถูกสังหารโดยกองทัพไทย

แถลงการณ์ระบุอีกว่าเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานตามมาตรา 1 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ซึ่งประเทศไทยและกัมพูชาต่างลงนามในปฏิญญานี้

องค์กรสิทธิมนุษยชนกัมพูชาระบุในแถลงการณ์ว่ากองทัพไทยละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อแรงงานข้ามชาติด้วยการขับไล่ออกจากประเทศและให้อยู่ในยานพาหนะแออัดยัดเยียดถือเป็นการกระทำที่โหดร้ายและทำลายคุณค่าความเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นการกระทำที่ถูกระบุห้ามไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง นอกจากนี้การเตรียมการประสานงานที่ไม่ดีพอระหว่างทางการไทยและกัมพูชายังทำให้คนงานติดอยู่ในที่พักพิงชั่วคราวที่ชายแดน ขณะที่คนงานยังคงทยอยเดินทางมาเรื่องๆ อีกหลายร้อยคนต่อวัน โดยที่อาหาร น้ำ ที่พัก และอุปกรณ์การแพทย์มีจำกัดมาก

คณะกรรมการปฏิบัติการด้านสิทธิมนุษยชนกัมพูชาเรียกร้องให้ทั้งรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชาดำเนินการเพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชนแรงงานอพยพชาวกัมพูชาให้ดียิ่งขึ้น โดยให้รัฐบาลไทยดำเนินการส่งตัวแรงงานอพยพให้เป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมายและเคารพในสิทธิของแรงงานอพยพ รวมถึงรายงานให้สถานทูตหรือสถานกงสุลกัมพูชาในประเทศไทยรับทราบหากมีการจับกุมหรือกักขังหรือมีความจำเป็นต้องส่งตัวคนงานชาวกัมพูชาข้ามประเทศ นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้มีการสืบสวนกรณีข้อกล่าวหาเรื่องการสังหารแรงงานกัมพูชาด้วย

"รัฐบาลไทยจะต้องส่งเสริมและเคารพในสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติ และจะต้องปฏิบัติตามข้อผูกมัดด้านสิทธิมนุษยชนสากลจากการปฏิบัติต่อแรงงานชาวกัมพูชาในฐานะสมาชิกกลุ่มประเทศอาเซียน"

ทางด้านรัฐบาลกัมพูชา องค์กรสิทธิมนุษยชนเรียกร้องให้รัฐบาลกัมพูชาตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อสอดส่องดูแลสถานการณ์แรงงานอพยพกัมพูชา ให้ความช่วยเหลือด้านการอพยพของแรงงาน รวมถึงตั้งสำนักงานฉุกเฉินเพื่อให้ความช่วยเหลือกรณีฉุกเฉิน

อย่างไรก็ตามทางการไทยกล่าวปฏิเสธว่าไม่มีการสังหารหรือทุกตีทำร้ายเกิดขึ้น

 

เรียบเรียงจาก

Cambodian migrants flee Thailand amid crackdown fears, BBC, 14-06-2014

 Cambodian Human Rights Action Committee
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles